ให้เธอสอน เธอจะสอนได้ไหม
เป็นสิ่งที่คาใจอยู่ตลอด เวลาได้ฟังเพลง “เพื่อเมืองไทย” ของคาราบาว “ให้เธอคิด” “ให้เธอทำ” ถึงทำจะยากกว่าคิด แต่ก็ไม่รู้สึกว่าเกินวิสัยของตัวเองที่จะทำได้ แต่ “ให้เธอสอน เธอจะสอนได้ไหม” นี่ “เป็นส่วนลึกของความในใจ” ของผมจริงๆ
- สอนพิเศษฟิสิกส์ ม. ปลาย → เด็กทำคิ้วผูกโบอยู่ตลอด เด็กบางคนถึงกับหนีไป ไม่กลับมาเรียนอีกเลย บอกว่า เรียนไม่รู้เรื่อง
- บรรยายคอร์สลินุกซ์ → เสียงตอบกลับคือ “เมื่อไหร่อาจารย์จะพาคลิก ทำไมสอนแต่คำสั่ง (command line)” แต่ครั้นพยายามจะสอนคลิก ก็เงอะงะ ไม่รู้จะสอนยังไง นักเรียนคลิกเองยังเร็วกว่า
- เขียนเอกสาร open source สำหรับผู้เริ่มต้น → โดนตีกลับมาแก้แล้วแก้อีก บอกว่า “too technical,” “still too technical,” “hey, could you just ...” blah blah blah
หลายต่อหลายครั้ง ทำให้เสียความมั่นใจในการสอนเหมือนกัน และพบว่า “ทำได้” กับ “สอนได้” เนี่ย มันคนละเรื่องกันจริงๆ แต่ก็ได้พยายามสำรวจตัวเอง ว่าบกพร่องตรงไหน (ไม่งั้นเท่ากับตัดทางอยู่รอดในโลก FOSS ไปทางหนึ่งทีเดียว) ตอนนี้คิดว่า สิ่งที่ผมแยกไม่ค่อยออกก็คือ ระดับของเนื้อหา การจำแนกลำดับขั้นจากง่ายไปยากเป็นปัญหาของผมจริงๆ เรื่องบางเรื่อง ผมรู้สึกไม่พอใจกับการพูดแค่ผิว ผมมักเผลออยากให้ผู้เรียนได้ “ลิ้มรสชาติ” ของความรู้แจ้ง ที่ได้กลืนกินมาในระหว่างการเรียนรู้ของตัวเอง ก็เลยกลายเป็นการลงรายละเอียดมากเกินไป ความรู้สึกอยากให้ลิ้มรสมันฝังลึกถึงกับว่า ผมมองมันเป็นขั้นตอนตามธรรมชาติของการเรียนรู้ ถ้าไม่ลงลึกขนาดนั้น มันก็แค่ได้ “รู้จัก” แต่ไม่สามารถ “ประยุกต์” ได้ และผมจะอึดอัด ถ้าได้เจอหนังสือที่พูดกับผมเพียงแค่นั้น
ในอีกแง่หนึ่ง ความรู้สึกที่ว่า “an equation is worth a thousand words” ก็ทำให้เลือกวิธีอธิบายที่คิดว่าตรงสู่จุดหมาย ง่ายกว่าบรรยายแบบขี่ม้าเลียบเมือง แต่ปรากฏว่าผลที่ได้จะผิดความคาดหมายอยู่เนืองๆ
คิดไปคิดมา สไตล์ที่ผมใช้ มันอาจจะเหมาะกับการค้นคว้าด้วยตัวเองมากกว่า ถ้าจะเอามาสอนกันในชั้น อาจต้องใช้เทคนิคอื่น คิดไปคิดมาก็เริ่มรู้สึกว่า ถ้าจะคิดเป็นอาจารย์ (ซึ่งก็ไม่เคยคิด) ควรเรียนครุศาสตร์ด้วย และควรใช้เวลาเตรียมสอนนานขึ้นอีก
อ้อ.. ส่วนเรื่องคอร์สลินุกซ์ อันนั้นคงต้องไปหัดคลิกมาจริงๆ เอาไว้ใช้กับลูกค้าด้วย ตอบคำถามเรื่องโปรแกรม burn CD ว่า cdrecord เนี่ย โดนตะเพิดมาแล้ว (แต่จะทำใจหัดได้เร้อ เทพเอ๊ย..)