Theppitak's blog

My personal blog.

22 พฤษภาคม 2562

Esaan Tones

จาก blog เก่าเรื่อง ไตรยางศ์อยุธยา เมื่อ 7 ปีก่อน ผมทิ้งท้ายไว้ว่าจะเขียนถึงไตรยางศ์อีสานต่อ จนแล้วจนรอดก็หาเวลาเขียนไม่ได้ จนกระทั่งได้ไปร่วม Thailand ICT Camp ที่ชะอำ ซึ่งมีกิจกรรม BarCamp ในวันสุดท้าย ผมไม่เคยร่วม BarCamp มาก่อน แต่ก็ลองเสนอหัวข้อ ไตรยางศ์ไทย-อีสาน ดู พอได้นำเสนอจึงถือโอกาสนำมาเขียนบันทึกต่อเสียเลย

ก่อนอื่นเพื่อเป็นการปูพื้นสำหรับท่านที่ตามมาอ่านจาก BarCamp และไม่เคยอ่าน blog ของผมมาก่อน ผมมีข้อสังเกตถึงความลักลั่นของการสะกดคำของภาษาอีสานอันเนื่องมาจากการขาดหลักไตรยางศ์ที่แน่นอน ทำให้บางคำเขียนรูปวรรณยุกต์เหมือนภาษาไทยกลางแล้วผันเอา ซึ่งมักเป็นคำที่ใช้ร่วมกับไทยกลาง เช่น เขียน หม้อ แล้วผันเป็น [หม่อ] แต่พอเป็นคำที่เป็นคำเฉพาะถิ่น เช่น หม้ำ (ไส้กรอกตับ) ซึ่งออกเสียงว่า [หม่ำ] กลับเขียนแบบแปลงสำเนียงให้คนบางกอกเสร็จสรรพ โดยเขียนเป็น หม่ำ

ปัญหาของการเขียนลักลั่นแบบนี้คือ หลักการอ่านจะไม่แน่นอน เอาหม่ำไปใส่หม้อ ควรอ่านเป็น [เอ่า-มัม^-ไป่-ใซ^-หม่อ] ตามกฎการผันเสียง หรือควรอ่านเป็น [เอ่า-หม่ำ-ไป่-ใซ^-หม่อ] โดยอาศัยความรู้ทางศัพท์แก้เสียงวรรณยุกต์ในระหว่างอ่าน? และเมื่อเด็กอีสานไปเรียนคำใหม่จากหนังสือ เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าคำที่เขียนนั้นตั้งใจให้อ่านแบบไทยกลางหรือไทยอีสาน? เช่นคำว่า หล่า ถ้าอ่านแบบไทยกลางเป็น [หล่า] จะหมายถึงคนสุดท้อง แต่ถ้าอ่านแบบไทยอีสานเป็น [ลา^] จะหมายถึงอาการหน้าเจื่อน แล้วเราก็จะกลับไปสู่ยุค หนังสือหนังหา สมัยที่ยังเขียน หนังสือ แบบไม่ใส่วรรณยุกต์ แล้วให้คนอ่านอ่าน หนังหา คือหาเสียงวรรณยุกต์ที่ถูกต้องมาใส่เอาเอง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะใส่วรรณยุกต์ไปทำไมกัน?

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นการสะกดคำ กรุณาอ่านจาก blog Esaan Language Tidbits

สิ่งที่ควรจะเป็นคือเขียนภาษาเขียนเหมือนไทยกลาง แต่ใช้หลักไตรยางศ์เฉพาะของอีสานในการผันเสียง โดยเขียน หม้ำ แล้วผันเสียงเป็น [หม่ำ] เหมือนที่ผัน หม้อ เป็น [หม่อ] เพื่อที่จะใช้หลักการเดียวในการอ่านข้อความ เอาหม้ำไปใส่หม้อ ตลอดข้อความโดยไม่ต้องมีข้อยกเว้น

ไตรยางศ์ขอนแก่น

หลักไตรยางศ์ที่ว่านั้น ไทยแต่ละถิ่นก็จะมีหลักของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นล้านนา สุพรรณบุรี นครศรีธรรมราช บางกอก ขอนแก่น อุบลฯ เลย ฯลฯ ซึ่งจะทำให้อ่านข้อความเดียวกันที่เขียนด้วยอักษรไทยออกไปได้ตามสำเนียงของถิ่นตน โดยในที่นี้ผมขอพูดถึงสำเนียงขอนแก่นที่เป็นสำเนียงบ้านผมเท่านั้น

สำเนียงขอนแก่น มีวรรณยุกต์ทั้งหมด 5 เสียง

  1. เสียงเอก ตรงกับเสียงเอกในภาษาบางกอก เช่น ในคำว่า กิน ขาด ปาก หม้อ เข้า
  2. เสียงโทต่ำ คล้ายเสียงโทของภาษาบางกอก แต่เสียงต่ำกว่า (ต้นพยางค์เท่า ๆ กับเสียงสามัญของบางกอก แล้วลงต่ำที่ท้ายพยางค์) เช่น ในคำว่า ป้า (น้ำไหล)โจ้ก ค้า เคียด
  3. เสียงสามัญสูง เสียงเป็นระดับเดียวตลอดพยางค์เหมือนเวลาออกเสียงสามัญ แต่เสียงสูงกว่าเสียงสามัญของบางกอก เช่น ในคำว่า เต่า ข่า พ่อ งึด
  4. เสียงโท ตรงกับเสียงโทของภาษาบางกอก เช่น ในคำว่า คา งู มา
  5. เสียงจัตวา ตรงกับเสียงจัตวาของภาษาบางกอก เช่น ในคำว่า ขา กบ เห็ด

การเขียนบรรยายเสียงอ่าน จะมีสองเสียงที่เสียงไม่ตรงกับภาษาบางกอก คือเสียงโทต่ำและสามัญสูง จึงขอเขียนเครื่องหมายพิเศษเพื่อกำกับเสียง โดยเสียงโทต่ำจะเขียนเสียงโทแล้วตามด้วยขีดล่าง (_) เช่น ป้า [ป้า_], โจ้ก [โจ้ก_], ค้า [ค่า_], เคียด [เคียด_] ส่วนเสียงสามัญสูงจะเขียนเสียงสามัญแล้วตามด้วยหมวก (^) เช่น เต่า [เตา^], ข่า [คา^], พ่อ [พอ^] ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถเขียนเสียงสามัญได้ จะเขียนเสียงอื่นโดยอนุโลมแล้วใช้หมวกกำกับเสียง เช่น งึด [งึด^], คัก [คัก^]

หลักการผันวรรณยุกต์

คำเป็น

  • อักษรกลางรูปสามัญ (เช่น กิน) สำเนียงอีสานแต่ละถิ่นจะออกเสียงกันหลากหลาย สำเนียงขอนแก่นผันเป็นเสียงเอก สำเนียงอุบลฯ ผันเป็นเสียงสามัญเหมือนบางกอก (ทำให้สำเนียงอุบลฯ มีเสียงวรรณยุกต์ 6 เสียง เพิ่มเสียงสามัญแบบบางกอกเข้ามาอีกหนึ่ง)
  • อักษรสูงรูปสามัญ (เช่น ขา) ผันเป็นเสียงจัตวาเหมือนบางกอก
  • อักษรต่ำรูปสามัญ (เช่น คา) ผันเป็นเสียงโท
  • รูปเอก (เช่น เต่า ข่า ค่า) ผันเป็นเสียงสามัญสูงทั้งสามหมู่
  • รูปโทสำหรับอักษรกลางและอักษรต่ำ (เช่น ป้า ค้า) ผันเป็นเสียงโทต่ำ
  • รูปโทสำหรับอักษรสูง (เช่น ข้า) ผันเป็นเสียงเอก
  • รูปตรีและจัตวาสำหรับอักษรกลาง (เช่น ป๊า โป๊ ป๋า) ไม่มีในคำอีสาน เป็นการยืมจากภาษาบางกอก จึงใช้วิธีเทียบเสียงกับหมู่อื่น เช่น โป๊ [โป้_] เทียบกับเสียงตรีของอักษรต่ำ (เช่น ค้า) แต่ ป๊า [ปา^] ออกเป็นสามัญสูงเพื่อเลียนเสียงตรีของบางกอก ส่วนรูปจัตวา ผันเป็นเสียงจัตวาตรงตัว เช่น ป๋า [ป๋า]

คำตายสระเสียงยาว

  • รูปสามัญสำหรับอักษรกลางและสูง (เช่น เกิบ ขาด) ผันเป็นเสียงเอกเหมือนบางกอก
  • รูปสามัญสำหรับอักษรต่ำ (เช่น เคียด) และรูปโทสำหรับอักษรกลาง (เช่น โจ้ก) ผันเป็นเสียงโทคล้ายบางกอก แต่ระดับเสียงเป็นโทต่ำ
  • รูปโทสำหรับอักษรสูง ไม่พบคำที่สะกดจริง แต่สามารถเทียบกับการผันเป็นเสียงโทของบางกอกได้ แต่ระดับเสียงเป็นโทต่ำ
  • รูปตรีสำหรับอักษรกลาง (เช่น โจ๊ก) และรูปโทสำหรับอักษรต่ำ (เช่น โค้ก) เป็นคำยืมจากภาษาบางกอก จึงเลียนเสียงตรีของบางกอกด้วยเสียงสามัญสูง
  • รูปจัตวาสำหรับอักษรกลาง ไม่พบคำที่สะกดจริง แต่สามารถเทียบกับการผันเป็นเสียงจัตวาของบางกอกได้ และออกเป็นเสียงจัตวาตรงตัว

คำตายสระเสียงสั้น

  • รูปสามัญสำหรับอักษรกลาง (เช่น จก) และอักษรสูง (เช่น ขัด) ผันเป็นเสียงจัตวา
  • รูปสามัญสำหรับอักษรต่ำ (เช่น งึด) ผันเป็นเสียงตรีคล้ายหลักของบางกอก แต่ออกเสียงเป็นสามัญสูง
  • รูปเอกสำหรับอักษรต่ำ (เช่น ค่ะ) เป็นคำยืมจากภาษาบางกอก และผันเป็นเสียงโทเหมือนบางกอก
  • รูปโทสำหรับอักษรกลาง (เช่น จึ้ก) ผันเป็นเสียงโทคล้ายหลักของบางกอก แต่ระดับเสียงเป็นโทต่ำ
  • รูปโทของอักษรสูง ไม่พบคำที่สะกดจริง แต่สามารถเทียบกับการผันเป็นเสียงโทของบางกอกได้ แต่ระดับเสียงเป็นโทต่ำ
  • รูปตรีของอักษรกลาง (เช่น กั๊ก) เป็นคำยืมจากภาษาบางกอก และเลียนเสียงตรีของบางกอกด้วยเสียงสามัญสูง
  • รูปจัตวาสำหรับอักษรกลาง ถือว่าเสียงซ้ำกับรูปสามัญ ไม่ควรมีรูปเขียน แต่ถ้าให้ออกเสียง ก็ออกเป็นเสียงจัตวา

รูปสะกดที่คลาดกับไทยกลาง

หลักไตรยางศ์ข้างต้นสามารถใช้ได้กับทุกกรณี แต่คนอีสานอาจสังเกตพบบางคำที่เสียงอ่านไม่เป็นไปตามกฎนี้ เช่น น้ำท่วม [น่าม_-ถ่วม ไม่ใช่ น่าม_-ทวม^], คอยท่า [ค่อย-ถ่า ไม่ใช่ ค่อย-ทา^], ฆ่างัว [ข่า-งั่ว ไม่ใช่ คา^-งั่ว] ฯลฯ ทั้งนี้เป็นเพราะวิวัฒนาการของการสะกดคำของบางกอกได้เลือกเอาตัวสะกดที่ไม่ตรงกับอีสานไว้ กล่าวคือ:

  • น้ำท่วม ภาษาลาวปัจจุบันใน สปป. ลาวสะกดคำนี้ว่า ນ້ຳຖ້ວມ (น้ำถ้วม) ซึ่งเมื่อผันตามหลักไตรยางศ์ข้างต้นจะออกเสียงได้เป็น [น่าม_-ถ่วม] ตรงตามความเป็นจริง
  • คอยท่า ภาษาลาวปัจจุบันใน สปป. ลาวสะกดคำนี้ว่า ຄອຍຖ້າ (คอยถ้า) ซึ่งผันเสียงเป็น [ค่อย-ถ่า] ตามภาษาที่พูดกัน
  • ฆ่าวัว ภาษาลาวปัจจุบันใน สปป. ลาวสะกดคำนี้ว่า ຂ້າງົວ (ข้างัว) โดยคำว่า ฆ่า นี้ จารึกสุโขทัยเองก็สะกดว่า ฃ้า (ซึ่งใช้ ฃ ขวด เป็นคนละคำกับ ข้า ที่หมายถึงผู้อยู่ใต้ปกครอง) ต่อมาจึงได้วิวัฒน์การสะกดเป็น ฆ่า ในภายหลัง (อ่านเพิ่มเติมได้ใน blog เก่า)

ยังมีคำอื่น ๆ ในทำนองนี้ เช่น ໜ້າຮັກ (หน้าฮัก = น่ารัก), ຫຼິ້ນ (หลิ้น = เหล้น = เล่น) ซึ่งทำให้เห็นว่าการเสาะหาตัวสะกดที่สูญหายไปของภาษาอีสานอาจหาได้จากแหล่งใกล้เคียงคือภาษาลาวใน สปป. ลาวนั่นเอง

ย ยุง กับ ย ยา

อีกประเด็นหนึ่งที่สร้างความสับสนให้กับผู้ฝึกภาษาอีสานได้ไม่น้อยคือความแตกต่างระหว่าง ຍ ຍຸງ (ย ยุง) กับ ຢ ຢາ (ย ยา) ที่ผันวรรณยุกต์คนละแบบ เพราะ ຍ ຍຸງ นั้นนับเป็นอักษรต่ำ (เดี่ยว, นาสิก) ในขณะที่ ຢ ຢາ จะเทียบเท่ากับ อ นำ ย ในภาษาไทย และผันอย่างอักษรกลาง ซึ่งภาษาไทยปัจจุบันเหลือคำที่ใช้ อ นำ ย อยู่แค่ 4 คำ คือ อย่า อยู่ อย่าง อยาก แต่ในภาษาลาวและอีสานยังคงรักษาคำไว้มากกว่านั้น ตัวอย่างเช่น

  • ຢືນ (อยืน) [หยื่น] หมายถึงอาการตั้งตัวตรงบนพื้น ซึ่งจารึกสุโขทัยก็สะกดว่า อยืน จนต่อมาวิวัฒน์เหลือ ยืน และกลายเป็นคำพ้องรูปกับ ยืน ที่หมายถึงความยาวนาน เช่นในคำว่า ยั่งยืน แต่ในภาษาลาวยังคงสะกดคำหลังนี้ต่างกันเป็น ຍືນ (ยืน) โดยใช้ ຍ ຍຸງ
    ดังนั้น ชื่ออำเภอ พระยืน [พะ^-หยื่น] จึงผันวรรณยุกต์ต่างจากชื่ออำเภอ เชียงยืน [เซี่ยง-ญื่น]
  • ຢາງ (อยาง) [หย่าง] ใน ยางพารา [หย่าง-พ่า-ล่า] และ ยางรถยนต์ [หย่าง-ลด^-ญ่น] ก็ผันวรรณยุกต์ต่างจาก ຍາງ (ยาง) [ญ่าง] ใน ต้นยางนา [ต้น_-ญ่าง-น่า]
  • ຢາຍ (อยาย) [หย่าย] ที่หมายถึงการกระจายข้าวของ ก็ผันวรรณยุกต์ต่างจาก ຍາຍ (ยาย) [ญ่าย] ที่หมายถึงแม่ของแม่

ป้ายกำกับ:

0 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem