Theppitak's blog

My personal blog.

28 กุมภาพันธ์ 2554

Esaan Language Tidbits

blog ที่แล้ว ได้เล่ามาถึงการนมัสการปรึกษาพระราชประสิทธิคุณ หรือหลวงพ่อสุนันท์ รองเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น เจ้าอาวาสวัดเทพปูรณาราม ซึ่งท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญอักษรธรรมอีสานท่านหนึ่ง ได้ไปพบท่านแล้ว ก็ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากท่าน รวมถึงเกร็ดภาษาอีสานมากมาย ถ้าไม่บันทึกไว้ก็คงจะลืมเลือนหายไป

ก่อนอื่น ท่านเล่าว่าท่านหัดอ่านอักษรธรรมตั้งแต่ยังเป็นสามเณรด้วยตนเองโดยไม่มีใครสอน! โดยท่านได้เห็นคัมภีร์บาลีในใบลานที่เป็นบทสวดที่ท่านรู้จัก ท่านก็แกะตัวอักษรต่าง ๆ พร้อมกับจับหลักอักขรวิธีเอาเอง จนในที่สุดก็อ่านได้หมด นับเป็นวิธีเรียนที่น่าทึ่งจริง ๆ

ในส่วนของประเด็นต่าง ๆ ของอักษรธรรมที่เรียนถามท่านนั้น ท่านก็แนะนำมาโดยมิได้ฟันธงเลือกแบบใดแบบหนึ่ง แต่เน้นไปที่การสังเกตรายละเอียดที่ยังขาด เช่น ตัวสะกดแม่กกแบบใช้จุดคู่ใต้บรรทัด รูปร่างพยัญชนะบางตัวที่สัดส่วนเพี้ยนไป หรือรูปร่างแบบที่ท่านคิดว่าเป็นที่นิยมกว่า ซึ่งตรงนี้ก็น้อมรับนำมาปรับปรุงต่อไป

แต่สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากเรื่องอักษรธรรมซึ่งถือว่าสำคัญเหมือนกัน คือความรู้เรื่องภาษาอีสาน ผมพยายามจับประเด็นเท่าที่จำได้ (เพราะไม่ได้จดเลย) มาเป็นข้อ ๆ ดังนี้:

การสะกดคำอีสาน

ท่านเห็นว่า การสะกดคำอีสานด้วยอักษรไทยในปัจจุบันที่มักเขียนในรูปที่ถ่ายเสียงวรรณยุกต์ตามสำเนียงกรุงเทพฯ มาเรียบร้อยแล้ว เช่น เขียนคำที่หมายถึงลูกคนสุดท้องว่า "ลูกหล่า" แทนที่จะเขียนว่า "ลูกหล้า" แล้วค่อยผันวรรณยุกต์เวลาอ่านเอา เพราะคำว่า "หล่า" นั้น ถ้าอ่านด้วยสำเนียงอีสานจะผันวรรณยุกต์เป็น [ลา^] (เสียงสามัญสูง) ซึ่งแปลว่า "เจื่อน" เช่น "หน้าหล่า" [หน่า-ลา^] (เอก,สามัญสูง) แปลว่าหน้าเจื่อนหรือหน้าเสีย แต่ถ้าจะหมายถึงลูกคนสุดท้อง ต้องเขียนเป็น "ลูกหล้า" แล้วอ่านออกเสียงเป็น [ลูก_-หล่า] (โทต่ำ,เอก) เอา ซึ่งคำว่า "หล้า" นี้ จะตรงกับคำไทยกลางว่า "ล่า" ที่แปลว่าช้า เช่น "คือมาหล้าแท้" จะหมายถึง "ทำไมมาช้าจัง" และคำว่า "ลูกหล้า" ก็หมายถึง "ลูกคนล่า(สุด)" หรือลูกคนสุดท้องนั่นเอง

เรื่องนี้สอดคล้องกับที่ผมเคย ตั้งข้อสังเกตไว้ พร้อม วิเคราะห์สำเนียงขอนแก่นเป็นตัวอย่าง โดยได้นำเสนอครั้งแรกใน Lang4Fun เมื่อราว 6 ปีที่แล้ว จากนั้น เวลาเขียน blog ที่ Lang4Fun ผมก็ได้ใช้หลักการนี้มาตลอด โดยในระยะแรกผมจะเขียนคำอ่านกำกับไว้เผื่อผู้ที่ไม่คุ้นเคย แต่หลัง ๆ คิดเอาเองว่าผู้อ่านคงเริ่มคุ้นเคยแล้วก็ไม่ได้เขียนคำอ่านกำกับ ก็ปรากฏว่ามีผู้มาทักท้วงว่าเสียงไม่ถูกต้อง เช่น ในความเห็นท้ายคำว่า ไหง่ และ ดุ, ฮ้าย เป็นการแสดงให้เห็นว่า ยังมีคนอีสานจำนวนมากที่เขียนคำอีสานแบบใส่สำเนียงอ่าน แทนที่จะเขียนรูปคำให้ผู้อ่านผันเอา ซึ่งการเขียนแบบใส่สำเนียงอ่านจะมีความลักลั่นหลายประการ ดังที่ผมได้อธิบายไปในบทความนั้น ซึ่งก็ปรากฏว่าหลวงพ่อท่านก็กังวลเรื่องเดียวกันนี้เหมือนกัน แต่ท่านคงพูดเรื่องนี้มานานแล้ว จากความสนใจในเรื่องภาษามาตลอดชีวิตของท่าน ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมได้รับแรงบันดาลใจจากผู้รู้ ช่วยให้มั่นใจยิ่งขึ้นว่าสิ่งที่ผมคิดนั้นถูกต้องแล้ว (ครั้งแรกที่ได้พบความเห็นเช่นนี้จากผู้รู้ ก็คือ ความเห็นของครูวัฒน์ จากโรงเรียนสว่างวีระวงศ์ ในท้ายบทความที่ผมเขียน)

เสียง ญ และ ย

เมื่อได้พูดถึงเรื่องการสะกดและผันวรรณยุกต์อีสานแล้ว ก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่ท่านจะพูดถึงเสียง ญ และ ย ที่มักจะสร้างความสับสนงุนงงให้กับผู้ที่ฝึกพูดภาษาอีสาน เพราะในภาษาอีสานนั้น นอกจากการออกเสียงนาสิกที่ต่างกันแล้ว พยัญชนะทั้งสองตัวนี้ยังถือว่าอยู่คนละหมู่ในไตรยางศ์ ทำให้ผันวรรณยุกต์ต่างกันอีกด้วย

ในภาษาไทยเก่านั้น มีเสียงที่คล้ายกันอยู่สี่หน่วยเสียง คือ ญ, ย, หญ และ อย ซึ่งเดิมจะออกเสียงต่างกัน ไม่ใช่เหมือนกันไปหมดเหมือนในปัจจุบัน ความจริงใน blog เรื่อง On Thai Old Language ผมควรจะได้เล่าเรื่องนี้ด้วย แต่ก็ไม่ได้เล่า กล่าวคือ เสียง ญ นั้นจะตรงกับ /ñ/ (เสียง ย + นาสิก), เสียง ย ตรงกับ /j/ (ย ปัจจุบัน), เสียง หญ ตรงกับ /hñ/ (เสียง ฮ ตามด้วย ย + นาสิก), เสียง อย ตรงกับ /Ɂj/ (อ ตามด้วย ย) แล้วต่อมาจึงกลืนเสียงเข้าด้วยกันหมดกลายเป็นเสียง ย /j/ แบบเดียว

สำหรับภาษาลาว/อีสานนั้น จะมีหน่วยเสียงต่างกันสองหน่วยเสียง คือ ญ กับ อย ซึ่งอักษรลาวจะแทนเสียง ญ ด้วย ຍ (ຍ ຍຸງ) และแทนเสียง อย ด้วย ຢ (ຢ ຢາ) โดย ຍ ຍຸງ จะมีเสียงออกจมูก และผันวรรณยุกต์เหมือนอักษรต่ำ ส่วน ຢ ຢາ จะไม่มีเสียงออกจมูก และผันวรรณยุกต์เหมือนอักษรกลาง

ท่านยกตัวอย่างชื่ออำเภอสองอำเภอ คือ "เชียงยืน" กับ "พระยืน" คำว่า "ยืน" ในทั้งสองชื่อนี้เป็นคนละคำ ออกเสียงต่างกัน และความหมายก็ต่างกันด้วย "ยืน" ใน "เชียงยืน" จะเป็นเสียง "ญืน" (ຍືນ, ออกเสียงว่า [ญื่น]) แปลว่ายาวนาน เหมือนในคำว่า "ยั่งยืน" ส่วน "ยืน" ใน "พระยืน" นั้น จะเป็นเสียง "อยืน" (ຢືນ, ออกเสียงว่า [หยื่น]) หมายถึงกิริยาเอาเท้าเหยียบพื้นตั้งตัวตรงขึ้นไป ซึ่งในภาษาไทยสมัยเก่าก็เขียนคำว่า "ยืน" คำหลังนี้เป็น "อยืน" เช่นกัน ก่อนที่จะกลืนเสียงเป็นเสียงเดียวกัน พร้อมกับเปลี่ยนตัวสะกดกลายเป็นคำพ้องทั้งรูปทั้งเสียงในปัจจุบัน

ภาษาไทยปัจจุบัน มีคำที่ใช้ อย เหลือเพียงสี่คำ คือ อย่า อยู่ อย่าง อยาก แต่ในภาษาเก่าคงมีเยอะกว่านี้มาก ซึ่งอาจสืบประวัติได้จากร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ในสำเนียงภาษาถิ่นต่าง ๆ นี่เอง

อีกตัวอย่างหนึ่งคือชื่อต้นไม้สองชนิด คือต้นยางนากับต้นยางพารา ต้นยางนานั้น ใช้ ຍ ຍຸງ จึงเขียนเป็น "ต้นญาง" ออกเสียงว่า [ต้น_-ญ่าง] (โทต่ำ,โท+นาสิก) แต่ถ้าเป็นต้นยางพารา ใช้ ຢ ຢາ เขียนเป็น "ต้นยาง" หรือ "ต้นอยาง" ออกเสียงว่า [ต้น_-หย่าง] (โทต่ำ,เอก+ไม่นาสิก)

ตัวอย่างถัดมาอีก คือคำว่า "ยาย" ที่หมายถึงแม่ของแม่นั้น ใช้ ຍ ຍຸງ จึงเขียนเป็น "ญาย" ออกเสียงว่า [ญ่าย] แต่อีกคำคือ "ยาย" ที่หมายถึงกระจัดกระจาย หรือกระจายของออกจากกัน ใช้ ຢ ຢາ เขียนเป็น "ยาย" หรือ "อยาย" ออกเสียงว่า [หย่าย]

หมายเหตุ: เสียงอักษรกลางรูปสามัญในบางสำเนียง ไม่ได้ผันเป็นเสียงเอก แต่ใช้เสียงสามัญก็มี เช่น อฺยืน, อฺยาง, อฺยาย อาจจะออกเสียงเป็น [ยืน], [ยาง], [ยาย] ไปเลย ไม่ใช่ [หยื่น], [หย่าง], [หย่าย] เหมือนสำเนียงขอนแก่น

เกร็ดเบ็ตเดล็ด

  • ชื่อ "บ้านสงเปือย" นั้น บางคนพยายามจับแต่งไทยเป็น "บ้านสงฆ์เปลือย" ซึ่งผิดความหมายไปไกล ที่ถูกนั้น ควรรักษาคำเดิมไว้ คำว่า "สง" ในภาษาอีสานหมายถึงป่า ส่วน "เปือย" หมายถึงไม้ชนิดหนึ่งที่เปลือกลอกล่อนได้ (เปิดพจนานุกรมแล้ว หมายถึงต้นตะแบก) ดังนั้น "บ้านสงเปือย" จึงหมายถึง "บ้านป่าตะแบก"
  • ข้าวมื้อเช้านั้น อีสานเรียก "เข้างาย" (เข้า = ข้าว; งาย = เช้า) และจะมีคำขยายเพิ่มได้ ถ้า "งายเงย" จะหมายถึงกินข้าวเช้าสายกว่าเวลาปกติ แต่ถ้า "งายตาเหลือก" หมายถึงกินสายจนหิวข้าวตาลายหมดแล้ว
  • ทางเมืองเหนือ เรียกเณรว่าพระ เรียกพระว่าตุ๊ แต่ทางอีสาน เรียกพระว่าพระเหมือนภาษากลาง แต่จะเรียกเณรว่า "จั่ว" [จัว^]
  • "หลัว" [หลัว] หมายถึงไม้ฟืนขนาดเล็ก ที่เผาแล้วเหลือแต่ขี้เถ้า ไม่เป็นถ่าน เช่น หลัวไม้ไผ่
  • "ขี้ซี" [ขี่-ซี่] หมายถึงชันที่ใช้ยาชะลอมใส่น้ำ ซึ่งชะลอมที่ยาชันนี้เรียกว่า "คุ"
  • "กะบอง" [กะ-บ่อง] หมายถึงขี้ไต้ที่ห่อมัดเป็นท่อนพร้อมใช้ มีคัมภีร์ใบลานบางฉบับ จะจบเรื่องด้วยการบอกว่า กะบองจะหมดแล้ว ไม่มีไฟให้แสงสว่างแล้ว จึงขอจบเรื่องเพียงเท่านี้
  • "โพน" [โพ่น] หมายถึงจอมปลวกที่เป็นมูลดินขึ้นมา ซึ่งดินจอมปลวกนี้มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชได้งาม นาผืนไหนมีจอมปลวกมักเป็นที่ต้องการ ถ้าเป็นเนินดินที่ใหญ่หน่อยจะเรียก "โนน" [โน่น] แต่ถ้าเป็นเนินกว้างจะเรียก "มอ" [ม่อ]
  • ผญาทายปริศนา: อะไรเอ่ย ขี้ซ้างซอด ขี้มอดคา? (ใหญ่เหมือนขี้ช้างจะทะลุลอดได้ แต่ถ้าเล็กเหมือนขี้มอดจะทะลุไม่ได้)..... (เฉลย: ใยแมงมุม)
  • "กั้ว" [กั้ว_] หมายถึง รบกวน เช่น "อย่ามากั้วแถวนี้ ไปพู้นเลย"
  • "คั่ว" [คัว^] หมายถึง ควานหา เช่น "อย่าให้หนอนไปกั้ว แมงวันเข้าคั่ว" (อย่าให้หนอนเข้ามารบกวน จนแมลงวันบินควานไปทั่ว)
  • "บาย" [บ่าย] ที่หมายถึงลูบนั้น ในบางครั้งก็หมายถึงตีหรือกำราบ เช่น "กูสิบายมึงจั๊กบาด" หมายถึงจะตีให้ได้สักครั้ง

นี่บันทึกเท่าที่จำได้ ยังมีอีกมากที่จำมาไม่หมด เพราะตลอด 3-4 ชั่วโมงที่สนทนากับท่านนั้น ความรู้พรั่งพรูมาไม่หยุด ถ้ามีโอกาสไปกราบท่านอีกครั้งคงต้องเตรียมสมุดไปจด หรือเตรียมอัดเสียงท่านไว้เลย :-)

ส่งท้าย

เกี่ยวกับอักษรธรรมนั้น ท่านได้เสนอแนวคิดที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือการปรับใช้การเขียนบาลีแบบประพินทุในอักษรไทย กลับไปใช้กับอักษรธรรม เพื่อให้เขียนได้โดยไม่ต้องใช้ตัวเฟื้อง ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ

ต้องเท้าความนิดหนึ่ง ว่าสมัยก่อนนั้นจะไม่ใช้อักษรไทยเขียนภาษาบาลี แต่จะใช้อักษรขอมหรืออักษรธรรมเท่านั้น ยกเว้นการเขียนแบบทับศัพท์หรือคำยืม ก็เหมือนกับการใช้ตัวโรมันเขียนภาษาอังกฤษแบบไม่ทับศัพท์ในปัจจุบันนั่นเอง ที่ไม่ใช้อักษรไทยก็เพราะอักษรไทยไม่มีตัวเฟื้อง เขียนพยัญชนะซ้อนตามแบบอักษรอินเดียไม่ได้ จนกระทั่งมีการริเริ่มใช้พินทุเพื่อประเชื่อมพยัญชนะซ้อนในสมัย ร.๕ เช่น คำว่า ปุปฺผา เป็นการใช้พินทุเชื่อมพยัญชนะซ้อน ปฺผ ของวรรคปะ ซึ่งถ้าเขียนด้วยอักษรอินเดีย จะต้องเขียน ผ ด้วยตัวเฟื้องหรือสังโยคซ้อนใต้ ป แต่อักษรไทยไม่มีตัวเฟื้อง ก็ใช้พินทุประที่ตำแหน่งเฟื้องไว้แทน เมื่อมีวิธีเขียนแบบนี้ ก็ทำให้เริ่มมีการใช้อักษรไทยเขียนภาษาบาลี-สันสกฤตจนแพร่หลาย จนเข้าแทนที่อักษรขอมและอักษรธรรมในปัจจุบัน

ทีนี้ แนวคิดที่ท่านคิดเพิ่มเติม ก็คือนำหลักการประพินทุนี้ กลับไปใช้ในอักษรธรรม กลายเป็นการสร้างอักขรวิธีแบบใหม่สำหรับเขียนภาษาบาลี โดยเป็นอักษรธรรมแบบไม่มีตัวเฟื้อง ก็นับเป็นการริเริ่มที่น่าสนใจไม่น้อย

ป้ายกำกับ:

2 ความเห็น:

  • 28 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 14:12 , Blogger Unknown แถลง…

    นั่นสิครับคุณเทพต้อง 'อัด' สถานเดียวถึงจะครบ
    อ่านแล้วคิดถึงถิ่นเก่าแถบนั้น มีโอกาสจะแวะไปเยี่ยมครับ
    ศิษย์เก่า มข. นานแล้วล่ะ

     
  • 24 มิถุนายน 2562 เวลา 11:23 , Blogger Green แถลง…

    ติดตามอยู่นะครับพี่ Theppitak ผมเป็นศิษย์เก่า มข. อีกคนหนึ่งที่กำลังสนใจในเรื่องภาษาอีสานอยู่เหมือนกัน
    ได้อ่านบล็อกของพี่แล้วรู้สึกว่าเขียนได้ละเอียดมากๆ ตอนนี้ผมกับเพื่อนอีกคนใช้เวลาว่างหลังเลิกจากงานประจำและช่วงเสาร์อาทิตย์ทำเว็บไซต์ "อีสานร้อยแปด" ด้วยความรู้อันน้อยนิดแต่มีใจรักในอีสานบ้านเกิด ถ้ามีโอกาสก็อยากจะพูดคุยและขอคำชี้แนะจากพี่เพื่อเป็นแนวทางครับ

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem