Theppitak's blog

My personal blog.

14 พฤศจิกายน 2553

Isaan Scripts Project

หลังจากที่ได้ตั้งกลุ่ม Khon Kaen Linux User Group (เวอร์ชันเก่า, Page ของกลุ่ม) ใน Facebook และมีการจัดประชุม โสเหล่ ประจำเดือนกันมา ก็เริ่มมีกิจกรรมถกกันหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือ การรองรับอักษรอีสานในลินุกซ์ ซึ่งรายละเอียดได้ถกกันบางส่วนในห้องชุมชนผู้ใช้งานภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ Ubuntuclub ในกระทู้ ภาษาถิ่นในลินุกซ์

อักษรอีสานตามแบบล้านช้างมีใช้กันมาแต่โบราณ เพิ่งยกเลิกไปในสมัย ร.๖ นี่เอง แบ่งเป็นอักษรสองชนิด คืออักษรไทน้อย และอักษรธรรม โดยอักษรไทน้อยใช้เขียนเอกสารทั่วไป รวมทั้งเอกสารราชการด้วย ส่วนอักษรธรรมจะใช้เขียนคัมภีร์ทางศาสนา

ทำไมต้องรองรับอักษรอีสาน?

  • มีวรรณกรรมอีสานมากมายที่จารึกไว้ด้วยอักษรธรรมและไทน้อย มีโครงการปริวรรตวรรณกรรมอีสานเป็นอักษรไทยพอสมควร เช่น วรรณกรรมเหล่านี้ ควรค่าแก่การบันทึกในรูปดิจิทัลโดยใช้รหัสยูนิโค้ด
  • อักษรอีสานเพิ่งเลิกใช้ได้ไม่ถึงร้อยปี ยังไม่สายหากจะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาภาษาและวรรณกรรมท้องถิ่นจากเอกสารเก่า เนื่องจากปัจจุบันถือได้ว่าภาษาอีสานเหลือแต่ภาษาพูด ส่วนภาษาเขียนที่ใช้อักษรไทยกลางนั้นมีความลักลั่นสูงมาก ดังที่ผมเคย สรุปไว้ที่ longdo และพยายาม วิเคราะห์หน่วยเสียงสำเนียงขอนแก่นเป็นตัวอย่าง

ตามประวัติแล้ว อักษรไทน้อยและอักษรธรรมอีสานมีการสืบทอดมาจากล้านนา ผ่านทางล้านช้าง

พื้นที่อีสานมีหลักฐานเป็นอักษรจารึกค่อนข้างหลากหลาย แรกเริ่มเดิมที จารึกที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในอีสานจะใช้อักษรปัลลวะ ยุคต่อมาก็เป็นอักษรขอม แต่พอขอมเริ่มเสื่อมอำนาจลง จารึกในอีสานก็ขาดช่วงไปเป็นเวลาหลายร้อยปี แล้วจู่ ๆ ก็มีจารึกอักษรพญาลิไทปรากฏขึ้น ซึ่งตรงกับหลักฐานทางสุโขทัยว่ามีการเผยแผ่พุทธศาสนาเถรวาทจากสุโขทัยออกไปในรัฐไทยต่าง ๆ รวมทั้งล้านช้างด้วย ตรงนี้สันนิษฐานว่าชนชาติที่ใช้อักษรขอมกับชนชาติไทย-ลาวที่เริ่มใช้อักษรพญาลิไทน่าจะเป็นคนละชนชาติกันแล้ว และชนชาติไทย-ลาวในอีสานก็ได้รับอักษรพญาลิไทมาใช้ตั้งแต่บัดนั้น

ทางภาคเหนือ หริภุญชัยได้รับถ่ายทอดวัฒนธรรมจากชาวมอญที่ลี้ภัยจากการรุกรานของพระเจ้าอนุรุทธแห่งพุกามมา และเริ่มมีอักษรมอญใช้ ก่อนจะค่อย ๆ พัฒนาเป็นอักษรยวนล้านนา (ตัวเมือง) ต่อมาจนถึงสมัยล้านนาเชียงใหม่

เมื่อทางสุโขทัยมีการใช้ลายสือไทย และแพร่กระจายขึ้นไปทางภาคเหนือพร้อมกับการเผยแผ่พุทธศาสนาในสมัยพญาลิไท ล้านนาก็เริ่มรับเอาอักษรสุโขทัยไปใช้บ้าง โดยมีการพัฒนารูปร่างและผสมอักษรยวนเข้ามานิดหน่อยจนกลายเป็น อักษรฝักขาม ซึ่งหลัก ๆ จะใช้อักขรวิธีแบบไทย (คือเขียนตัวสะกด-ควบกล้ำบนบรรทัด ไม่ใช่ใช้ตัวเฟื้องห้อยข้างล่างตามแบบมอญ)

อักษรยวนล้านนาและอักษรฝักขามค่อย ๆ แพร่กระจายเข้าไปในล้านช้างผ่านทางพระล้านช้างที่มาศึกษาศาสนาในล้านนา และแพร่อย่างทวีคูณเมื่อมีความสัมพันธ์ทางการเมืองกันในสมัยพระเจ้าโพธิสาลราชของล้านช้าง ซึ่งได้ราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่เป็นมเหสี และเมื่อแผ่นดินเชียงใหม่ว่างลงโดยขาดรัชทายาท พระไชยเชษฐาธิราชซึ่งเป็นพระโอรสลูกครึ่งล้านช้าง-ล้านนาจึงได้รับอัญเชิญให้ไปครองเมืองเชียงใหม่ ต่อมาพระไชยเชษฐาธิราชได้ย้ายกลับมาครองล้านช้าง ตั้งเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงใหม่ เอกสารต่าง ๆ ของล้านนาจึงถูกเคลื่อนย้ายเข้าล้านช้างขนานใหญ่ พร้อมกับอักษรยวนล้านนาและอักษรฝักขามด้วย

ก็ถือเป็นการแพร่กระจายภาษาเขียนเป็นระลอกที่สอง ชาวล้านช้างรับอักษรฝักขามได้ไม่ยาก เพราะเคยใช้อักษรพญาลิไทมาบ้างแล้ว ส่วนอักษรยวนล้านนานั้นก็ใช้กันตามวัดมาก่อนหน้านั้นพอสมควรแล้ว

อักษรฝักขามได้พัฒนาต่อมาเป็นอักษรไทน้อย (และพัฒนาเป็นอักษรลาวปัจจุบัน) และอักษรยวนล้านนาได้พัฒนาต่อมาเป็นอักษรธรรม ดังนั้น โดยตระกูลภาษาเขียนแล้ว อักษรไทน้อยถือว่าอยู่ในตระกูลอักษรไทย (ซึ่งมีรากมาจากอักษรเขมร) และอักษรธรรมอยู่ในตระกูลอักษรมอญ

อีสานใช้อักษรทั้งสองมาตลอด คนที่เรียนหนังสือก็จะต้องเรียนอักษรทั้งสองนี้ เพราะอักษรไทน้อยใช้ในเอกสารทางราชการ และอักษรธรรมใช้ในทางศาสนา มาเลิกใช้เอาในสมัย ร.๕ ที่มีระบบการศึกษาจากส่วนกลาง โดยอักษรไทยภาคกลางเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเลิกใช้เต็มที่เมื่อมี พรบ. ประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ ในสมัย ร.๖

ที่ปกหลังหนังสือ อักษรไทยโบราณ ของ อ.ธวัช ปุณโณทก เขียนเอาไว้น่าสนใจว่า:

...คนไทยสมัยก่อนรัชกาลที่ ๕ ทั้งคนไทยในประเทศและนอกประเทศที่ใช้อักษรไทยสกุลมอญ (อักษรยวนล้านนา และอักษรตัวธรรมในลาวและอีสาน) มีจำนวนประชากรมากกว่าคนไทยที่ใช้อักษรสกุลลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหง...

สำหรับอักษรธรรมอีสานนั้น จากที่ได้ศึกษาเปรียบเทียบอักขรวิธีกับตัวเมืองล้านนา พบว่าแทบจะเหมือนกันทุกประการ ต่างกันแค่รูปร่างตัวอักษรเท่านั้น ฉะนั้น จึงอาจใช้รหัสยูนิโค้ดของล้านนาในการเก็บอักษรธรรมอีสานได้เลย โดยใช้บล็อก Tai Tham (U+1A20..U+1AAF) ซึ่งกำหนดไว้สำหรับอักษรธรรมโดยทั่วไป ทั้งล้านนา ไทลื้อเก่า ไทเขิน และอักษรธรรมลาว และควรจะรวมอักษรธรรมอีสานด้วย

นั่นทำให้ควรไปเริ่มงานจากการรองรับอักษรธรรมสักภาษาก่อน แล้วจึงหยิบยืม implementation ไปใช้ในอักษรธรรมอื่น ซึ่งถ้าดูความเป็นไปได้ อักษรธรรมล้านนาน่าจะมีความพร้อมมากที่สุด ตัวอย่างเช่น มี ฟอนต์ Lanna Alif พร้อมผังแป้นพิมพ์ และ ฟอนต์ล้านนาของ Octra Bond โดยรูปร่างของ Alif ดูจะเป็นล้านนามากกว่าของ Octra Bond ที่ดูกระเดียดไปทางพม่า แต่อย่างไรก็ดี ฟอนต์ทั้งสองก็สงวนลิขสิทธิ์เต็มที่ ทำให้ปรับปรุงแก้ไขอะไรไม่ได้

จึงได้เกิดโครงการ หริภุญชัย เพื่อสร้างฟอนต์ล้านนาและอักษรธรรมอื่น ๆ เพื่อเผยแพร่ด้วยสัญญาอนุญาตแบบโอเพนซอร์ส โครงการนี้ริเริ่มโดย Ed Trager ซึ่งได้คุยกับผมใน Facebook เกี่ยวกับอักษรล้านนา จึงได้ชักชวนนักพัฒนาคนอื่น ๆ รวมถึงนัก typography นักพัฒนาลาว และ อ.พฤษภ์ จาก มช. มาร่วมด้วย โครงการนี้ยังอยู่ในระหว่างขอทุนสนับสนุนจาก Google ครับ และคิดว่าจะขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานรัฐและมหาวิทยาลัยในไทยต่อไปด้วย

นั่นคือครึ่งหนึ่งของอักษรอีสานละ คืออักษรธรรม ส่วนอักษรไทน้อยนั้น ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

3 ความเห็น:

  • 15 พฤศจิกายน 2553 เวลา 02:00 , Blogger KoKo, Who Has The Special Name แถลง…

    สู้ๆ ครับ

     
  • 15 พฤศจิกายน 2553 เวลา 08:38 , Blogger Sakura แถลง…

    ฟอนต์ติโลก ฟอนต์ไทธรรม ผลงานของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช. ใช้งานได้ดีบน Windows และ Linux แต่ยังมีปัญหาบน Mac แสดงผลได้ถูกต้องตามหลักภาษา บน IE และ Firefox

    ขณะนี้เข้าใจว่าเป็น freeware แต่ถ้าใช้กำลังภายใน อาจมีหวังได้ open source

    เอกสาร PDF ส่วนวิเคราะห์แป้นพิมพ์ น่าสนใจ อาจจะพอมีประโยชน์สำหรับโครงการนี้บ้างครับ

     
  • 15 พฤศจิกายน 2553 เวลา 12:23 , Blogger Thep แถลง…

    ขอบคุณครับสำหรับข้อมูล แต่ผมดาวน์โหลดอะไรจากเว็บของฟอนต์ติโลกไม่ได้เลย ทุกลิงก์จะมีปัญหา "Invalid Redirect URL" เหมือนกันหมดครับ

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem