Theppitak's blog

My personal blog.

06 ตุลาคม 2553

OSSFest 2010

เพิ่งกลับมาถึงบ้านครับ จากงาน OSSFest 2010 ที่สถาบันปัญญาภิวัฒน์ งานเขามีสองวัน 30 ก.ย. - 1 ต.ค. (พฤหัส-ศุกร์) จบงานแล้วผมก็อยู่ทำธุระต่อ จนกระทั่งเพิ่งกลับขอนแก่นเมื่อวานนี้

ในงานก็ได้พบปะกับหลาย ๆ คน ได้ฟังความรู้ความคิดเห็นจากหลาย ๆ ท่าน

คุณ James Clark: FOSS ในยุค cloud และ mobile

วันแรกหลังพิธีเปิด คุณ James Clark บรรยายเกี่ยวกับความสำคัญของ FOSS ในยุค cloud และ mobile โดยได้ให้ทัศนะว่าความสำคัญจะย้ายไปอยู่ที่ผู้ให้บริการและองค์กรมากขึ้น ซึ่งก็น่าจะเป็นอย่างนั้น ตามแนวโน้มของการเกิดและใช้งาน web application มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็แอบคิดแย้งในประเด็นที่บอกว่า FOSS นั้น ไม่สำคัญเลยกับผู้ใช้ mobile

คุณเจมส์บอกว่า ผู้ใช้ mobile ไม่สนใจหรอก ว่าซอฟต์แวร์ที่ใช้ในโทรศัพท์นั้นเป็น FOSS หรือไม่ ผมคิดว่าไม่จริง เอาง่าย ๆ ถ้าพูดกันแค่เรื่องราคา ผู้ใช้ก็มีแนวโน้มเลือกโปรแกรมฟรีก่อนโปรแกรมซื้อถ้ามันใช้งานได้ดีพอ และสำหรับคนที่คุ้นเคยกับเสรีภาพที่จะแก้บั๊กต่าง ๆ ด้วยตัวเอง การต้องกลับไปใช้ซอฟต์แวร์ที่มัดมือมัดเท้าไม่ให้ทำอะไรได้ก็จะรู้สึกอึดอัด ก็มันเคย apt-get ได้แทบทุกอย่าง มีบั๊กก็ apt-get source มาแก้แล้ว file bug หรืออยากจะดัดแปลงอะไรก็ทำได้ตามถนัด พอมาใช้มือถือก็ยังอยากได้ความสะดวกสบายแบบนั้น ที่ยังใช้ Android ที่ยังไม่สามารถ root ได้อยู่ ก็ยังหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะได้เป็นเจ้าของแบบเต็ม ๆ คือจะทำอะไรกับมันก็ได้เหมือนอย่าง Debian on FreeRunner อยู่นะครับ

อ.กิตติ์ เสริมเรื่องความโปร่งใสของซอฟต์แวร์ อีกประเด็นหนึ่ง

คุณ roofimon กับคอร์สวิศวกรรมซอฟต์แวร์แบบสบาย ๆ

จากบรรยายของคุณเจมส์ ก็มาต่อที่ community edition ซึ่งเริ่มงานช้ากว่าปกติ เพราะต้องรอพักทานกาแฟกันก่อน การพูดตอนเช้า 3 รายการก็เลยถูกหดเวลาลงจากคนละ 50 นาทีเหลือคนละ 30 นาที ผมเริ่มคนแรก กับหัวข้อ "How to Contribute to Debian" เลยต้องพยายามรักษาเวลาเต็มที่ พูดแบบติดเทอร์โบชนิดไม่เคยทำมาก่อนในชีวิต ตามมาด้วยการแนะนำสิ่งใหม่ใน Ubuntu 10.10 โดยคุณมะระ ปิดท้ายก่อนพักเที่ยงโดยคุณ roofimon ว่าด้วยเรื่องวิศวกรรมซอฟต์แวร์กับภาษา Java

เครื่องมือสุดยอด ภาษาสุดยอด อะไรก็ตามแต่ที่คุณ roofimon เล่ามา รู้สึกว่าสิ่งที่สำคัญกว่านั้นในเนื้อหาคือเรื่องวินัยการพัฒนาโปรแกรม หัวอกโปรแกรมเมอร์จะเข้าใจได้ดี เวลาที่ต้องไป maintain โค้ดของคนที่เขียนโปรแกรมราวกับอยู่ท่ามกลางมรสุมชีวิต กลายเป็นโค้ดที่ "แม่สะดุ้ง" บ่อย ๆ :-P

How to Build Community

ช่วงบ่ายก็มาสุมหัวเสวนากันเรื่องจะสร้างและดูแลชุมชนยังไง คุณมะระเล่าเกี่ยวกับ ubuntuclub ว่าพยายามทำให้ชุมชนเติบโต พยายามหารายได้มาโปะรายจ่ายที่เกิดขึ้น เพื่อให้คนที่มารับช่วงต่อไม่ต้องลำบากมากนัก อ.วิภัทร เล่าเกี่ยวกับ PSU LUG ว่ามีการเรียนรู้จากความผิดพลาด ไม่รณรงค์แบบหว่านแห แต่เจาะดาวรุ่งเป็นกลุ่ม ๆ ช่วยติดปีกให้เขามาเป็นกำลังให้

ผมนั่งฟังทั้งสองท่านแล้วก็เลยนึกเปรียบเทียบกับแนวทางที่ debianclub ทำอยู่ ก็เลยเปรียบเทียบให้ฟัง คือ debianclub นั้นใช้แนวทางคล้ายกับ อ.วิภัทร ตรงที่ไม่พยายามหว่านแห แต่มุ่งไปที่ผู้ใช้ที่ใช้ debian มาพอสมควรแล้ว ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือจากหลายท่านในการเขียนบทความมาเผยแพร่ แต่ก็พยายามไม่ให้เนื้อหาหนักเกินไปสำหรับมือใหม่ โดยจะมีเนื้อหาเบา ๆ หรือข่าวสารมาสลับบ้าง มี forum ให้ถามคำถาม ส่วนค่าใช้จ่ายก็อาศัย donation เป็นส่วนใหญ่ คือมีทั้งคนบริจาคเครื่องเซิร์ฟเวอร์ แบนด์วิดท์ ฮาร์ดดิสก์ ฯลฯ เหลือค่าใช้จ่ายเพียงอย่างเดียวที่ยังต้องออกกันเองกับนิวตรอนอยู่คือค่า domain

PSU-12 Boot Server

ต่อจากนั้น แยกห้องทำ workshop ก็เข้าไปดู workshop ของ อ.วิภัทร เรื่องการทำ boot server สำหรับ diskless PC ที่ไม่ใช่แค่สำหรับ thin client แต่ดัดแปลงให้บูตได้หลายแบบ เป็น rescue, live CD, kiosk หรืออะไรก็ตามแต่ โดยควบคุมเป็นเครื่อง ๆ ได้ มีระบบเมนูให้เลือกบูต นับเป็น deployment ที่น่าสนใจมาก ๆ

OpenStreetMap

โดยคุณ Willi มาบรรยายเกี่ยวกับที่มาและหลักการของ OSM วิธีการนำไปใช้ วิธีการ contribute พร้อมกับปูพื้นเพื่อทำ workshop ตอนบ่ายด้วย

Translating OSS in Launchpad

โดยคุณจรูญ (Jeroen T. Vermeulen) ผู้พัฒนา Launchpad ของ Ubuntu มาเอง อธิบายว่า LP ทำอะไรได้บ้าง จะทำงานแปลจะมีวงรอบการประมวลผลยังไงบ้าง แต่สุดท้าย คำถามที่สงสัยคือ จะทำงานกับต้นน้ำยังไงดี ก็ได้รับคำตอบว่า ทีมคุณต้องไปตกลงกันเอง จบข่าว

ประวัติศาสตร์แฮกเกอร์และโอเพนซอร์สไทย

เสวนาเล่าความหลัง โดย bact' เป็นผู้ดำเนินรายการ ผู้ร่วมเสวนาก็มี Ott, มะระ แล้วก็ผม ความจริงคงมีบางคนนอนสะดุ้งอยู่ที่ชลบุรี เนื่องจากถูกพาดพิงถึงบ่อย ๆ :-)

You can eat Open Source

bact' มาดำเนินรายการต่อ สัมภาษณ์สองบริษัทที่ทำธุรกิจกับ FOSS คือ Marvelic Engine (โดยคุณ อัครวุฒิ) และ Metamedia Technology (โดย Ott)

OSM Workshop

คุณ Willi พาทุกคนออกเก็บ GPS track ในบริเวณศูนย์ประชุม แล้วกลับมาวาดแผนที่ใน JOSM ให้ดู พร้อมกับบอกเทคนิคต่าง ๆ ได้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเยอะเหมือนกัน

อ.ปราสาท: ว่าด้วยเรื่อง 13 ฟอนต์ DIP-SIPA

มีโอกาสได้พบ อ.ปราสาท วีรกุล หนึ่งในคณะทำงานฟอนต์ DIP-SIPA ได้ทราบว่า เดิมนั้นเสนอให้ใช้ OFL กับฟอนต์ชุดนี้ แต่ฝ่ายกฎหมายของ DIP และ SIPA ได้ดัดแปลงสัญญาอนุญาตจนกลายเป็น postcardware ดังที่ปรากฏ และอาจารย์ยังได้ให้ข้อมูลอีกว่า ฟอนต์ชุดนี้รองรับผู้ใช้ Mac โดยใช้ AAT เนื่องจากการรองรับ OpenType บน Mac ยังไม่สมบูรณ์พอ ซึ่งก็คงเป็นแนวทางนำไปปรับแก้ ThaiFonts-Scalable ของ TLWG ได้

หลังงาน ก็อยู่ต่อเพื่อพบกับคุณ Martin Hosken เพื่อหารือเรื่องการแก้ไข Unicode UAX #29 เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการเลื่อนเคอร์เซอร์ข้ามสระหน้าและสระหลังของภาษาไทย ลาว และไทดำ พร้อมกันนั้นก็ได้คุยเรื่องการรองรับภาษาของชนกลุ่มน้อยที่ใช้อักษรไทย เช่น กุย/ส่วย, เขมรตอนเหนือ ฯลฯ รวมทั้งภาษาบาลี-สันสกฤต ซึ่งต้องร่างเป็นข้อกำหนด วทท 3 ต่อไป โดยคุณ Martin ได้สาธิตการใช้ฟีเจอร์ของ Graphite ใน OO.o เพื่อเขียนภาษาบาลี-สันสกฤตด้วย แต่ยังมีปัญหาบางอย่างที่ต้องแก้ไขอยู่ จึงยังไม่เผยแพร่ในตอนนี้ ถ้าทำเสร็จแล้วก็อาจจะเป็นคำตอบสำหรับ OO.o ต่อไป รวมทั้งการเพิ่มการรองรับแบบเดียวกันกับฟอนต์ OpenType ด้วย

ก่อนกลับบ้าน มีเวลาเหลือเล็กน้อย ก็ไปเก็บ GPS track แถวแยกประชานุกูล เอากลับมาทำแผนที่ OSM ต่อที่บ้านหลังจากกลับถึงขอนแก่นแล้ว

ป้ายกำกับ: , , , ,

0 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem