The DIP-SIPA 13 Postscardware Fonts
ถึงจะช้าไปหน่อย (ทราบข่าวหลายวันแล้ว แต่เพิ่งมีเวลาเขียน) แต่ก็ขอเขียนถึง ฟอนต์สารบรรณและ ๑๓ ฟอนต์ "แห่งชาติ" ของ SIPA และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่ ครม. ได้มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐติดตั้งเพื่อใช้เป็นฟอนต์มาตรฐาน
ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมกับก้าวสำคัญก้าวนี้ ที่หน่วยงานรัฐจะสลัดหลุดจากการบังคับใช้ฟอนต์เอกชนเจ้าใดเจ้าหนึ่ง มาเป็นฟอนต์ที่ใช้ได้ฟรีทุกแพลตฟอร์ม แต่ในความชื่นชมก็มีความผิดหวังที่อยากให้ได้รับการแก้ไข
ข้อแรก คือการทำแบนเนอร์ "๑๓ ฟอนท์แห่งชาติ" นั้น ทำให้เกิดความสับสนกับโครงการเดิมที่มีอยู่ คือ โครงการฟอนต์แห่งชาติ ของเนคเทค ซึ่งปัจจุบัน TLWG กำลังดูแลอยู่ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการ ThaiFonts-Scalable ผมคิดว่าถ้าโครงการใหม่นี้ไม่ใช่การสานต่อโครงการเก่า ก็ไม่ควรจะใช้ชื่อซ้ำกันให้เป็นที่สับสน น่าจะใช้ชื่ออื่น เช่น ชื่อที่จั่วหัวในเว็บ f0nt.com ว่า ฟอนต์มาตรฐาน ก็เป็นชื่อที่ดีครับ
ข้อสอง คือปัญหาเรื่อง license ของฟอนต์ชุดนี้ ซึ่งผมเคยเขียนถึงไปหลายครั้งแล้ว (เช่น DIP-SIPA Fonts License, Thai Fonts Siampradesh (non-free), Postcardware) จะทำให้ฟอนต์ชุดนี้ไม่สามารถผลักดันให้เข้าสู่ distro กระแสหลักได้ กล่าวคือ มันจะเป็นได้อย่างดีที่สุดก็ national ไม่มีทางไปสู่ international หรือ "worldwide development" ตามเจตน์จำนงของ license ได้ และมันก็จะต้องติดแหง็กอยู่ที่ ThaiOS ของ SIPA ไปตราบชั่วฟ้า SIPA สลาย คือโครงการปิดเมื่อไรก็จบกัน ไม่มีใครสามารถจะแก้ไขปรับปรุงฟอนต์ชุดนี้ต่อไปได้อีก
ขอทบทวนปัญหาของ license อีกครั้ง เพื่อเตือนความจำว่าทำไมมันถึงจะเป็นเช่นนั้น
ปัญหาที่หนักที่สุดอยู่ที่เงื่อนไขข้อ 2 ของ license ของฟอนต์:
2. If you wish to adapt this Font Computer Program, you must notify copyright owners (DIP & SIPA) in writing.
ปัญหาคือ:
- ใน license บอกให้เขียนแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ไม่ได้ระบุที่อยู่ที่จะให้แจ้งเลย ว่าจะให้ติดต่อไปที่ไหน บอกเพียงชื่อ "DIP & SIPA" เท่านั้น อย่าลืมว่าเมื่อฟอนต์นี้ go worldwide แล้ว การติดต่อหน่วยงานราชการไทยจากต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย จะไปทึกทักว่านักพัฒนาฟอนต์อิสระที่แอฟริกาจะสามารถค้นหาที่อยู่ทางไปรษณีย์ของหน่วยงานรัฐของไทยได้เองแล้วส่งมาอย่างถูกต้องนั้นไม่ได้
- แม้กระนั้น การต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น วัฒนธรรมเสรี (free culture) เขาถือว่าเป็นอุปสรรคที่ทำให้เลิกล้มความตั้งใจแล้วไปหาตัวเลือกอื่นได้ง่าย ๆ เพราะในทางปฏิบัติแล้ว การแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรจะต้องการคำตอบรับจากเจ้าของ เพื่อให้มีหลักฐานยืนยันในภายหลังว่าได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรตามเงื่อนไขของ license แล้ว และหากเจ้าของไม่ตอบรับ ก็จะไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่าจะสามารถเริ่มแก้ไขได้ การตอบรับหรือไม่ตอบรับจึงไม่ต่างอะไรกับการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้แก้ไข ดังนั้น ไม่ว่า license จะให้เสรีในการแก้ไขอย่างไรก็ตาม ถ้ามันเป็นเสรีภาพที่ต้องได้รับการอนุญาต มันก็ไม่ต่างกับการเจรจาขอใช้ license ของซอฟต์แวร์ proprietary ทั่วไปเลย
- license นี้ขาดความยั่งยืน จะเกิดอะไรขึ้นถ้าโครงการนี้ถูกปิดไปจากแผนงานของ DIP และ SIPA คนที่เขียนเข้ามาจะได้รับการตอบสนองหรือไม่? ฟอนต์ชุดนี้คงจะตายไปพร้อมกับการปิดโครงการในหน่วยงานทั้งสองโดยไม่มีใครปรับปรุงแก้ไขต่อได้
ปัญหาของ license ข้อนี้ มีคนทำผิดพลาดบ่อยจนเขามีศัพท์เฉพาะสำหรับเรียก ว่า Postcardware และไม่ถือเป็นซอฟต์แวร์เสรีหรือโอเพนซอร์สครับ ถ้าเป็นไปได้ก็ขอเสนอให้ตัดข้อนี้ออก
ปัญหาอีกข้อหนึ่งของ license นี้คือเงื่อนไขที่ไม่ตรงกันระหว่างฉบับภาษาอังกฤษกับภาษาไทยในเงื่อนไขข้อ 3:
No adapted version of Font Computer Program may use the Reserved Font Name(s), ...
ซึ่งฉบับไทยได้แปลไว้ว่า:
เมื่อดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟอนต์นี้แล้ว ห้ามผู้ดัดแปลงใช้ชื่อฟอนต์เดิม ...
กล่าวคือ ฉบับภาษาอังกฤษบอกว่า เมื่อดัดแปลงฟอนต์แล้ว "ห้ามใช้ชื่อที่สงวนไว้" แต่ฉบับไทยแปลว่า "ห้ามใช้ชื่อฟอนต์เดิม" ซึ่งความหมายต่างกัน และมีนัยสำคัญในทางปฏิบัติ เช่น ฟอนต์เริ่มแรกชื่อ A นายสมชายดัดแปลงแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น B ต่อมานายสมศักดิ์เอาฟอนต์ B ของนายสมชายไปดัดแปลงต่อ ถ้า "ห้ามใช้ชื่อที่สงวนไว้" นายสมศักดิ์จะยังสามารถใช้ชื่อฟอนต์ B ต่อไปได้ เพราะไม่ใช่ชื่อที่สงวนไว้ แต่ถ้า "ห้ามใช้ชื่อฟอนต์เดิม" นายสมศักดิ์จะใช้ชื่อฟอนต์ B อีกไม่ได้ เพราะเป็นชื่อฟอนต์เดิมที่มีการคุ้มครองไว้โดย license และถ้าใครดัดแปลงต่อจากนายสมศักดิ์อีก (เช่น อาจจะเป็นโครงการ Fedora ที่จำเป็นต้องสามารถแก้บั๊กให้ผู้ใช้ได้) ก็จะต้องใช้ชื่อที่ต่างจากนายสมศักดิ์อีก เป็นอย่างนี้ทุกครั้งไป
การแก้ไข: ควรแก้คำแปลภาษาไทยให้เป็น "ห้ามผู้ดัดแปลงใช้ชื่อที่สงวนไว้" ให้เหมือนฉบับภาษาอังกฤษ
ผมไม่ทราบว่าเขียน blog ไว้แบบนี้ จะไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือเปล่า เพราะผมก็ได้เคยพยายามแจ้งทางเมลตรงแล้ว สุดท้ายก็ไม่มีการตอบสนองอะไรจากผู้มีอำนาจตัดสินใจ จึงได้แต่เขียนบันทึกไว้เพื่อใช้อ้างอิงต่อไปครับ
ป้ายกำกับ: FOSS, typography
3 ความเห็น:
ณ 15 กันยายน 2553 เวลา 12:40 , jark แถลง…
ตอนนี้ที่รอดูอยู่ก็คือ
หน่วยราชการอย่างมหาวิทยาลัย
จะขยับตัวไหม
เพราะเอกสารที่ผมจะต้องส่งให้คณะ วันนี้ยังบังคับเป็น Browallia อยู่เลย
อันที่จริง เราไม่ได้อยากให้บังคับว่าต้องใช้แค่ 13 ฟอนต์นี้หรอก เราขอแค่อนุญาตให้เราใช้ฟอนต์เสรีได้ด้วย ก็พอแล้ว
ณ 14 ตุลาคม 2553 เวลา 11:11 , Tanes แถลง…
เป็นพวกมาช้าเหมือนกัน เห็นด้วยทั้งหมดแต่อยากจะเห็นแย้งนิด ๆ
เรื่องว่าไม่มีใครแก้ไขฟอนต์ชุดนี้อันเนื่องจากปัญหา license อยากจะเสนอความเห็นเล็ก ๆ ว่า ฟอนต์ก็เหมือนกับซอฟแวร์ ฟอนต์ก็คือโปรแกรมวาดภาพ ลิขสิทธิ์ของฟอนต์ก็เหมือนลิขสิทธิ์ของซอฟแวร์คือปกป้อง Expression ซึ่งได้แก่ตัว code ที่ทำให้เกิดภาพนั้น ดังนั้นชุมชนสามารถจะเขียนฟอนต์ใหม่ซึ่งมีความสามารถจะวาดภาพได้เหมือนกับโปรแกรมเดิมซึ่ง non-free (ลองนึกถึง Gimp กับ Photoshop ซึ่ง Gimp เป็นการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ซึ่งมีความสามารถทัดเทียมกับผลงานที่ Proprietary)
ถ้าเสนอแนวคิดที่ถูกต้องไปแล้วไม่ได้รับการสนอง (ซึ่งเป็นเสรีภาพของเจ้าของโครงการเช่นกันตามหลักการเสรีภาพของเหล่าเสรีชน) ก็น่าที่จะเสนอแนวคิดที่จะผลิตฟอนต์ซึ่ง Free (ในแง่ของเสรีภาพ) โดยชุมชนเหมือนกันนะ :)
ป.ล. คือเรื่องนี้มีแรงบันดาลใจจาก RMS ที่ผลิตซอฟแวร์ Free ซึ่งทัดเทียมหรือดีกว่า Non-Free ซอฟแวร์ครับ เลยขอแย้งเล็ก ๆ ดู
ณ 14 ตุลาคม 2553 เวลา 15:03 , Thep แถลง…
เป็นแนวคิดหนึ่งที่คิดกันอยู่เหมือนกันครับ เรื่องการสร้างฟอนต์มาทดแทนสารบรรณ มีบางคนกำลังดำเนินการกันอยู่
สำหรับคนอื่น ๆ ท่าทีที่เห็นมักจะเมินฟอนต์สารบรรณไปเลยครับ ไม่อยากเสียเวลากับมัน สู้เอาเวลาไปพัฒนาฟอนต์อื่นที่ free จริงดีกว่า
ถ้าไม่ติดว่ามันเป็นมติ ครม. ผมเชื่อว่าคนกลุ่มแรกที่พยายามทำฟอนต์ทดแทนก็คงไม่สนใจเหมือนกันครับ
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก