DIP-SIPA Fonts License
มีประเด็นหนึ่ง ที่พยายามงดไว้ไม่เขียนถึง จนกว่าผลการพูดคุยจะออกมาชัดเจน แต่เวลาก็ผ่านมาเนิ่นนานถึงปีครึ่ง โดยยังไม่มีความคืบหน้า เห็นว่าควรบันทึกไว้ให้เป็นกิจจะลักษณะ เผื่อจะมีความเห็นเพิ่มเติมเกิดขึ้น
สืบเนื่องมาจาก ฟอนต์ประกวดของ DIP-SIPA ซึ่ง (ตามที่ระบุใน license) “มีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือในการสร้างสรรค์ฟอนต์ในวงกว้าง รวมทั้งเพื่อประโยชน์ทางด้านการศึกษาและการแบ่งปันความรู้และพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟอนต์นี้” ซึ่งโดยเจตนารมณ์แล้ว สมควรที่จะผลักดันเข้า distro ต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ในวงกว้างต่อไป แต่มาติดปัญหาที่ตัว license โดยขอคัดฉบับภาษาอังกฤษมาอ้างอิง ส่วนฉบับภาษาไทยนั้น มีความกำกวมในคำแปล ซึ่งจะพูดถึงต่อไป:
- Allow to use without any charges and allow to reproduce, study, adapt and distribute this Font Computer Program. Neither the original version nor adapted version of Font Computer Program may be sold by itself, except bundled and/or sold with any computer program.
- If you wish to adapt this Font Computer Program, you must notify copyright owners (DIP & SIPA) in writing.
- No adapted version of Font Computer Program may use the Reserved Font Name(s), the name(s) of the copyright owners and the author(s) of the Font Computer Program must not be used to promote or advertise any adapted version, except obtaining written permission from copyright owners and the author(s).
- The adapted version of Font Computer Program must be released under the term and condition of this license.
สาระก็คือ ห้ามขายตัวฟอนต์เดี่ยว ๆ นอกนั้นให้แจกจ่าย ดัดแปลงได้ โดย ต้องแจ้งเจ้าของเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน และห้ามใช้ชื่อที่สงวนไว้ (ซึ่งในตอนต้นของ license มีการประกาศรายชื่อ “Reserved Font Name(s)” ไว้แล้ว) ปิดท้ายด้วยข้อบังคับว่า ฟอนต์ที่ดัดแปลงแล้วต้องเผยแพร่ด้วย license เดียวกันนี้
ทุก ๆ ข้อ ดูจะโอเค และมีสาระเหมือน Open Font License (OFL) รุ่นเก่าของ SIL ยกเว้นข้อ 2. ที่ระบุให้แจ้งเจ้าของเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน ซึ่งไม่มีใน OFL
ข้อนี้ เป็นปัญหาในทางปฏิบัติสำหรับซอฟต์แวร์เสรีและโอเพนซอร์ส ถึงแม้ license จะอนุญาตให้แก้ไขได้ แต่การที่ต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนแก้นั้น จะเป็นการเพิ่มขั้นตอนที่ยุ่งยาก โดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่สามารถติดต่อเจ้าของได้ ไม่ว่าจะด้วยอุปสรรคใด ๆ ก็ตามแต่ จะหมดสิทธิ์แก้ไขทันที และยังมีความกำกวมว่าต้องรอคำตอบรับจากเจ้าของว่ารับทราบแล้วก่อนแก้ไขหรือไม่ด้วย (ไม่งั้นจะมีหลักฐานอะไรบอกว่าได้แจ้งแล้ว) ซึ่งก็เท่ากับต้องขออนุญาตก่อนแก้กลาย ๆ คล้ายซอฟต์แวร์ปิดนั่นเอง
ซอฟต์แวร์เสรีทั่วไป จะอนุญาตให้ผู้ได้รับซอฟต์แวร์ใช้สิทธิ์ได้ทันที โดยไม่ต้อง “call home” และเขาจะ contribute กลับหรือแจ้งเจ้าของหรือไม่ ก็ให้เป็นสิทธิ์ของเขาเอง ซอฟต์แวร์ที่ต้องแจ้งก่อนแก้แบบนี้ จึงไม่ได้รับการยอมรับเข้าไปอยู่ในส่วนแกนหลักของ distro อย่าง Debian หรือ Ubuntu (หรือจะเป็น RedHat/Fedora ก็เคร่งครัดเรื่อง license ไม่แพ้กัน จากที่ผมเคยได้รับการติดต่อมา) อย่างดีก็อยู่ในหมวด non-free หรือ restricted ซึ่งไม่มีการ maintain เพราะจะมีอุปสรรคในการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนแก้บั๊ก ทั้งการแยกออกไปจากส่วนหลักยังเป็นการป้องกันผู้ใช้จากปัญหาทางกฎหมายขณะใช้ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เยี่ยงซอฟต์แวร์เสรีทั่วไปอีกด้วย
ผมเองได้รับการว่าจ้างจาก SIPA (ผ่าน metamedia) ให้ทำ deb สำหรับฟอนต์ชุดนี้ พร้อมทั้ง “ผลักดันเข้าสู่ Debian/Ubuntu” ซึ่งผมทำได้เพียงส่วนแรก คือดัดแปลงฟอนต์ประกวดชุดนี้ โดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อฟอนต์หลบชื่อสงวนก่อน build เป็น deb เผยแพร่ในซีดีชุดสุริยัน แต่ส่วนหลัง คือการผลักดันเข้า Debian/Ubuntu นั้น จำเป็นต้องทำความกระจ่างเกี่ยวกับเงื่อนไขข้อ 2. ของ license ก่อน ว่าจะผลักดันเข้า main หรือ non-free เนื่องจากสามารถตีความได้สองทางคือ:
- ผมได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแทนผู้ที่จะดัดแปลงต่อจากชุดที่ผมดัดแปลงแล้ว ดังนั้น ใครจะดัดแปลงต่อจากผมก็ไม่ต้องติดเงื่อนไขข้อ 2. อีก ซึ่งถ้าตีความแบบนี้ ก็เท่ากับเข้าใน main ได้เลย
- เงื่อนไขข้อ 4. ที่บอกให้ฟอนต์ที่ดัดแปลงต้องอยู่ในเงื่อนไขของ license นี้ ก็หมายถึงครอบคลุมข้อ 2. เข้าไปด้วย ดังนั้น ใครจะดัดแปลงต่อจากผม ก็ไม่มีข้อยกเว้น ต้องแจ้งเจ้าของก่อนทั้งนั้น ซึ่งถ้าตีความแบบนี้ ก็ต้องเข้าหมวด non-free/restricted
สิ่งที่จะทำความชัดเจนได้ มีเพียงคำตอบจากเจ้าของฟอนต์ คือกรมทรัพย์สินทางปัญญา และ SIPA เท่านั้น โดยถ้าอนุญาตให้ตีความแบบแรก ผมก็จะเพิ่ม exception เข้าใน license เพื่อความชัดเจนได้
แต่ปัญหาคือ เรื่องนี้หายเข้ากลีบเมฆ ตามธรรมเนียมราชการ
เพื่อความแน่ใจ ผมจึง โพสต์ถาม ทีมกฎหมายของ Debian อีกทางหนึ่ง เกี่ยวกับการตีความข้อกฎหมายในกรณีนี้ด้วย
ถ้าทุกอย่างไม่มีคำตอบ ก็คงจำเป็นต้องเสนอเข้าหมวด non-free แทน แม้จะขัดกับเจตนารมณ์เริ่มแรกของโครงการประกวดฟอนต์นี้ก็ตาม
ย้อนกลับมาที่ฉบับแปลไทยของ license นี้สักนิด ที่ผมพูดไว้ตอนต้นว่าแปลกำกวม คือเงื่อนไขข้อ 3. ซึ่งฉบับภาษาอังกฤษบอกว่า:
No adapted version of Font Computer Program may use the Reserved Font Name(s), ...
แต่ฉบับแปลไทยแปลไว้ว่า:
เมื่อดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟอนต์นี้แล้ว ห้ามผู้ดัดแปลงใช้ชื่อฟอนต์เดิม ...
คือไม่ได้ระบุว่า “ห้ามใช้ชื่อที่สงวนไว้” แต่แปลสั้น ๆ ว่า “ห้ามใช้ชื่อฟอนต์เดิม” ซึ่งความหมายมันต่างกัน เมื่อมีการดัดแปลงต่อจากฟอนต์ที่ดัดแปลงแล้ว เช่น ฟอนต์เริ่มแรกชื่อ A ผมดัดแปลงโดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น B ต่อมานายสมปองอยากดัดแปลงฟอนต์ B ของผม ถ้า “ห้ามใช้ชื่อที่สงวนไว้” นายสมปองก็สามารถใช้ชื่อ B ต่อไปได้ เพราะไม่ใช่ชื่อที่สงวนไว้ แต่ถ้า “ห้ามใช้ชื่อฟอนต์เดิม” นายสมปองก็ไม่สามารถใช้ชื่อ B ได้ ต้องเปลี่ยนชื่อเป็นชื่ออื่น และใครที่จะดัดแปลงต่อจากนายสมปอง ก็ต้องเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็นอย่างนี้ทุกครั้งไป
ความกำกวมของ license จึงอยู่ตรงนี้อีกจุดหนึ่ง แต่เมื่อเข้าไปอยู่ใน distro ผมคงต้องอ้างอิงฉบับภาษาอังกฤษเป็นหลัก
ล่าสุด ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมมาว่า มี โครงการพัฒนาแบบตัวพิมพ์ไทย ของสมาพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ ที่ซ้ำรอยนี้ โดยใช้ license เดียวกันอีกแห่งหนึ่ง.. จึงอยากจะสกัดกั้นการใช้ license ที่มีปัญหานี้ไว้ อย่าให้มีการใช้ในที่อื่น ๆ อีก
ป้ายกำกับ: debian, FOSS, typography, ubuntu
2 ความเห็น:
ณ 15 กรกฎาคม 2551 เวลา 00:04 , Beamer User แถลง…
ติดต่อผ่านทางนี้แล้วกัน
ผมทำ swath 0.3.4 binary for windows แล้วเก็บไว้ที่
http://code.google.com/p/swath/
แล้วนะครับ
เผื่อมีใครติดต่อคุณเทพมาเรื่อง swath for windows อัน
นี้แหละ เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
ณ 15 กรกฎาคม 2551 เวลา 09:28 , Thep แถลง…
ตามที่ผม ตอบไว้ที่ LTN ไม่ทราบว่าคุณ pang สามารถ edit หน้านั้นได้หรือเปล่าครับ? ตอนนี้ผมเพิ่มลิงก์ไปยังหน้า google code ไปก่อน แล้วเดี๋ยวอาจจะดูด zip file มาวางไว้ที่ LTN FTP
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก