Theppitak's blog

My personal blog.

27 เมษายน 2552

Postcardware

จาก TODO list ที่บันทึกไว้ น่าจะถือได้ว่าเรื่อง libdatrie/libthai/swath เกือบเสร็จแล้ว เหลือออก libdatrie ตัวใหม่ที่ build บนระบบต่าง ๆ ได้ และอีกเรื่องที่เสร็จแล้วคือการ update Debian package ภาษาไทย ช่วงหลายวันที่ผ่านมาเลยมาทำเรื่องผลักดัน Thai Fonts Siampradesh (non-free) เข้า Debian

เริ่มจาก file ITP bug โดยระบุรายละเอียดของแพกเกจที่จะทำไว้ ซึ่งก็ปรากฏว่ามีความเห็นตอบมาอย่างรวดเร็วดังคาด ว่า license ของ ฟอนต์ประกวดของกรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับ SIPA นั้น ไม่ผ่านเกณฑ์ของ Debian Free Software Guidelines (DFSG) และไม่สามารถอยู่ในส่วน main ของ Debian ได้

รายละเอียดต่าง ๆ ผมเคย blog ไว้แล้ว โดยประเด็นที่ผมคิดว่าหนักหนาสาหัสที่สุดก็คือเงื่อนไขข้อ 2:

2. If you wish to adapt this Font Computer Program, you must notify copyright owners (DIP & SIPA) in writing.

ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการที่พบบ่อยของคนที่ยังไม่คุ้นเคยกับ free culture จึงกำหนด license ออกมาแบบกั๊ก ๆ เพื่อให้ตนสามารถติดตามการดัดแปลงทั้งหมดได้ โดยขอให้ผู้ดัดแปลงเขียนจดหมายมาแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ปรากฏว่าเรื่องนี้กลายเป็นการจำกัดสิทธิ์ในการ redistribute ไป

license แบบนี้ เขาเรียกกันว่าเป็น Postcardware

บังเอิญจริง ๆ ที่ bact' เพิ่งพูดถึงเรื่องนี้เหมือนกันใน blog ของเขา:

สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจ และเป็นคุณสมบัติสำคัญของ open licenses ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น copyleft, GNU หรือ Creative Commons ก็คือ การไม่ต้องขออนุญาต ผมคิดว่าการไม่ต้องขออนุญาตนี้ทำให้ ข้อมูล โค้ด ไอเดีย ต่าง ๆ มันไหลเวียนได้อย่างอิสระ-ทันที ใครอยากจะเล่นอะไรก็เอา เต็มที่ ตามเงื่อนไขที่ประกาศไว้ชัดเจนล่วงหน้า ไม่ต้องรอไปรอมา ไม่ต้องตกอยู่ในภาวะไม่แน่ใจ

นี่ยังเป็นการพูดแบบนุ่มนวลมาก แต่ถ้าลองคิดถึงผลในทางปฏิบัติจริง ๆ มันอาจร้ายแรงกว่านั้น สำหรับกรณีของฟอนต์ DIP/SIPA นี้ การตั้งเงื่อนไขให้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรมีปัญหาคือ:

  • ในทางปฏิบัติ การแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น หากไม่มีคำตอบจากเจ้าของว่าได้รับแล้ว จะเกิดความไม่แน่นอนว่าจะสามารถเริ่มแก้ไขได้หรือไม่ เพราะถ้ามีการฟ้องร้องการละเมิด license ในภายหลัง จะเอาหลักฐานที่ไหนไปอ้างว่าได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ดังนั้น การต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรจึงไม่ต่างอะไรกับการต้องขออนุญาตก่อนแก้ไข จึงไม่ถือว่าเป็น license ที่ free (เสรี) อย่างแท้จริง ไม่ว่าเงื่อนไขอื่น ๆ จะพร่ำบอกถึงเสรีภาพที่เปิดให้อย่างไรก็ตาม มันก็ยังเป็นเสรีภาพที่ต้องผ่านการขออนุมัติอยู่ดี
  • license แบบนี้ ขาดความยั่งยืน จะเกิดอะไรขึ้นถ้าโครงการนี้ถูกปิดไปแล้วในแผนงานของหน่วยงานนั้น ๆ จดหมายที่แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงหน่วยงานนั้น จำเป็นต้องผ่านการเซ็นรับรองของผู้บริหารหลายขั้นตอน แล้วถ้าคนที่รู้รายละเอียดของโครงการนี้ไม่อยู่แล้ว ไม่มีใครดูแลโครงการต่อ จดหมายนี้จะไปถูกดองเค็มไว้ที่ขั้นตอนไหนก็ไม่มีใครรู้ได้ การเปิดเสรีจึงเสมือนถูกปิดลงทันทีที่จบโครงการ แล้วถ้าวันดีคืนดี เกิดมีหน่วยงานใหม่มารับช่วงต่อ แล้วเกิดเปลี่ยนนโยบายไปเที่ยวฟ้องร้องคนที่แก้ไขไปแล้ว โดยไม่มีหลักฐานการตอบรับทราบมายืนยัน ก็ซวยสิ
  • ใน รายการการทดสอบ license ของทีม debian-legal (มี สำเนาที่ Wikipedia) มีหลายกรณีที่แม้เป็นกรณีสมมุติ ก็มีนัยเชื่อมโยงกับโลกแห่งความเป็นจริง อย่างเช่น Desert Island test สมมุติว่ามีคนหิ้วซีดี Debian เข้าไปทำงานในชนบทห่างไกลที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต แต่เขาต้องการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่อเพื่อใช้ในชุมชนห่างไกลนั้น เขาไม่สามารถออกมาส่งอีเมล หรือแม้แต่ส่งจดหมายทางไปรษณีย์ได้ เขาไม่สามารถแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรได้ เขาก็หมดสิทธิ์แก้ไขซอฟต์แวร์เพื่อแบ่งปันผู้อื่นในชุมชนนั้นไปเลย

เมืองไทย ยังต้องทำความเข้าใจกับ free culture อีกมาก ไม่งั้น ก็จะมี license ที่ทำตาม ๆ กันมาแบบนี้อีกเป็นขบวน (เช่น ฟอนต์ของสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์)

สำหรับ thaifonts-siampradesh นี้ แก้ไขโดยการขออนุญาตของ บริษัทเมตามีเดียเทคโนโลยี ครับ โดยผม subsidize งานส่วนนี้มาอีกที ใครที่จะแก้ไขต่อ ยังไม่มีความชัดเจนว่ายังต้องแจ้งให้กับ DIP-SIPA ทราบก่อนหรือไม่ เพราะแม้เจตนาของเงื่อนไขการแจ้งไม่น่าจะครอบคลุมถึงฟอนต์ที่ได้ดัดแปลงแล้วอย่าง thaifonts-siampradesh แต่เงื่อนไขข้อ 4 นั้นทำให้น่าเป็นห่วง:

4. The adapted version of Font Computer Program must be released under the term and condition of this license.

ซึ่งหมายความว่า ข้อ 2. จะยังคงบังคับใช้กับ thaifonts-siampradesh ไปด้วย ใครจะแก้ไขต่อ อย่าลืมแจ้ง DIP และ SIPA เป็นลายลักษณ์อักษรก่อนด้วย เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง

และทั้งหมดนี้ เป็นเหตุผลที่ thaifonts-siampradesh จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในหมวด non-free ของ Debian ไม่ใช่ main

ป้ายกำกับ: , ,

0 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem