Meet OpenStreetMapper
หลังจากได้ blog เรื่อง OpenStreetMap ไปแล้ว ก็มีโอกาสได้นัดพบกับ Willi2006 ผู้ทำแผนที่ขอนแก่นใน OSM คนเดียว ก่อนที่ผมจะเข้าไปร่วม ก็ได้รับถ่ายทอดความรู้มาพอสมควร เลยมาเขียนบันทึกไว้ (เท่าที่สมองจะจำได้)
การทำ OSM นั้น แต่ละประเทศอาจใช้หลักการต่างกันไปในบางเรื่อง เช่น การใส่แท็กลำดับชั้นของเขตการปกครอง สำหรับประเทศไทย ก็มี หน้าวิกิ สำหรับรวบรวมข้อตกลงต่าง ๆ และมี forum สำหรับพูดคุยและถาม-ตอบด้วย
การเริ่มต้นทำ OSM นั้น ไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่าจะต้องทำอะไรก่อนหลัง ขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้ทำเป็นหลัก บางคนอาจจะวาดถนนก่อน บางคนอาจเพิ่ม point of interest (POI) ก่อน ที่สำคัญคือ อย่าให้ตัวเองรู้สึกยุ่งยากเกินไป ไม่งั้นจะเบื่อเร็ว ขอให้ทำด้วยความสนุก
การเพิ่มข้อมูลนั้น ควรทำในส่วนพิกัด GPS ให้ถูกต้องตั้งแต่แรก อย่าคาดหวังว่าจะมีคนอื่นมาแก้ให้ (ยกเว้นเรื่องชื่อหรือการใส่แท็กต่าง ๆ ซึ่งคนอื่นที่ไม่ได้ลงพื้นที่สามารถช่วยแก้ได้)
ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ GPS ก็สามารถร่วมได้ เช่น ถ้ารู้ชื่อถนน ชื่อสถานที่ต่าง ๆ ก็สามารถเข้าไปแก้ไขชื่อที่อาจจะผิด หรือเพิ่มชื่อที่ขาดอยู่ได้ หรืออาจจะใช้ ภาพถ่ายดาวเทียมของ Yahoo! จาก Yahoo! maps ที่เปิดให้ OSM ใช้ได้ แต่ห้ามใช้ข้อมูลแผนที่ถนนโดยตรง ให้ใช้ได้เฉพาะภาพถ่ายดาวเทียมเท่านั้น ส่วน Google map นั้น ใช้ไม่ได้เลย เพราะข้อมูลมีลิขสิทธิ์คุ้มครองอยู่ แต่โชคไม่ดีที่ภาพถ่ายดาวเทียมที่สามารถใช้ได้นี้ ส่วนของประเทศไทยมีแต่ภาพความละเอียดต่ำเท่านั้น ไม่เพียงพอสำหรับทำแผนที่ถนน ผู้ไม่มีอุปกรณ์ GPS จึงมักแก้ไขได้เฉพาะเรื่องแท็กต่าง ๆ เท่านั้นในทางปฏิบัติ
ประเภทของถนน มีรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ถ้าเป็นถนนย่อยที่มีบ้านเรือนอยู่สองข้างทาง ควรใช้แท็ก highway=residential
ถ้าเป็นถนนที่รถต้องหลีกทางให้คน ก็ใช้ highway=living_street
นอกนั้นส่วนใหญ่จะเป็น highway=unclassified
ถ้าเป็นทางเล็ก ๆ ที่รถเก๋งเข้าไม่ได้ ก็แยกว่า ถ้ามีการทำผิวถนน เช่น ราดยาง หรือปูคอนกรีต ก็ใช้ highway=footway
แต่ถ้าเป็นทางดินจึงใช้ highway=path
การทำสะพานข้ามแยก ถ้าไม่มีพิกัด GPS ของจุดตีนสะพานจริง ๆ ก็ไม่ควรทำ ปล่อยให้เป็นจุดตัดถนนธรรมดาจะดีกว่า แต่ถ้ามี ก็ให้ตัดแบ่งถนนตรงตีนสะพานทั้งสอง แล้วเชื่อมด้วยถนนที่มีแท็ก bridge=yes
สำหรับสะพานที่ซ้อนกันหลายชั้น ก็ต้องใช้แท็ก layer=...
กำกับแต่ละชั้นด้วย ดูตัวอย่างได้จากทางเส้นก๋วยเตี๋ยวต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ทางเชื่อมระหว่างถนนสองเส้น เช่น เพื่อเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาจากมอเตอร์เวย์ออกถนนเส้นอื่น ก็ทำทางเชื่อมเป็นถนนไม่มีชื่อ แต่ใช้แท็ก highway=motorway_link
หรือ highway=primary_link
ฯลฯ โดยอ้างอิงถนนเส้นที่ใหญ่กว่า
การทำแผนที่ปั๊มน้ำมัน อาจจะทำทางเข้า-ทางออกโดยใช้ highway=service
และวาดเส้นล้อมรอบบริเวณปั๊มโดยใช้ highway=service
เหมือนกัน แต่กำหนด area=yes
ไว้ด้วย จากนั้นก็ใส่ POI พวกร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ อู่ซ่อมรถ ตามแต่จะมี แล้วสุดท้ายอย่าลืมใส่ POI ของปั๊มน้ำมันไว้ตรงกลางพื้นที่ด้วย (ดูตัวอย่าง)
การทำแผนที่สวนสาธารณะที่มีบึงหรือสระตรงกลาง ก็ทำพื้นที่รอบสวนกับพื้นที่ที่เป็นสระ แล้วกำหนด Relation:multipolygon แล้วกำหนด role ให้พื้นที่รอบสวนเป็น outer
และตัวสระเป็น inner
เพื่อแยกพื้นที่น้ำกับบกออกจากกัน
เทคนิคการทำแผนที่ส่วนที่เป็นแม่น้ำลำคลอง มีเทคนิคหลากหลายแล้วแต่แต่ละบุคคล ถ้าเป็นคลองที่มีถนนขนาบข้าง ก็ track ถนนก่อน แล้ววัดระยะระหว่างถนนหาจุดกึ่งกลาง แล้วใช้ potlatch (โปรแกรมแก้ไขที่เป็น flash อยู่บนเว็บ OSM) สั่งสร้างคลองน้ำขนานกับถนนในระยะที่กำหนดเอา ส่วนถ้าเป็นบึงหรือสระ ก็พยายามเดินเลาะให้ใกล้ฝั่งน้ำให้มากที่สุด จุดไหนที่เดินเข้าใกล้น้ำไม่ได้ ก็ใส่ POI กำหนดจุดที่เริ่มออกห่างจากฝั่งน้ำ กับจุดที่กลับเข้าหาฝั่งน้ำเอาไว้ แล้วใช้วิธีลากเส้นกะประมาณระหว่างสองจุดเอา วิธีนี้จะได้ฝั่งโดยประมาณในช่วงที่ขาด แต่ก็ถือว่าแม่นยำกว่าใช้ภาพถ่ายดาวเทียม
แม่น้ำนั้น การลงไปนั่งเรือ track ออกจะเป็นเรื่องลำบาก ถ้าเป็นแม่น้ำที่เห็นชัดในภาพถ่ายดาวเทียม ก็ลากเส้นตามภาพถ่ายดาวเทียมจะดีกว่า โดยใช้ WMS plugin ใน JOSM เพื่อซ้อนภาพได้ แต่ถ้าไม่มีภาพถ่ายดาวเทียม ก็อาจใช้วิธี track สองฝั่งน้ำแล้วลากเส้นกึ่งกลางเอา
วิธีเก็บข้อมูลถนนอย่างเร็วในกรณีที่มีเวลาน้อย: ไปตามถนนแล้วถ่ายป้ายชื่อถนนหรือป้ายสถานที่ไปตามทาง จากนั้นเมื่อกลับเข้า JOSM ก็โหลด GPS track พร้อมโหลดรูปเข้ามา ซึ่ง JOSM จะ sync เวลาที่ถ่ายรูปกับเวลาที่เก็บ track แต่ละจุดให้ ทำให้คลิกดูรูปที่ถ่ายตามจุดต่าง ๆ ใน track ได้
เท่าที่ระลึกได้ก็มีแค่นี้ครับ Willi เขาบอกว่ายินดีมากที่มีคนในท้องถิ่นเข้ามาทำ เพราะคนในพื้นที่จะมีความรู้เรื่องตรอกซอกซอยต่าง ๆ ดีกว่าคนต่างประเทศอย่างเขา โดยเฉพาะเรื่องชื่อภาษาไทย และยินดีให้คำแนะนำกับคนอื่น ๆ ที่สนใจ ถ้ามีคนไทยสนใจร่วมกันทำ OSM เรานัดมาเจอกันแล้วมาให้เขาติวให้ฟังเขาก็ยินดีครับ โดยเฉพาะถ้าอยู่แถวขอนแก่น เพราะเขาก็ตั้งใจจะปักหลักอาศัยที่ขอนแก่นไปให้นานที่สุดครับ และตอนนี้ หลังจากทำแผนที่ขอนแก่นไปเยอะแล้ว เขาก็เริ่มทำแผนที่อุดรฯ ต่ออยู่ครับ แต่ก็ทำได้ทีละนิดเพราะไม่ได้อยู่ประจำที่นั่น
ป้ายกำกับ: gps, local, openstreetmap
9 ความเห็น:
ณ 29 พฤษภาคม 2553 เวลา 22:40 , veer แถลง…
track ที่มีรูปด้วยนี้ เอาใส่ josm ตรงๆ โดยที่ไม่ต้อง upload ขึ้น openstreetmap.org ใช่เปล่าครับ? ตามบทความนี้
ณ 29 พฤษภาคม 2553 เวลา 22:44 , Thep แถลง…
ใช่ครับ ผมเคย upload track ที่มี mark แล้ว มันเอาแต่ track layer ขึ้นไป ไม่เอา mark layer ขึ้นไปด้วย
แต่ถ้าเปิดใน josm จะมีทั้งสอง layer ครับ แต่จะยังคลิกดูรูปทันทีไม่ได้ ต้อง import รูปตามเข้าไปอีกที (แต่ผมถ่ายรูปไม่เยอะ เลยจำได้ว่ารูปไหนถ่ายตรงไหน เลยไม่เคย import ซะที แต่ถ้าไปเก็บข้อมูลแบบมีเวลาน้อย ทำแบบเขาว่าก็ช่วยได้เยอะครับ)
ณ 29 พฤษภาคม 2553 เวลา 23:19 , veer แถลง…
เวลาเก็บพวกทางเข้าสถานีบริการน้ำมัน เขาลงไปเดินเก็บเลยหรือเปล่าครับ หรือว่าอยู่บนรถ
ณ 29 พฤษภาคม 2553 เวลา 23:49 , Thep แถลง…
ทางเข้าเก็บบนรถก็ได้มั้งครับ แต่ตรงขอบเขตรอบปั๊มนี่ คงต้องจอดแล้วเดินครับ
ณ 30 พฤษภาคม 2553 เวลา 22:19 , veer แถลง…
ซอยต่างๆ จะนับเป็น residential ด้วยเปล่าครับ?
ณ 30 พฤษภาคม 2553 เวลา 22:21 , Thep แถลง…
นับครับ ยกเว้นซอยที่แคบจนรถเก๋งเข้าไม่ได้จริง ๆ (เพิ่งเจอวันนี้) ผมถึง tag เป็น footway
ณ 30 พฤษภาคม 2553 เวลา 22:37 , Unknown แถลง…
เมื่อวานขี่จักรยานไปปั๊มน้ำมันแถวบ้าน กลับมาพบว่าไม่มี marker ปั๊มน้ำมัน กำลังจนหนทางอยู่พอดี :-P
ณ 8 มิถุนายน 2553 เวลา 17:18 , sdayu แถลง…
josm ถ้าจะใส่ชื่อภาษาไทย ไส่ที่ใหนเหรอครับ หรือว่าใส่ลงใน property name เลยครับ
ณ 8 มิถุนายน 2553 เวลา 17:21 , Thep แถลง…
มีตัวอย่างในหน้าวิกิอยู่นะครับ:
http://wiki.openstreetmap.org/wiki/WikiProject_Thailand#Unnumbered_highways
ใส่ประมาณนี้:
name=ถนนมิตรภาพ
name:th=ถนนมิตรภาพ
name:en=Mittraphap Road
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก