Theppitak's blog

My personal blog.

11 พฤษภาคม 2553

The Edge of the Empire (คนไททิ้งแผ่นดิน)

ไม่ได้ blog เรื่องหนังสือไปเสียนาน อันที่จริงก็มีเรื่องสะสมไว้พอควร แต่หาเวลานั่งลงเรียบเรียงความคิดยากจริง

คนไททิ้งแผ่นดิน ภาพยนตร์ที่สร้างจากมหากาพย์ชื่อเดียวกันที่ได้รับรางวัลเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน หรือที่แปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ The Edge of the Empire เป็นเรื่องของการต่อสู้ของชนชาติไทตั้งแต่สมัยอยู่ในแผ่นดินจีนตอนใต้ เพื่อปลดแอกจากอำนาจของจิ๋น ซึ่งประสบความสำเร็จในช่วงแรก ก่อนที่จะโดนจิ๋นตลบหลัง หลังจากคนไทยแตกคอรบกันเองจนอ่อนกำลังลง จนพ่ายแพ้อย่างหมดรูป และต้องทิ้งแผ่นดินมุ่งลงใต้เพื่อหาแผ่นดินใหม่สำหรับตั้งหลักแหล่ง

เรื่องข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เอาไว้ทีหลัง เพราะเรื่องนี้ชัดเจนว่าเป็นนิยายปลอมพงศาวดารในทำนองเดียวกับผู้ชนะสิบทิศของยาขอบ คืออาศัยข้อมูลทางประวัติศาสตร์เป็นเค้าโครงเท่านั้น ที่เหลือเป็นตัวละครสมมุติทั้งสิ้น แต่คุณค่าของเรื่องนี้อยู่ที่การสอดแทรกแง่คิดเกี่ยวกับการปกครอง การรวมตัวกันเพื่อประโยชน์ในการต้านทานการรุกรานจากภายนอก และเกร็ดคุณธรรมอื่น ๆ

นิยายเรื่องนี้แบ่งเป็นสองภาค ภาคแรกคือ คนไททิ้งแผ่นดิน เป็นเรื่องราวการถูกกดขี่จากจีน และความพยายามทำสงครามปลดแอก จนกระทั่งแตกพ่าย ส่วนภาคสองคือ สู่แผ่นดินใหม่ เป็นเรื่องของการอพยพลงใต้เพื่อหาแผ่นดินใหม่ โดยในระหว่างทางมีคนไทแยกสายกันไปหาหลักแหล่งในที่ต่าง ๆ

เค้าโครงของเรื่อง อาศัยทฤษฎีหนึ่งในหลาย ๆ ทฤษฎีเกี่ยวกับที่มาของคนไท ซึ่งปัจจุบันมีอย่างน้อย 4 ทฤษฎี คือ:

  1. คนไทมาจากภูเขาอัลไต แล้วอพยพลงมาที่ลุ่มน้ำฮวงโห ก่อนจะถูกจีนที่อพยพมาจากทางทะเลสาบแคสเปียนรุกล้ำให้ลงมาที่ลุ่มน้ำแยงซีเกียง จากนั้นก็ถูกจีนรุกรานเรื่อยมาจนกระจัดกระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ตั้งแต่จีนตอนใต้จรดแหลมมลายู ทฤษฎีนี้เสนอโดย William Clifton Dodd (หมอดอดด์) และเผยแพร่ให้กว้างขวางขึ้นโดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ปัจจุบันทฤษฎีนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงความเป็นไปได้
  2. คนไทมาจากจีนตอนใต้ โดยแบ่งเป็นสองทฤษฎีย่อย คือมีถิ่นกำเนิดที่เสฉวน กับอีกแนวคิดหนึ่งคืออยู่กระจายกันตั้งแต่กวางตุ้งเรื่อยไปถึงกวางสี ยูนนาน กุ้ยโจว เสฉวน แล้วจึงอพยพลงใต้ ทฤษฎีนี้เริ่มเสนอโดย Terrien de Lacouperie และกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอ้างอิงต่อมา
  3. คนไทอยู่ที่บริเวณประเทศไทยมาแต่แรก ไม่ได้อพยพมาจากที่ไหน โดยอาศัยหลักฐานโบราณคดีที่พบในท้องที่ พบความเชื่อมโยงกับคนไทยปัจจุบัน นพ. สุด แสงวิเชียร เสนอว่า ลักษณะเม็ดเลือดที่ผิดปกติของคนไทยทำให้ลักษณะของกระดูกกรามผิดรูป ซึ่งตรงกับโครงกระดูกที่ขุดพบในประเทศ และอีกผู้หนึ่งที่เสนอทฤษฎีนี้คือ สุจิตต์ วงษ์เทศ โดยวิเคราะห์ความหมายของคำว่า ไท เสียใหม่ในฐานะคำสามัญไม่ใช่ชื่อเฉพาะ และแยกประเด็นเรื่องภาษาพูดกับชาติพันธุ์ออกจากกัน เพื่ออธิบายว่าคนที่พูดภาษาไทที่พบในจีนนั้นไม่ใช่คนเผ่าพันธุ์เดียวกับไทในสยาม
  4. คนไทมาจากทางใต้ คือมาจากทางเกาะชวา แถบเส้นศูนย์สูตร แล้วอพยพขึ้นเหนือ โดย นพ. สมศักดิ์ สุวรรณสมบูรณ์ ให้ข้อสังเกตว่ากลุ่มเลือดของคนไทยคล้ายกับคนอินโดนีเซียมากกว่าคนจีน และนักมานุษยวิทยา Ruth Benedict ได้พบความคล้ายคลึงกันของภาษาของคนถิ่นต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทฤษฎีนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันเรื่องความหละหลวมของสมมุติฐาน

นิยาย คนไททิ้งแผ่นดิน นี้ อ้างอิงทฤษฎีที่ 2 ว่าคนไทมีถิ่นกำเนิดแถบจีนตอนใต้ โดยมาย้ำในภาคสอง ที่เฟเสียนเล่าถึงนางบัวคำที่หลังจากตายแล้ววิญญาณได้มาบอกให้ไปสำรวจที่ต้นแม่น้ำโขงอันเป็นถิ่นกำเนิดของชนชาติไท

และจากเค้าของประวัติศาสตร์ประกอบทฤษฎีที่ 2 ที่ว่าคนไทอยู่ในบรรดากลุ่มชนชาติที่จีนเรียกว่าพวกอวดร้อยเผ่า หรือ ไป่เยว่ ซึ่งมีลักษณะการปกครองแบบแยกเป็นชนเผ่าเล็ก ๆ ไม่ได้รวมตัวกัน ผู้ประพันธ์จึงได้วาดภาพการปกครองของไทเผ่าต่าง ๆ ในเวลานั้นคล้ายกับกรีกโบราณหรืออินเดียโบราณ ที่แต่ละแคว้นปกครองเป็นอิสระจากกัน มีระบอบการปกครองที่ต่างกัน โดยแคว้นเชียงแสซึ่งเป็นแคว้นสำคัญแคว้นหนึ่งของเรื่อง มีการปกครองแบบประชาธิปไตย และได้เป็นแบบอย่างให้แคว้นลือหลังจากรวมกันแล้วด้วย ส่วนแคว้นอื่น ๆ ปกครองแบบราชาธิปไตย

อย่างไรก็ดี ผู้ประพันธ์ได้สอดแทรกปรัชญาการปกครองแบบเต๋าและขงจื๊อไว้ตลอดเรื่อง ผ่านตัวละครฝ่ายธรรมะของทั้งฝ่ายไทและฝ่ายจิ๋น โดยมีตัวละครฝ่ายอธรรมที่ตัดกันไว้เปรียบเทียบ เช่น ฝ่ายจิ๋นมีลกซุนและเตียวเหลียงเป็นตัวแทนปรัชญาเต๋าและขงจื๊อที่เฟื่องฟูในยุคชุนชิว-จั้นกว๋อ และมีลิตงเจียกับลิบุ๋นและคนส่วนใหญ่ในราชสำนักเป็นตัวแทนฝ่ายจักรวรรดินิยมที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ ฝ่ายไทเองก็มีบุญปันกับกุมภวาเป็นตัวแทนการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย และประสบความสำเร็จตามครรลองของเต๋า (เป็นเจ้าเมืองที่มีเวลาว่างมากกว่าเพื่อน) มีขุนสินเป็นตัวแทนราชาธิปไตยแบบอิงคุณธรรมขงจื๊อ (ธรรมราชา) แล้วก็มีขุนจาด คำอ้าย และขุนสาย เป็นตัวแทนของฝ่ายอำนาจนิยม ซึ่งผมคิดว่าการสอดแทรกแนวคิดของการปกครองแบบต่าง ๆ นี่แหละ ที่เป็นคุณค่าที่สำคัญอย่างหนึ่งของนิยายเรื่องนี้

นอกจากนี้ ผู้ประพันธ์ก็ได้กระแนะกระแหนคนไทอยู่ตลอดในเรื่องนิสัยชอบตีกันเอง คือจะรวมตัวกันได้ก็ต่อเมื่อมีภัยจากภายนอกมาคุกคามเท่านั้น แต่ในยามสงบ นิสัยรักอิสระก็จะทำให้คนไทไม่ยอมรวมตัวกัน และยังวิวาทกันเองอยู่ตลอด จนกระทั่งเสียทีให้กับจิ๋นในที่สุด แม้จะเคยรวมกำลังกันปลดแอกจิ๋นได้สำเร็จแล้วก็ตาม

สิ่งที่มหากาพย์เรื่องนี้รับใช้ ก็คือการปลุกเร้าความสามัคคีและความหวงแหนแผ่นดินของคนไทย เพราะ “จากแผ่นดินใหม่นี้ คนไทจะถอยไปไม่ได้อีกแล้ว” และยังปลุกความเป็นพี่น้องกันระหว่างไทเผ่าต่าง ๆ ที่ได้แยกย้ายกันไปอีกด้วย ซึ่งก็เป็นธรรมดา เพราะนี่คือมหากาพย์แห่งชนชาติไทนี่นา

ป้ายกำกับ: , , ,

0 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem