Theppitak's blog

My personal blog.

03 สิงหาคม 2551

Bayinnaung

นอกจากสามก๊กและเรื่องอื่น ๆ ของจีนแล้ว นิยายปลอมพงศาวดารอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ชนะสิบทิศ ของยาขอบ ซึ่งหลังจากได้ฉบับรวมเล่มราคาถูกมาจากงานสัปดาห์หนังสือ และใช้เวลาเป็นเดือน ๆ อ่านเก็บเล็กผสมน้อยก่อนนอนคืนละสิบกว่าหน้า (เพื่อไม่ให้กระทบเวลางาน) ในที่สุดก็จบนิยายหนาเกือบสองพันหน้านี้จนได้

ผู้ชนะสิบทิศนี้ เคยเรียนตอนศึกเมืองแปรที่ตะเบงชะเวตี้แตกทัพมาแล้ว ได้รู้เค้าโครงเรื่องจากเพลงในชุดผู้ชนะสิบทิศของครูไสลมาบ้าง (มีเว็บรวมเพลงด้วย) แล้วก็รู้มาว่า ยาขอบยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน ว่านี่เป็นเรื่อง ปลอมพงศาวดาร ล้วน ๆ โดยอาศัยข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์เพียงเล็กน้อย มาขยายความเป็นร้อยเป็นพันหน้า

แต่ก็ยังอยากอ่านเรื่องเต็ม เพราะรู้สึกถึงรสวรรณกรรมหลากหลายชวนติดตาม แล้วก็ไม่ผิดหวัง แถมยังเป็นแรงกระตุ้นให้ไปหยิบหนังสือประวัติศาสตร์พม่าที่เคยซื้อมาไว้นานแล้ว มาเปิดอ่านเป็นครั้งแรกด้วย!

แน่นอนว่าเรื่องปลอมพงศาวดารนั้น ปลอมมากจนจริงกับเท็จปนเปกัน หนักกว่าสามก๊กเยอะ ผิดกันแต่ว่า เรื่องนี้ทุกคนรู้ดีว่าเป็นเรื่องปลอม ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นเท่าสามก๊ก และความที่เป็นกึ่ง ๆ นิยายประโลมโลก จึงไม่มีตำราบริหารใดยกขึ้นมาเป็นคัมภีร์เหมือนสามก๊ก

แต่เมื่อได้อ่านแล้ว จะพบว่าในส่วนกลศึกต่าง ๆ นั้น ดูสมจริงและเป็นเหตุเป็นผลกว่าสามก๊กเสียอีก การสั่งการก็เป็นขั้นเป็นตอน ที่ไหนที่ชวนสงสัย ก็มีบทถามหรือโต้แย้งของแม่ทัพรอง และนายทัพก็อธิบายจนกระจ่าง ไม่ใช่คนรับคำสั่งยังงง ๆ จนสุดท้ายก็ยังไม่รู้ว่ากูรบชนะได้ไงเหมือนสไตล์ขงเบ้ง การแสดงภาพทีมเวิร์กอย่างชัดเจนอย่างนี้สิ ยังน่าเป็นตัวอย่างการบริหารได้ดีกว่าเป็นไหน ๆ

นอกจากนี้ เรื่องนี้ยังสะท้อนบุคลิกของคนที่เกิดมาเพื่อเป็น "ผู้ชนะสิบทิศ" ได้ดีทีเดียว อ่านแล้วจะรู้สึกบ้าพลังอย่างบอกไม่ถูก กลับมามองชีวิตตัวเองแล้วจะเห็นอุปสรรคเป็นเรื่องขี้ผงอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน

ส่วนเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ .. แหะ ๆ คงไม่ต้องวิจารณ์มาก เห็นชัดกันอยู่แล้ว

และที่น่าสนใจคือ ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของเรื่อง ซึ่งจะมีบทสนทนาที่อ้างถึงประวัติศาสตร์ช่วงต่าง ๆ ของพม่าอยู่ประปราย เป็นแนวให้ไปสืบค้นได้ ไม่ใช่แค่ช่วงแผ่นดินตะเบงชะเวตี้ตามท้องเรื่องเท่านั้น ที่แน่ ๆ คือ ชวนให้อยากอ่านเรื่องราชาธิราช คล้าย ๆ กับตอนที่อ่านสามก๊กแล้วทำให้อยากอ่านเรื่องไซ่ฮั่นเพิ่ม (ซึ่งก็ได้อ่านไปแล้วเช่นกัน)

นี่แหละ ที่ทำให้ได้ไปปัดฝุ่นหนังสือ "History of Burma" บนชั้นหนังสือ อ่านแล้วค่อย ๆ สร้างเค้าโครงประวัติศาสตร์.. แล้วก็นึกเสียดายที่ไม่ได้ตั้งใจเรียน "เพื่อนบ้านของเรา" สมัยมัธยมให้มากกว่านี้

ภูมิหลังประวัติศาสตร์พม่าก่อนเรื่องผู้ชนะสิบทิศนี้ก็คือ แผ่นดินพม่านั้นไม่ได้เป็นเอกภาพหนึ่งเดียว แต่ประกอบด้วยชนชาติต่าง ๆ อาศัยอยู่ด้วยกันหลายชนชาติ เอาเฉพาะที่ถูกอ้างถึงในเนื้อเรื่อง ก็มี มอญ (ตะเลง), พม่า, กะเหรี่ยง, โมนยิน (ฉาน/ไทใหญ่), ยะไข่ แต่ละชนชาติก็ครอบครองพื้นที่แยกต่างหากจากกันเหมือนเป็นคนละประเทศ จนกระทั่งมารวมเป็นหนึ่งเดียวกันเป็นครั้งแรก ในสมัยพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ (Tabinshwehti) แห่งราชวงศ์ตองอู แล้วอำนาจของพม่าก็แผ่ไพศาลถึงขีดสุดในสมัยพระเจ้าบาเยงนอง (Bayinnaung) หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ บุเรงนองกะยอดินนรธา พระเจ้าชนะสิบทิศผู้พิชิตกรุงศรีอยุธยานั่นเอง ก่อนที่จะอ่อนแอลงอย่างรวดเร็วในสมัยพระเจ้านนเตี๊ยะบาเยง (Nandabayin) หรือ นันทบุเรง อันเนื่องมาจากนโยบายการบริหารที่ผิดพลาด จนกระทั่งอยุธยาภายใต้การนำของสมเด็จพระนเรศวรผงาดขึ้นมาครองอำนาจในภูมิภาคแทน

พม่าในยุคเริ่มแรก คืออาณาจักรพุกาม (Pagan) ซึ่งผมยังเก็บรายละเอียดไปไม่ถึง ขอข้ามไปก่อน แต่ต่อมาถูกกุบไลข่านรุกราน และเข้ามาครอบงำอำนาจ เจ้ากี้เจ้าการรับรองกษัตริย์ต่าง ๆ ในฐานะผู้ครองแคว้นหนึ่งของจีน นอกจากนี้ ยังได้รับอิทธิพลจากการอพยพลงใต้ของชนเผ่าไท คือพวกไทใหญ่ที่เข้ามายึดพื้นที่ ผลักดันชาวพม่าให้ถอยร่นลงใต้

ในสมัยนั้น ศูนย์กลางอำนาจของพม่าอยู่ที่อังวะ (Ava) ส่วนทางใต้ ชาวตะเลงก็ครอบครองพื้นที่อยู่ โดยมีศูนย์กลางเดิมอยู่ที่เมาะตะมะ (Martaban) ก่อนจะย้ายมาที่พะโค (Pegu) หรือหงสาวดี โดยเมื่อไทใหญ่บุกลงมายึดอำนาจในอังวะได้ ชาวพม่าก็อพยพหนีความโหดร้ายป่าเถื่อนของไทใหญ่ลงมารวมกันที่ศูนย์อำนาจสำคัญสองแห่ง คือ แปร (Prome) และตองอู (Toungoo) โดยที่ตองอูนั้น สัดส่วนของประชากรพม่าจะสูงที่สุด จึงมีเอกภาพและกลายเป็นศูนย์รวมของพม่าที่เข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ

เรื่องราชาธิราชนั้น เป็นประวัติศาสตร์ของมอญ-พม่าในช่วงก่อนการรุกรานของไทใหญ่ ศูนย์กลางของตะเลงเพิ่งย้ายมาหงสาวดีใหม่ ๆ ส่วนศูนย์กลางของพม่ายังคงอยู่ที่อังวะ ส่วนเรื่องผู้ชนะสิบทิศ จะเริ่มในช่วงที่ตองอูเรืองอำนาจแล้ว และเริ่มแผ่ขยายอำนาจไปปราบหงสาวดี แปร และอังวะ (ที่โมนยินไทใหญ่ครอบครองอยู่) รวมแผ่นดินลุ่มแม่อิระวดีเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้เศวตฉัตรของพระจักรพรรดิตะเบงชะเวตี้ที่หงสาวดี และภายหลังพระเจ้าบุเรงนองได้สานต่อ ไปปราบยะไข่ เชียงใหม่ และอยุธยาด้วย

ไว้คราวหน้าค่อยมาเขียนเพิ่ม เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองต่าง ๆ

ป้ายกำกับ: , ,

6 ความเห็น:

  • 3 สิงหาคม 2551 เวลา 18:28 , Anonymous ไม่ระบุชื่อ แถลง…

    เรื่องผู้ชนะสิบทิศก็ชอบมากๆ เหมือนกันครับ พอกับสามก๊กเลย

    สำหรับเรื่องการสั่งการหรือว่ารายละเอียดนั้น ผมคิดว่าเพราะสามก๊กมันกินช่วงเวลากว้างมากเป็นร้อยปี การจะให้ละเอียดมากๆ คงเป็นไปไม่ได้

    เสียอย่างเีดียว ยาขอบแต่งไม่จบซะงั้น ผมอยากเห็นมุมมองตอนมาบุกกรุงศรีอยุธยาอยู่เหมือนกัน ว่าจะเป็นยังไง

     
  • 3 สิงหาคม 2551 เวลา 20:23 , Blogger Thep แถลง…

    เรื่องการสั่งการสไตล์ขงเบ้งนี่ ไม่ใช่เรื่องของรายละเอียดครับ จะเห็นหลายครั้งที่สั่งแบบคนสั่งรู้คนเดียว เช่น ใส่คำสั่งในถุงผ้า ให้เปิดตามลำดับยามคับขัน ซึ่งในสถานการณ์จริงไม่ควรเลียนแบบ เพราะเป็นการเสี่ยงเรื่องการคาดการณ์มากไป ถ้าไม่เป็นไปตามที่คิด ผู้ปฏิบัติจะเคว้งทันที และที่สำคัญ ถ้าถุงผ้าถูกขโมย ความลับก็รั่วไหลเท่านั้นเอง ของแบบนี้เอาไว้สร้างความตื่นเต้นบนโรงงิ้วก็พอครับ เอามาเป็นคัมภีร์บริหารไม่ได้

    หรือจะเป็นการสั่งทีละคนให้แยกไปทำการคนละอย่าง โดยสั่งในลักษณะวางเดิมพันว่าข้าศึกไปทางนั้นแน่ ให้คนนั้นทำอย่างนั้น คนนี้ทำอย่างนี้ โดยให้ดูสัญญาณบางอย่างที่ดูสุ่มเสี่ยง ซึ่งในชีวิตจริง ถ้าไม่เป็นไปตามคาด ก็มีสิทธิ์ถูกซ้อนกลได้ง่าย หรือไม่ก็อาจจะฆ่าพวกเดียวกันโดยไม่รู้ตัวก็ได้

    เรื่องผู้ชนะสิบทิศ แหม ผมว่าแค่มีฉากพระสุริโยทัยขาดคอช้างนี่ ก็พอทำให้คนไทยอ่านแล้วรวนเรได้แล้วล่ะครับ ส่วนเรื่องครั้งกรุงแตก คิดว่าในสมัยของยาขอบ คงจะเขียนได้ยาก ผิดกับสมัยนี้ที่หนังประวัติศาสตร์กล้าใส่มุมมองใหม่มากขึ้น

    อีกอย่าง ความสำเร็จอย่างหนึ่งของเรื่องผู้ชนะสิบทิศ คือลดความรู้สึกชังพม่าของคนไทยลงบ้าง เพราะคนไทยเรียนประวัติศาสตร์เหมือนนิยาย นี่ก็เอานิยายเข้าแก้กันได้พอดี คิดว่าเขียนถึงแค่บุเรงนองครองราชย์ก็คงจะพอแล้ว

    แต่ก็เห็นด้วยครับ ว่าเสียดายที่เขียนไม่ถึงตอนนั้น อย่างน้อยก็น่าจะเห็นการชิงหงสาวดีคืนจากสมิงสอตุดบ้าง

     
  • 3 สิงหาคม 2551 เวลา 23:39 , Anonymous ไม่ระบุชื่อ แถลง…

    โทษทีครับ ผมอ่านไม่ละเอียดเอง

    ถ้ามองตามนิยาย(ผมไม่ค่อยรู้ประวัติศาสตร์สามก๊กเท่าไหร่) สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้จ๊กก๊กล่ม ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าขงเบ้งนะ ด้วยความที่เป็นคนที่เก่ง+ดี เกินไป ทำให้มั่นใจในตัวเอง จนไม่คิดว่ามีใครดี+เก่งเท่า ทำให้จ๊กก๊กในตอนปลายขาดแคลนคนดีและเก่ง

    ส่วนเรื่องผู้ชนะสิบทิศช่วยลดความรู้สึกชังพม่าลงเนี่ย ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะเคยคุยกับบางคน แล้วเค้าบอกว่า "อ่านไปทำไม นิยายเชิดชูศัตรู" ซึ่งดูจากประสบการณ์ส่วนตัว คนที่จะอ่านผู้ชนะสิบทิศ (ที่ไม่ใช่โดนบังคับอ่าน) ส่วนมากก็ไม่ใช่คนคลั่งประวัิติศาสตร์ แบบชาตินิยมอยู่แล้ว

     
  • 4 สิงหาคม 2551 เวลา 09:12 , Blogger Thep แถลง…

    เห็นด้วยครับ เรื่องจ๊กก๊กล่ม เป็นเพราะการทำงานสไตล์เก่งคนเดียว ขาดทีมเวิร์ก ต่างกับอีกสองก๊ก

    เรื่องผู้ชนะสิบทิศ.. เป็นอย่างนั้นจริงหรือครับ? เผอิญผมยังไม่เคยเจอคนที่คิดอย่างนั้นกับตัวเอง เลยไม่รู้ และคิดเอาเองจากความรู้สึกของตัวเอง ตอนเด็กนั้น เรียนประวัติศาสตร์แบบปลูกฝังให้ชังพม่า แต่พอได้เรียนเรื่องผู้ชนะสิบทิศ ก็รู้สึกว่าคลายลง เพราะถูกรสชาติวรรณกรรมมาเจือ หรือเทียบเรื่องเนื้อหาที่เจอในอินเทอร์เน็ต มีการแสดงความเห็นเกี่ยวกับบุเรงนองในเชิงวรรณกรรม แทนที่จะในเชิงเจ็บแค้นอย่างเดียว ก็เลยเข้าใจเอาว่า ผู้ชนะสิบทิศได้มาเจือจางความเจ็บแค้นของคนไทยลงบ้างแล้ว แม้กระทั่งตอนโมเดิร์นไนน์จัดประกวดหาผู้แสดงเป็นจะเด็ด ก็รู้สึกว่าจะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี

    หรือจะเป็นเพราะคนไทยยังมีการแยกแยะ ระหว่างการเสียกรุงครั้งที่ 2 กับครั้งที่ 1 อยู่ ว่ากรุงไม่ได้ถูกเผาวอดวายทั้งสองครั้ง? อันนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

     
  • 4 สิงหาคม 2551 เวลา 15:31 , Blogger Beamer User แถลง…

    ตอนเสียกรุงครั้งที่หนึ่งนั้น ความเป็นประเทศแทบไม่มี
    กรุงศรีฯ กับพิษณุโลก นับเป็นคนละประเทศยังได้
    พม่ายิ่งแล้ว ความโกรธแค้นคงมีไม่มาก คนที่ถูกหาว่า
    ทรยศจริง ๆ แล้วก็แค่เปลี่ยนไปเข้ากับอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
    ลึก ๆ แล้วเรื่องราวสมัยนั้นในฝั่งไทยอาจจะมันกว่าสามก๊ก
    เป็นไหน ๆ ก็ได้

    ยาขอบแต่งผู้ชนะสิบทิศด้วยข้อมูลเพียงเจ็ดบรรทัด
    แต่งตอนต่อตอนเพื่อหาเงินเรียน ตอนนั้นคนไปรอต้น
    ฉบับถึงที่เขียน คนแย่งกันอ่านต้นฉบับเหมือนผมแย่ง
    กันอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นกับเพื่อนเลย (สมัยเด็ก ๆ) จริงเท็จ
    แค่ไหนไม่รู้ อาจารย์ภาษาไทยที่เป็นเพื่อนร่วมห้อง
    เรียนยาขอบเขาเล่าให้ฟัง

    นึกถึงบทพูดอมตะของบุเรงนองแล้ว ยาขอบตัวจริงคง
    เจ้าชู้น่าดู
    "อันตัวข้าพเจ้าเป็นคนรักชีวิต..."


    ขงเบ้งตามฉบับนิยาม ต้องทำงานคนเดียวเพราะไว้ใจ
    ใครไม่ได้ เสฉวนไปแย่งเขามา กลับเข้าเมืองทีก็ต้อง
    มาจัดการเรื่องพวกนี้ ขุนพลตัวเองไม่มีก็ไม่รู้จัก
    สร้างยังมีหน้าไปบุกเขาครั้งแล้วครั้งเล่า จกก๊กมาได้
    ขนาดนี้ก็ยอดคนแล้ว

     
  • 4 สิงหาคม 2551 เวลา 15:58 , Blogger Thep แถลง…

    อยุธยากับพิษณุโลก จะว่าเป็นคนละประเทศโดยพฤตินัยก็ได้ แต่โดยนิตินัยเป็นระบบเมืองแฝด เป็นร่องรอยการผนวกรวมของสุโขทัยกับอยุธยาที่ยังรวมกันไม่สนิทนั่นเอง

    ทุกอย่างมารวมศูนย์ที่กรุงศรีอยุธยาได้ ก็คราวกรุงแตกครั้งแรกนี่เอง เรียกว่าพม่ามาช่วยกระตุ้นการรวมแผ่นดินสยามให้เป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้น

    เรื่องข้อมูลเจ็ดบรรทัด ผมคิดว่าเป้นสำนวนเปรียบเปรยของยาขอบเองมากกว่า เขาแค่ต้องการให้พ้องกับความหนาเจ็ดร้อยหน้าในตอนที่เขียนเท่านั้นแหละ ความจริงเขาใช้ข้อมูลเยอะมาก เอาแค่ตอนสงครามไทยเสียพระสุริโยทัยตอนเดียวก็เป็นหน้าแล้ว ชื่อกษัตริย์เมืองต่าง ๆ ก็มีร่องรอยในประวัติศาสตร์ (อาจจะยกเว้นเมืองแปร ที่หาบันทึกยากหน่อย)

    เหตุการณ์สำคัญส่วนใหญ่ก็มีเค้าโครงจากประวัติศาสตร์ เพียงแต่ลำดับเหตุการณ์จะสับสนอลหม่านหน่อย ตรงนี้แหละมัง ที่ทำให้ยาขอบกลบเกลื่อนเสียด้วยคำว่า "เจ็ดบรรทัด"

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem