Theppitak's blog

My personal blog.

02 สิงหาคม 2551

Red Cliff

ได้ไปดู Red Cliff หรือสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ มา เป็นอีกครั้งหนึ่งของหนังฟอร์มยักษ์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากนิยายระดับมหากาพย์ มีการผ่าตัดเนื้อเรื่องตามปกติ แต่คราวนี้ ความคิดเห็นไม่ได้เหมือน ครั้งดูเรื่อง Troy เนื่องจากกรณีของ Troy นั้น สิ่งที่มีให้เปรียบเทียบมีเพียงงานวรรณกรรมล้วน ๆ ในขณะที่สามก๊ก มีทั้งนิยายและประวัติศาสตร์

ผมเคย อ้างถึง ประวัติศาสตร์สามก๊กไปแล้วครั้งหนึ่ง การมีประวัติศาสตร์ให้เทียบกับนิยาย ก็ทำให้แยกแยะส่วนที่เป็นจินตนาการของกวีออกจากส่วนที่เป็นประวัติศาสตร์ได้ และการดัดแปลงเนื้อหาใน Red Cliff ครั้งนี้ ก็เป็นการผสมผสานกันระหว่างนิยายกับประวัติศาสตร์

ศึกเซ็กเพ็ก หรือยุทธนาวีผาแดงนี้ ในประวัติศาสตร์นั้น วีรบุรุษของฝ่ายสัมพันธมิตรคือจิวยี่ แม่ทัพเรือของง่อก๊ก ซึ่งใช้ความช่ำชองทางน้ำและการวางแผนที่ดีทำศึกกับโจโฉ จนโจโฉผู้คร่ำหวอดกับการศึกจากการปราบภาคเหนือมายังต้องออกปากชม แต่ในตอนท้ายของสงคราม ทัพโจโฉประสบกับโรคระบาด ทำให้โจโฉตัดสินใจถอนทัพกลับ โดยในบันทึกจดหมายเหตุของวุยก๊กยังระบุว่าโจโฉเป็นคนสั่งจุดไฟเผาทัพเรือตัวเองด้วย เพื่อกำจัดโรคระบาดหนึ่ง และเพื่อไม่ให้ฝ่ายง่อก๊กได้กองเรือไปใช้ประโยชน์อีกหนึ่ง ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจโฉจะเสียทัพอย่างไม่เป็นกระบวนอย่างในนิยาย แถมยังกลับไปเตรียมการศึกครั้งใหม่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยเปลี่ยนมาใช้วิธีตีเก็บเล็กผสมน้อย บวกกับการทำนาแบบถุนเถียน ไม่ได้โหมรุกเป็นทัพใหญ่เหมือนศึกครั้งนี้อีก

ส่วนแม่ทัพจิวยี่นั้น เสียชีวิตหลังเสร็จศึกเซ็กเพ็กสองปี อาจเป็นเพราะติดโรคระบาดในครั้งนั้น ประกอบกับการตรากตรำทำศึกมานาน โดยหมอของกังตั๋งยื้อชีวิตแม่ทัพมาได้ถึงสองปี

แต่ภาพที่ล่อกวนตงละเลงในสามก๊กฉบับงิ้วนั้น แตกต่างอย่างสิ้นเชิง พระเอกของเรื่องกลายเป็นขงเบ้งที่มาโน้มน้าวกังตั๋งให้ประกาศสงคราม ส่วนตัวเองคอยออกอุบาย ชิงไหวชิงพริบกับจิวยี่ขี้อิจฉา จนกระทั่งสามารถยืมมือง่อก๊กทำลายทัพเรือโจโฉย่อยยับ แต่จะสังเกตว่า แม้ในนิยาย ทุกอย่างก็เกิดจากอุบายความคิดของจิวยี่เป็นส่วนใหญ่ เพียงแต่นิยายแสดงให้เห็นว่าขงเบ้งรู้เท่าทันตลอดเท่านั้น

นอกจากนี้ นิยายยังให้ขงเบ้งแต่งทัพซุ่มโจมตีระหว่างทางถอยของโจโฉไปจนถึงถนนสายฮัวหยง ให้กวนอูได้แทนคุณโจโฉเพื่อเคลียร์ใจ แล้วปล่อยโจโฉซมซานกลับฮูโต๋พร้อมทหารติดตัวไม่กี่นาย ทางฝ่ายจิวยี่นั้น ก็เสียรู้ขงเบ้งครั้งแล้วครั้งเล่าจนรากเลือดตาย ซึ่งเป็นหนังคนละม้วนกับบันทึกประวัติศาสตร์

เท่านั้นยังไม่พอ นอกจากจะไม่ได้ส่งกำลังมาช่วยในทัพเรือแล้ว หลังเสร็จศึกขงเบ้งยังวางแผนยึดเมืองต่าง ๆ สบายใจเฉิบ รวมทั้งฉกเกงจิ๋วไปครองหน้าตาเฉย

เรียกว่าทั้งชุบมือเปิบ ทั้งหักหลังมิตร แต่ล่อกวนตงก็เขียนให้ผู้อ่านเห็นใจฝ่ายเล่าปี่ และนิยมในความเก่งกาจของขงเบ้งได้ แถมริบเครดิตเกือบทุกอย่างของจิวยี่ไปให้ขงเบ้งเสียด้วย

ดังนั้น การดัดแปลงเนื้อเรื่องของ Red Cliff ที่ให้จิวยี่เป็นวีรบุรุษ แถมยังหยิกขงเบ้งให้ดูเปิ่นบ่อย ๆ เช่น "อากาศเย็นทำไมถือพัด" หรือครั้งที่ขงเบ้งบอกว่าอาบน้ำให้นกแล้วเอาพัดโบกให้แห้ง "แล้วถ้ามันเป็นหวัดล่ะ" อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะทำให้คนที่อินกับนิยายไม่พอใจบ้าง แต่ผมดูแล้วขำ คิดว่า จอห์น วู (ยินว่าครั้งนี้เขาลงมือเขียนบทด้วยตัวเอง) ก็คงอยู่ในกลุ่มที่หมั่นไส้ขงเบ้งเหมือนกับผมและอีกหลาย ๆ คน และการสร้าง Red Cliff ในครั้งนี้ ก็เป็นการคืนเครดิตอันพึงมีให้กับจิวยี่นั่นเอง

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะอิงแต่ประวัติศาสตร์ทั้งหมด รายละเอียดปลีกย่อยในนิยายก็ยังเอามาผสมเพื่อเอาใจคอนิยาย เช่น เรื่องการตีฝีปากของขงเบ้งท่ามกลางหมู่เสนามาตย์ของง่อก๊ก ความคลั่งไคล้เสี่ยวเกี้ยวของโจโฉ (ที่ออกจะทำโจ่งแจ้งเกินนิยายด้วยซ้ำ) ความบ้าระห่ำของเตียวหุย (แต่ไม่ได้ให้เครดิตอุบายลวงที่สะพานเตียงปันเกี้ยวกับเขา แค่เอามาเป็นแนวคิดทำม่านฝุ่นบังค่ายกลเท่านั้น) ฝีไม้ลายมือของกวนอู (ที่เอามาจากตอนอื่น เนื่องจากครั้งนี้กวนอูไม่ได้มีบทบาทอะไรในนิยาย เพราะอยู่ระหว่างไปขอกำลังเล่ากี๋ที่เมืองกังแฮมาช่วย) และวีรกรรมช่วยอาเต๊าของจูล่ง (ซึ่งเรื่องของจูล่งครั้งนี้ตรงกับบันทึกในประวัติศาสตร์) นี่ยังนึก ๆ อยู่ ว่าภาคสองยังจะให้ขงเบ้งทำพิธีเรียกลมสลาตันอีกหรือเปล่า ที่แน่ ๆ คือ เห็นโปรยไว้แล้ว เรื่องเรือฟางเก็บลูกเกาทัณฑ์จากทัพโจโฉ

แต่ท่าทาง จอห์น วู จะอยากเห็นบทของสตรีมากขึ้น ถึงได้ดึงซุนหยิน น้องสาวซุนกวน หรือที่เรียกว่า ซุนฮูหยิน หลังแต่งงานกับเล่าปี่แล้ว ให้มาออกศึกกับเขาด้วย ทั้งที่ในนิยายยังไม่มีบทของเธอในตอนนี้ แล้วก็ยังเพิ่มบทพูดให้เสี่ยวเกี้ยว ภรรยาคนสวยของจิวยี่ เกี่ยวกับการสงคราม ยินว่าภาคสองจะเป็นคนถือสารไปถึงทัพโจโฉด้วย

อีกประการหนึ่งที่ดัดแปลงคือ ภาพของความสามัคคีระหว่างสัมพันธมิตร โดยกองกำลังของเล่าปี่ได้เข้ามาร่วมรบด้วย ผิดกับในนิยายที่นอนทอดหุ่ยอยู่ที่แฮเค้า รอดูจิวยี่รบ โดยส่งขงเบ้งเข้าไปเป็นทูตเพียงคนเดียว อันนี้ถ้าไม่ดัดแปลงบทล่ะก็ คงเป็นเรื่องสงครามโจโฉ-จิวยี่ล้วน ๆ โดยแทบไม่มีบทของฝ่ายเล่าปี่เลย

แต่ก็ให้เป็นความสามัคคีที่จิวยี่เป็นคนสร้าง โดยใช้วาทะการดึงเชือกฟาง นับว่ารักษาคอนเซปต์ได้เสมอต้นเสมอปลายดี

ทั้งการเอาเรื่องโจโฉอยากได้นางไต้เกี้ยวเสี่ยวเกี้ยวมายั่วจิวยี่ให้ร่วมรบ ก็ไม่มีให้เห็น ก็เล่นเอาเสี่ยวเกี้ยวมานั่งกันท่าอย่างนี้ ขงเบ้งยังจะยั่วได้ลงคอก็ให้มันรู้ไปสิ

ส่วนที่ชอบก็คือ การเอาค่ายกลโป๊ยก่วยออกมาแสดงได้อย่างเห็นภาพ แม้ในนิยายจะไม่มีการใช้ในตอนนี้ การทำฉากกองเรือเรือนหมื่นให้เห็นภาพ ว่ามันมากมายขนาดไหน คนอ่านนิยาย ก็คงนึกถึงจำนวนตัวเลข แต่ไม่ได้เห็นภาพว่ามันมากมายมหาศาลขนาดนี้

แต่ทำไมนะ.. ดูหนังจีนฉบับฮอลลีวู้ดแล้วรู้สึกขาด ๆ เกิน ๆ ทุกครั้ง กับ over-acting ของตัวละคร แม้ผู้กำกับจะเป็นคนจีนเองก็ตาม (ผมเริ่มเอียนตั้งแต่ เก๋าเจ้งไทเกอร์ริบบิ้นดรากอน เป็นต้นมา) จิวยี่เป็นคนเชี่ยวชาญดนตรีก็จริง แต่ถึงกับสั่งให้กองทัพหยุดฝึกเพื่อฟังเสียงขลุ่ยของเด็ก มันรู้สึกเวอร์ไปหน่อย แต่การที่พ่อเฒ่ามีเรื่องร้องเรียนเรื่องกระบือหาย ก็พอชดเชยได้ แต่ถ้าเป็นสนามซ้อมจริง พอมีคนมาร้องเรียนอะไร แม่ทัพจะสั่งกองทัพทั้งหมดหยุดซ้อมเลยงั้นหรือ จะไม่ให้แม่ทัพรองออกไปรับเรื่องแทน หรือไม่ก็ให้แม่ทัพรองดูการซ้อมไปก่อน แล้วตัวเองค่อยออกมาฟังความ ก็ค่อยดูสมเหตุสมผลหน่อย เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีคนมาโหวกเหวกเรื่องม้าคลอดลูกไม่ออกให้กลายเป็นเรื่องใหญ่โต ให้กองทัพทั้งหมดหยุดซ้อมต่อไป ดูไม่เป็นมือโปรเท่าไรเลย

หรือจะเป็นฉากสนามรบ ก็ไม่รู้จะมีทหารเลวไปทำไม รบทีไรก็ให้แต่นายกองออกลุยเดี่ยวตลอด แล้วก็แอคชันแบบฝากอาวุธตัวเองไว้กับศพ หักทวนศัตรูมาเสียบ ดูแล้วมันเวอร์จนเอียนน่ะ หรือฝรั่งเขาชอบดูหนังจีนแบบนี้กันเหรอ?

แต่อาจจะให้อภัยได้สำหรับการถ่ายทอดความลังเลใจของซุนกวน โดยใช้การล่าเสือนำไปสู่จุดแตกหัก นับว่าทำได้ดี

อ้อ มีเกร็ดนิดหนึ่งเกี่ยวกับขงหยงที่ถูกโจโฉสั่งประหารตอนต้นเรื่อง เขาถูกประหารจริงทั้งในประวัติศาสตร์และในนิยาย ในฐานะที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับโจโฉ ชอบขัดคอด้วยหลักปรัชญาขงจื๊อบ่อย ๆ การประหารขงหยงซึ่งมีเชื้อสายมาจากขงจื๊อ จึงทำให้นักปราชญ์ต่าง ๆ ไม่พอใจโจโฉ แล้วก็ทำให้เขียนตอกไข่ใส่ความโจโฉต่าง ๆ นานาในเวลาต่อมา

ป้ายกำกับ: , , , ,

2 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem