Theppitak's blog

My personal blog.

11 กรกฎาคม 2553

Software Freedom

ขอเขียนถึงเสียหน่อยน่ะ เกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพในซอฟต์แวร์ หลังจากเจอประเด็นสะสมมาเรื่อย ๆ

ผมเคยเขียนไปหลายครั้งว่าผมพยายามรักษาสมดุลระหว่างแนวทางของซอฟต์แวร์เสรี (free software) และโอเพนซอร์ส (open source software) โดยถือว่าซอฟต์แวร์เสรีคือหลักการ และโอเพนซอร์สคือแนวทางปฏิบัติ แต่ในชุมชนในไทยปัจจุบันเราจะเริ่มเห็นการแบ่งแยกสองสิ่งนี้ออกเป็นคนละสำนักขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นที่ว่า ถ้าเข้าไปในวงโอเพนซอร์สแล้วพูดถึงเสรีภาพซอฟต์แวร์จะกลายเป็นคนสุดโต่งไปเลย

แต่เราต้องไม่ลืมว่า ซอฟต์แวร์เสรีนั้นคือหลักการพื้นฐานที่ทำให้เราสร้างกฎเกณฑ์ของการแบ่งปันซอฟต์แวร์ภายใต้กรอบของกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ ทบทวนสักเล็กน้อยสำหรับคนที่มาใหม่ หลักการของซอฟต์แวร์เสรีนั้นคือเสรีภาพ 3 ประการ และมีการเพิ่มเสรีภาพข้อที่ 0 เข้าไปในภายหลังกลายเป็นเสรีภาพ 4 ประการ คือ

  1. เสรีภาพในการใช้ซอฟต์แวร์
  2. เสรีภาพในการศึกษาการทำงานและแก้ไขซอฟต์แวร์ให้ทำงานตามต้องการ
  3. เสรีภาพในการแจกจ่ายซอฟต์แวร์ต่อ
  4. เสรีภาพในการเผยแพร่ซอฟต์แวร์ที่แก้ไขแล้ว

เสรีภาพ ในที่นี้หมายความว่าสามารถทำได้อย่างอิสระโดยทันทีที่ได้รับซอฟต์แวร์มา โดยไม่ผูกพันเงื่อนไขใด ๆ ยกเว้นเงื่อนไขที่จะทำลายเสรีภาพเหล่านี้ของผู้อื่น และด้วยเสรีภาพเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สสามารถสร้างวัฒนธรรมแบ่งปันและร่วมกันพัฒนาจนเติบโตมาถึงทุกวันนี้ได้

เมื่อเราละทิ้งเสรีภาพเหล่านี้ แล้วยอมรับเงื่อนไขของซอฟต์แวร์ซอร์สปิดมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเราได้เจออะไรบ้าง?

  • Postcardware เต็มบ้านเต็มเมือง คือซอฟต์แวร์ที่เขียนสัญญาอนุญาตที่ให้เสรีภาพครบทุกประการ แต่ต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนลงมือแก้ไข ซึ่งเงื่อนไขตรง "แต่" นี้เอง ที่ทำให้ซอฟต์แวร์นั้นกลายเป็นซอฟต์แวร์ปิดโดยปริยาย เพราะไม่ต่างอะไรกับการต้องขออนุญาตก่อนทำ (ในทางปฏิบัติ ถ้าไม่มีหนังสือตอบกลับว่าได้รับแจ้งแล้ว คุณก็ไม่มีหลักฐานไปยืนยันการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรของคุณในกรณีที่เกิดการฟ้องร้อง การจะตอบกลับหรือไม่จึงมีผลเสมือนการอนุญาตหรือไม่นั่นเอง) หรือรูปแบบที่พยายามควบคุมการแจกจ่ายทางอื่นด้วยการให้ลงทะเบียนก่อนดาวน์โหลดก็เข้าข่ายขัดขวางการแจกจ่ายอย่างเสรีและลดแรงจูงในในการพัฒนาต่อยอดแบบโอเพนซอร์สเช่นกัน
  • แนวทางการต่อสู้ที่เพียงแค่ใช้ FOSS เป็นเครื่องมือต่อรองราคากับซอฟต์แวร์ปิดเท่านั้น เราไม่ได้ใส่ใจเรื่องเสรีภาพอะไรเลย แค่สนใจเรื่องราคาอย่างเดียว ได้ของถูกมาใช้ก็จบ หรือใช้แค่เป็นยันต์กันผีเวลาที่มีการตรวจจับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เราไม่เคยมองในระยะยาวเลยว่าเราจะได้ประโยชน์จากมาตรฐานเปิด ความอิสระ สามารถกำหนดทิศทางของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านการทำงานกับซอร์สโค้ดที่เปิดและกับโครงการสากล
  • ร่างแผนแม่บท ICT ที่เน้น การจดสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ พร้อม ๆ กับการส่งเสริมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส โดยบางท่านถึงกับส่งเสริมให้ใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในการสร้างซอฟต์แวร์ไปจดสิทธิบัตรกลับไปขายเมืองนอกเลยทีเดียว ซึ่งสิทธิบัตรซอฟต์แวร์เป็นสิ่งที่ขัดขวางโอเพนซอร์สโดยตรง เพราะการแจกจ่ายซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแบบตามเก็บค่าสิทธิบัตรกับผู้ใช้นั้น เป็นการขัดขวางการแจกจ่ายอย่างเสรีตามหลักซอฟต์แวร์เสรี และส่งผลกระทบถึงกระบวนการใด ๆ ที่โอเพนซอร์สจะใช้ในการสร้างความเติบโตของซอฟต์แวร์ ดังนั้น ไม่ว่าจะโดยมุมมองของซอฟต์แวร์เสรีหรือโอเพนซอร์ส สิทธิบัตรซอฟต์แวร์ก็เป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ทั้งนั้น การมองข้ามข้อนี้แล้วเปิดรับแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์จะกลายเป็นการสะดุดขาตัวเอง

เกี่ยวกับเรื่องสิทธิบัตรซอฟต์แวร์นี้ แม้จะมองในมุมมองของซอฟต์แวร์ปิด การส่งเสริมก็ยังถือว่าเสี่ยงสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เพราะการยอมรับสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ จะกลายเป็นการคุ้มครองสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ต่าง ๆ จำนวนมหาศาลที่บริษัทยักษ์ใหญ่ได้จดเอาไว้ และเราได้เห็นว่าเขาใช้ถล่มกันเละแค่ไหน เพราะสิทธิบัตรจะคุ้มครอง วิธีการ ไม่ใช่คุ้มครองแค่ตัวโค้ดโปรแกรม ทำให้เขียนโปรแกรมเลี่ยงได้ยาก บริษัทในอเมริกาจึงสะสมสิทธิบัตรไว้เป็นคลังแสงจำนวนมาก ในขณะที่ประเทศเรายังเตาะแตะ การเปิดรับสิทธิบัตรซอฟต์แวร์จะมีแต่เสียเปรียบ ซึ่งเรื่องนี้แม้สหภาพยุโรปเองก็กำลังต่อต้านไม่ให้มีการคุ้มครองสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ เพราะถือเป็นการผูกขาดการแข่งขันเกินไป (เช่น ffii.org, nosoftwarepatent.com, stopsoftwarepatent.eu)

เสรีภาพซอฟต์แวร์จึงเป็นเรื่องสำคัญครับ ยังไงก็ไม่ควรทิ้ง ไม่ว่าคุณจะพยายามประนีประนอมกับธุรกิจแค่ไหนก็ตาม ถ้าคุณไม่ประมาณต้นทุนในใจแล้ว คุณจะเสียเปรียบในการต่อรองโดยไม่รู้ตัว ถ้าคุณไม่มีหลักเกณฑ์พิจารณาไว้ในใจแล้ว คุณก็จะตกหลุมพรางทางความคิดโดยไม่รู้ตัว แล้วโลกของ FOSS ที่อุตส่าห์สร้างกันมาก็จะค่อย ๆ ถูกซอฟต์แวร์แบบปิดกลืนกินไปในที่สุด

เพิ่มประเด็นเล็ก ๆ สักเรื่อง มีคนบ่นกับผมว่า แค่ซอฟต์แวร์ไม่อนุญาตให้แก้ไขได้ Debian ก็นับเป็น non-free แล้วหรือ? เข้มงวดไปหรือเปล่า? ผมคิดว่าเขาลืมความหมายของคำว่า free ไปอีกเหมือนกันในเรื่องนี้ ถ้าบอกว่ามันยังให้ใช้ได้ฟรีอยู่นะ นั่นก็คือคุณกำลังพูดถึงราคา ไม่ใช่เสรีภาพแล้วล่ะ อย่าลืมว่าซอฟต์แวร์ที่ Debian หรือดิสโทรใด ๆ สามารถแจกจ่ายได้จะต้องเป็น freeware เป็นอย่างต่ำอยู่แล้ว อะไรที่ไม่ให้ใช้หรือไม่ให้แจกจ่ายได้ฟรีก็ไม่มีสิทธิ์แจกจ่ายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ซอฟต์แวร์ที่อยู่ใน Debian คือซอฟต์แวร์ที่สามารถแจกจ่ายได้ทั้งหมด แต่จะมีการคัดแยกว่า ถ้าให้เสรีภาพอย่างอื่นครบนอกจากการแจกจ่าย ก็ให้เข้าไปอยู่ใน main ได้ ถ้าให้แจกจ่ายได้อย่างเดียว ห้ามทำอย่างอื่น หรือให้ทำได้แต่ไม่ครบตามเกณฑ์ซอฟต์แวร์เสรี ก็เข้าไปอยู่ใน non-free ถ้าเข้าใจตามนี้ ก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรแปลกประหลาด

ป้ายกำกับ:

4 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem