OSM Tidbits
เขียนถึง OpenStreetMap ไปสองตอนแล้ว (OpenStreetMap และ Meet OpenStreetMapper) ทำไป ๆ ก็พบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเพิ่มขึ้น
- เรื่องแรก ใครเล่น identi.ca อยู่ มีกลุ่มชื่อ openstreetmap สามารถ subscribe ได้ครับ จะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นกับคนอื่น ๆ ที่ทำ OSM เหมือนกัน และหลายเรื่องที่เขียนใน blog นี้ ก็ได้มาจากกลุ่มนี้นี่แหละ
- สำหรับคนที่ไม่มีอุปกรณ์ GPS หรือมี แต่โอกาสไม่เอื้ออำนวยให้ออกไปเก็บข้อมูล (โดยเฉพาะช่วงนี้หน้าฝน ติดฝนกันบ่อย หรือไม่ก็ fix ตำแหน่ง GPS ลำบาก) ก็ยังสามารถช่วยแก้ไขข้อมูลแผนที่ได้ โดย OSM จะมีเครื่องมือควบคุมคุณภาพคือ KeepRight ซึ่งจะคอยตรวจสอบหาจุดบกพร่องในข้อมูลแผนที่อยู่เรื่อย ๆ เช่น มีร้านขายยาที่ไม่มีชื่อ มีถนนที่ขาดลอยออกจากถนนอื่น (ที่ถูกแล้ว ถนนทุกเส้นบนพื้นดินควรจะเชื่อมถึงกันหมด) มีจุดที่ขาด tag บางอย่างไป ฯลฯ พวกนี้บางทีคนที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลก็เก็บมาไม่ครบหรือไม่สามารถหาข้อมูลได้ ถ้าคุณรู้ข้อมูล ก็สามารถเข้าไปช่วยเพิ่มได้ สำหรับผม ผมทำ bookmark สำหรับตัวเมืองขอนแก่น ไว้เลย เพราะกว่าจะเลื่อนแผนที่จากโตเกียวมาถึงได้มันช้าเอามาก ๆ
- คุณ Willi2006 ฝากมาว่า เขาได้เสนอการจัด administrative level (ลำดับชั้นของการปกครอง) ของประเทศไทยเอาไว้ โดยไล่ลงมาจากประเทศไทย (Kingdom of Thailand), จังหวัด (Province), อำเภอ (District), ตำบล (Subdistrict), หมู่บ้าน (Village), ชุมชน (Community/Hamlet) โดยในระดับตำบลจะมี เทศบาล (Municipality) มาคาบเกี่ยว ถ้าใครมีอะไรเสนอแก้ไขหรือเพิ่มเติม ก็เข้าไปคุยกันที่ลิงก์ข้างต้นได้ครับ รายละเอียดของประเทศไทยจะรวบรวมไว้ที่ ฉบับร่างในวิกิ
- นอกจากจะดูผ่านเว็บแล้ว บน GNOME ยังมีโปรแกรมดูแผนที่ OSM ชื่อ Emerillon อีกด้วย (มีใน Debian/Ubuntu apt-get ได้เลย)
- ผมเคยเขียนถึง MapDroyd ไว้ใน blog ก่อน ว่าสามารถใช้ดูแผนที่ OSM แบบออฟไลน์บน Android ได้ แต่ปัญหาคือ ข้อมูลแผนที่จะค่อนข้างเก่า และเราไม่สามารถปรับข้อมูลได้เอง ต้องรอให้ทางผู้พัฒนาเตรียมข้อมูลให้ ก็เลยลองค้นหาตัวอื่นดู ก็ไปพบเครื่องมือชื่อ Mobile Atlas Creator สามารถดึงข้อมูลแผนที่ต่าง ๆ มาทำเป็นข้อมูลไว้ใช้แบบออฟไลน์บนมือถือได้ โดยรองรับแผนที่หลายแหล่ง ทั้ง OSM เอง ทั้ง Google Maps, Microsoft/Bing Maps และ Yahoo Maps ด้วย ดึงมาแล้วสามารถสร้างเป็นข้อมูลสำหรับโปรแกรมได้หลายตัว โดยตัวหนึ่งที่น่าสนใจที่ใช้ข้อมูลจากโปรแกรมนี้ได้คือ AndNav2 ผมจึงทดลองทำดู โดยมี คำอธิบาย ให้ที่วิกิของ AndNav ปรากฏว่าใช้การได้ดีครับ แต่ข้อเสียของวิธีนี้คือ ขนาดของข้อมูลจะใหญ่มากเมื่อเทียบกับของ MapDroyd เพราะ MapDroyd นั้นเขาบอกว่าใช้ฟอร์แมตพิเศษที่เรียกว่า MicroMap ซึ่งมีขนาดเล็ก เล็กไม่เล็กลองเทียบขนาดดู MapDroyd เก็บแผนที่ประเทศไทยทั้งประเทศรวมกับแผนที่โลกโดยรวมแบบไม่ลงรายละเอียดแล้ว ใช้เนื้อที่รวม 13 MB ในขณะที่ AndNav2 เก็บแค่แผนที่ตัวเมืองขอนแก่นเท่านั้น ก็ปาเข้าไป 74 MB แล้ว ลองเช็กข้อมูลดู เล่นเก็บข้อมูลเป็นบิตแมปของทุกมาตราส่วน ก็สมควรอยู่หรอก
- อย่างไรก็ดี ก็ต้องบอกว่า AndNav2 ไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้แบบออฟไลน์เหมือน MapDroyd แต่ก็ได้เตรียมการใช้งานแบบออฟไลน์สำหรับเส้นทางที่คำนวณแล้วได้
เสียดายจริงที่ช่วงนี้ติดฝน หรือไม่ก็ fix ตำแหน่ง GPS ลำบาก เลยไม่ค่อยได้ออกไปเก็บ track แต่ถึงกระนั้นก็ยังสามารถเล่นอย่างอื่นไปพลางได้
ป้ายกำกับ: android, gnome, gps, openstreetmap
0 ความเห็น:
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก