Theppitak's blog

My personal blog.

25 กรกฎาคม 2553

Some Remarks on Thai Orthography

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับอักขรวิธีภาษาไทยมานาน ว่าทำไมไม่เป็นอีกแบบหนึ่ง วันนี้นึกอยากรวบรวมประเด็นเอาไว้ ที่พอจะนึกได้ตอนนี้ก็มี 3 เรื่องคือ

ตัดเชิง ญ ฐ

อักษรไทยเกือบทั้งหมดสามารถเขียนได้ในจรดเดียว จะมียกเว้นอยู่บ้างก็คือ ญ ฐ ศ ษ ส แต่สามตัวหลัง คือ ศ ษ ส นั้น เวลาเขียนยังพอหวัดให้เป็นจรดเดียวได้ แต่ ญ ฐ นั้นหวัดยาก ยังไงก็ต้องจรดปากกา 2 ครั้ง แถมยังลักลั่นเวลามีสระล่างต้องคอยตัดเชิงด้วย เช่นในคำว่า กตัญญู ทิฏฐุชุกรรม ซึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ เคยเสนอให้ตัดเชิงของพยัญชนะทั้งสองออกเสีย

ผมเคย blog เกี่ยวกับคำอธิบายของจิตร ไว้ ซึ่งจิตรได้วิเคราะห์ที่มาของการใส่เชิง ญ หลังสมัยพ่อขุนรามคำแหง เมื่อคนไทยกลับไปรับอิทธิพลอักษรขอมอีกครั้ง เพราะอักษรขอมนั้น เส้นตวัดล่างของ ญ มีความสำคัญมาก ถ้า ญ (ញ) ไม่มีเส้นตวัดล่าง จะสับสนกับพยัญชนะอื่น (คือกลายเป็น ពា = พา) ทำนองเดียวกับหาง ศ ษ และ ส ของไทยที่ถ้าหายก็ความหมายเปลี่ยน คนไทยสมัยก่อนที่เขียนอักษรขอมจนเคยจึงติดมาใช้กับอักษรไทยไปด้วย ทั้งที่ ญ ไม่มีเชิงของไทยนั้นไม่ได้ซ้ำกับอักษรอื่นเลย

ส่วน ฐ ซึ่งเป็นการเขียนรูปเต็ม ឋ กับรูปเชิง ្ឋ ของขอมซ้อนกันเป็น ฐฐ นั้น เนื่องจากไม่พบเอกสารที่จิตรเขียนไว้ จึงไม่ทราบที่มาที่ไป แต่น่าจะใช้หลักคิดทำนองเดียวกันได้

ด้วยเหตุผลเรื่องที่มาที่ไปของรูปร่างอักษร เรื่องความลักลั่นของการตัดเชิง ประกอบกับในปัจจุบันเรามีแนวปฏิบัติในการเขียนภาษาบาลี-สันสกฤตโดยจะเขียน ญ ฐ แบบไม่มีเชิงอยู่แล้ว ทำไมไม่ประยุกต์ใช้กับภาษาไทยทั่วไปบ้าง?

ประพินทุกำกับอักษรนำและอักษรควบกล้ำ

เราพบตัวอย่างความกำกวมมามากแล้วที่เล่นกับเรื่องอักษรนำและตัวควบกล้ำ เช่น

  • เพลา อ่านว่า "เพฺลา" หรือ "เพ-ลา"?
  • เคลิบเคลิ้ม ที่กลายเป็นมุขให้มาเล่นกันเป็น "เค-ลิบ-เค-ลิ้ม" (มุขตลกไม่ใช่ไม่ดี แค่ยกตัวอย่างสิ่งที่พบเจอเกี่ยวกับเรื่องนี้เท่านั้น)
  • พระพรหมา ที่เวลาเจอในหนังสือ แอบอ่านในใจเป็น "พระ-พร-หมา" ทุกที
  • ชื่อตัวละครจีนอย่าง "เตียวเหง" ในเรื่องไซ่ฮั่น ควรจะอ่านว่า "เตียวเง๋" หรือ "เตียวเฮ๋ง" ดี? (ขออภัยครูภาษาไทยที่ใช้ไม้จัตวากับอักษรต่ำในที่นี้ แต่จำต้องใช้เพื่อความสะดวกในการบรรยายเสียงอ่าน)

ตัวอย่างบางอันข้างต้นเรารู้คำอ่านได้จากรูปคำหรือบริบท แต่อย่างชื่อ "เตียวเหง" นี่ ไม่มีข้อมูลจะให้เดาจริง ๆ

เรื่องอักษรนำและควบกล้ำนี้ ภาษาประเทศเพื่อนบ้านเราเขามีวิธีเขียนที่ไม่กำกวม เช่น อักษรเขมรและอักษรธรรมล้านนาจะเขียนตัวควบกล้ำและพยัญชนะซ้อนเป็นรูปย่อไว้ใต้อักษรนำ เช่น เพลา ที่แปลว่าหน้าตัก ภาษาเขมรเขียนเป็น ភ្លៅ โดยตัว ភ คือ ภ และตัว ្ល คือ ล รูปย่อ แต่ถ้าจะเขียน เพลา ที่แปลว่าเวลา ก็จะเขียนเป็น ពេលា (คำเขมรจริง ๆ ของคำว่าเวลาคือ ពេល = เพล) อักษรลาวมีอักษร ໝ สำหรับ หน (ห นำ น), ໜ สำหรับ หม (ห นำ ม) และใช้การเขียนตัวเฟื้องใต้ ห ในกรณีของ ຫຽ (หย), ຫຼ (หล)

วิธีเขียนเหล่านี้มีมาแต่โบราณ ซึ่งอักษรไทยได้ตัดทิ้งไปเมื่อประยุกต์การเขียนพยัญชนะทั้งหมดบนเส้นบรรทัด โดยในสมัยก่อนนั้น อักษรไทยจะไม่ใช้เขียนภาษาบาลี-สันสกฤตกัน เพราะไม่สามารถเขียนรูปพยัญชนะซ้อนในภาษาบาลี-สันสกฤตได้ จึงต้องใช้อักษรขอมบ้าง อักษรธรรมตระกูลมอญบ้างเมื่อจะเขียนภาษาบาลี-สันสกฤต ในทำนองเดียวกับการสลับเขียนภาษาอังกฤษด้วยตัวโรมันในปัจจุบัน จนกระทั่งมีประดิษฐกรรมการใช้พินทุประเพื่อเชื่อมพยัญชนะซ้อน เช่น ธมฺมํ จึงเริ่มเขียนภาษาบาลี-สันสกฤตด้วยอักษรไทยได้

จึงเกิดคำถามอีกแหละ ว่าควรประยุกต์การใช้พินทุกับอักษรนำและอักษรควบกล้ำในภาษาไทยทั่วไป แทนที่จะใช้เฉพาะเวลาเขียนบาลี-สันสกฤตหรือเขียนเสียงอ่านในพจนานุกรมดีหรือไม่? เช่น จะได้เขียน เพฺลารถ เพลาเย็น เคฺลิบเคฺลิ้ม พฺระพฺรหฺมา เตียวเหฺง (ในกรณีที่อ่านว่า "เตียวเง๋") เตียวเหง (ในกรณีที่อ่านว่า "เตียวเฮ๋ง") เสฺน่ห์ เสนา เสฺนาะ เป็นอาทิ ทำให้สามารถอ่านได้โดยไม่กำกวม

เขียน "เอย" เป็น "เอิย"

เวลาเรียนภาษาไทยตอนประถม เชื่อว่าทุกคนต้องเคยสะดุดกับรูปสระเออที่สะกดด้วยแม่เกย ทำไมแม่อื่น ๆ เขียนแบบมีสระอิ เช่น เบิก, เกิด, เติบ, เพิง, เกิน, เดิม (อาจจะมีบ้างบางคำที่เขียนในรูปพิเศษ คือ เทอญ เทอม ซึ่งเป็นข้อยกเว้น) แต่ทำไมแม่เกยจึงเขียนโดยไม่มีสระอิ เช่น เกย, เขย, เฉยเมย, เงย, เชย, เตย, เนย, เย้ย, เลย ซึ่งเวลาเจอครั้งแรกก่อนครูสอน เราคงอ่านเป็นสระเอมากกว่าจะเป็นสระเออ จนกระทั่งคุ้นชินแล้วนั่นแหละถึงจะอ่านเป็นสระเออ

ข้อนี้เพิ่งจะมาสังเกตจริง ๆ จัง ๆ ก็ตอนอ่านภาษาลาว หลายคนรู้จัก ເບຍລາວ เป็นอย่างดี เขาไม่ได้อ่านว่า เขยลาว แต่อ่านว่า เบียลาว (เบียร์ลาว) เพราะภาษาลาวยังรักษารูปเดิมของสระเอีย คือในภาษาไทยโบราณจะเขียนสระเอียแบบมีตัวสะกดด้วย ย ตัวเดียว เช่น ขยน อ่านว่า "เขียน" ลาวเขียนเป็น ຂຽນ ตัว ย ของลาวจึงยังคงหน้าที่ของสระเอียไว้เหมือนโบราณ และสระเออแม่เกยของลาวจะเขียนเหมือนแม่อื่น ๆ เช่น เคย จะเขียนเป็น ເຄີຍ ซึ่งคนไทยมักจะไปอ่านเป็นสระเอียสลับกัน

เมื่อไปตรวจสอบอักษรเขมร ก็เขียนในทำนองเดียวกับภาษาลาว เช่น រៀន ถอดเป็นอักษรไทยคือ เรยน = เรียน ; កើយ ถอดเป็นอักษรไทยคือ เกีย = เกย ซึ่งถ้าคิดดูดี ๆ แล้ว น่าจะเป็นภาษาไทยปัจจุบันนั่นแหละที่อุตริอ่าน-เขียนเพี้ยนไปเอง

ก็เลยตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ครับ ว่าทำไมเราจึงไม่เขียนสระเออลดรูปให้เหมือนกันหมดทุกแม่ เช่น เขียนเป็น เกิย, เขิย, เฉิยเมิย, เงิย, เชิย, เติย, เนิย, เยิ้ย, เลิย แล้วจะทำให้เราสามารถเขียนเสียงสระเอที่ใช้แม่เกยสะกดจริง ๆ ได้ด้วย ไม่ต้องเลี่ยงไปเขียนเป็น เมย์ หรือ เลย์ ฯลฯ

ป้ายกำกับ:

6 ความเห็น:

  • 26 กรกฎาคม 2553 เวลา 10:47 , Blogger CrazyHOrse แถลง…

    เห็นด้วยทั้งสามประเด็นนะครับ

    ประเด็นเรื่องเชิง ตัดได้โดยไม่มีผลกระทบใดๆ (ยกเว้นทางด้านจิตใจสำหรับบางคน)

    แต่เรื่องการประพินทุในอักษรนำกับใส่สระรูปอีในสระแม่เกยอันนี้ยุ่งหน่อย เพราะมีผลทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้

    ยกตัวอย่าง เตียวเหฺง ถ้าใช้ระบบใหม่แล้ว เป็นอันรู้กันว่าอ่านว่าเตียวเง๋แน่นอน แต่เตียวเหง จะอ่านว่ายังไงดี เพราะถ้าตีความว่าเอกสารนี้เขียนหลังการเปลี่ยนแปลง ก็สรุปได้ว่าอ่าน เฮ๋ง แน่นอน แต่ถ้าไม่รู้ว่าเอกสารนี้เขียนก่อนหรือหลังการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็สรุปไม่ได้ว่าควรอ่านเฮ๋งหรือไม่อยู่ดี กลายเป็นว่าเห็น เหง ที่ไหน ก็มึนครับ

    ปัญหาลักษณะนี้จะเกิดขึ้นกับ เกย ด้วย แต่คงไม่ต้องสาธยายมาก

    ฝากไว้ด้วยครับ

     
  • 26 กรกฎาคม 2553 เวลา 12:33 , Blogger Eig แถลง…

    น่าสนใจมากเลยครับ
    เห็นด้วยครับ
    แต่ว่า การจะเปลี่ยนการใช้ภาษานั้น ผมว่ายากเหมือนกันนะ

     
  • 26 กรกฎาคม 2553 เวลา 12:49 , Blogger Thep แถลง…

    คุณ CrazyHOrse, สำหรับสระเออแม่เกย ที่ผมเสนอคือเติมสระอินะครับ ไม่ใช่สระอี ถ้าเติมสระอีจะกลายเป็นสระเอียไป และถ้าจะเปลี่ยนจริง ก็คงแบ่งเป็นขั้น ๆ ครับ โดยเริ่มจากใช้รูป "เอย" และ "เอิย" ควบคู่กันก่อน แล้วสอนเด็กรุ่นใหม่ให้ใช้ "เอิย" จนรูป "เอย" ตกสมัยไป (เหมือนที่สมัย ร.๕ เราเคยสะกด "เป็น" ว่า "เปน" ปัจจุบันก็ตกสมัยไป) จากนั้น ถ้าจะใช้รูป "เอย" แทนสระเอแม่เกย ก็ค่อยว่ากันอีกทีหลังจากที่รูป "เอย" ที่เป็นสระเออตกสมัยไปแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าจะเปลี่ยนจริงคงใช้เวลานานพอควรครับ

    ส่วนประเด็นการประพินทุนั้น มีใช้มานานแล้ว เพียงแต่เสนอว่าน่าจะใช้ให้มากขึ้นเท่านั้น

    คุณ Eig, แน่นอนครับ เปลี่ยนยาก พิสูจน์ได้จากความล้มเหลวในการเปลี่ยนมาหลายครั้งแล้ว อย่าง ญ ฐ ตัดเชิง ก็เคยล้มเหลวมาแล้วอย่างน้อยสองครั้ง คือจากนโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. และจากความพยายามของจิตร ภูมิศักดิ์ (แต่ไม่ได้หมายความว่าผมสนับสนุนรัฐนิยมของจอมพล ป. นะครับ เหอ ๆ) ที่ผมบันทึกนี้ก็เป็นข้อสังเกตครับ ว่ามันน่าจะเป็นอีกอย่างมากกว่า ส่วนใครจะไปขยายต่อยังไงก็คงแล้วแต่ความเห็นของแต่ละท่านครับ

     
  • 26 กรกฎาคม 2553 เวลา 19:24 , Blogger HWattana แถลง…

    ติดตามมานาน สงสัยถึงคราวกลับไปศึกษาภาษาไทยอีกรอบ

     
  • 1 มีนาคม 2554 เวลา 12:26 , Blogger Thep แถลง…

    Update: เพิ่งอ่านพบในหนังสือ "เขมรใช้ ไทยยืม" ว่ารูปสระ เอย แบบไทยปัจจุบันนี้ อาจได้รับมาจากภาษาเขมรโบราณ เช่น คำว่า เขนย เขมรโบราณสะกดเป็น ខ្នេយ/เขฺนย แต่เขมรปัจจุบันสะกดเป็น ខ្នើយ/เขฺนีย กลายเป็นว่าภาษาไทยได้รักษาอักขรวิธีแบบเก่าของเขมรไว้ครับ

     
  • 1 มีนาคม 2554 เวลา 12:51 , Blogger Thep แถลง…

    อย่างไรก็ดี เมื่อตรวจสอบทางลาว (ธรรม, ไทยน้อย) และล้านนา (ตัวเมือง) พบว่ามีการใช้สระอีในสระเออแม่เกยอย่างสม่ำเสมอ แต่ผมก็ยังไม่ได้ตรวจสอบว่าลาวและล้านนาสมัยโบราณเขียนต่างจากปัจจุบันหรือไม่

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem