Theppitak's blog

My personal blog.

12 พฤศจิกายน 2550

On Descenders of Yo Ying and Tho Than

ใน blog เรื่องต้นกำเนิดอักษรไทย เมื่อเดือนที่แล้ว bact' ได้พูดถึงหนังสือ "ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย" ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งรวมบทความเกี่ยวกับนิรุกติศาสตร์และอักษรศาสตร์ภาษาไทยของจิตร โดยมีบทความเรื่องที่มาของเชิงในพยัญชนะ ญ ฐ ของไทย ตอนนี้ เขาส่งหนังสือมาให้ผมอ่านแล้ว ขอบคุณครับ bact'

ได้มาแล้ว ผมเปิดหาบทความที่ว่าทันที แต่หลังจากกราดอ่านคำนำบรรณาธิการเกี่ยวกับที่มาของบทความในหมวดอักษรวินิจฉัย และพบว่าไม่มีต้นฉบับบทความเรื่องเชิง ฐ ก็รู้สึกผิดหวังนิด ๆ ที่ไม่มีเนื้อหาที่ต้องการมากกว่าเรื่อง ญ เสียอีก

แต่เรื่อง ญ ที่อ่านไป แม้จะไม่ผิดจากที่คิดไว้มากนักเรื่องเหตุผลของการมีเชิงและการตัดเชิงเมื่อประสมสระล่าง แต่ก็ได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีเขียน ญ รูปเชิงในหนังสือไทยโบราณ ทำให้ย้อนกลับไปอ่านหนังสือจินดามณีได้เข้าใจยิ่งขึ้น

พูดถึงเชิงของ ญ ก่อน จิตร อธิบายว่าพยัญชนะเขมรมีสองส่วน คือส่วนรูปเต็มกับรูปเชิง ซึ่งรูปเต็มจะใช้เขียนบนบรรทัดปกติ ส่วนรูปเชิงจะใช้เขียน "สังโยค" ซ้อนใต้พยัญชนะเมื่อมีการควบกับพยัญชนะอื่นหรือเป็นตัวสะกด เช่น "รงฺค" เขียนเป็น "រង្គ" (ลงฟอนต์ภาษาเขมรเช่น ttf-khmeros ใน Debian/Ubuntu และใช้ Gecko รุ่น Gran Paradiso นะครับ Pango จะสามารถ render ภาษาเขมรได้) แต่สำหรับ ญ นั้น รูปร่างคือ ញ ซึ่งจะมีเส้นตวัดด้านล่างเป็นส่วนหนึ่งของพยัญชนะ จะต้องคงไว้เสมอ มิฉะนั้นจะสับสนกับพยัญชนะตัวอื่นได้ คือจะเหมือน "พา" (ពា) นอกจากนี้ รูป ญ ของอักษรขอมในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ยังคล้ายกับตัว ณ (ណ) อีกด้วย โดยต่างกันที่ ญ มีเส้นตวัดด้านล่าง (ขออภัยที่ขี้เกียจวาดอักษรขอมโบราณลง blog) เส้นตวัดใต้อักษร ญ ในภาษาเขมรจึงสำคัญมาก

  • คนไทยหลังสมัยพ่อขุนรามคำแหงจึงรับเอานิสัยการเขียนเส้นตวัดใต้ ญ นี้มาใช้ในภาษาไทย โดยเริ่มปรากฏในศิลาจารึกสมัยพญาฦๅไทยซึ่งเป็นราชนัดดาเป็นอย่างช้า โดยไม่ทราบว่าในสมัยพญาเลอไทยราชโอรสนั้น เขียนเส้นตวัดใต้ ญ หรือยัง เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานตัวเขียนของสมัยนั้นเลย
  • เส้นตวัดใต้ ญ นั้น เริ่มแรกคงตวัดจากขวามาซ้ายเหมือนเขมร แต่ต่อมาคนเขียนเขียนตามใจจนกลายเป็นซ้ายไปขวาแบบในปัจจุบัน
  • เหตุที่ไทยรับวิธีเขียนแบบเขมรมา ก็เข้าใจไม่ยาก ในเมื่ออักษรเขมรก็เป็นภาษาครูของอักษรไทยอยู่แล้ว อีกทั้งขณะนั้นเขมรมีอิทธิพลมากในภูมิภาคนี้ จารึกต่าง ๆ ยังต้องใช้ภาษาไทยปนเขมร เหมือน ๆ กับที่สมัยนี้ใช้ภาษาไทยปนอังกฤษกัน

แต่เมื่อจะสังโยคอักษรอื่นใต้อักษร ญ จะตัดเส้นตวัดล่างออกเพื่อไม่ให้รกรุงรัง เช่น "ปญฺจ" เขียนเป็น "បញ្ច" (ในอักษรขอมโบราณ จะเขียนอักษรเชิงโดยลากเส้นต่อเนื่องจากเส้นกลางของ ญ ที่ตัดเชิงแล้วลงมาด้วย)

  • ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกที่เวลาเราจะเขียนสระล่างใต้ ญ จึงต้องตัดเส้นตวัดออกก่อน เป็นธรรมเนียมที่รับมาจากภาษาเขมรนั่นเอง

ส่วนรูปเชิงของ ญ นั้น ในอักษรขอมโบราณจะตัดขีดหลังของ ញ ออก แล้วลากเส้นตวัดล่างให้สูงขึ้นมาทางซ้ายของอักษร ทำให้รูปร่างดูคล้ายเลข ๒ ไทยหางยาว โดยมีขยักด้านขวาอีกขยักหนึ่ง (ขี้เกียจวาดอีกแล้วครับท่าน) แต่นานเข้า ก็ค่อย ๆ หวัดจนเหลือแค่รูป ្ញ เช่นในคำว่า "ปฺราชฺญ" เขียนเป็น "ប្រាជ្ញ" (สังเกตว่ารูปเชิงของ ร จะตวัดขึ้นไปทางซ้าย และ ป (ប) เมื่อประสมกับสระอา (ា) จะเชื่อมรวมเป็น បា จากนั้น ตัว ជ ถัดมาคือ ช และขีดตวัดด้านล่างคือรูปเชิงของ ญ)

  • ตรงนี้ มีอิทธิพลต่อภาษาเขียนของไทยอยู่ระยะหนึ่ง โดยในการเขียนคำที่มี ญ การันต์ เช่น ปราชญ, สรรเพชญ ในสมัยก่อน จะใช้ขีดตวัดด้านล่างจากขวามาซ้ายแทน ญ เช่น ปราช្ញ สรรเพช្ញ (ขยับเส้นตวัดไปใต้ ช นะครับ) จนกระทั่งในบางครั้ง จะใช้ไปยาลน้อย (ฯ) แทนเส้นตวัด โดยไปเขียนไว้ด้านล่าง ช (ดูตัวอย่างได้ในหนังสือจินดามณี) คนสมัยหลังบางคนไม่เข้าใจการใช้ไปยาลน้อยแบบพิลึกนี้ จึงตัดไปยาลน้อยออกเสียดื้อ ๆ กลายเป็นตัวเขียนที่ขาด ญ ตรงท้ายไป เช่น ปราช สรรเพช ซึ่งผิด (ตัวอย่างเช่น มูลบทบรรพกิจของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) โดยมีตัวอย่างในภาคสังโยคภิธานเป็นอย่างน้อย)

สังเกตว่า เส้นตวัดล่างของ ញ นั้น เป็นส่วนหนึ่งของตัวอักษร เป็นคนละอย่างกับ ្ញ ที่เป็นรูปเชิงของ ญ

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อ ญ สังโยคกับ ญ ด้วยกัน เพราะเมื่อตัดเส้นตวัดใต้ ញ แล้วเติมรูปเชิง ្ញ ก็จะคล้าย ញ เดิมมาก วิธีแก้ของขอมโบราณมีหลายวิธีตามยุคสมัย เช่น สร้างอักษร ligature ใหม่แทน ญญ สังโยคเสีย (ขี้เกียจวาดอีก) บ้างก็ใช้วัญชการ (คล้ายทัณฑฆาตของไทย) กำกับ บ้างก็ตัดเส้นตวัดแล้วเติมเชิงเสียดื้อ ๆ ทำให้บางทีเข้าใจผิดว่าเป็น ญ ตัวเดียว แต่ภาษาเขมรปัจจุบันใช้รูปเชิงของ ญ พิเศษ เช่นในคำว่า "อญฺญ" เขียนเป็น "អញ្ញ" ซึ่งจะเห็นว่าเชิง ญ จะใช้รูปเหมือนรูปเต็ม

  • ตรงนี้ มีอิทธิพลต่อภาษาเขียนของไทยยุคหนึ่งเหมือนกัน คือรูปของเขมรที่ตัดเส้นตวัดแล้วเติมเชิงดื้อ ๆ ทำให้สับสนกับรูป ញ เต็ม โดยเข้าใจว่าใช้ ญ ตัวเดียวแทน ญญ ก็ได้ จึงมีรูปเขียนอย่าง "สญัา" แทน "สัญญา" อยู่พักหนึ่ง (อาจจะโดยจงใจใช้หลักตัดเส้นตวัดแล้วเติมเชิงก็ได้)

ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่จิตรค้นมาได้ ว่ารูป ญ ที่มีเส้นตวัดล่างหรือเชิง (ซึ่งความจริงเป็นคนละอย่าง แต่มีการใช้ปะปนกัน) มีที่ใช้ตรงไหนบ้างในภาษาไทย แต่ในปัจจุบัน ไม่เหลือการใช้เส้นตวัดในฐานะอักษรรูปเชิง (เช่น ในคำว่า ปราช្ញ สรรเพช្ញ สญัา) อีกแล้ว คงเหลือแต่เส้นตวัดล่างในฐานะส่วนหนึ่งของตัวอักษรเท่านั้น ซึ่งจิตรเห็นว่ารกรุงรัง แถมต้องคอยตัดเมื่อประสมกับสระล่าง ทำให้เกิดความลักลั่นอีกด้วย จิตรจึงเขียน ญ แบบไม่มีเส้นตวัดเสมอ รวมทั้ง ฐ แบบไม่มีเชิงด้วย

แต่อย่างที่บอกตอนต้น เรื่อง ญ นี้ยังพออยู่ในความคาดเดาของผมได้อยู่ เมื่อเทียบเคียงกับรูปอักษรเขมร แต่ ฐ ที่ใช้รูปเต็ม ឋ กับรูปเชิง ្ឋ ของอักษรเขมรมาซ้อนกัน โดยมีความหมายเหมือน ฐฐ นี่สิ น่าสงสัยมาก ๆ ว่ามีเหตุผลอะไร แต่น่าเสียดายที่ไม่มีใครมีต้นฉบับที่จิตรเขียนไว้ จึงไม่รู้ความคิดเห็นของจิตรเกี่ยวกับเรื่องนี้

ป้ายกำกับ:

7 ความเห็น:

  • 13 พฤศจิกายน 2550 เวลา 15:39 , Blogger bact' แถลง…

    ผมใช้ Ubuntu 7.10
    ลง ttf-khmeros
    ดูตัวเขมรใน Firefox 2.0.0.8 ได้นะครับ

    Mozilla/5.0 (X11; U; Linux i686; en-US; rv:1.8.1.8) Gecko/20071022 Ubuntu/7.10 (gutsy) Firefox/2.0.0.8

    (แต่ไม่รู้ว่ามันเรนเดอร์ถูกต้องรึเปล่า)

     
  • 13 พฤศจิกายน 2550 เวลา 15:46 , Blogger bact' แถลง…

    " ปราช្ញ สรรเพช្ញ (ขยับเส้นตวัดไปใต้ ช นะครับ) "

    แบบนี้ ถ้าจะให้ renderer มันขยับให้
    จะมีผลกระทบอะไรไหมครับ ?
    คือการผสมอักษรข้ามภาษานี่ มันเป็นเรื่องที่ควรอนุญาตให้ทำหรือไม่ครับ ?

     
  • 15 พฤศจิกายน 2550 เวลา 13:13 , Blogger Thep แถลง…

    คง render ถูกต้องละครับ พอดีตอนทดสอบผมลืมว่าไม่ได้ปิด epiphany แล้วเปิดใหม่หลังลงฟอนต์ :P

    เรื่อง render ข้ามภาษานี่ ผมไม่แน่ใจเหมือนกันครับ ว่าง ๆ ต้องหา editor ที่ยอมให้ edit แบบแปลก ๆ มาลองดู

     
  • 15 พฤศจิกายน 2550 เวลา 13:22 , Blogger Thep แถลง…

    ข้อความข้างบนนี่ ก็มีแต่อักขระที่จำเป็นแล้วแหละครับ ไม่มีตัวไหนเกินมาอีกแล้ว คงอยู่ที่ rendering engine ละ ว่าจะยอมผสมหรือเปล่า

     
  • 19 พฤศจิกายน 2550 เวลา 12:41 , Blogger CrazyHOrse แถลง…

    ถ้าพอมีเวลาเหลือ ลองแวะไปที่ reurnthai.com บ้างนะครับ

    มีคนคอเดียวกันรอคุยอยู่หลายคน

     
  • 19 พฤศจิกายน 2550 เวลา 21:21 , Blogger Thep แถลง…

    แค่อ่านก็ตาแห้งแล้วครับ (พอดีป่วยตาแห้งยังไม่หายดี เลยไม่ใช่ตาแฉะ)

    ดูแต่ละท่าน ข้อมูลแน่นเอี้ยด ผมตามเก็บข้อมูลอย่างเดียวเลยครับ :)

     
  • 30 ธันวาคม 2551 เวลา 19:27 , Blogger bact' แถลง…

    เจอลิงก์ที่เกี่ยวข้องที่ pantip.com
    เลยเอามาฝากครับ
    มีแสกนหน้าหนังสือศัพทสันนิษฐานมาลงให้ด้วย

    http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/01/K5040700/K5040700.html

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem