Thai Script Origin
เพิ่งได้หยิบหนังสือ "อักษรไทยมาจากไหน?" ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ซื้อไว้นานแล้วขึ้นมาอ่านระหว่างเดินทาง กลายเป็นข้อมูลใหม่ (สำหรับผม แต่คงไม่ใหม่สำหรับวงการ) เกี่ยวกับกำเนิดอักษรไทย
ข้อมูลทั่วไปที่ทราบต่อ ๆ กันมาคือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยใน พ.ศ. ๑๘๒๖ โดยดัดแปลงมาจากอักษรขอมและมอญ จากนั้นจึงวิวัฒน์ต่อมาในสมัยอยุธยา โดยได้รับอิทธิพลจากภาษาเขมรมาเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นอักขรวิธีในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลนี้ มีความจริงอยู่เพียงบางส่วนเท่านั้น ถ้าว่าตามหลักฐานที่มีผู้ศึกษาใหม่
คงไม่ต้องพูดถึงความเข้าใจผิดของนักเรียนไทยบางส่วน ว่า "อาณาจักรสุโขทัย" เป็นอาณาจักรแห่งแรกของไทย พอหมดสุโขทัยจึงย้ายมาตั้งเมืองหลวงที่อยุธยาทำนองเดียวกับการย้ายกรุงครั้งหลัง ๆ เรื่องนี้หลายคนคงทราบอยู่ว่า สมัยนั้นยังไม่มีการตั้งอาณาจักร แต่มีรัฐอิสระคือสุโขทัยกับอยุธยาอยู่ร่วมสมัยกัน จนกระทั่งสุโขทัยถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา จึงกลายเป็นอาณาจักรแรกของไทย ที่รวมรัฐต่าง ๆ เข้าด้วยกัน คืออาณาจักรอยุธยา มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา
แต่เรื่องมันซับซ้อนกว่านั้น เริ่มจากคำว่า "ขอม" ตามความเห็นของ จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ได้หมายถึงชนชาติหรือเชื้อชาติ แต่หมายถึงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่รับวัฒนธรรมฮินดูจากชมพูทวีปแล้วภายหลังเปลี่ยนเป็นพุทธมหายาน (ต่างกับชนชาติไทย-ลาวที่นับถือผีก่อนเปลี่ยนมารับพุทธเถรวาทจากชมพูทวีป) ใช้อักษรขอมในการจดจารึก ซึ่งคนกลุ่มนี้รวมถึงชนชาติเขมรและรัฐเครือญาติทั้งหมด รวมทั้งละโว้ ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นอโยธยาศรีรามเทพนครด้วย คำว่า "ขอม" ถูกใช้เรียกกลุ่มคนโดยรวม คล้ายกับการใช้คำว่า "แขก" เรียกคนอิสลาม/ซิกข์/ฮินดูโดยรวม โดยไม่แยกว่าเป็นคนอินเดีย มลายู ชวา หรือตะวันออกกลาง
ส่วนกลุ่มคนที่เรียกว่า "ไท" หรือ "ไทย" รวมทั้ง "ลาว" นั้น เดิมมีศูนย์กลางอยู่ที่ลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีการอพยพโยกย้ายเข้าสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง จนเข้าครอบครองละโว้ในที่สุด พร้อมกับมีรัฐอื่น ๆ ของคนไทยเกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน คือสุพรรณภูมิ สุโขทัย และนครศรีธรรมราช (จะเห็นว่า เมื่อรวมกันเป็นอาณาจักรแล้ว จึงมีการผลัดเปลี่ยนขั้วอำนาจไปมาระหว่างราชวงศ์เหล่านี้ รวมทั้งราชวงศ์อู่ทองของละโว้เองด้วย) ต่อมา ละโว้เกิดกาฬโรคระบาด พระเจ้าอู่ทองจึงย้ายจากลพบุรีมาตั้งกรุงศรีอยุธยาที่บริเวณเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ตรงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนทางฝั่งตะวันตกนั้น ยังเป็นเขตของรัฐสุพรรณภูมิ ดังนั้น ปี พ.ศ. ๑๘๙๓ ที่ตั้งกรุงศรีอยุธยานั้น จึงไม่ใช่จุดเริ่มต้นของคนไทยในรัฐละโว้ แต่มีหลักแหล่งในละโว้อยู่ก่อนหน้านั้นนานแล้ว
ช่วงก่อนจะตั้งกรุงศรีอยุธยานั้น คนไทยในละโว้ได้รับเอาอักษรขอมมาเขียนภาษาไทย แล้วต่อมาก็มีการดัดแปลงเพิ่มเติม เพื่อให้เขียนภาษาไทยได้ครบเสียงยิ่งขึ้น จนกลายเป็นอักษรไทยในที่สุด โดยพบหลักฐานเป็นจารึกสมุดข่อยที่ระบุเวลาที่เขียนก่อนพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาร่วมร้อยกว่าปี และก่อนที่พ่อขุนรามคำแหงจะจารึกลายสือไทยในศิลาจารึกด้วย คือกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ (ตอนท้าย) คำนวณปีที่จารึกได้เป็น พ.ศ. ๑๗๗๘ ซึ่งก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาถึงร้อยกว่าปี และก่อนศิลาจารึกพ่อขุนรามฯ ถึงห้าสิบปี และมีหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งคือโองการแช่งน้ำ ซึ่งไม่ทราบปีที่แต่งแน่นอน ทราบแต่ว่ามีใช้แล้วในขณะตั้งกรุงศรีอยุธยา ผ่านการคัดลอกต่อ ๆ กันมาหลายทอด และธรรมเนียมแช่งน้ำนี้ สันนิษฐานว่าได้รับแบบอย่างมาจากเขมรที่มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่พระนคร (นครธม)
ที่ต้องอึ้งก็คือ ภาพสมุดข่อยที่หนังสือเอามาลงเป็นภาพประกอบนั้น แสดงลักษณะการเขียนเหมือนกับอักขรวิธีภาษาไทยในสมัยนี้แทบไม่มีผิดเพี้ยน จะมีแตกต่างก็แค่รายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น ส่วนลักษณะของภาษาที่ใช้นั้น เป็นภาษาแบบเดียวกับไทย-ลาวลุ่มน้ำโขงแล้ว แทนที่จะใช้ภาษาบาลี-สันสกฤต-เขมรเป็นหลักตามธรรมเนียมในคัมภีร์ที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้
ถ้ากะประมาณว่า สมุดข่อยนั้นอยู่ไม่ทนเหมือนศิลาจารึก จึงหลงเหลือมาเป็นหลักฐานน้อย และอักขรวิธีที่อยู่ตัวแล้วในตอนนั้น แสดงว่าอักษรต้องผ่านการวิวัฒน์ก่อนหน้านั้นอีกเป็นเวลานานมาแล้ว!
แล้วลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงล่ะ? ก็น่าจะยังนับเป็นประดิษฐกรรมใหม่อยู่ครับ โดยมีบันทึกว่า พระร่วงเจ้าแห่งสุโขทัยได้มาเรียนวิชาจากครูที่ละโว้ แล้วคงได้ทรงศึกษาอักษรไทยไปจากละโว้ด้วย จึงทรงนำกลับไปปรับปรุงวิธีเขียนเสียใหม่ กลายเป็นลายสือไทย โดยได้แบบอย่างมาจาก "ขอม" (ซึ่งเป็นคนไทย) ที่ละโว้ และผสมลักษณะบางอย่างของอักษรมอญเข้าไปด้วย แล้วเพิ่มแนวคิดใหม่ของการเขียนทุกอย่างในบรรทัดเดียวยกเว้นวรรณยุกต์ กลายเป็นอักษรแรกของรัฐที่เรียกว่า "ไทย" อย่างเต็มตัว จากนั้น ลายสือไทยก็ได้แพร่หลายเข้าไปในล้านนา ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนกลายเป็นอักษรฝักขาม และแพร่เข้าไปที่ล้านช้าง กลายเป็นอักษรไทน้อย
เพียงแต่ว่า ในอาณาจักรอยุธยานั้น ลายสือไทยของพ่อขุนรามคงไม่ฮิต ก็เลยถูกเลิกใช้ไป แล้วก็ใช้อักษรไทยอยุธยากันต่อไป (นึกถึงความพยายามหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสร้าง "อักขรวิธีแบบใหม่" ขึ้น แต่สุดท้ายก็ไม่ฮิตเหมือนกัน)
ถ้าว่าตามหลักฐานเหล่านี้ อักษรไทยก็มีอายุมากกว่า ๗๗๐ ปีขึ้นไป (ไม่ใช่ ๗๒๔ ปีตามหลักฐานเดิม) แต่ยังไม่มีหลักฐานที่เก่าพอจะสืบต่อไปได้ ว่าเริ่มมีเมื่อไร
ประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่เอาไว้ท่องจำนะเออ ซิบอกให้
ป้ายกำกับ: book
13 ความเห็น:
ณ 7 ตุลาคม 2550 เวลา 13:13 , ไม่ระบุชื่อ แถลง…
กรณีทั่วไป ประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาท่องจำแถมเล่นสีด้วย กล่าวคือสายใครสายมันและเชื่อตามอาจารย์ที่เคารพ
ณ 7 ตุลาคม 2550 เวลา 15:08 , PoomK แถลง…
แต่ถ้าจะสอบให้ผ่าน ต้องท่องจำนะครับ แถมต้องเขียนอย่างที่อาจารย์ให้ท่องด้วย
ณ 8 ตุลาคม 2550 เวลา 13:14 , bact' แถลง…
บังเอิญจริง
เมื่อวันศุกร์ ได้มีโอกาสพลิก ๆ "ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย" ของจิตร ในร้านหนังสือ
อ่านบทที่เขาวิเคราะห์ว่า ทำไม ญ กับ ฐ ถึงมีเชิง
สนุกดี
ไล่ไปจนถึงที่มา คืออักษรขอม เลย
ณ 8 ตุลาคม 2550 เวลา 13:16 , bact' แถลง…
ตอนนี้ใครสนใจงานของจิตร เขามีเอามารวบรวมพิมพ์ใหม่แล้วนะครับ
บางเล่มเป็นการรวบรวมและเพิ่มเติมบทใหม่จากที่เคยพิมพ์ไปแล้วด้วย
http://www.sameskybooks.org/jit.html
ณ 8 ตุลาคม 2550 เวลา 14:29 , Thep แถลง…
bact',
เล่าสู่กันฟังมั่งสิ ที่อ่านมาน่ะ
เคยเห็นหนังสือของจิตรที่ร้านหนังสือเหมือนกัน ตั้งแต่สมัยเรียน แต่ตอนนั้นพยายามรักษาเงินในกระเป๋าไว้ซื้อหนังสือคอมพ์ (เจอ taocp ของปรมาจารย์ Knuth ฉบับลดราคาในร้านเดียวกัน) เลยไม่ได้อ่านเลย
มีรวมพิมพ์ใหม่แบบนี้ เดี๋ยวไปหามาอ่านมั่ง :)
ณ 8 ตุลาคม 2550 เวลา 20:01 , bact' แถลง…
ผมจำรายละเอียดไม่ได้นะครับ
แต่ประมาณว่า ในการเขียนแบบขอมนั้น จะมีการเขียนตัวอักษรซ้อนทับกัน (มีตัวนึงอยู่บนหัวของอีกตัวนึง) เรียกว่า "สังโยค"
ประมาณว่า
ญ
ญ
แต่การเขียนแบบนี้สำหรับบางตัวอักษรที่เส้นสายเยอะ ๆ มันไม่สวย ยุ่ง อ่านยาก
เขาเลยลดรูปของตัวอักษรที่อยู่ข้างใต้ลงครับ เหลือไว้แค่เชิง(ตีน)ของมัน
(ในตัวอักษรจีนก็มีคล้าย ๆ นี้ แต่ซับซ้อนกว่า มีทั้งรวมจากข้างหน้าข้างหลังข้างบน ฯลฯ)
คือที่เราเห็นว่ามีตัวเดียวเนี่ย จริง ๆ เป็นสองตัวซ้อนกันอยู่
ตอนพ่อขุนรามรับตัวขอมมาใช้ ท่านเห็นว่าเชิงนี่มันยุ่งยาก ไม่มีที่ใช้ในระบบการเขียนของไทย/คำไทย
ก็เลยตัดออก เหลือแค่ ญ แบบไม่มีเชิง (เหมือน ญ ใน ญู)
แต่พอสิ้นพ่อขุมราม ภาษาไทยก็ได้รับอิทธิพลขอมเข้ามามาก คนรู้หนังสือก็นิยมเขียนแบบขอม ก็เลยเติมเชิงเข้ามาอีก
แต่ก็เป็นการเติมเข้ามาในรูปอักษรเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อระบบเขียนอื่น ๆ (ยกเว้นการสร้างความยุ่งยากว่า เมื่อไหร่จะมีเชิงหรือไม่มีเชิง ญ ญู)
ประมาณนี้น่ะครับ
จำได้ไม่ค่อยปะติปะต่อเท่าไหร่
ณ 8 ตุลาคม 2550 เวลา 20:45 , Thep แถลง…
ครับ คล้ายกับที่ได้อ่านมา และที่เคย blog ถึง
ตัว ญ ของเขมร รูปเต็มจะมีเส้นตวัดข้างล่าง (จากขวามาซ้าย) ด้วย แต่พอผสมกับตัวเชิง ก็จะตัดเส้นตวัดออก เหมือนกับการเขียน ญ ของเราทุกวันนี้
ตัว ฐ ของเขมร รูปเต็มรูปคล้าย ฐ ไม่มีเชิง ส่วนรูปเชิง จะเหมือนเชิง ฐ ของเรา พอเขียน ฐฐ ในภาษาเขมร ก็จะเอาตัวเต็มกับเชิงมาต่อกัน กลายเป็น ฐ ของเราทุกวันนี้
ที่อยากรู้ก็คือ ไปไงมาไงถึงได้เพิ่มเชิงเข้าไป อย่าง ญ นี่พอเข้าใจได้ แต่ ฐ ที่เอา ฐ เขมรสองตัวมาซ้อนกันนี่ งงเหมือนกัน
ปล. ถ้าว่าตามที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ว่า ก็หมายความว่า ไม่ใช่ว่าคนรุ่นหลังสมัยพ่อขุนรามฯ เพิ่มเชิงตามเขมรเข้าไป ต้องบอกว่าการตัดเชิงของพ่อขุนรามไม่ถูกใช้ในยุคต่อมาต่างหาก (เพราะมี ญ ฐ แบบมีเชิงอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว)
ณ 9 ตุลาคม 2550 เวลา 14:38 , bact' แถลง…
" ไม่ใช่ว่าคนรุ่นหลังสมัยพ่อขุนรามฯ เพิ่มเชิงตามเขมรเข้าไป ต้องบอกว่าการตัดเชิงของพ่อขุนรามไม่ถูกใช้ในยุคต่อมาต่างหาก "
ใช่ครับ ในหนังสือของจิตรก็เขียนทำนองนี้
คือวิธีการเขียนแบบพ่อขุนราม เสื่อมความนิยมลง หลังจากสิ้นท่าน
ประกอบกับอิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรก็เพิ่มมากขึ้นในชนชั้นสูง/หมู่ผู้รู้หนังสือ (ทำนองเห่อฝรั่งในสมัยไม่นานมานี้)
การเขียนแบบพ่อขุนราม ก็เลยเลือนไป ทั้งเรื่องตัดเชิง เรื่องเขียนทุกอย่างในบรรทัดเดียว
ณ 11 ตุลาคม 2550 เวลา 22:16 , bact' แถลง…
อ้างตาม ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2547
ฉบับ "จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา"
ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม
ก็มีความพยายามในการตัดเชิงของ ญ ออกไปอีกครั้งครับ
ซึ่งรวมอยู่ในความพยายาม "ปฏิรูป" การสะกดคำไทยในสมัยนั้น (เช่น การยกเลิกอักษรไทยหลายตัว การเปลี่ยนตัวสะกดให้ตรงตามเสียงสำหรับคำที่ไม่ได้มาจากบาลีสันสกฤต ฯลฯ)
ผมได้หนังสือ "ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย" ของจิตรมาแล้ว
เดี๋ยวส่งไปให้พี่เทพดูดีกว่า ผมอ่านไปก็ไม่แตกเท่าพี่ แล้วให้พี่เทพเขียนเล่าให้ฟังในบล็อกดีกว่า :D
ณ 12 ตุลาคม 2550 เวลา 17:02 , satit แถลง…
I agree with your ideas. If you notice the Devanagri alphabets (used in Sanskrit and Hindee) you will see the similarity with Thai alphabets.
I have another questions. We have got many words from China but why don't we use Chinese letters?
Sorry I can't type in Thai, maybe some technical problem of this page.
ณ 12 ตุลาคม 2550 เวลา 18:26 , Thep แถลง…
satit,
เนื้อหาส่วนที่ไม่ได้เขียนถึงใน blog ข้างต้นก็คือ การพบจารึกอักษรปัลลวะในศิลาจารึกในที่ต่าง ๆ ของไทย ซึ่งคาดว่าเข้ามาพร้อมกับศาสนาพุทธ ตรงนี้น่าจะเป็นอักษรอินเดียที่เข้ามามีอิทธิพลในแถบทวารวดี
อักษรปัลลวะ เป็นอักษรของอินเดียใต้ ใช้จารึกภาษาทมิฬ ซึ่งเป็นภาษาตระกูลฑราวิฑ (Dravidian) ภาษาหนึ่ง เข้าสู่ดินแดนทวารวดีในรูปของคาถาบาลี (คาถา เย ธัมมา) และพุทธศาสนนิทานต่าง ๆ
จากนั้น ก็มีอักษรทวารวดีเกิดขึ้น เป็นจุดเปลี่ยนจากอักษรปัลลวะ ก่อนจะพัฒนามาเป็นอักษรรุ่นถัดมาในทวารวดี คืออักษรขอมโบราณ อักษรมอญโบราณ และอักษรกวิ
ซึ่งสายหนึ่งของภาษาเขียนนี้ คืออักษรขอมนี้เอง ที่เป็นที่มาของอักษรไทย เพียงแต่ว่า ยังไม่สามารถสืบได้ ว่าเริ่มมีอักษรไทยเกิดขึ้นจากอักษรขอมตั้งแต่เมื่อไร
ทำไมเราจึงไม่ใช้ภาษาจีนเขียน ทั้ง ๆ ที่ก็ใกล้ชิดกับจีน? คงเป็นเพราะเราในสมัยนั้นยังไม่สนใจที่จะจดจารึก (อย่างที่จีนเรียกว่าเป็นพวก "ฮวน") กระมัง? ผมเดาว่าอย่างนั้น ดังจะเห็นว่าการศึกษาเรื่องราวของสุวรรณภูมิยุคโบราณ จะต้องอาศัยบันทึกของจีนเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญ
การที่ชาวสุวรรณภูมิเริ่มสนใจตัวอักษร ก็มาจากการเผยแผ่พุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าอโศก โดยพระเถระที่เข้ามา ได้มาสอนชาวเมืองโดยนำวรรณคดีพุทธมาด้วย แล้วเริ่มจารึกลงในแหล่งต่าง ๆ
ณ 14 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 11:42 , ไม่ระบุชื่อ แถลง…
อ่านไปทำให้นึกถึงภาษาวิบัติ พอถึงเวลานึงมันอาจจะกลายมาเป็นเรื่องถูกก็ได้ ภาษามันไม่ตายจริงๆ
ณ 14 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 13:33 , Thep แถลง…
ครับ แต่ภาษาก็มีภูมิต้านทานของมันอยู่ ที่ทำให้ไม่เพี้ยนเร็วเกินไป สิ่งที่จะฮิตได้ จะต้องผ่านแรงทดสอบพอสมควรจากสังคม (ตัวอย่างที่สอบไม่ผ่านก็เช่น ลายสือไทยของพ่อขุนราม อักขรวิธีใหม่ของ ร.๖ และการปฏิวัติตัวหนังสือสมัยจอมพล ป.)
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก