Theppitak's blog

My personal blog.

28 ตุลาคม 2548

Phnom Penh Report

ผ่านไปแล้ว กับงาน Localisation workshop ที่พนมเปญ ว่าจะเขียน blog ตั้งแต่กลับมาถึง แต่เขียนไม่เสร็จ เลยอู้มานั่งเขียนต่อวันนี้

บรรยากาศของเมือง

เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าไปในเขตกัมพูชา พนมเปญเมืองหลวง ถึงจะบรรยากาศคล้ายต่างจังหวัดในบ้านเรา แต่ความเจริญก็อยู่ในระดับหัวเมืองใหญ่ สาธารณูปโภค เทคโนโลยีมีค่อนข้างครบ วัดวาอารามก็ดูมีการดูแลรักษาเป็นอย่างดี ที่นี่ขับรถเลนขวาเหมือนประเทศในอินโดจีนอื่นๆ (ลาว เวียดนาม พม่า ยกเว้น ไทย) แต่บนท้องถนนจะมีทั้งรถที่นั่งขับขวาและซ้ายปะปนกัน แล้วก็จะมีมอเตอร์ไซค์เป็นฝูงเลย

ถ้าดูแผนที่กัมพูชา จะเห็นทะเลสาบใหญ่อยู่ตรงกลาง มีแม่น้ำเชื่อมต่อจากทะเลสาบลงทะเล โดยมีแม่น้ำโขงมาบรรจบก่อนลงทะเลด้วย ตรงจุดที่แม่น้ำมาบรรจบกันนี้ ทำให้มีทางแยกของน้ำออกไปสี่ทาง คือของแม่น้ำโขง และของแม่น้ำจากทะเลสาบ อย่างละสองทาง ขาเข้ากับขาออก ตรงจุดนี้ จะมีแม่น้ำสายหนึ่ง ที่เป็นข้อยกเว้นของคำว่า "สายน้ำไหลไปแล้วไม่หวนคืน" คือแม่น้ำที่เชื่อมมาจากทะเลสาบนั้น จะไหลลงทะเลในหน้าน้ำ ส่วนในหน้าแล้ง น้ำในทะเลสาบมีน้อย น้ำจากแม่น้ำโขงจะไหลกลับเข้าไปทะเลสาบ ซึ่งเจ้าบ้านเล่าให้ฟังว่า ในหน้าน้ำที่น้ำไหลมาจากทะเลสาบนั้น จะมีปลาว่ายออกมาด้วยมากมาย และชาวประมงจะได้หาปลากัน ก็ตรงแถวนั้นแหละ ที่โรงแรมที่จัดประชุมตั้งอยู่

อย่างไรก็ดี สิ่งแรกที่ทำให้รู้สึกแปลกหูแปลกตาก็คือ ที่นั่นดวงอาทิตย์จะขึ้นและตกเร็วกว่าบ้านเรา ทั้งนี้เพราเขาอยู่ค่อนออกมาทางตะวันออกของเส้น 105 องศาตะวันออก ที่เราใช้เป็นจุดอ้างอิงเขตเวลาอินโดจีนนั่นเอง ที่มันทำให้แปลกก็คือ ผมตื่นขึ้นมาตอนฟ้าสว่าง แต่นาฬิกายังเพิ่งบอกเวลาตีห้าครึ่ง พอหกโมงนี่แดดส่องเต็มที่เลย ส่วนตอนเย็น หกโมงเย็นนี่ก็มืดจนรถต้องเปิดไฟกันแล้ว

ภาษาเขมร ก็อย่างที่รู้กัน ว่ามีคำหลายคำที่เป็นรากศัพท์ให้กับภาษาไทย จึงมีคำที่ใช้เหมือนไทยเยอะพอควร โดยเฉพาะคำที่มาจากบาลี-สันสกฤตนี่ ตัวสะกดถอดออกมาแล้วเหมือนกันเป๊ะ เพียงแต่อ่านออกเสียงไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง

ตัวหนังสือเขมร จะมีสองแบบ คือตัวอักษรมูล กับอักษรเชรียง อักษรมูลจะตัวอ้วนๆ ใช้เขียนหัวเรื่อง หรือเขียนป้ายต่างๆ ส่วนอักษรเชรียง เป็นตัวตรง ใช้เขียนหนังสือทั่วไป อักขรวิธีเขมรซับซ้อนมาก มีการเขียนพยัญชนะควบซ้อนใต้บรรทัด โดยเปลี่ยนรูปเขียนเป็นตัวเชิง (ซึ่งรูปแบบนี้ พบได้ในภาษามอญ พม่า และอักษรธรรมล้านนาด้วยเช่นกัน) แบ่งพยัญชนะออกเป็นโฆษะกับอโฆษะตามบาลี-สันสกฤต (เหมือนไตรยางศ์ของไทย เพียงแต่ไทยแบ่งพยัญชนะอโฆษะเป็นอักษรกลางกับสูงอีกที) ซึ่งมีเสียงสระต่างกัน (ออ กับ โอ) พอผสมกับสระ ก็กลายเป็นเสียงสระที่ต่างกัน (ในขณะที่ไตรยางศ์ของไทย ไม่มีความต่างเรื่องสระ แต่ไปต่างที่เสียงวรรณยุกต์)

ฟังภาษาเขมร จะมีเสียงรัวเยอะมาก และ ร เรือ ก็กระดกลิ้นกันชัดถ้อยชัดคำ ซึ่งถ้าจะว่าไป เท่าที่ไปฟังภาษาชาติต่างๆ มา ไม่ว่าจะภาษาแขก ภาษาสเปน อิตาลี เขามีเสียง ร กันทั้งนั้น แถมขยันออกกันชัดมากๆ เห็นจะมีแต่พี่ไทยเรานี่แหละ ที่ผ่อนคลายกฎข้อนี้กันมาก (อาจเป็นเพราะ ภาษาถิ่นหลายถิ่นของไทยไม่มีเสียง ร ด้วยแหละ)

บรรยากาศการประชุม

  • ในบรรดาประเทศแถบนี้ เวียดนามดูจะก้าวไปได้ไกลที่สุดในเรื่อง L10N เพราะเขาใช้ Latin script เลยไม่ติดปัญหาเรื่อง input/output สามารถลุยงานแปลได้ทันที แต่ก็นับว่า เขาลุยแปลไปเยอะมากๆ ไม่ใช่แค่เมนูหรือ error message แต่รวมไปถึงเอกสารต่างๆ ด้วย
  • กัมพูชาโดดเด่นมากในงานนี้ ในแง่ความเอาจริงเอาจัง คือมีแผนการทำงานชัดเจนเป็นขั้นๆ และหน่วยงานวิจัย (NiDA) ก็ผลักดันเต็มที่ ด้วยความที่เข้าร่วมในช่วงหลังจากที่ FOSS ต่างๆ ค่อนข้างพร้อมแล้ว เขาเลยกำหนดกลยุทธ์แบบโหนกระแสอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มจากทำ FOSS บน Windows ให้ใช้ภาษาเขมรได้ก่อน กะว่าพอเริ่มมีผู้ใช้แล้ว จึงค่อยมาทำภาษาเขมรบนลินุกซ์ (ซึ่งเขาเลือก KDE เป็นเดสก์ท็อปหลัก) ความคืบหน้าล่าสุด คือแปล OpenOffice.org เป็นภาษาเขมรเสร็จแล้ว รวมทั้ง Firefox และ Thunderbird ด้วย ซึ่งสองตัวหลัง มีบาง patch ที่ Mozilla ไม่รับ และด้วยเงื่อนไขเรื่องเครื่องหมายการค้าของ Mozilla ทำให้ต้องออกรุ่นท้องถิ่นในชื่อที่ต่างออกไป คือ "เมขลา" และ "มยุรา" ตามลำดับ
  • พม่า ก็ตื่นตัวเรื่องลินุกซ์ มีการตั้ง LUG และติดตามงาน L10N ภาษาพม่าของหน่วยงานต่างๆ เช่น m17n.org, SIL อย่างใกล้ชิด เขาเล่าว่า ภาษาพม่า สามารถ render ได้ทั้งใน graphite และ pango เรียบร้อยแล้ว ส่วน input method ก็ใช้ scim นอกจากนี้ ยังมีการตั้ง คณะทำงานยูนิโค้ด ซึ่งกำลังขอเพิ่มภาษาชนกลุ่มน้อยในพม่า รวมทั้งตรวจสอบมาตรฐานยูนิโค้ดในส่วนภาษาพม่า เพื่อขอแก้ไขในส่วนที่จำเป็น
  • เนปาลนี่จ๊าบกว่าเพื่อน มีการเจรจากับไมโครซอฟท์จนได้วินโดวส์ unlimited edition ภาคภาษาเนปาล สามารถเอาไปแจกตามชนบทได้ ซึ่งทำให้คอมพิวเตอร์กระจายสู่ชนบทได้เร็วขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็มีโครงการลินุกซ์เนปาล ซึ่งหากดูเปอร์เซ็นต์แปล GNOME ของเนปาลแล้ว เขาพุ่งพรวดพราดขึ้นไปเกือบถึง 100% แล้ว ทั้งที่เริ่มหลังเราเสียอีก ส่วน LUG ของเนปาล ก็อยู่ที่ www.linux.com.np ส่วนนโยบายรัฐบาลนั้น ยังเป็นกลางๆ ไม่สนับสนุนโอเพนซอร์สหรือ proprietary เป็นพิเศษ
  • ส่วนลาวนั้น ยังติดปัญหาบุคลากรอยู่มาก ความคืบหน้าสุดท้ายของโครงการ Laonux นั้น หลังจากแปล KDE ไปบางส่วนแล้ว ก็ต้องพักไว้ แต่ขยายขอบเขตโครงการเป็น Lao Open Source โดยหันไปแปล OpenOffice.org เสียก่อน ซึ่งขณะนี้ แปลไปได้ 80% แล้ว และยังได้พัฒนาฟอนต์ OpenType สาธารณะโดยภาครัฐอีกด้วย

จบรายงานข่าวจากสำนัก blogger เทพพิทักษ์ รายงาน

2 ความเห็น:

  • 28 ตุลาคม 2548 เวลา 22:29 , Blogger pattara แถลง…

    แล้วไทยล่ะครับ :D สรุปรวมๆ เป็นไง (หลังๆ ตามไม่ทัน)

     
  • 29 ตุลาคม 2548 เวลา 00:41 , Blogger CrazyHOrse แถลง…

    ตั้งข้อสังเกตเรื่องการเปลี่ยนเสียงโฆษะอโฆษะในภาษาเขมรและไทยได้เยี่ยมครับ เคยอ่านข้อเขียนของนักภาษาศาสตร์แล้วเป็นอย่างนั้นจริงๆ

    อักษรขอมเชรียงน่าจะเป็นอันเดียวกับอักษรขอมเฉียงที่พระไทยเคยใช้จนถึงช่วงกลางรัตนโกสินทร์นะครับ

    เรื่องเสียง ร หาย ผมว่าน่าจะเป็นเพราะอิทธิพลของคนจีนและคนไทยอีสานที่เข้ามาในกรุงเทพกันเยอะมากในช่วงไม่ถึงร้อยปีมานี้นะ

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem