Theppitak's blog

My personal blog.

06 กันยายน 2548

GNOME 2.12 Release Notes

GNOME 2.12 จะออกพรุ่งนี้แล้ว (ถ้าตามเวลาบ้านเราก็เป็นคืนพรุ่งนี้ กว่าจะเห็นข่าวก็มะรืน) เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา จึงไม่ได้ทำอะไรนอกจากแปล release notes ซึ่งสำหรับข้อความ ก็ใช้เวลาแปลไม่นาน จะเสียเวลาก็ตรงจับ screenshot คือต้องไล่ build โปรแกรมที่ยัง build ไม่เคยผ่านให้ผ่าน เพื่อจะได้เปิดขึ้นมา จากนั้น ก็ config ใช้งานโดย show feature ใหม่ ตามที่บรรยายใน release notes ระหว่างนั้นก็ติดต่อ ขอให้พี่ปลาที่เนคเทคช่วยแปล press release อีกแรง เพราะกลัวไม่ทัน

เมื่อคืนนี้ก็จับ screenshot สุดท้ายเสร็จ และ commit เข้า CVS เรียบร้อย วันนี้ก็มารับ press release ฉบับแปลจากพี่ปลา แล้ว commit เข้า CVS ต่อ เป็นอันว่า ประเทศไทยมีส่วนร่วมกับการปล่อยตัว GNOME 2.12 อย่างสมบูรณ์ (จะขาดก็แต่ Release Party มั้ง เหอๆ)

GNOME 2.12 นี้ มี milestone ที่สำคัญสำหรับภาษาไทย นั่นคือ ภาษาไทยถูกนับรวมเป็น supported language แล้วใน release notes ฉบับร่าง และค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าคงไม่ถูกสอยออกจากทำเนียบก่อนการปล่อยตัว

เอ.. วันก่อนนู้น ผมเพิ่งเขียนไปหยกๆ ว่า ภาษาไทย partially supported อยู่ โดยเปอร์เซ็นต์แปลอยู่ที่ 61.53% ไม่ใช่เหรอ? แล้วเกิดอะไรขึ้น ถึงได้ขึ้นทำเนียบ supported language ไวจัง?

เรื่องของเรื่องก็คือ Danilo Šegan เสนอว่าจะตัด 2 แพกเกจมหาหิน คือ gtk+-properties และ gweather-locations ออกจากการพิจารณาสถานะ supported language ซึ่งเป็นสิ่งที่นักแปลสนับสนุนอย่างยิ่ง เพราะตัวแรกนั้น เป็น properties ของ GTK+ widget ซึ่งจะเห็นเฉพาะนักพัฒนาที่ใช้ glade สร้าง GUI หรือในเอกสารประกอบสำหรับนักพัฒนาเท่านั้นแหละ ส่วน gweather-locations ที่รวบรวมชื่อสถานที่ทั่วโลกกว่า 6 พันแห่งนั้น โหดร้ายสำหรับนักแปลมากๆ เพราะข้อมูลสารานุกรมภูมิศาสตร์สำหรับแต่ละประเทศก็ช่วยแปลได้ไม่ถึง 1 ใน 3 จะมีก็แต่ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ หรือภาษากลุ่มละตินเท่านั้นแหละ ที่จะมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการแปล และที่สำคัญ ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะเซ็ตตำแหน่งที่จะดูรายงานอากาศเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น การแปลชื่อเมืองเฉพาะในประเทศท้องถิ่น ก็น่าจะเพียงพอสำหรับผู้ใช้กว่า 90% แล้ว (ที่เหลือคงเป็นผู้ใช้ที่อยากรู้อยากเห็นสภาพอากาศของประเทศอื่น หรือผู้ใช้ที่ต้องนั่งเครื่องบินไปต่างประเทศบ่อยๆ)

ซึ่งการปรับดังกล่าว เข้าทางทีมไทยพอดี เพราะแพกเกจทั้งสอง ยังมีเปอร์เซ็นต์แปลไม่ถึงไหน gtk+-properties นั้น ทุกคนเก็บไว้ทีหลังหมด ส่วน gweather-locations ก็ระดมหนังสือเท่าที่มี และประยุกต์หลักการทับศัพท์ทั้งหมดแล้ว ก็ยังไปได้แค่ 28.83% เท่านั้น และยังมีชื่อเมืองแถบตะวันออกกลาง และแอฟริกาอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่พบการอ้างอิงถึงในเอกสารภาษาไทยใดๆ

เมื่อปรับแล้ว ปรากฏว่า เปอร์เซ็นต์แปลของภาษาไทยพุ่งพรวดขึ้นทันที แม้จะไม่ถึง 80% แต่เขาก็เก็งเอาไว้ก่อน แล้วอาจจะสอยทีหลัง แต่เมื่อล่วงเลยเวลา string freeze สำหรับ release notes และ press release มาแล้ว ก็คงไม่สามารถปรับออกได้อีก (ไม่งั้นจะมีผลกระทบกับฉบับแปลทั้งหลายที่ทำไปแล้ว) ก็เป็นอันว่า เราอยู่ในสถานะ "mostly supported" ละกัน :-D

ปล. GNOME 2.12 Release Notes ฉบับแปลไทย เผื่อจะช่วยกันตรวจทาน (แต่นี่ยังไม่ใช่ฉบับจริง) ส่วน press release นั้น ต้องรอ daily rebuild คืนนี้ ถึงจะขึ้นที่ gnome.org

12 ความเห็น:

  • 6 กันยายน 2548 เวลา 21:02 , Blogger Isriya แถลง…

    ตอบตรงนี้ละกันนะครับ

    หน้าหลัก
    - ย่อหน้า 4 "ปล่อยตามกำหนด" เป็น "ออกตามกำหนด"

    หน้า "มีอะไรใหม่สำหรับผู้ใช้"
    - Epiphany "แถบค้นหา อย่างที่พบใน Firefox" น่าจะเป็น "แถบค้นหา อย่างที่มีใน Firefox"
    - บรรทัดที่เขียนว่ารูปที่ 6 ก่อนนั้นบรรทัดนึง "เครื่อข่าย" มีไม้เอกเกินมา
    - Evolution "เมลตามแบบฉบับ" อ่านแล้วงงๆ เปลี่ยนเป็น "สนับสนุนการใช้งานอีเมล, Groupwise..." คือละไว้เฉยๆ ดีกว่า
    - Evolution เหมือนกัน "ง่ายลง" น่าจะเป็น "ง่ายขึ้น" อ่านดูแล้วพี่เทพใช้ ง่ายลง หมดเลย
    - Evolution "ผู้ใช้ที่ใช้ Mozilla" เป็น "ผู้ใช้ Mozilla Thunderbird กับ IMAP" น่าจะเข้าใจแล้ว

    สำหรับ admin
    - Sabayon "และแตะต้องค่าตั้งน้อยลง" ตรงนี้อ่านแล้วก็เข้าใจ แต่มันแปลกๆ

    สำหรับ developer
    - GtkMenu "ละเลยโฟกัส" --> "ละโฟกัส"
    - GtkEntryCompletion "ห้ามผุดเมนู" --> "ห้ามเมนูผุด"
    - "ข้ามแพลตฟอร์ม" --> "การทำงานข้ามแพลตฟอร์ม"

    การสนับสนุนนานาภาษา --> "การสนับสนุนภาษาต่างๆ" /"การสนับสนุนภาษาต่างประเทศ"
    - ภาษาอังกฤษบริติช และภาษาอังกฤษแคนาเดียน --> "อังกฤษแบบอังกฤษ" "อังกฤษแบบแคนาดา"

    ติดตั้ง
    - "เพื่อให้ข้อมูลป้อนกลับ" --> "เพื่อรายงานผลการใช้" อันนี้แปลอ้อมๆ นะครับ

    ประเด็นที่ทราบแล้ว --> ปัญหาที่พบแล้ว

    หน้า Gnome 2.14
    - Avahi กับ Ridhley มี . เกินมา (ของ en ก็เป็น)

    การมีส่วนร่วม --> มีส่วนร่วมกับ Gnome
    - แนวทางช่วยคุณเริ่มงาน --> "คำแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้น" อันนี้ก็อ้อมๆ

    เครดิต --> ใช้ยังงี้เลยเหรอ?

     
  • 7 กันยายน 2548 เวลา 01:14 , Blogger Thep แถลง…

    ขอบคุณหลายๆ ที่ช่วยท้วงติงครับ

    > ย่อหน้า 4 "ปล่อยตามกำหนด" เป็น "ออกตามกำหนด"

    โอ้ ขอไม่แก้ได้ไหมครับ เพราะใช้คำนี้เยอะ ใน press release ด้วย กลัวแก้ไม่ครบภายในกำหนด

    > Epiphany "แถบค้นหา อย่างที่พบใน Firefox" น่าจะเป็น "แถบค้นหา อย่างที่มีใน Firefox"

    OK

    > บรรทัดที่เขียนว่ารูปที่ 6 ก่อนนั้นบรรทัดนึง "เครื่อข่าย" มีไม้เอกเกินมา

    OK

    > Evolution "เมลตามแบบฉบับ" อ่านแล้วงงๆ เปลี่ยนเป็น "สนับสนุนการใช้งานอีเมล, Groupwise..." คือละไว้เฉยๆ ดีกว่า

    เอ.. แล้ว Groupwise, Exchange ไม่ใช่อีเมลเหรอครับ?

    > Evolution เหมือนกัน "ง่ายลง" น่าจะเป็น "ง่ายขึ้น" อ่านดูแล้วพี่เทพใช้ ง่ายลง หมดเลย

    อ่า.. โดนทักอีกแล้วแฮะ ผมรู้สึกว่าภาษาที่ถูกคือ "ง่ายลง" น่ะ

    > Evolution "ผู้ใช้ที่ใช้ Mozilla" เป็น "ผู้ใช้ Mozilla Thunderbird กับ IMAP" น่าจะเข้าใจแล้ว

    ไม่เหมือนกันน่ะครับ ของเดิมเขาจะหมายถึง "ผู้ใช้ Evolution ที่ใช้ Mozilla Thunderbird ด้วย" แต่ของ Mk จะหมายถึง "ผู้ใช้ Mozilla Thuderbird อย่างเดียว"

    > Sabayon "และแตะต้องค่าตั้งน้อยลง" ตรงนี้อ่านแล้วก็เข้าใจ แต่มันแปลกๆ

    มันมีทั้งอ่านทั้งเขียน + profile น่ะ เลยเจาะจงคำไม่ได้มากกว่านี้

    > GtkMenu "ละเลยโฟกัส" --> "ละโฟกัส"

    ของเดิมดีกว่านา.. มันไม่ใช่การข้ามไป แต่คือการไม่สนใจสิ่งที่เข้ามา

    > GtkEntryCompletion "ห้ามผุดเมนู" --> "ห้ามเมนูผุด"

    OK

    > "ข้ามแพลตฟอร์ม" --> "การทำงานข้ามแพลตฟอร์ม"

    OK

    > การสนับสนุนนานาภาษา --> "การสนับสนุนภาษาต่างๆ" /"การสนับสนุนภาษาต่างประเทศ"

    "ภาษาต่างประเทศ" ไม่น่าใช้ เพราะเท่ากับมีภาษาหนึ่งเป็นแหล่งอ้างอิง ซึ่งให้ความรู้สึกไม่ดี และ "ภาษาต่างๆ" กับ "นานาภาษา" ก็อาจไม่ต่างกันเท่าไร

    > ภาษาอังกฤษบริติช และภาษาอังกฤษแคนาเดียน --> "อังกฤษแบบอังกฤษ" "อังกฤษแบบแคนาดา"

    "อังกฤษแบบอังกฤษ" มันรู้สึกไม่ได้ใจความหรือเปล่า?

    > "เพื่อให้ข้อมูลป้อนกลับ" --> "เพื่อรายงานผลการใช้" อันนี้แปลอ้อมๆ นะครับ

    OK

    > ประเด็นที่ทราบแล้ว --> ปัญหาที่พบแล้ว

    OK

    > Avahi กับ Ridhley มี . เกินมา (ของ en ก็เป็น)

    OK

    > แนวทางช่วยคุณเริ่มงาน --> "คำแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้น" อันนี้ก็อ้อมๆ

    แจ๋ว

    > เครดิต --> ใช้ยังงี้เลยเหรอ?

    ใช้อะไรดี? กิติกรรมประกาศ?

     
  • 7 กันยายน 2548 เวลา 10:37 , Blogger Isriya แถลง…

    >เอ.. แล้ว Groupwise, Exchange ไม่ใช่อีเมลเหรอครับ?
    มีความรู้สึกว่า Groupwise, Exchange มันเป็นชื่อเฉพาะสำหรับ groupware น่ะ ถึงข้างใต้มันจะเป็นอีเมลแต่ก็มีชื่อ product ที่ชัดเจน

    >ไม่เหมือนกันน่ะครับ ของเดิมเขาจะหมายถึง "ผู้ใช้ Evolution ที่ใช้ Mozilla Thunderbird ด้วย" แต่ของ Mk จะหมายถึง "ผู้ใช้ Mozilla Thuderbird อย่างเดียว"

    OK ผมอ่านไม่ดีเองตรงนี้

    >"อังกฤษแบบอังกฤษ" มันรู้สึกไม่ได้ใจความหรือเปล่า?

    อาจใช้ "อังกฤษแบบบริติช" ก็ได้

    > > เครดิต --> ใช้ยังงี้เลยเหรอ?

    "ผู้จัดทำ"?

    -----
    เพิ่มเติมนะครับ

    ตรงหน้า "ผู้ใช้" ตรง Totem "โครงสร้างสื่อผสม" มาจาก "Multimedia Framework" แต่ผมอ่านคำว่า "โครงสร้าง" แล้วนึกถึง "Structure" มากกว่า แต่นึกคำดีกว่านี้ไม่ออกแฮะ

    "สื่อผสม" ใช้ "มัลติมีเดีย" ตรงๆ เลยดีกว่านะครับ

     
  • 7 กันยายน 2548 เวลา 11:30 , Blogger Thep แถลง…

    > มีความรู้สึกว่า Groupwise, Exchange มันเป็นชื่อเฉพาะสำหรับ groupware น่ะ ถึงข้างใต้มันจะเป็นอีเมลแต่ก็มีชื่อ product ที่ชัดเจน

    แต่อีเมลก็ยังเป็นสิ่งที่คาบเกี่ยวระหว่างทั้งสามคำ? ปัญหาคงจะอยู่ที่คำว่า "ตามแบบฉบับ" ถ้าผมใช้คำว่า "อีเมลธรรมดา" ล่ะ จะดีขึ้นไหม?

    > อาจใช้ "อังกฤษแบบบริติช" ก็ได้

    OK ครับ อังกฤษแบบบริติช และอังกฤษแบบแคนาดา

    > "ผู้จัดทำ"?

    ดีครับ

    > ตรงหน้า "ผู้ใช้" ตรง Totem "โครงสร้างสื่อผสม" มาจาก "Multimedia Framework" แต่ผมอ่านคำว่า "โครงสร้าง" แล้วนึกถึง "Structure" มากกว่า แต่นึกคำดีกว่านี้ไม่ออกแฮะ

    โครงร่าง?

    > "สื่อผสม" ใช้ "มัลติมีเดีย" ตรงๆ เลยดีกว่านะครับ

    เห็นสื่อใช้คำนี้เยอะแล้วน่ะ คิดว่าผู้คนน่าจะคุ้นหูบ้างแล้ว

     
  • 7 กันยายน 2548 เวลา 14:56 , Blogger Isriya แถลง…

    อีเมลธรรมดา ก็ใช้ได้ครับ

     
  • 7 กันยายน 2548 เวลา 17:26 , Blogger Thep แถลง…

    สำหรับคำว่า 'ง่ายลง' นะครับ ผมคิดว่าใช้แบบนี้น่าจะถูกแล้ว คือคำไทยบางประเภทจะมีลักษณะการบอกดีกรี พอเปลี่ยนระดับก็ใช้ 'ขึ้น' หรือ 'ลง' ประกอบ เช่น ดีขึ้น-แย่ลง, ร้อนขึ้น-เย็นลง, ขาวขึ้น-ดำลง, แพงขึ้น-ถูกลง อย่าง ยาก-ง่าย ก็ทำนองเดียวกัน เป็น ยากขึ้น-ง่ายลง (ความจริง เวลาที่ได้ยินว่า 'ง่ายขึ้น' จะรู้สึกขัดๆ นิดหน่อย)

    ส่วนชื่อภาษา ผมอ้างอิงตามข้อตกลงใน l10n.opentle.org นะครับ (แต่วันนี้เข้าไม่ได้ทั้งวันเลย) ถ้าจะเปลี่ยนแปลงอะไร ลองยกประเด็นขึ้นมาใน mailing list ดีไหมครับ?

     
  • 7 กันยายน 2548 เวลา 21:59 , Blogger Unknown แถลง…

    - ไทย (20 ล้าน)

    20 ล้านคนเหรอครับ ?

     
  • 7 กันยายน 2548 เวลา 22:27 , Blogger Beamer User แถลง…

    อ่านที่ เทพ อธิบายแล้ว
    ก็ชัดเจนดี ที่ว่า ทำโจทย์ให้ยากขึ้น ทำโจทย์ให้ง่ายลง

    พออ่านที่กิตต์ คิดแล้วเทียบกับประโยคนี้

    ทำให้ผู้ใช้อ่านยากขึ้น ทำให้ผู้ใช้อ่านง่ายขึ้น
    หรือ มันทำให้ผู้ใช้อ่านได้ยากขึ้นหรือง่ายลงกันแน่

    แต่ในประโยค
    "ใน GNOME 2.12 นี้ Evolution มีโครงสร้างเมนูที่ใช้ง่ายลง"
    ก็น่าจะเป็น ง่ายขึ้น นะครับ เพราะความหมายเป็นไปใน
    ทางบวก(อย่างที่กิตต์ว่า)

    ผมว่ามันไม่มีหลักภาษาที่แน่นอนตายตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้นะ
    การใช้น่าจะขึ้นอยู่กับความนิยมและรูปประโยคมากกว่า

    สรุปเหมือนกิตต์แล้วกัน

     
  • 7 กันยายน 2548 เวลา 23:27 , Blogger Thep แถลง…

    ทำ FAQ ดีกว่ามัง เรื่อง 20 ล้านเนี่ย :P

    copy มาจากที่ผมตอบใน LTN นะครับ:

    >> แล้วเพิ่งรู้เหมือนกันแฮะว่า ภาษาไทยมีคนพูดแค่ 20 ล้าน (นึกว่าซัก 60 ล้าน)
    >
    > ตรงนี้มีที่มาที่ไปแปลกๆ ครับ คือไม่ใช่แค่ภาษาไทยที่ตัวเลขแปลก
    > ภาษาอื่นก็เป็น แล้วเขาก็โวยกันใน mailing list ไปแล้วด้วย แต่ทางผู้ดูแลฯ
    > เขาบอกว่า ตัวเลขนี้ไม่ใช่ตัวเลขตายตัว แค่จะเปรียบเทียบสัดส่วนให้เห็น
    > ว่าภาษาต่างๆ มีคนพูดมากน้อยแค่ไหน แล้วก็อ้างอิงไปที่ข้อมูลของ SIL
    > ที่มาทำสำรวจภาษาท้องถิ่นต่างๆ เลยพอจะนึกออก ว่า SIL
    > เขาเคยพยายามยืนยันความมีอยู่ของ minority language ทั้งหลาย
    > อย่างเวลาจำแนกภาษาไทย เขาจำแนกละเอียดเลย ว่าไทยมีไทยกลาง ไทยอีสาน ไทยใต้
    > ไทยเหนือ ฯลฯ แล้วตัวเลข 20 ล้าน คงจะหมายถึงไทยกลางเท่านั้น
    >
    > (เข้าใจว่าที่เขาต้องอ้างอิงข้อมูลของ SIL แทนที่จะเป็นข้อมูลประชากร
    > ก็เพราะในหลายๆ ประเทศจะมีภาษามากกว่าหนึ่งภาษา เช่น อินเดีย มีภาษาราชการ
    > 15 ภาษา, จีน มีภาษาชนกลุ่มน้อยด้วย เป็นต้น)
    >
    > ทีนี้ ก็เลยพอจะเดาได้ลางๆ ว่ามันคงเกิดความเข้าใจผิดกันขึ้น
    > โดยแหล่งข้อมูลของเขามันคือภาษาพูด ไม่ใช่ภาษาเขียน แต่ครั้นจะแย้งเข้าไป
    > มันก็ string freeze ไปแล้ว ผมเองก็มัวแต่ติดงานอื่น
    > กว่าจะได้มาอ่านเมลที่เขาคุยกันก็แย้งไม่ทันแล้ว ก็เลยจำต้องปล่อยไปก่อน
    > แล้วค่อยประท้วงใหม่ในครั้งหน้า

     
  • 7 กันยายน 2548 เวลา 23:53 , Blogger Thep แถลง…

    ยังไงก็ตาม เนื่องจากพรุ่งนี้ผมจะไม่ว่าง ไม่สามารถมาถกเรื่องนี้ต่อได้อีก
    ก็เลยขอจัดการทั้งสอง case ที่เป็นปัญหาอยู่ (ง่ายลง และ 20 ล้าน)
    โดย commit ไปแล้ว (ลักไก่แก้ 20 ล้าน -> 65 ล้านในฉบับไทยไปซะ
    ถือว่าฝรั่งคงไม่มาตรวจ ส่วนง่ายลง ก็เป็น ง่ายขึ้น ตามที่ทุกคนเห็นควร)

    หวังว่าจะทัน last rebuild ก่อน 2.12 release

    ราตรีสวัสดิ์ครับ,
    เทพ.

     
  • 9 กันยายน 2548 เวลา 22:37 , Blogger NOI แถลง…

    ฮ่า ฮ่า ฮ่า ... คุณเทพมีลักไก่ด้วยเหรอครับเนี่ย :D

    พึ่งเข้ามาอ่านครับ (หลุดไป เพราะดูใน RSS แล้วนึกว่าหัวข้อเก่า เลยไม่ได้เปิดมาดู) ไม่อย่างนั้นจะมาช่วยยืนยันเรื่อง ง่ายขึ้น ด้วยอีกคน (เพราะมันเป็นความรู้สึกเชิงบวกน่ะครับ) ;)

     
  • 11 กันยายน 2548 เวลา 11:39 , Blogger Thep แถลง…

    พูดยากแฮะเรื่องความรู้สึกเนี่ย เพราะ "ง่ายลง" ผมก็รู้สึกว่าเป็นบวกอยู่แล้ว (คล้ายๆ กับที่อธิบายใน LTN webboard ว่า "ลง" ไม่จำเป็นต้องเป็นลบ อย่างหน้าร้อน อากาศเย็นลง ก็เป็นความรู้สึกบวก ขณะที่ถ้าร้อนขึ้นอีก จะบ่นกันอุบ) แต่ที่เลือก "ง่ายขึ้น" ตามความนิยม ก็เพราะคิดว่าตัวเองไม่มีเวลามาอธิบายตามแหล่งต่างๆ ที่อาจจะมีคนทักท้วงทำนองนี้ (รวมทั้งเรื่อง 20 ล้านด้วย)

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem