Theppitak's blog

My personal blog.

26 กุมภาพันธ์ 2554

Lao/Esaan Tham Script Issues

จากที่ได้เขียนถึง โครงการอักษรอีสาน ไป และได้ร่าง รายละเอียดโครงการ พร้อมกับสร้าง โครงการโคตรบูรณ์ที่ Sourceforge เพื่อดูแลและเผยแพร่ซอร์ส ก็ได้เริ่มทำฟอนต์อักษรธรรมอีสาน/ลาว โดยอาศัย ฟอนต์ของ อ.สานิตย์ โภคาพันธ์ เป็นจุดเริ่มต้น

ฟอนต์ของ อ.สานิตย์ นั้น รูปร่างตัวอักษรดูสวยงาม เพียงแต่ยังไม่ได้อยู่ในรูปแบบยูนิโค้ด จึงเริ่มด้วยการคัดลอก glyph มาลงในช่องตารางยูนิโค้ด จากนั้นก็ปรับเส้นตัวอักษรให้สม่ำเสมอกัน แล้วจึงเริ่มมาพิจารณาเรื่องของอักขรวิธี ซึ่งผลล่าสุดก็คืออย่างนี้:

Lao/Esaan Tham Sample Text

ภาพนี้สร้างจากตัวอย่างข้อความที่เก็บแบบ visual order ซึ่งยังไม่ตรงตามมาตรฐานยูนิโค้ด เพราะเพียงต้องการทดสอบการจัดเรียงอักขระเท่านั้น ถ้าจะวาดข้อความที่อยู่ในลำดับที่ยูนิโค้ดกำหนด ก็จะต้องเพิ่มกฎการสลับลำดับให้เป็น visual order เสียก่อน

อย่างไรก็ดี เรื่องของอักขรวิธีก็ยังมีหลายประเด็นที่หาข้อยุติไม่ได้ เนื่องจากหลายตำราพูดต่างกัน ตัวอย่างเช่น:

  • ถ ฐ พ เฟื้อง ในอักษรล้านนาจะใช้ ฐ พ เฟื้องรูปเดียวกัน ส่วน ถ เฟื้องใช้เหมือนตัวเต็ม แต่สำหรับอักษรธรรมล้านช้าง จะแยกเป็นหลายตำรา โดยมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป เช่น:
    • อ.วัฒน ศรีสว่าง (อุบลราชธานี) แสดงไว้ในหน้า 5, 9 ว่า ถ เฟื้อง และ ฐ เฟื้อง มีรูปร่างเหมือนกัน แต่ต่างจาก พ เฟื้อง โดย ถ/ฐ เฟื้อง จะตวัดสั้น แต่ พ เฟื้อง จะตวัดหางตัดเส้นตั้งเลยออกไปทางขวา (อ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ อ.โสรัจ นามอ่อน)
    • พระยาหลวงมหาเสนา (ผูย) (ส.ป.ป. ลาว) แสดงไว้ในหน้า ๔ (PDF หน้า 19) ว่า ถ ฐ พ เฟื้องนั้น ต่างกันทั้งสามตัว โดย ถ เฟื้องตวัดน้อยที่สุดแต่มีหัวกลมทางขวา, ฐ เฟื้องไม่มีหัวและตวัดงอเข้ามาหน่อย และ พ เฟื้องตวัดตัดเส้นตั้งเลยไปทางขวาเหมือนของ อ.วัฒน
    • โครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ใช้ ถ ฐ พ เฟื้องเป็นรูปเดียวกันทั้งหมด โดยรูปร่างเหมือนกับ ฐ เฟื้อง ของสองเอกสารข้างต้น
    • หนังสือ อักษรไทยโบราณ ของ อ.ธวัช ปุณโณทก (สนพ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2549) แสดงไว้ในหน้า 230 เป็นลายมือเขียนหวัด ซึ่งตัดสินลำบาก แต่ดูเหมือนจะเป็นมติเดียวกับ อ.วัฒน
  • นอกจากเรื่องรูปร่างที่มีหลายมติแล้ว เรื่องอักขรวิธีของ ถ ฐ พ เฟื้อง ก็พบว่ามีรายละเอียดแตกต่างกันไปอีก โดยสังเกตได้จากเอกสารของ อ.วัฒน และพระยาหลวงมหาเสนา (ผูย) คือ:
    • อ.วัฒน แสดงไว้ในหน้า 11 ว่า ฐ เฟื้อง จะใช้รูปเฟื้องก็ต่อเมื่อซ้อนอยู่ในพยัญชนะซ้อน ฏฺฐ เท่านั้น ถ้าอยู่ใน ณฺฐ จะใช้รูปเหมือนรูปเต็ม; และ ถ เฟื้อง ก็ทำนองเดียวกัน คือจะใช้รูปเฟื้องก็ต่อเมื่ออยู่ในพยัญชนะซ้อน ตฺถ เท่านั้น ถ้าอยู่ใน นฺถ จะใช้รูปเหมือนรูปเต็ม; ส่วน พ เฟื้องนั้น ใช้รูปเฟื้องเสมอทุกกรณี
    • พระยาหลวงมหาเสนา (ผูย) ก็แสดงไว้ทำนองเดียวกันในหน้า ๓๒ (PDF หน้า 47) แต่แตกต่างในกรณี ฐ เฟื้อง โดยจะใช้รูปเฟื้องทุกกรณี ไม่ว่าจะอยู่ใน ฏฺฐ หรือ ณฺฐ จึงเหลือกรณีที่ใช้สองรูปเพียง ถ เฟื้องเท่านั้น
  • เอกสารของพระยาหลวงมหาเสนา (ผูย) แสดงไว้ในหน้า ๓ (PDF หน้า 18) ว่า ช เฟื้อง ใช้รูปคล้ายสระออ ในขณะที่เอกสารอื่นไม่ปรากฏตัวเฟื้องนี้
  • ใน บล็อคอักขระ Tai Tham ของยูนิโค้ด ยังมีเครื่องหมายวรรคตอนที่หาข้อมูลไม่ได้ ว่าอักษรธรรมล้านช้างใช้รูปไหน คือ เวียง, เวียงวาก, สวรรค์, เกี้ยว, หอย, ดอกไม้, ณ ตะแคง, คั่น, คั่นคู่, ซัดคั่น, ซัดคั่นคู่, หาง, ช้าง

ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าจะปรับใช้อักษรธรรมในแบบร่วมสมัย ก็คงต้องเลือกเอาแบบใดแบบหนึ่งเป็นบรรทัดฐาน แต่ผมคงไม่สามารถเลือกเองได้ เพราะประสบการณ์น้อยเกินไป แต่ก็ได้พยายามวินิจฉัยเท่าที่ปัญญาจะมีไปแล้ว แต่ก็ควรปรึกษาผู้รู้เพื่อยืนยันให้แน่ใจอีกครั้ง โดยเฉพาะในส่วนของเครื่องหมายวรรคตอนที่ผมไม่มีข้อมูลเลย

ท่านแรกที่ได้ไปปรึกษาคือ พระราชประสิทธิคุณ (สุนันท์ สุภาจาโร ป.ธ.๗ พธ.บ.) รองเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น เจ้าอาวาสวัดเทพปูรณาราม ที่ปรึกษารองอธิการบดี ม.มจร. วิทยาเขตขอนแก่น ซึ่งนอกจากจะได้ความรู้เรื่องอักษรธรรมแล้ว ยังได้เกร็ดความรู้ภาษาอีสานอีกมากมาย ไว้เขียนต่อใน blog หน้า

Update (2011-02-28 18:20+0700): ซ่อมรูปภาพที่เสียเนื่องจากเซิร์ฟเวอร์ที่เก็บรูปดาวน์อยู่

ป้ายกำกับ: ,

0 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem