On Thai Old Language
ได้อ่านเกี่ยวกับภาษาไทยโบราณ ได้พูดไปบ้างใน Facebook ก็สมควรบันทึกไว้บน WWW ที่เป็นสาธารณะและสืบค้นได้ด้วย
ภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะในสมัยก่อนที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษา การศึกษาที่มีก็ไม่ได้เป็นระบบระเบียบ รวมทั้งท้องถิ่นต่าง ๆ ก็ไม่ได้เชื่อมโยงกันทั่วถึงอย่างทุกวันนี้ ภาษาที่ใช้ในถิ่นต่าง ๆ จึงหลากหลาย การบันทึกจดจารก็คงไม่ได้เป็นระบบแบบแผนเหมือนทุกวันนี้ แต่ความจำเป็นที่ต้องสื่อสารกันให้รู้เรื่อง ก็ทำให้ภาษายังคงมีระเบียบบางอย่างกำกับอยู่บ้าง การแปรเปลี่ยนของคำจึงเป็นการเปลี่ยนอย่างช้า ๆ ตามกาลเวลา หาใช่ด้วยความจงใจ
ได้อ่านหนังสือ วิวัฒนาการของภาษาไทย โดย ดร.ราตรี ธันวารชร สนพ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านได้ศึกษาเปรียบเทียบภาษาไทยสมัยสุโขทัยกับภาษากรุงเทพฯ ปัจจุบัน มีประเด็นน่าสนใจมากมาย คัดมาเพียงบางส่วนดังนี้:
พยัญชนะ ฃ ฅ
พยัญชนะ ฃ และ ฅ ปัจจุบันไม่มีที่ใช้แล้ว แม้จะมีผู้พยายามรื้อฟื้นกลับมาใช้ โดยส่วนใหญ่จะเป็น ฅ โดยใช้สะกดคำว่า ฅน
แต่ทราบหรือไม่ว่าคำว่า คน
นี้ ไม่เคยสะกดด้วยพยัญชนะ ฅ มาก่อนเลยในอดีต
สมัยก่อน เสียงพยัญชนะ ฃ และ ฅ น่าจะออกเสียงต่างจาก ข และ ค ที่รับมาจากภาษาบาลีผ่านทางเขมร โดย ดร. ฟังกวย ลี (李方桂) นักภาษาศาสตร์ชาวจีนที่ได้ลงพื้นที่ศึกษาภาษาตระกูลไทถิ่นต่าง ๆ ได้ให้ข้อสังเกตว่า ภาษาไทบางถิ่นยังคงออกเสียง ฃ ต่างจาก ข และ ฅ ต่างจาก ค เช่น ไทขาว, ไทลื้อ, ไทไต้คง, ไทลุงโจว และเสียง ฃ กับ ฅ เป็นเสียงภาษาไทยแท้ที่ไม่มีในบาลีสันสกฤต จึงต้องมีอักษรเติมมาช่วยเขียน (ในทำนองเดียวกับ ฎ ด บ ฝ ฟ)
ดร. ฟังกวย ลี จัดเสียงพยัญชนะทั้งสี่ดังนี้:
- ข /kh/ เสียงกัก ไม่ก้อง มีลม เกิดที่ฐานเพดานอ่อน
- ฃ /x/ เสียงเสียดแทรก ไม่ก้อง เกิดที่ฐานเพดานอ่อน
- ค /g/ เสียงกัก ก้อง เกิดที่ฐานเพดานอ่อน
- ฅ /ɣ/ เสียงเสียดแทรก ก้อง เกิดที่ฐานเพดานอ่อน
บทความจากราชบัณฑิตยสถาน อ้างถึงบทความของ ศ.ดร. คุณหญิงสุริยา รัตนกุล ว่าเสียง ฃ และ ฅ นั้น เป็นเสียงที่เกิดลึกเข้าไปหลังเพดานอ่อน คือลึกกว่า ข กับ ค ที่โคนลิ้นยังแตะแค่ที่เพดานอ่อน (ลองออกเสียงดูคงคล้ายเสียงขากเสลด)
คำที่สะกดด้วย ฃ ในสมัยสุโขทัย ได้แก่ ฃึ้น เฃ้า(ย้ายไปข้างใน) ฃุน ฃาย ฃอ(ตะขอ) ฃ้า(=ฆ่า เป็นคนละคำกับ ข้า
ที่แปลว่าผู้อยู่ใต้ปกครอง) หมากฃาม(มะขาม) ฃับ(ร้อง) เฃา(ภูเขา) ฃวา แฃวน
คำที่สะกดด้วย ฅ ในสมัยสุโขทัย ได้แก่ ฅำ(เวียงคำ) ฅุ้ม แฅว ฅวาม ฅอ ฅ้อน ฅา(ขวางอยู่) ฅาบ(เวลา) ฅืน(ค่ำ)
สำหรับคำว่า เฃ้า
(ย้ายไปข้างใน) นี้ ถ้าเขียนด้วย ข เป็น เข้า
ในสมัยก่อนจะหมายถึงคำว่า ข้าว
ของภาษาปัจจุบัน ต่อมามีการยืดเสียงสระออกเป็น ข้าว
ดังนั้น เมื่อเลิกใช้ ฃ แล้วสะกด เฃ้า
เป็น เข้า
แทน จึงไม่กลายเป็นคำพ้องรูป
คำว่า ฃ้า
(ทำให้ตาย) ก็คล้ายกัน เป็นคนละคำกับ ข้า
ที่หมายถึงผู้อยู่ใต้ปกครอง พอเลิกใช้ ฃ คำนี้ก็เปลี่ยนมาสะกดด้วย ฆ เป็น ฆ่า แทน
คำว่า ฃับ
จะใช้กับการขับร้อง แต่ถ้าใช้ ข สะกดเป็น ขับ
จะหมายถึงการขับไล่
เสียง ฃ และ ฅ คงกลืนหายไปกับเสียง ข และ ค (ซึ่งเดิม ข กับ ค ก็ออกเสียงต่างกัน แต่ก็กลืนหายเข้าด้วยกันเหมือนกัน) แล้วก็ค่อย ๆ ใช้น้อยลง ๆ จนกระทั่งถูกตัดทิ้งไปสมัยสร้างพิมพ์ดีดแล้วปุ่มพิมพ์ดีดมีไม่พอ ทำให้ถูกยกเลิกไปกลาย ๆ
นอกจากนี้ เสียงพยัญชนะอื่น ๆ ที่เราเห็นว่าออกเสียงเหมือนกัน เช่น กลุ่ม {ณ-, หน-, น-} หรือ {อย-, ย-, ญ-}, {ฎ-, ต-} เมื่อก่อนก็ออกเสียงต่างกัน จนกระทั่งเกิดการกลืนเสียงเข้าด้วยกัน กลายเป็นภาษากรุงเทพฯ ปัจจุบัน โดยปัจจุบันมีแนวโน้มว่าเสียง ร อาจจะถูกกลืนเข้ากับเสียง ล ด้วย การกลืนเสียงเหล่านี้ทำให้เราคิดว่าพยัญชนะมีซ้ำซ้อนหลายชุด แต่ถ้าได้ศึกษาภาษาไทถิ่นต่าง ๆ โดยละเอียด จะพบว่าในบางถิ่นทุกวันนี้ก็ยังออกเสียงพยัญชนะเหล่านี้ต่างกัน เช่น กรณีเสียง ฃ ฅ ในไทขาวของเวียดนาม, เสียง ญ นาสิกในภาษาอีสาน เป็นต้น
ไม้ม้วนกับไม้มลาย
ไม่ใช่แค่พยัญชนะ สระก็มีเสียงที่ปัจจุบันซ้ำซ้อนกัน คือ ไม้ม้วนกับไม้มลาย แต่จากการศึกษาภาษาไทถิ่นต่าง ๆ พบว่าในบางถิ่นยังออกเสียงสระสองตัวนี้ต่างกัน จึงทำให้สันนิษฐานว่าภาษาไทยสมัยสุโขทัยก็อาจออกเสียงสระสองตัวนี้ต่างกันด้วย
ไม้มลายนั้น เป็นสระบาลีสันสกฤต ภาษาไททุกถิ่นจะออกเสียงเป็น ไอ /ai/ หรือ /aj/ เหมือนกันหมด แต่ไม้ม้วนไม่มีในบาลีสันสกฤต เป็นสระที่ประดิษฐ์เพิ่มเพื่อใช้แทนเสียงสระของคำไทยแท้ ภาษาไทยบางถิ่นยังคงออกเสียงต่างจากไม้มลาย เช่น ไทใหญ่ ออกเสียงเป็น /aaɯ/ (อา-อือ) ไทดำ ออกเสียงเป็น /əɯ/ (เออ-อือ) และผู้ไท ออกเสียงเป็น /ɤɤ/ (เออ)
นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนเสียงสระในลักษณะต่าง ๆ อีก เช่น:
- ญีง เป็น หญิง
- ญีน เป็น ยิน
- อย้าว เป็น เหย้า
- พู่ง เป็น พุ่ง
- เข้า เป็น ข้าว
- จี่ง เป็น จึ่ง
- แล้ เป็น ละ
- (แม่น้ำ)ของ เป็น โขง
- โนน เป็น นอน
- โสง เป็น สอง
- โอก เป็น ออก
- สูด เป็น สวด
- ช่อย เป็น ช่วย
- หลวก เป็น หลัก
- เงือน เป็น เงิน
- เถิง เป็น ถึง
- เสือก เป็น เสิก และเป็น ศึก
ซึ่งคำเหล่านี้ จะพบว่ามีหลายคำที่ภาษาถิ่นยังคงรักษาเสียงเดิมไว้ เช่น แม่ญีง, เข้า, ช่อย (ซ่อย) บางคำก็มีใช้ทั้งสองรูป เช่น เพิ่ง กับ พึ่ง
ความหมายของคำ
คำบางคำก็เพี้ยนความหมายจากเดิม เช่น:
- แกล้ง เดิมหมายถึง
ตั้งใจทำ
เช่นงามฎั่งแกล้งแฏ่ง
หมายถึงงานเหมือนตั้งใจประดิดประดอยแต่งไว้ ปัจจุบันหมายถึงจงใจทำแบบไม่จริงใจ
เช่นแกล้งทำเป็นดีด้วย
- แพ้ เดิมหมายถึง ชนะ ส่วนคำที่แปลว่า ไม่ชนะ จะใช้คำว่า
พ่าย
เช่นตนกูพู่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี
ไว้เจออะไรสนุก ๆ แล้วจะมาบันทึกอีก :-)
Update (2011-02-04 16:14+0700): แก้คำอธิบายเรื่อง แกล้ง
ให้ชัดเจนขึ้น
ป้ายกำกับ: language
7 ความเห็น:
ณ 4 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 15:54 , Tewson แถลง…
ผมว่าคำว่า แกล้ง ทั้งใน งามฎั่งแกล้งแฏ่ง กับในปัจจุบัน ก็ยังมีความหมายเหมือนเดิมคือ จงใจ/ตั้งใจ นะ อย่างในปัจจุบันถ้าบอกว่าผมแกล้งทำเปลือกกล้วยหล่นลงพื้น ก็คือจงใจทิ้งมันลงพื้น ส่วนจริงใจหรือไม่ อาจจะไม่อยู่ในความหมายของคำตั้งแต่แรก
ณ 4 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 16:12 , Thep แถลง…
ผมอาจจะถ่ายทอดคำอธิบายจากหนังสือได้ไม่ดี เพราะเขียนด้วยความรีบ..
แกล้งในปัจจุบันหมายถึงความจงใจแบบไม่จริงใจ แต่แกล้งในสมัยก่อนทั้งจงใจทั้งจริงใจครับ
ณ 4 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 16:18 , Thep แถลง…
แก้คำอธิบายแล้วครับ ขอบคุณครับ
ณ 4 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 17:31 , veer แถลง…
อ่านแล้วยังทำเสียงตามไม่ออก
ณ 5 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 06:30 , Tewson แถลง…
อืมมม คือผมว่าเรื่องคำว่าแกล้ง อาจจะไม่เคยมีประเด็นของความจริงใจตั้งแต่ต้นปะครับ แปลว่าตั้งใจอย่างเดียว
ณ 5 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 10:48 , Thep แถลง…
veer, การออกเสียงมีสองแนวครับ แนวของ ดร.ฟังกวย ลี กับแนวของ Hauricourt ตามบทความคุณหญิงสุริยา
แนวแรก โคนลิ้นแตะเพดานอ่อนเหมือนกัน ต่างกันแค่เพิ่มเสียงเสียดแทรก
แนวที่สอง โคนลิ้นอยู่ลึกเข้าไปถึงลิ้นไก่
แต่ทั้งสองแบบ ฟังแล้วคล้ายเสียงขากเสลดทั้งคู่
ณ 5 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 11:01 , Thep แถลง…
Tewson, เป็นได้ครับ แต่พอจะอธิบายเปรียบเทียบกับความหมายปัจจุบัน เลยต้องระบุความแตกต่าง ว่าเป็นแบบจริงใจไม่ใช่เสแสร้ง
เพื่อการตีความ ผมขอคัดข้อความจากหนังสือมาเลยละกันครับ:
---8<---
คำว่า แกล้ง ในภาษากรุงเทพฯ ปัจจุบัน ใช้ตรงตามพจนานุกรมฯ ว่า "แสร้ง จงใจทำผิดความหมาย ไม่ทำจริง ทำให้ขัดกับความประสงค์" ในสมัยปัจจุบันคำว่า แกล้ง อาจแสดงถึงความจงใจ แต่เป็นความจงใจที่ไม่จริงใจ เช่น นายเสกสรรค์แกล้งทำเป็นกลัวภรรยา แสดงว่านายเสกสรรค์มิได้กลัวภรรยาจริง เพียงแต่จงใจแสดงท่าทีให้เห็นว่ากลัวเท่านั้น แต่ในสมัยสุโขทัย คำว่า แกล้ง นี้จะใช้ในความหมายตรงกันข้ามกับสมัยปัจจุบันโดยสิ้นเชิง คือจะหมายถึง "ตั้งใจ, จงใจอย่างจริงใจ" คือกระทำด้วยความตั้งใจจริง ดังตัวอย่างข้อความ
"เบื้องตวันโอกเมืองสุโขทัยนี้มีพีหาร มีปู่ครู มีทเลหลวง มีป่าหมากป่าพรู มีไร่มีนา มีถิ่นถ้าน มีบ้านใหญ่บ้านเลก มีป่าม่วง มีป่าขาม ดูงามฎั่งแกล้งแฏ่ง)..." (จารึกหลักที่ 1)
คำว่า แกล้ง ในสมัยปัจจุบันในภาษาถิ่นปักษ์ใต้ยังใช้ความหมายเดียวกันกับสมัยสุโขทัย คือจงใจ หรือตั้งใจ
---8<---
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก