Theppitak's blog

My personal blog.

17 พฤษภาคม 2547

Troy

คำเตือน: อย่าเพิ่งอ่านถ้าคุณเข้ามาเห็นโดยที่ยังไม่ได้ดูเรื่อง Troy ถ้าไม่อยากเสียอรรถรสของหนัง

เมื่อคืนไปดู Troy มา อืมม์.. ก็ไม่ได้ผิดความคาดหมายอะไรมาก กับหนังฟอร์มยักษ์ที่สร้างจากมหากาพย์ ว่ามันจะต้องรวบรัด ตัดรายละเอียด รวมทั้งต้องเน้นแอคชั่น เน้นตัวละครให้เป็นขาวกับดำตามใจคนเขียนบท งานนี้ ผู้สร้างเข้าข้างฝ่ายทรอยเต็มๆ วีรบุรุษอะคิลีสกลายเป็นพวกหัวรุนแรง รักอิสระ (ทั้งที่จริงๆ แล้ว พันธมิตรฝ่ายกรีกทั้งหลายก็มีอีกหลายคน รวมทั้งโอดีสซูสด้วย ที่ถูกเกณฑ์มาอย่างไม่เต็มใจ แต่บังเอิญไม่ได้มีเรื่องกับอะกาเมมน็อน เลยไม่โดนใส่ไข่) ส่วนอะกาเมมน็อนกลายเป็นจอมทรราชย์ (ซึ่งก็คิดว่าใกล้เคียง เพียงแต่ตอนอ่าน Iliad ไม่ได้จินตนาการไว้ขนาดนี้) แล้วก็มีการแก้บทให้บางคนที่รอดกลับตาย คนที่ตายกลับรอด แต่พูดถึงโดยรวมแล้ว ก็เก็บรายละเอียดเหตุการณ์เด่นๆ ได้ดี นับว่าทำได้เหมาะสมกับช่วงความยาวที่จำกัดของหนัง เหมือนเล่ารามเกียรติ์ทั้งเรื่องในสองชั่วโมงครึ่งจนจบได้ โดยให้ตัวละครแต่ละตัวได้รับการตอบแทนที่สมกับการกระทำ (ทั้งที่หลายเรื่องในปกรณัมกรีกไม่จำเป็นต้องสาสม)

ส่วนที่หายไปเลยคือเรื่องของเทพเจ้า งานนี้เล่าแต่เรื่องมนุษย์ล้วนๆ (แค่นี้ก็จะอัดไม่ลงแล้ว) วีรบุรุษคนสำคัญที่หายไป คือ ไดโอมีดีส (Diomedes) ส่วน อะแจ๊กซ์ (Ajax) ถูกลดบทบาทลงไปนิด แต่ก็ยังมีบทอยู่ ถึงจะถูกเปลี่ยนให้ตายก่อนที่โฮเมอร์แต่งไว้ แต่เพื่อขับบทของ อะคิลีส (Achilles) และ โอดีสซูส (Odysseus) ให้เด่น โดยไม่ทำให้เรื่องซับซ้อนเกินไป ก็คิดว่าสมควรแล้ว ส่วนคนที่มีบทบาทค่อนข้างมาก แต่ไม่เคยถูกเรียกชื่อ คงจะเป็นราชาผู้เฒ่า เนสเตอร์ (Nestor) ที่คอยให้คำแนะนำแก่อะกาเมมน็อน (เอ.. หรือถูกเรียกชื่อแต่เราไม่ได้ฟังเองหว่า)

เรื่องของการเปลี่ยนเนื้อเรื่อง อย่างแรกคงเป็นการรวบรัดสงครามที่ยาวนานเกือบสิบปีให้เหลือประมาณไม่กี่เดือน โดยไม่ได้เท้าความ แต่ที่ตกใจมากคือ ให้ เมเนเลอัส (Menelaus) ตายตั้งแต่ต้นเรื่อง อ้าว.. แล้วอย่างงี้ ใน Odyssey จะให้ เทเลมาคัส (Telemachus) ไปถามข่าวพ่อกับใครละเนี่ย เรื่องนี้นับว่าพลิกบทอย่างร้ายแรง อาจจะเพื่อเน้นความบ้าอำนาจของอะกาเมมน็อน ว่าที่รบๆ เนี่ย ไม่ใช่เพื่อชิงเฮเลนคืนอีกต่อไป แถมยังย้ำโดยให้เฮกเตอร์เตือนเฮเลนตอนพยายามหนีอีกด้วย ความจริง ฉากต่อสู้ระหว่างปารีสกับเมเนเลอัส ถ้าจะมีการเปลี่ยนก็พอนึกได้อยู่ เพราะใน Iliad ฉากนี้มีเทพเจ้าเข้ามาแทรกแซงถึงสององค์ คือ อะโฟรไดตี (Aphrodite) กับ อะธีนา (Athena) และคนที่ทำร้ายเมเนเลอัสก็ไม่ใช่เฮกเตอร์ด้วย แต่ถ้าจะเอาตามนั้น เรื่องจะซับซ้อนเกินไป แต่ถึงกับแก้ให้เมเนเลอัสตายเนี่ย น่าตกใจมาก

อีกเรื่องคือให้ ปารีส (Paris) รอดตาย ทั้งๆ ที่ต้องถูกไดโอมีดีสฆ่าในศึกครั้งหลังจากที่ยิงข้อเท้าอะคิลีส (กล่าวคือ อะคิลีสเอง ก็ไม่เคยเข้าไปในม้าไม้อย่างในหนัง เพราะตายในศึกหลังจากครั้งที่ฆ่า เฮกเตอร์ (Hector) แล้ว โดยถูกปารีสยิงธนูใส่ "Achilles' heel" และปารีสก็ตายก่อนที่ทรอยจะถูกบุกด้วยกลม้าไม้ด้วยซ้ำไป)

ส่วน อะกาเมมน็อน (Agamemnon) ก็ให้ถูกฆ่าตอนท้ายเรื่อง ทั้งๆ ที่ต้องมีชีวิตรอดกลับไปอย่างผู้ชนะ

แต่คนที่รับบทซับซ้อนที่สุด เห็นจะเป็น ไบรซีอิส (Briseis) ผู้หญิงของอะคิลีสที่เป็นต้นเหตุของความบาดหมางกับอะกาเมมน็อน ในหนัง เธอรับบทถึงสามคนในหนึ่งเดียว หนึ่งคือ ไครซีอิส (Chryseis) บุตรสาวของพระประจำวิหารอะพอลโลที่ถูกพวกกรีกปล้นและชิงตัวมา สองคือ ไบรซีอิส (Briseis) หญิงที่อะคิลีสได้เป็นส่วนแบ่งรางวัลจากการปล้นเสบียงจากเกาะข้างเคียงมาเสริมทัพ สามคือ คาสซานดรา (Cassandra) ธิดาของกษัตริย์ พริอัม (Priam) แห่งทรอย ซึ่งถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในวิหารอะพอลโล จริงๆ โผล่มามีบทบาทในช่วงหลังๆ แต่บทนั้นก็ถูกตัดไปในหนัง

ไครซีอิสนั้น อะกาเมมน็อนได้ไปในส่วนแบ่งของตัวเองในการชิงเสบียง แต่พ่อของนางสวดอ้อนวอนอะพอลโลให้ช่วย อะพอลโลบีบบังคับทัพกรีกจนต้องยอมส่งนางคืน ทำให้อะกาเมมน็อนพยายามทวงส่วนแบ่งของตัวใหม่ โดยไปเอานางไบรซีอิสที่เป็นส่วนแบ่งของอะคิลีสมาแทน ทำให้อะคิลีสไม่พอใจ จึงถอนตัวจากสนามรบ แถมยังขอให้เทพี เทติส (Thetis) ผู้เป็นมารดา ให้ไปช่วยอ้อนวอนมหาเทพ ซูส (Zeus) ให้เข้าข้างทรอยเสียด้วย

ทำไมน้อ.. สงครามมหากาพย์อันลือลั่นทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสงครามกรุงทรอย มหาภารตะ รามายณะ ล้วนแล้วแต่มีอิสตรีเป็นชนวนทั้งสิ้น

ส่วนเรื่องของหนัง.. สรุปว่าดูแล้วก็ทำให้อ่านหนังสือสนุกขึ้นอีกนิด แต่ก็ไม่ได้อารมณ์ในหลายๆ อย่าง กับความเป็นหนังแอคชันฟอร์มยักษ์ ซึ่งก็เป็นปกติของหนังทำนองนี้

2 ความเห็น:

  • 17 พฤษภาคม 2547 เวลา 14:56 , Blogger Beamer User แถลง…

    มันมีสองเรื่องไม่ใช่เหรอ เรื่องที่เป็นเฉพาะมนุษย์ (ผมเคยอ่าน ตอน ม. 3 ไม่พูดถึงเทพเจ้าเลย) กับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้า (ไม่เคยอ่าน)

    นี่เป็นตัวอย่างว่าหนังอิงประวัติศาสตร์ ถ้าเราไม่อ่านเนื้อเรื่องไปก่อนแล้วลองตีความ เรา
    จะดูหนังอย่างนี้ไม่รู้เรื่องและไม่สนุกเลย คือเทพอ่านเนื้อเรื่องแล้วเข้าใจแล้วจึงดูสนุกขี้น
    และถ้ากลับไปอ่านหนังสือยิ่งสนุก ทำให้นึกถึงคนที่ดูสุริโยทัยแล้วหลับ ไม่รู้เรื่อง จะมีซักกี่คนที่เข้าใจว่าตอนพระเจ้ายอดฟ้าขึ้นสวมมงกุฎ กรุงศรีอยุทยาเกิดแผ่นดินไหว

     
  • 17 พฤษภาคม 2547 เวลา 15:27 , Blogger Thep แถลง…

    เอ.. ผมไม่เคยอ่านเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเทพเจ้านะครับ อ่านแต่ Iliad + Odyssey ซึ่งก็มีเทพเจ้าตลอดเรื่อง (จริงๆ ยังมีเรื่องที่กวีคนอื่นๆ ที่แต่งเสริมจากสองเรื่องนี้อีก เช่น เรื่องเกี่ยวกับ The judgement of Paris แต่ตรงนั้นผมอ่านจากการเรียบเรียงของ Edith Hamilton อีกที แต่สรุปว่ามีเทพเจ้าทุกเรื่อง)

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem