Theppitak's blog

My personal blog.

16 พฤษภาคม 2547

แมงกับแมลง

"แมงมีแปดขา แมลงมีหกขา" ครูเคยสอน จำได้ เกมเศรษฐียังเคยเอามาทายเล่น แต่วันนี้เกิดระลึกถึงหนังสือเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของ นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ที่เคยอ่าน เอามาพลิกดูอีกทีแล้วโน้ตไว้ก็ไม่เลว

ชื่อหนังสือคือ ถึงอย่างไรก็อยู่กันมาได้ ในนั้นอัดแน่นด้วยเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องหมอตำแย การปลูกเรือนไทย ความรู้เรื่องลม ฯลฯ แต่ด้วยความที่ท่านเป็นคนเพชรบุรี ก็เลยมีเรื่องของเพชรบุรีมากหน่อย ในบรรดาเรื่องที่เขียน มีบทหนึ่งว่าด้วยคำว่า แมง และ แมลง

เริ่มจากอ้างถึงบทความหนึ่ง วิเคราะห์ไว้ว่าคนไทยมีแนวคิดเรื่องอนุกรมวิธาน (taxonomy) โดยมีหลักฐานที่การจำแนกคำว่า แมง กับ แมลง โดยอาศัยจำนวนขา แต่ผู้เขียนได้แย้งว่า การแยกคำสองคำนี้ เป็นเรื่องทางภาษาศาสตร์มากกว่า

  • แมง กับ แมลง เป็นตัวอย่างที่นักเรียนภาษาศาสตร์รู้จัก ว่าด้วยการแยกเสียงควบ มล ซึ่งเชื่อว่าเป็นเสียงดั้งเดิมของคนพูดภาษาไทย-ลาว เช่น มลาย มล้าง เมล็ด แมลง โดยที่บางท้องถิ่นไม่สะดวกออกเสียงจึงเก็บเสียง ไว้ ในขณะที่บางถิ่นเก็บเสียง ไว้ บางถิ่นก็เก็บไว้ทั้ง และ เช่น
    • ฟ้าแมลบ บางถิ่นออกเสียงเป็น ฟ้าแมบ บางถิ่นเป็น ฟ้าแลบ
    • ตัวเมล็น มีทั้ง ตัวเม็น และ ตัวเล็น
    • มล้าง มีทั้ง ม้าง และ ล้าง
    • แมลง ก็เช่นกัน มีทั้ง แมง และ แมลง
    ซึ่งผู้เขียนตรวจสอบภาษาถิ่นใต้ดู ก็ไม่มีคำว่า แมลง มีแต่ แมง (ภาษาอีสานก็ไม่มี แมลง มีแต่ แมง เหมือนกันนะ)
  • วิธีคิดของคนไทยต่างจากตะวันตก ไม่มีเหตุผลที่คนไทยจะมานั่งนับขาแมลงเพื่อจำแนก เพราะไม่ได้มีสาระต่อการดำรงชีพ ตรงกันข้าม สิ่งที่คนไทยสนใจมากกว่าคือ อาการ
    • อ.ประเสริฐ ณ นคร ได้เคยบรรยายว่า จิ้ง กับ กิ้ง มีความหมายใกล้เคียงกัน ใช้เรียกสัตว์ที่มีอาการคลานไปกับพื้น เราจึงมีทั้ง จิ้งหรีด จิ้งเหลน กิ้งก่า กิ้งกือ ซึ่งถ้าเอามานับเข้ากับอนุกรมวิธานก็จะสับสน เพราะคนไทยสนใจที่ อาการ ไม่ใช่ลักษณะทางกายภาพ
    • ภาพเขียนแบบไทย จะไม่เป็น perspective ไม่ได้เน้นมิติใกล้ไกลเหมือนตะวันตก แต่จะเน้นที่ ความรู้สึก หรือ ความเคลื่อนไหว เช่น เน้นอารมณ์ของคนออกทางลายเส้น โดยไม่สนใจระยะใกล้ไกล คนจะตัวเท่าๆ กันหมดทุกระยะ ภาพของน้ำก็จะแสดงสัญลักษณ์ของอาโปธาตุที่เลื่อนไหล แม้จะเป็นน้ำในขันในอ่างก็ตาม
    จะเห็นว่า ความสนใจของคนไทยอยู่ต่างมิติกับตะวันตก จึงไม่น่าจะเน้นลักษณะทางกายภาพจนจำแนก แมง กับ แมลง ออกจากกันด้วยจำนวนขา
  • หลักฐานในวรรณคดี ไม่ปรากฏการแยก แมง กับ แมลง ด้วยจำนวนขา จะมีก็แต่การแยก จตุบาท ออกจาก ทวิบาท ซึ่งเป็นการแยกมนุษย์ออกจากเดรัจฉานอย่างหยาบๆ เท่านั้น

หึๆ อาจจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องที่นักชีววิทยาออกมาบอกสื่อให้เรียก ปลาวาฬ ว่า วาฬ เรียก ปลาหมึก ว่า หมึก ได้ด้วยนะ ☺

4 ความเห็น:

  • 16 พฤษภาคม 2547 เวลา 16:56 , Blogger bact' แถลง…

    เพราะสัตว์อะไรอยู่ในน้ำ ว่ายน้ำได้
    ก็เรียกว่าปลาหมด

    ?

     
  • 17 พฤษภาคม 2547 เวลา 11:45 , Blogger Thep แถลง…

    แฮะๆ ก็คิดเหมือนกันนิ แต่ก็ยังสงสัยอยู่นะ ว่าแนวคิด "แมงแปดขา แมลงหกขา" เนี่ย มาจากนักชีววิทยาหรือเปล่า หรือว่ามาจากการชำระศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานเอง

     
  • 17 พฤษภาคม 2547 เวลา 21:43 , Blogger Beamer User แถลง…

    ถึงจะเป็นการแยกด้วยวิธีไหน ถ้ามันเป็นที่เข้าใจของคนทั่วไป ผมก็คิดว่ามันน่าจะปรับ
    เปลี่ยนให้เข้าใจได้โดยทั่วไม่น่ายาก

    ปลาหมึกไม่ใช่ปลา ก็รู้กันทั่วอยู่แล้ว ไม่เห็นจะต้องมานั่งเปลี่ยนให้คนอื่นมาอ่านเป็นหมึกเลย

     
  • 16 กรกฎาคม 2550 เวลา 20:06 , Blogger yongzann แถลง…

    เรื่องที่นำเสนอนี้ให้ความรู้ที่ชัดเจน รวดเร็ว และดีมากครับ ถึงจะเข้ามาอ่านช้าไปถึง 3 ปีแต่ก็ยังคงได้รับประโยชน์อย่างมาก เสียดายที่เพิ่งเห็นและได้อ่าน
    ขอรบกวนถามอีกอย่างหนึ่งนะครับเกี่ยวกับคำอธิบายของอ.ประเสริฐเรื่อง "จิ้ง" กับ "กิ้ง" อาจารย์เขียนในหนังสือหรือบทความเรื่องอะไร เพราะอยากได้ความรู้เรื่องนี้ครับ ถ้าไม่เป็นการรบกวนนัก
    ขอบคุณมากครับ
    yong
    (http://yongzann.spaces.live.com/)

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem