สิ่งที่ชอบ-สิ่งที่ควร
อ่าน blog ของ Mk เรื่องสายวิทย์-สายศิลป์แล้ว เลยเกิดแรงบันดาลใจอยากเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่ชอบ-สิ่งที่ควรทำ ในมุมมองของผมเอง
พื้นเพของผม ถึงพ่อจะเป็นอาจารย์เทคโนฯ ราชมงคล แต่กิจการร้านค้าของแม่จะเป็นศูนย์กลางกิจกรรมทุกอย่างที่บ้าน วันหยุด ลูกๆ จะถูกเกณฑ์ให้มาช่วยหน้าร้าน ซึ่งวันๆ จะวุ่นวายมาก โดยเฉพาะกับรายการขายส่งซึ่งเป็นรายได้หลักของร้าน จะต้องจัดของตามใบสั่ง แล้วตรวจเช็กอีกครั้ง ก่อนบรรจุกล่อง มัดหีบห่อ และบางทีต้องตามไปส่งของที่คิวรถด้วย
งานหน้าร้าน จะว่าสนุกก็สนุก จะว่าน่าเบื่อก็น่าเบื่อ เพราะมันซ้ำซากทุกวัน สิ่งที่ผมสนใจมากกว่ากลับเป็นหนังสือบนชั้นของพ่อ ทั้งเมคคานิกส์ ฟิสิกส์ มันสามารถทำให้ผมขลุกอยู่ได้เป็นวัน ก่อนจะถูกขัดจังหวะให้ไปช่วยหน้าร้านอย่างไม่เต็มใจ
ความที่เป็นลูกคนโต ความคาดหวังที่จะให้ช่วยกิจการหน้าร้านดูจะมากเป็นพิเศษ การ "อู้งาน" มาอ่านหนังสือของผมจึงถูกแม่เพ่งเล็งมากเป็นพิเศษ ในบรรดาลูกๆ ของแม่ ผมจึงถูกเฆี่ยนตีหนักกว่าเพื่อน และถูกมองว่าเป็นตัวขี้เกียจของบ้าน ผมไม่รู้เหมือนกัน ว่าเวลาที่ผมได้รางวัลต่างๆ ด้านวิชาการมา แม่ดีใจกับผมบ้างไหม แต่ผมคิดเอาเองว่า ไม่มีทางที่แม่จะไม่ดีใจกับความสำเร็จของลูก ถึงแม้แม่จะเคยปฏิเสธรางวัลแม่ดีเด่นที่ทางโรงเรียนเก่าเคยเสนอให้เนื่องในวันแม่แห่งชาติก็ตาม
อย่างไรก็ดี พอโตขึ้น ผมก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่างานหน้าร้านคือ หน้าที่ ที่ควรทำ พ่อก็ค่อยๆ สอนวิธีแบ่งเวลา ผมค่อยๆ เรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ เริ่มมองหาความสนุกในงาน การจัดของตามใบสั่งกลายเป็นเกมค้นหาสินค้า ฝึกจำที่เก็บ การบรรจุกล่องเป็นเกมที่ต้องอาศัยประสบการณ์พอควร เพื่อกะประมาณขนาดกล่องที่พอดีกับปริมาณของที่วางกองบนพื้น ฯลฯ
อย่างไรก็ดี ในแง่การเรียนรู้ตัวงานแล้ว ผมทำได้แย่มากๆ เพราะใจผมไปจดจ่อแต่กับหนังสือเรียน งานหน้าร้านนั้น ผมพบว่าสิ่งที่ผมพยายามจัดการจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อยที่เป็นอุปสรรคของความรื่นเริงเท่านั้น ไม่เคยสนใจเรื่องใหญ่กว่านั้น เช่น เทคนิคการวางแผนสั่งซื้อ การเก็งตลาด การดึงดูดลูกค้า ฯลฯ แต่กับเรื่องที่ชอบ ผมสามารถคิดสร้างสรรค์อะไรได้เอง ค้นตำรา พิสูจน์สูตร derive สมการ อะไรต่ออะไร มันเป็นไปโดยธรรมชาติ
จะเป็นด้วยเวลาจำกัดเพราะต้องแอบอ่าน หรือเพราะผมไม่สนใจเองก็ไม่ทราบได้ ผมไม่เคยเห็นหนังสือที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์อยู่ในสายตาเลย หรือถ้าไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ก็ต้องเป็นตำราเรียน หนังสือนิยายถือเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ยกเว้นนิยายวิทยาศาสตร์สั้นๆ ในมิติที่ 4 หรือ update หนังสือขนาดยาวที่จะอ่านมีเพียงตำราฟิสิกส์เท่านั้น (ถ้าเป็นนิยายอาจกลายเป็นการ "อู้งาน" จริงๆ แล้วก็ติดนิสัยคิดอย่างนั้นมาเรื่อยๆ) จนกระทั่งได้อ่าน เต๋าแห่งฟิสิกส์ ของ ฟริตจอฟ คาปรา หลังจบตรีและเริ่มทำงานแล้วนั่นแหละ ถึงได้เปิดหูเปิดตาผมให้ไปสนใจหนังสือประเภทอื่นบ้าง ตอนนั้นผมตะลุยอ่านจนลืมอ่านตำราวิทยาศาสตร์ไปเป็นปี จนรู้สึกว่าความคิดได้ผิดเพี้ยน ขาดความแม่นยำไปมาก จึงได้หยุด และกลับมาอ่านตำราวิทยาศาสตร์เหมือนเดิม.. ไม่รู้แฮะ การพยายามเป็นหนอนหนังสือกลายเป็นความฝืนพอสมควร ในขณะที่การกลับไปอ่านตำราวิทยาศาสตร์ ก็ไม่ได้ความรู้สึกเหมือนเดิมอีกต่อไป..
ผมคิดว่าตัวเองอยู่ในช่วงแสวงหาดุลยภาพใหม่ให้กับประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามา แต่จุดที่สรุปได้อย่างหนึ่งสำหรับผมคืิอ ควรพยายามทำสิ่งที่รู้ตัวว่าชอบให้ได้มากที่สุด ก่อนที่จะสูญเสียทักษะที่อุตส่าห์พัฒนาขึ้นมาด้วยการแลกกับโอกาสที่เสียไปมากมาย
2 ความเห็น:
ณ 13 พฤษภาคม 2547 เวลา 09:04 , Isriya แถลง…
ดีใจจังมีคนอ้างถึง blog ผมด้วย
ปัญหาเรื่องการสืบทอดกิจการนี่ใหญ่นะครับ แถมเป็นปัญหาที่แอบซ่อนอยู่ในสังคมด้วย ใน blog อันนั้น เพื่อนที่เรียนนิเทศ บ้านทำร้านรับเหมาก่อสร้าง เป็นลูกชายคนโต (น้องสาวอีกสอง) ตอนมอห้ามอหกได้แรงกดดันสูงมากว่า ที่บ้านอยากให้เรียนบัญชีมารับช่วงต่อกิจการ
"เรียนอย่างที่ชอบ" หรือ "เรียนเพื่อทางบ้าน" เหมือนจะเป็น infinite loop เลยเนาะ ยังดีบ้านผมไม่มีกิจการ
ณ 13 พฤษภาคม 2547 เวลา 17:26 , Thep แถลง…
ขอบคุณที่ให้ความเห็นเพิ่มเติม ☺ อันที่จริง ผมก็โชคดีที่ไม่โดนบังคับเรียนตามที่ทางบ้านต้องการ เพราะพ่อค่อนข้างจะให้เสรีภาพในการคิด และพ่อจะคอยปกป้องเสรีภาพตรงนี้ให้กับพวกผม แต่ปัญหาที่เกิด มันไปอยู่ที่ชีวิตประจำวันขณะเรียนมากกว่า และตอนนี้ กิจการของแม่ก็มีอันปิดไปแล้ว พอพวกผมจบตรีกันหมดก็ต้องยืนบนลำแข้งของตัวเองกันละ ถือเป็นช่วงพักผ่อนของพ่อของแม่แล้ว ส่วนกิจการของแม่ก็ไม่มีใครคิดสืบทอดต่อ.. ตรงนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ทั่วไปในเมืองขอนแก่น เหมือนใบไม้กำลังผลัดใบไปทั้งเมือง
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก