ว่าด้วยเรื่องเมืองขอนแก่น
เมื่อสมัยเป็นเด็ก จะได้เรียนรู้ประวัติเมืองขอนแก่นจากคำบอกเล่า เกี่ยวกับตำนานพระธาตุขามแก่น ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการสร้างพระธาตุพนม เมื่อโมริยกษัตริย์โปรดให้พระอรหันต์ ๙ องค์ อัญเชิญพระอังคารของพระพุทธเจ้า ไปร่วมบรรจุที่พระธาตุพนม ระหว่างทางได้แวะพักแรม โดยอัญเชิญพระอังคารไว้ที่ตอมะขาม รุ่งเช้าจึงเดินทางต่อ แต่เมื่อไปถึง พระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว จึงอัญเชิญพระอังคารกลับมาตามทางเดิม เมื่อกลับมาถึงตอมะขามเดิม กลับพบว่ามีใบแตกยอดอ่อนออกมาจากตอมะขามที่ตายไปแล้ว เห็นเป็นอัศจรรย์ จึงพร้อมใจกันสร้างพระธาตุครอบตอมะขามนั้น และประดิษฐานพระอังคารไว้ ได้ชื่อว่าพระธาตุขามแก่น ซึ่งต่อมาเพี้ยนเป็นชื่อเมืองขอนแก่นในปัจจุบัน
ผมเชื่อตามนั้นมาตลอด จนกระทั่งได้อ่านหนังสือ บันทึก ประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น ของ อ. ประมวล พิมพ์เสน นักวิชาการเมืองขอนแก่น จะพบเรื่องที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ตำนานพระธาตุขามแก่น อาจมีการแต่งเพิ่มเติมจากเรื่องปรัมปรา แต่การโยงเข้ากับชื่อเมืองขอนแก่นว่าเป็นการเพี้ยนเสียง กลับเป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องที่เกิดจากการรณรงค์ตราสัญลักษณ์ของจังหวัด!
เมืองขอนแก่น ตั้งขึ้นในสมัย ร. ๑ โดย เพียเมืองแพน (คำว่า เพีย เข้าใจว่าเป็นยศในภาษาลาว ตรงกับคำว่า พระยา) ข้าหลวงเก่าเมืองศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ซึ่งอพยพเข้ามาในเขตแดนไทยในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกไปปราบจลาจล แล้วกวาดต้อนครัวเรือนมายังกรุงธนบุรี ซึ่งในนั้น มีนางคำแว่น บุตรีเพียเมืองแพนรวมอยู่ด้วย นางเป็นคนรูปร่างงดงาม เฉลียวฉลาด กล้าหาญ ดุดัน จึงได้รับใช้ใกล้ชิดเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จนกระทั่งขึ้นครองราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นางคำแว่นก็ได้เป็นที่สนมเอก มีฉายาจากความดุดันว่า เจ้าจอมเสือ ในขณะนั้น เพียเมืองแพนได้อพยพผู้คนมาตั้งชุมชนอยู่บริเวณข้างหนองขอนแก่น หรือบึงบอน (ปัจจุบันคือบึงแก่นนคร) มีการปกครองตนเองเป็นที่เรียบร้อย เจ้าจอมเสือจึงช่วยกราบทูลให้เพียเมืองแพนตั้งเมือง จึงโปรดเกล้าฯ มีตราตั้งมายังเพียเมืองแพน ตั้งเป็นพระนครศรีบริรักษ์ ปกครองเมืองขอนแก่น ซึ่งจะเห็นว่า เมืองขอนแก่น ได้ชื่อว่าขอนแก่นมาแต่ต้น โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระธาตุขามแก่นที่อยู่คนละพื้นที่เลย
ยังมีอีกเยอะ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติเมืองขอนแก่น รวมทั้งตำราเกี่ยวกับวรรณคดีพื้นบ้านที่ตีพิมพ์ออกมา ทั้งโดยนักวิชาการขอนแก่นและอุบลฯ หาซื้อได้ตามร้านหนังสือ เช่น ศึกษาภัณฑ์ขอนแก่น รวมทั้งแผงหนังสือที่สนามบินขอนแก่นด้วย และก็ยังมี โฮงมูนมัง ซึ่งแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองขอนแก่นอีกด้วย โฮงมูนมัง อยู่ตรงลานเอนกประสงค์ ข้างบึงแก่นนคร เปิดทุกวันเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่ ๙.๐๐ - ๒๐.๐๐ น. ค่าเข้าชม เด็ก ๑๐ บ. ผู้ใหญ่ ๒๐ บ. (เก็บถูกจัง จะพอค่าแอร์ ค่า VDO มั้ยนี่) เวิร์กจริงๆ เทศบาลชุดนี้ คนขอนแก่นอ่านกันแล้ว เมือบ้านกันเถาะ ^_^
0 ความเห็น:
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก