FOSS กระยาจก
อั้งชิกกง หัวหน้าพรรคกระยาจก ต้องใส่เสื้อใหม่สลับเสื้อเก่าเดือนเว้นเดือน ก็เพราะลูกพรรคกระยาจกแตกแยกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายเสื้อสะอาดกับฝ่ายเสื้อโสโครก อันธรรมดานั้น เป็นขอทานก็ต้องมอมแมม แต่พอขอทานรวมตัวกันเพื่อทำประโยชน์ต่อสังคม พรรคกระยาจกก็กลายสภาพเป็นองค์กรสังคมสงเคราะห์ มีโครงสร้างองค์กรเป็นชั้นๆ มีสมาชิกที่ไม่ใช่ยาจกแท้ๆ มาเข้าร่วมมากมาย พวกที่มาใหม่ก็พยายามมาปฏิวัติองค์กร ไม่ยอมแต่งมอมแมมเยื่ยงขอทาน เปลี่ยนรูปแบบองค์กร ตามสภาพเงื่อนไขที่เปลี่ยนไป
ฟังแล้วคุ้นบ้างไหม? แรกๆ นั้น วัฒนธรรม FOSS (Free/Open Source Software) เกิดจากสังคมแฮกเกอร์ ชอบเจาะโปรแกรมเพื่อทำให้มันใช้งานได้ดี แล้วก็แบ่งปันกันในหมู่แฮกเกอร์ ทำให้โปรแกรมมีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ
มาวันนี้ FOSS ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธต่อต้านมองโกล เอ้อ.. ซอฟต์แวร์ผูกขาด ใช้ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้มีเทคโนโลยีทางเลือกที่เปิดกว้างกว่า มาวันนี้ สังคม FOSS จึงประกอบด้วยสมาชิกใหม่ที่ไม่ใช่สังคมแฮกเกอร์เหมือนเดิมแล้ว ซอฟต์แวร์ถูกคาดหมายให้ user-friendly ให้รองรับความต้องการของ end-user ฯลฯ ผู้ผลิตเชิงพาณิชย์เข้ามาร่วมมากขึ้น ในประเทศกำลังพัฒนานั้น รัฐก็ต้องเข้ามาจัดการแบบ "บนลงล่าง"
ท่ามกลาง เงื่อนไขที่เปลี่ยนไป นี้ สังคม FOSS จึงเกิดการแตกกลุ่มซับซ้อน มีทั้งฝ่ายที่อยากใช้ง่ายอย่างเดียว ไม่สนใจซอร์สโค้ดหรือเสรีภาพ และฝ่ายที่ยังอยากให้ความสำคัญของปรัชญา FOSS มีทั้งฝ่ายเร่งรัดงานตามกำหนดเวลาค่าจ้าง และฝ่ายที่ "just for fun" มีทั้งฝ่ายที่กระเหี้ยนกระหือรือจะช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดกับ proprietary โดยทำให้ลินุกซ์เหมือนกับซอฟต์แวร์ยอดนิยมให้มากที่สุด และฝ่ายที่พยายามใช้ลินุกซ์ในฐานะที่มันเป็นลินุกซ์ ฯลฯ
สมมุติกันเล่นๆ ถ้าคุณเป็น อั้งชิกกง ในเวลานี้ คุณจะทำอย่างไร? หรือถ้าคุณอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ระหว่างเสื้อสะอาดกับเสื้อโสโครก คุณจะมีแนวทางอย่างไร?
0 ความเห็น:
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก