Theppitak's blog

My personal blog.

27 พฤษภาคม 2547

Venus Transit

ไม่ตามเรื่องนี้ไม่ได้แล้ว สื่อประโคมข่าวมากพอๆ กับตอนเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเลย คือดาวศุกร์จะเคลื่อนผ่านหน้าดวงอาทิตย์วันที่ 8 มิ.ย. นี้ สังเกตได้ที่ประเทศไทยตอนบ่าย กินเวลาประมาณ 6 ชั่วโมง

ที่โปรโมทกันขนาดนี้ก็สมควรอยู่ เพราะครั้งสุดท้ายที่เกิดปรากฏการณ์นี้ ก็คือเมื่อ 122 ปีที่แล้ว ตอนที่กัปตันเจมส์ คุก (James Cook) เดินทางมาสังเกตปรากฏการณ์ที่เกาะตาฮิติ แล้วเลยต่อมาเจอเกาะฮาวาย จนถึงออสเตรเลีย (สื่อบางคนถึงกับเขียนว่า ถ้าไม่ใช่เพราะ Venus transit ในครั้งนั้น ป่านนี้ออสเตรเลียอาจพูดภาษาฝรั่งเศสไปแล้วก็ได้ บ้างก็ว่า เป็นครั้งแรกที่ดาราศาสตร์ทำให้เกิดความร่วมมือทั่วโลก) 122 ปี ก็แปลว่า ไม่มีใครที่ยังมีชีวิตอยู่ได้เคยเห็นปรากฏการณ์นี้เลย

Venus transit เกิดขึ้นทุกๆ ประมาณ 120 ปี และจะเกิดคราวละสองครั้ง เป็นปรากฏการณ์คู่แฝด คือถ้าพลาดครั้งนี้ อีก 8 ปีข้างหน้าจะมีอีก ใน พ.ศ. 2555 แล้วก็รอไปอีก 105 ปี ถึงจะเกิดอีกครั้ง ใน พ.ศ. 2660 และ 2668 การคำนวณคาบการเกิด ก็คำนวณจากคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์ทั้งสอง โดยดาวศุกร์โคจรรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลาประมาณ 225 วัน ส่วนโลกประมาณ 365 วัน ซึ่งดาวศุกร์จะน็อกรอบโลกทุกๆ 225 / (365 - 225) ≈ 1.607 ปี แต่เนื่องจากระนาบวงโคจรของดาวศุกร์ เอียงทำมุมประมาณ 3 องศากับของโลก เศษ 0.607 ปีจึงทำให้จุดน็อกรอบไม่อยู่ที่จุดตัดระนาบ เลยไม่เกิด transit แต่เมื่อน็อกรอบกัน 5 ครั้ง จะทำให้เศษเหลือ 0.035 ซึ่งตำแหน่งที่ต่างระนาบยังไม่เกินขนาดดวงอาทิตย์ เลยเกิดปรากฏการณ์อีกครั้ง โดย transit ที่คนละส่วนของดวงอาทิตย์ การน็อกรอบ 5 ครั้งก็คิดเป็นเวลาประมาณ 5 × 1.607 ≈ 8 ปีนั่นเอง ต่อจากนั้นก็อีกหลายรอบกว่าจะมาน็อกรอบกันที่จุดตัดระนาบอีก

เอ็ดมันด์ ฮัลลีย์ (Edmund Halley) เป็นผู้เสนอให้ใช้ประโยชน์จาก Venus transit ในการคำนวณระยะจากโลกถึงดวงอาทิตย์ โดยอาศัยหลักการ พารัลแลกซ์ (Parallax) ด้วยการสังเกต Venus transit ที่ตำแหน่งที่ต่างกันบนโลก แล้วคำนวณระยะจากตำแหน่งที่ต่างกัน เหมือนกับที่เราสามารถรับรู้ความลึกของภาพได้จากความต่างของภาพในตาทั้งสอง

ครั้งนี้ ที่ที่สังเกตได้อยู่ในเอเชีย แอฟริกา และยุโรป หอดูดาวยุโรปซีกฟ้าใต้ (ESO) ร่วมกับอีกหลายๆ หน่วยงาน เลยจัดโครงการ VT-2004 (VT = Venus Transit) ให้นักเรียนทั่วโลกร่วมกันเก็บข้อมูลเพื่อคำนวณระยะระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ในเมืองไทย โครงการการเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ของ หอดูดาวเกิดแก้ว เป็นตัวกลางประสานงาน

โอ้ย อีก 12 วันแค่นั้น.. จะหาอุปกรณ์ทันไหมนี่? ไม่ได้อยากเก็บข้อมูลกับเขาหรอก แต่อยากร่วมดูอะ เดี๋ยวถามๆ แถว มข. ดีกว่า งานนี้เขาน่าจะตั้งกล้องล่ะน่า จะดูถ่ายทอดทางเว็บก็ไม่ไหว เน็ตอืดตายชัก ☹

2 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem