Theppitak's blog

My personal blog.

24 พฤษภาคม 2547

ศัพท์ Iliad

กลับมาที่เรื่องทรอยอีกสักหน่อย รวมคำศัพท์ที่มีที่มาจากมหากาพย์ Iliad:

Achilles' heel
น. เรื่องเล็กๆ แต่เป็นจุดอ่อนสำคัญของบุคคล
ธีทิส (Thetis) สมุทรเทวีปรารถนาจะให้ อะคิลลีส (Achilles) บุตรของนางอันเกิดกับ พีลีอัส (Peleus) ผู้เป็นมนุษย์ ได้เป็นอมตะเหมือนนาง จึงได้ชุบตัวอะคิลลีสในแม่น้ำ สติกซ์ (Styx) ในยมโลก แต่ในการชุบตัวนี้ มีส่วนข้อเท้าที่นางใช้มือจับที่ไม่ถูกชุบ ดังนั้น จุดนี้จึงกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้อะคิลลีสถูกฆ่าในสนามรบ ด้วยน้ำมือของเทพอะพอลโล ผ่านการยิงศรโดยปารีส โดยเล็งที่ข้อเท้า
∴ การที่อะคิลลีส วีรบุรุษผู้เก่งกล้าที่สุดของฝ่ายกรีก ถูกฆ่าเพราะจุดอ่อนเล็กๆ นี้ คำว่า “ส้นเท้าอะคิลลีส” หรือ “Achilles' heel” จึงกลายเป็นสำนวนใช้เรียกจุดอ่อนเล็กๆ ของบุคคล ที่กลายเป็นจุดสำคัญให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงได้
Cassandra
น. ผู้พยากรณ์เหตุร้าย
คาสซานดรา (Cassandra) เป็นธิดาของกษัตริย์ พริอัม (Priam) และราชินี เฮกคิวบา (Hecuba) แห่งทรอย โดยเป็นฝาแฝดกับ เฮเลนัส (Helenus) โหรประจำกองทัพทรอย ความงามของคาสซานดราทำให้เทพอะพอลโลหลงรัก จึงได้ให้พรนางให้มีความสามารถในการทำนายอนาคตอย่างแม่นยำ โดยแลกกับการมีไมตรีตอบ แต่นางก็ได้ปฏิเสธเทพอะพอลโลในนาทีสุดท้าย โดยที่อะพอลโลไม่สามารถเรียกพรที่ให้ไปแล้วคืนได้ จึงได้สาปให้ไม่มีใครเชื่อคำทำนายของนาง ในสงครามกรุงทรอย คาสซานดราได้ทำนายล่วงหน้า ว่าทรอยจะแตก ขุนศึกจะถูกฆ่าฟันล้มตาย และนางเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านการลากม้าไม้เข้าเมือง แต่ทุกคนหัวเราะเยาะและไม่มีใครเชื่อนาง จนกระทั่งกรุงทรอยแตกในที่สุด คาสซานดราก็ถูกอะกาเมมนอนกวาดต้อนกลับไปยังนคร ไมซีนี (Mycenae) และจบชีวิตที่นั่น
∴ ปัจจุบัน คำว่า Cassandra กลายเป็นคำเรียกผู้ที่มักทำนายหายนภัยล่วงหน้า เช่น นักเศรษฐศาสตร์ที่มักพยากรณ์เศรษฐกิจในแง่ร้ายเสมอๆ
hector
ก. ข่มขู่บังคับ
เฮกเตอร์ (Hector) เป็นราชบุตรองค์โตของกษัตริย์ พริอัม (Priam) และราชินี เฮกคิวบา (Hecuba) แห่งทรอย เฮกเตอร์เป็นวีรบุรุษที่เก่งกล้าสามารถที่สุดของฝ่ายทรอย นับเป็นบุคคลในอุดมคติที่สุดในเรื่องอิเลียด ในบุคลิกกล้าหาญ เสียสละเพื่อชาติ รักเกียรติศักดิ์ศรี ใจกว้าง เป็นพ่อและสามีที่ดี ในสนามรบนั้น ความห้าวหาญของเขาทำให้เขาได้ฉายาว่า จอมสยบอาชา (Tamer of horses) ใครได้เข้าใกล้เขาไม่มีใครไม่สะท้านกลัว แม้แต่อะคิลลีสเอง
∴ เมื่อ hector กลายเป็นคำกริยาในปัจจุบัน จึงมีความหมายว่า ข่มขู่ให้กลัว
laconic
ว. (คำพูด) สั้นห้วน ได้ใจความ
∵ คำนี้ไม่ได้มาจากอิเลียดโดยตรง แต่เกี่ยวเนื่องกับเมือง สปาร์ตา (Sparta) ที่อยู่ในแคว้น ลาโคนิกา (Laconica) หรือเรียกในภาษาโรมันว่า ลาโคเนีย (Laconia) คำว่า ลาโคนิกา มาจากคำกรีก Lakonikos แปลว่าการประหยัดถ้อยคำ มีเรื่องเล่าถึงการพูดน้อยต่อยหนักของชาวสปาร์ตาว่า ครั้งหนึ่ง กษัตริย์ฟิลิปแห่งมาเซดอน (Phillip of Macedon) บิดาของพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราช ได้เคยส่งจดหมายข่มขู่ชาวสปาร์ตาว่า ถ้าบุกลาโคเนียได้ จะเผานครสปาร์ตาให้เป็นจุณ ชาวสปาร์ตาอ่านเสร็จก็ร่างจดหมายตอบไปสั้นๆ ว่า “ถ้า” (If) คำเดียว
∴ ความสั้นห้วน แต่ได้ใจความ จึงแทนด้วยคำวิเศษณ์ว่า laconic
myrmidon
น. ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัดโดยไม่สงสัย
∵ ทหารจากเมือง เธสซาลี (Thessaly) ที่ติดตามอะคิลลีสมารบทรอย เป็นชาว เมอร์มิดอน (Myrmidones) ซึ่งตามตำนานเกิดจากมด จึงเชื่อฟังคำสั่งนายทัพอย่างไม่สงสัย แม้การถอนตัวจากสนามรบของอะคิลลีสจะทำให้เพื่อนร่วมชาติล้มตายมากมายก็ตาม
∴ myrmidon จึงมีความหมายถึงผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีลักษณะเช่นนี้ ตัวอย่างเช่น ทหารนาซีที่ปฏิบัติการฆ่ายิวตามคำสั่งฮิตเลอร์อย่างไม่สงสัย
nestor
น. ผู้คร่ำหวอดแห่งวงการ
เนสเตอร์ (Nestor) ราชาแห่ง ไพลอส (Pylos) คือผู้มีอาวุโสที่สุดในบรรดากษัตริย์ในกองทัพพันธมิตรกรีก ในวัยหนุ่ม เนสเตอร์เป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถ และความรอบรู้ในการศึกก็พัฒนามากขึ้นตามอายุ รวมทั้งชั้นเชิงด้านการพูดด้วย เขาจึงเป็นผู้ให้คำแนะนำที่รอบคอบแก่อะกาเมมนอนเสมอๆ ในอิเลียด โฮเมอร์บรรยายว่าเขาฉลาดยิ่งกว่า โอดีสซูส (Odysseus) ผู้ออกอุบายกลศึกม้าไม้เสียอีก
∴ คำว่า nestor ในปัจจุบัน จึงหมายถึงผู้คร่ำหวอดในวงการหนึ่งๆ ซึ่งสามารถให้คำแนะนำที่ดีแก่ผู้อื่นได้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องพูดเก่งเหมือนเนสเตอร์แห่งไพลอส
palladium
น. ธาตุอันดับที่ 46 สัญลักษณ์ Pd
พัลลัส (Pallus) คือชื่อสกุลของ พัลลัส อะธีนา (Pallus Athena) หรือ อะธีนา (Athena) เทพีแห่งนักรบและสรรพวิชาการ ธิดาแห่งมหาเทพ ซูส (Zeus) ที่เรารู้จักนั่นเอง ในสงครามกรุงทรอยช่วงท้าย หลังจากที่อะคิลลีสต้องศรตายในสนามรบ อะแจ๊กซ์คลั่งตาย และปารีสถูกศรเฮอร์คิวลีสที่ยิงโดย ฟิลอกทีทีส (Philoctetes) ตายแล้ว ทรอยก็ยังยืนหยัดอยู่ได้แม้ไร้เฮกเตอร์ ทัพกรีกสืบทราบมาว่า เป็นเพราะรูปสลัก พัลลาเดียม (Palladium) ของเทพีอะธีนานั่นเอง ที่ปกป้องคุ้มภัยทรอยอยู่ แม้อะธีนาเองจะโปรดปรานฝ่ายกรีกอยู่ก็ตาม ดังนั้น โอดีสซูส (Odysseus) และ ไดโอมีดีส (Diomedes) จึงอาสาลอบเข้าไปขโมยพัลลาเดียมออกมา จากนั้นจึงเริ่มวางแผนเผด็จศึกด้วยกลศึกม้าไม้
∴ เมื่อมีการค้นพบแถบดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี มีการตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยแต่ละดวงด้วยชื่อเทพเจ้ากรีก (ในขณะที่ชื่อดาวนพเคราะห์จะใช้ชื่อเทพเจ้าโรมัน) และดวงแรกๆ ที่พบ และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสอง ก็ได้รับการขนานนามว่า พัลลัส (Pallus) ในปี 1803 และในปีเดียวกันนั้นเอง ก็มีการค้นพบธาตุใหม่ เป็นโลหะสีขาวมันวาว ก็เลยตั้งชื่อธาตุใหม่ว่า พัลลาเดียม (Palladium) เพื่อเป็นเกียรติแก่การพบดาวเคราะห์น้อยด้วย
spartan
ว. (ความเป็นอยู่) เรียบง่าย แต่เคร่งครัด และกระเบียดกระเสียน
∵ นคร สปาร์ตา (Sparta) ของกษัตริย์ เมเนเลอัส (Menelaus) นั้น ขึ้นชื่อในด้านความเป็นอยู่ที่เข้มงวดของชาวเมือง เพื่อเตรียมพร้อมกับศึกสงครามอยู่ตลอดเวลา มีการฝึกทหารไม่ขาด กินในโรงอาหารรวม เด็กก็เติบโตในโรงเลี้ยงเด็กรวม โดยไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย
∴ คำว่า spartan จึงใช้บรรยายสภาพความเป็นอยู่แบบง่ายๆ ไร้สิ่งอำนวยความสะดวก แต่เคร่งครัดในวินัยเหมือนทหาร และบางครั้งใช้เรียกความเป็นอยู่ในคอมมูนในระบบคอมมิวนิสต์ด้วย
stentorian
ว. (เสียงพูด) กัมปนาท ดังก้อง
สเตนเตอร์ (Stentor) เป็นนักรบฝ่ายกรีกในสงครามกรุงทรอยที่มีเสียงดังเทียบเท่าทหาร 50 คนรวมกัน จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ส่งข่าวในกองทัพ (นอกเหนือจาก แอนทิโลคัส (Antilochus) บุตรชายของเนสเตอร์ ผู้มีฝีเท้าว่องไว) ในห้วงแห่งการศึก มีครั้งหนึ่งที่ฝ่ายทรอยกำลังเป็นต่อ เนื่องจาก อารีส (Ares) เทพเจ้าแห่งสงครามมาช่วยฝ่ายทรอยรบ เทพี ฮีรา (Hera) และ อะธีนา (Athena) เห็นสถานการณ์ฝ่ายกรีกไม่ดี จึงขอราชานุญาตจาก ซูส (Zeus) ผู้เป็นใหญ่ขอลงมาช่วยฝ่ายกรีกบ้าง ซูสก็อนุญาต ฮีราได้แปลงเป็นขุนศึกสเตนเตอร์เข้ามาในสนามรบ ตะโกนปลุกความฮึกเหิมแก่ทหารกรีก ส่วนอะธีนาก็ไปช่วยไดโอมีดีสรบกับอารีส จนเทพอารีสต้องหอกไดโอมีดีสบาดเจ็บล่าถอยไป กองทหารกรีกที่ฮึดสู้ขึ้นมาจึงตีทรอยถอยร่นไป จนในที่สุด เฮกเตอร์ต้องออกมาท้าดวลกับทหารกรีกตัวต่อตัวเพื่อให้ทหารได้พัก ซึ่งคนที่ออกมาดวลกับเฮกเตอร์ก็คือ อะแจ๊กซ์ (Ajax)
∴ คำว่า stentorian จึงใช้กับเสียงพูดที่ดังก้องกังวาน สามารถได้ยินแต่ไกล
Trojan horse
น. การโจมตีจากภายในโดยหลอกล่อให้นำเข้าไปเอง
∵ หลังจากตีกรุงทรอยถึงเกือบสิบปีก็ไม่แตก ในที่สุด โอดีสซูส (Odysseus) ก็เกิดพุทธิปัญญา เสนอกลศึกม้าไม้อันลือชื่อ ด้วยการสร้างม้าไม้ขนาดใหญ่ ข้างในกลวง ภายในซ่อนทหารกรีกไว้ แล้วให้กองเรือถอยไปซ่อนตามเกาะต่างๆ วันรุ่งขึ้น ทหารทรอยเห็นบริเวณที่พักทัพกรีกเหลือแต่ชายหาดโล่งๆ เรือก็ไม่เหลือสักลำ จึงมาสำรวจ พบม้าไม้ตัวใหญ่ตั้งอยู่โดดเดี่ยว และ ไซนอน (Sinon) ทหารที่โอดีสซูสทิ้งไว้พร้อมแผนการณ์หลอกล่อ ไซนอนถูกจับเข้าไปเฝ้า พริอัม (Priam) เขาสร้างเรื่องบอกว่าขอแปรพักตร์เข้ากับฝ่ายทรอย เพราะการขโมยพัลลาเดียมทำให้อะธีนาพิโรธ และลงโทษกองทัพกรีก โดยทางเดียวที่จะชดเชยความผิดได้ คือการบูชายัญมนุษย์ และเขาก็คือผู้ถูกเลือก แต่ได้หลบหนี ทำให้อะธีนาลงโทษอีก จนทัพกรีกต้องล่าถอยกลับบ้าน แต่เพื่อให้อะธีนาคลายพิโรธ จึงได้สร้างม้าไม้ไว้ถวาย แต่ได้สร้างให้ใหญ่โตสูงกว่าประตูเมืองทรอย เพื่อไม่ให้ทรอยชักลากเข้าไปได้ เพราะมิฉะนั้น อะธีนาจะคุ้มครองฝ่ายทรอยอีก ในทางตรงข้าม ถ้าทรอยทำลายม้าไม้ ก็จะทำให้อะธีนาพิโรธฝ่ายทรอยแทน พริอัมเชื่อสนิท และสั่งทหารชักม้าไม้เข้าเมืองโดยพังประตูเมืองเสีย แม้จะมีคำทำนายของ คาสซานดรา (Cassandra) ว่าทรอยจะพินาศ และมีนักบวช เลออคโคออน (Laocoön) มาทัดทาน แต่ก็ปรากฏว่า โพไซดอน (Poseidon) ราชันย์แห่งท้องทะเลผู้เข้าข้างทัพกรีก ได้ส่งงูมารัดเลออคโคออนและลูกชายจนตาย แล้วเลื้อยหายเข้าไปในวิหารอะธีนา ยิ่งทำให้พริอัมมั่นใจที่จะชักม้าไม้เข้าเมือง และเลี้ยงฉลองชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ จนเมื่อตกดึก ทหารและชาวเมืองต่างหลับใหล ทหารกรีกในม้าไม้จึงทยอยออกมา ส่วนหนึ่งวิ่งไปเปิดประตูเมือง และส่งสัญญาณให้กองเรือที่เคลื่อนออกจากที่ซ่อนมารอให้เข้าตี อีกส่วนหนึ่งก็เที่ยวจุดไฟเผาเมือง ฆ่าทหารและชาวเมืองเป็นว่าเล่น ทัพกรีกชนะทรอยได้ในคืนเดียว หลังจากรบในสนามรบมาเกือบสิบปี ความห้าวหาญของขุนศึกอย่างอะคิลลีส อะแจ๊กซ์ หรือไดโอมีดีส หาสู้ลิ้นของไซนอนคนเดียวไม่
∴ การโจมตีจากภายในโดยหลอกล่อให้นำเข้าไปเองในลักษณะนี้ จึงถูกขนานนามว่า ม้าโทรจัน (Trojan horse) เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่โฆษณาให้เชื่อในประโยชน์ ทำให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดลงเครื่องด้วยตัวเอง แต่เมื่อทำงานแล้ว กลับสร้างความเสียหายแก่ระบบและข้อมูล โดยอาจเปิดประตูกลไว้ให้โปรแกรมส่วนอื่นเข้าโจมตีระบบทางอื่นได้อีกด้วย

อ้างอิง:

  1. Edith Hamilton. Mythology. Mentor, Penguin Books. 1969.
  2. นายตำรา ณ เมืองใต้ แปล. อัลเฟรด เจ. เชิร์ช เล่าความ. โฮเมอร์ แต่ง. อีเลียด (ILIAD). ดอกหญ้า. 2536 (1993).
  3. William Smith. Classical Dictionary. Wordsworth. 1996.
  4. Mary Wood Cornog. Merriam Webster's Vocabulary Builder. Merriam-Webster. 1994.
  5. Webster's Encyclopedic Unabridged Dictionary of the English Language. Merriam-Webster. 1989.
  6. นพพร สุวรรณพานิช. สันติ อิศโร. พจนานุกรม อังกฤษ-ไทย ฉบับตำนานคำ. สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก. 2542 (1999).

6 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem