Theppitak's blog

My personal blog.

30 มิถุนายน 2547

Opensource Conflicts

วันนี้แปล Homesteading ต่อได้อีก 3 ตอน ชดเชยเมื่อวานที่เบี้ยวได้ 1 ตอน ทั้งสามตอนเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อขัดแย้งในโครงการโอเพนซอร์ส และวิธีการยุติ

  • “Causes of Conflict” สรุปประเภทของข้อขัดแย้งมา 4 ข้อ คือ เรื่องผู้มีอำนาจตัดสินใจ, เรื่องเครดิต, เรื่องการฟอร์กและเวอร์ชันเถื่อน, และเรื่องทางเทคนิค จากนั้นก็เกริ่นถึงบทบาทของจารีตประเพณี ต่อการยุติข้อขัดแย้ง
  • “Project Structures and Ownership” ลงลึกอีกนิดเกี่ยวกับจารีตประเพณีเรื่องการถือครองโครงการ ซึ่งมีผลต่อการยุติข้อขัดแย้ง โดยในโครงการที่ใหญ่ จะมีลำดับชั้นของอำนาจและความรับผิดชอบแบบต่างๆ และพูดสนับสนุนแบบ benevolent dictator ว่าเหมาะกับโครงการกลุ่ม
  • “Conflict and Conflict Resolution” ว่าด้วยวิธียุติข้อขัดแย้ง มีหลักที่สรุปสั้นๆ สองข้อคือ อำนาจมาตามความรับผิดชอบ และ seniority (หมายถึงคนที่ contribute มาก ไม่ใช่อายุมาก) และถ้าสองข้อนี้ยุติไม่ได้ ก็ให้อาศัยประกาศิตจาก benevolent dictator (project leader)

เอาบทความที่แปลอยู่นี้ (ยังไม่ได้ลบข้อความภาษาอังกฤษออก) ขึ้นเว็บไว้ เผื่อใครสนใจช่วยตรวจคำแปล แต่บอกก่อนว่าไม่ได้ tag encoding เป็น TIS-620 ไว้ เพราะยังมีปัญหากับการ convert DocBook file เป็น HTML ภาษาไทยอยู่ ดังนั้น เวลาเปิด อาจจะต้องเลือก encoding ด้วย

วันนี้พยายามย้าย homepage ที่ LTN จาก /thep เป็น /~thep ตามนโยบายใหม่ ยังไม่เรียบร้อยดี เลยยังลบของเดิมไม่ได้

29 มิถุนายน 2547

Noosphere and Zoology

เมื่อวานกับวันนี้แปล Homesteading ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย คือได้วันละตอนเท่านั้น เนื่องจากมีกิจส่วนตัวมาแทรกเล็กน้อย และเมื่อวานก็จัดการคอมไพล์ GNOME CVS ด้วย jhbuild มีการแก้ปัญหาเรื่องคอมไพล์พอประมาณ (ตามประสา CVS snapshot ซึ่งไม่ใช่ stable release)

  • “How Fine a Gift?” กล่าวถึงเกณฑ์การให้คุณค่าแก่งานชนิดต่างๆ ว่าทำงานอย่างไหน ได้เครดิตอย่างไร โดยสรุปเป็นเกณฑ์ 6 ข้อ คือ ถ้าเป็นรุ่น 1.0 แล้วทำอะไรไม่ได้ ก็โดนโห่ (ต่างกับ proprietary ที่รุ่น 1.0 แปลว่า ยังไม่ชัวร์อย่าแตะ), งานนวัตกรรมได้เครดิตดีกว่างานที่ซ้ำกับของเดิม, งานที่ได้รวมใน major distro ดีกว่างานที่ไม่ได้รวม, คุณภาพงาน วัดที่จำนวนผู้ใช้, อุทิศให้กับงานยากและน่าเบื่อ คนยกย่องกว่าเลือกแฮ็กแต่ของง่ายๆ สนุกๆ, และ การเพิ่ม feature มักได้เครดิตมากกว่าการแก้ bug (แต่สองข้อสุดท้ายเงื่อนไขค่อนข้างซับซ้อน ต้องอ่านอธิบายเพิ่มเติม) ปิดท้ายด้วยการอธิบายถึงการพิจารณาเงื่อนไขหลายข้อร่วมกัน
  • “Noospheric Property and the Ethology of Territory” เปรียบเทียบเรื่องทรัพย์สินใน noosphere ของโครงการโอเพนซอร์ส กับพฤติกรรมการประกาศถิ่นของสัตว์ เป็นการวิเคราะห์จิตวิทยาและสังคมวิทยา โดยอาศัยสัตวศาสตร์ หลายซับหลายซ้อนเอาการ ก่อนจะย้อนกลับมาอธิบายความสำคัญของการสร้างเว็บไซต์โครงการ แต่การประยุกต์ที่ลึกกว่านั้นจะอยู่ในหัวข้อถัดไป ว่าด้วยเรื่องข้อขัดแย้งและวิธียุติข้อขัดแย้ง ในโครงการโอเพนซอร์ส

อ่าน:

  • The new Gimp Fire Tutorial ทำเปลวไฟด้วย GIMP ไปเจอที่ gnomedesktop.org เมื่อวาน
  • art.gnome.org กลับมาเต็มๆ แล้ว
  • The “Noosphere” Concept อ่านเสียหน่อย เผื่อจะได้ไอเดียคำแปลของคำว่า “noosphere” ดูจากรากศัพท์ “noosphere” (อ่านว่า “โนโอสเฟียร์”) มาจากคำกรีก “noos, nous” = mind และ “sphaira” = globe ก็แปลได้ประมาณว่า “โลกแห่งความคิด” อาจจะบัญญัติว่า “มโนโลก” ได้? :-P ส่วนแนวคิดของ เว็บที่มา พูดถึงการสร้างเครือข่ายความรู้ของโลก ว่าเป็นยุคถัดจากที่ biosphere ได้เจริญมาในโลก อ่านแล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่

28 มิถุนายน 2547

Chores for ICT Generation

รวมกิจวัตรอันน่าเบื่อของคนยุค ICT

  • เติมเงินโทรศัพท์มือถือ ไอ้ที่เรียกว่าระบบ pre-paid “จ่ายเท่าที่ใช้” ก็กลายเป็น “ใช้เท่าที่จ่าย” คือถ้าใช้ไม่หมด มันก็ทบไปเรื่อยๆ ทุกเดือน ไม่เติมก็ไม่ได้ จนเครดิตมันพอกเป็นพัน ซึ่งก็เป็นภาระให้ต้องหาทางใช้ให้คุ้ม → demand เทียม

    พอดีใช้ Happy DPrompt อยู่ เห็นออก baby SIM มา น่าจะเหมาะกับคนไม่ค่อยโทรอย่างผม แต่พอไปถามศูนย์ฯ ว่าจะเปลี่ยนเป็น baby SIM โดยใช้เบอร์เดิมได้ไหม เขาบอกไม่ได้ ต้องใช้เบอร์ใหม่ (อะไรกัน ในทางเทคนิค มันก็แค่แก้ database ไม่ใช่เหรอฟะ) เออ.. เบอร์ใหม่ก็เบอร์ใหม่ ก็เป็นโอกาสพิจารณาเปลี่ยนยี่ห้อไปในตัว (ไว้ว่างๆ สำรวจตลาดอีกที หาแพกเกจที่ขูดรีดน้อยที่สุด) แต่จะจัดการยังไงกับเครดิตที่เหลือนี่สิ.. ตั้งโต๊ะโทร 3 บาทดีกว่ามั้ง กำขี้ดีกว่ากำตด :-P

  • ลบ spam mail ถึงจะมี filter แต่พวกโรคจิตก็หาวิธีเจาะทะลุมาจนได้ นอกเหนือจากวิธีป้องกัน เช่น ไม่ post address ในเว็บ ไม่ forward mail ฯลฯ ก็เคยเห็น วิธีแก้เผ็ด พวก spammer ด้วย sugarplum ไม่รู้มีวิธีอื่นอีกไหม

  • รบกับไวรัส ถึงแม้จะไม่ได้ใช้ Windows ก็ยังได้รับความรำคาญไปด้วย จากไวรัสที่แพร่ทางเมล โดยเฉพาะหลังๆ ไวรัสมันปลอมแอดเดรสเราส่งไปด้วย กลายเป็นโดน spam จากโปรแกรมกรองไวรัสอีก

นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องย่อยๆ ที่เกิดน้อยกว่านี้ เช่น รบกับพวกเจาะระบบ (สำหรับ admin พอดีผมไม่เกี่ยว ฮ่าๆ) รบกับพวกขโมยรหัสบัตรเครดิต ฯลฯ

ตราบใดที่มนุษย์ยังมีกิเลสตัณหา เทคโนโลยีก็แค่แก้ปัญหาเก่าเพื่อสร้างปัญหาใหม่

27 มิถุนายน 2547

Opensource and the East

วันศุกร์และวันเสาร์ ยังคงแปล Homesteading ต่อ พยายามรักษาอัตราการแปลไว้วันละสองตอน เพื่อประกันว่ามันจะเสร็จ (แต่ขอหยุดวันอาทิตย์)

  • (วันศุกร์) “Ownership Rights and Reputation Incentives” เป็นการเอาเรื่องสองเรื่องที่พูดมาก่อนหน้า (การถือครอง และชื่อเสียง) มารวมเข้าด้วยกัน แล้วนำมาอธิบายข้อห้ามหลักสามข้อ (ที่อาจจะดูขัดกับเจตนารมณ์ของ license ซึ่งอธิบายไปในตอนก่อน) ของวัฒนธรรมโอเพนซอร์ส คือ ห้ามฟอร์ก ห้ามกระจายแพตช์เถื่อน ห้ามลบชื่อคนออกจากเครดิต ..ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น รออ่านได้ ☺
  • (วันศุกร์) “The Problem of Ego” อธิบายว่า แม้กลไกทางจิตวิทยาเบื้องหลังของโอเพนซอร์สจะเป็นเรื่องชื่อเสียง แต่แฮ็กเกอร์ส่วนใหญ่ไม่คิดว่าตัวเองทำเพื่อชื่อเสียง เพราะมันเป็นข้อห้ามของวัฒนธรรมตะวันตก (จริงๆ ตะวันออกยิ่งหนักกว่า?) ที่ถือว่า ego เป็นเรื่องไร้วุฒิภาวะ
  • (วันเสาร์) “The Value of Humility” พูดถึงความสำคัญของความอ่อนน้อมถ่อมตน ว่าเป็นลักษณะที่สำคัญของแฮ็กเกอร์ โดยเฉพาะแฮ็กเกอร์ที่เป็นผู้นำ โดยในตอนนี้ ได้อธิบายด้วยว่า ความอ่อนน้อมถ่อมตน กับกลไกเรื่องชื่อเสียง สามารถทำงานร่วมกันเป็นเนื้อเดียวได้อย่างไร การปรามาสตัวแฮ็กเกอร์ในที่สาธารณะ ทำให้ชุมชนโอเพนซอร์สแตกสลายได้อย่างไร
  • (วันเสาร์) “Global Implications of the Reputation-Game Model” นำเอาเรื่องเกมแห่งชื่อเสียง และการปักหลักใน noosphere (ยังหาคำแปลสำหรับ noosphere ไม่ได้) มาอธิบายโอเพนซอร์สในภาพรวม ว่าในสามทศวรรษที่ผ่านมา กลไกทั้งสองได้ทำงานในภาพรวมของทั้งวงการอย่างไร เมื่อปัญหาเดิมถูกแก้จนแทบจะไม่มีอะไรเหลือให้ปักหลัก ก็จะมีการสำรวจปัญหาที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ยุค 70s เป็นยุคของเล่น ยุค 80s สร้างอินเทอร์เน็ต ยุค 90s สร้าง OS และสหัสวรรษที่สาม ก็จะเข้าสู่ยุคของ end-user application

ตรงเรื่องเกมแห่งชื่อเสียงกับการปฏิเสธ ego นี้ ทำให้เกิดความรู้สึกว่า มันช่างเหมาะเจาะกับวัฒนธรรมตะวันออกเสียนี่กระไร อีกทั้งยังทำให้สังเกตเห็นภาพลักษณ์ในส่วนที่เราไม่ค่อยพูดถึง ของวัฒนธรรมตะวันตก ว่าเขาไม่ใช่จะแสดงออกแบบฟาดฟันกันอย่างเดียว ความอ่อนน้อมถ่อมตนก็มีแฝงอยู่เหมือนตะวันออกเช่นกัน

ทั้งหมดยังไม่ได้ commit เข้า CVS รอให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางเสียก่อน ตอนนี้ก็ช่วยลุ้นอย่างเดียว ☺

25 มิถุนายน 2547

Self Source Printing Program

เห็นเรื่อง Obfuscated C จาก blog คุณพูลลาภ แล้ว ทำให้นึกถึง brain teaser ข้อหนึ่งที่เคยเล่นกันสมัยเรียนตรี คือโปรแกรมที่ print source code ตัวเอง

เริ่มจาก พี่ปริญญาโทยกเอา Russel’s paradox มาเกริ่นก่อน ว่า logic ใดๆ ที่ย้อนเข้าหาตัวเองแบบนิเสธ จะกลายเป็น paradox (เรียกว่าเป็นความไม่สมบูรณ์ของระบบ) เช่น บอกว่า “ช่างตัดผมคนเดียวในหมู่บ้าน จะไม่โกนหนวดให้กับคนที่โกนหนวดเอง” เมื่อย้อนถามว่า “ถ้าเช่นนั้น ช่างตัดผมคนนี้ จะโกนหนวดตัวเองหรือเปล่า?” ก็จะหาคำตอบไม่ได้ทันที หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ คำพูดที่ว่า “ผมโกหกเสมอ” เป็นจริงหรือเท็จ? เรื่องนี้ พอเข้าเนคเทค ก็มีน้องคนหนึ่งมาชวนคุยอีก คราวนี้โยงไปถึง Gödel ด้วย สนุกดีเหมือนกัน

สิ่งที่ Bertrand Russel เสนอคือ “ถ้า A เป็นเซ็ตของเซ็ตที่ไม่รวมตัวเอง ถามว่า จริงๆ แล้ว A รวมตัวเองหรือไม่?” หรือเขียนเป็นทางการหน่อยก็ “ถ้า A = { x | x ∉ x } ถามว่า จริงๆ แล้ว A ∈ A หรือไม่” ซึ่งตอบลำบาก เพราะถ้า A ∉ A ก็แปลว่า A สอดคล้องกับเงื่อนไขของเซ็ต และได้ว่า A ∈ A ในทางกลับกัน ถ้า A ∈ A ก็ขัดกับเงื่อนไขของเซ็ต ซึ่งหมายความว่า A ∉ A)

เกริ่นมาจนงงขนาดนี้ (เหมือนนักเล่นกล ต้องอ้างสิ่งลึกลับไว้ก่อน) แล้วก็ถามว่า “ถ้าเช่นนั้น โปรแกรมที่พิมพ์ซอร์สโค้ดตัวเองมีอยู่จริงหรือไม่?” กล่าวคือ สมมุติโปรแกรมที่ว่าคือ self.c มันควรทำเช่นนี้ได้ โดยห้ามอ่าน external input ใดๆ :

$ cc -o self self.c
$ ./self | diff -u - self.c
$ ./self > clone.c
$ cc -o clone clone.c
$ ./clone | diff -u - clone.c
$ ...

เขียนกันไปเขียนกันมา จะพบปัญหาไก่กับไข่อย่างแท้จริง แต่ก็มี trick บางอย่างทำให้ดิ้นออกมาได้ เรียกว่าได้แบบแฮ็กๆ โปรแกรมไม่ portable อะไร ใครอยากลองเขียนก็ลองดูได้ แต่ถ้าเขียน C program ที่ portable ได้ ช่วยบอกผมด้วย

24 มิถุนายน 2547

PopCon

งาน:

  • แปล Homesteading ต่ออีกสองตอน คือ “The Joy of Hacking” กับ “The Many Faces of Reputation” สองตอนนี้ ESR ยังย้ำต่ออีกว่า เกมแห่งชื่อเสียงคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง hacker culture อยู่ดี แม้ hacker จะบอกว่า “Just for Fun” แต่ “Fun” ของ hacker ก็มีความหมายถึงความสุนทรีย์ ความ perfect แล้วก็ย้อนไปถึง peer review อยู่ดี ประมาณนั้น แล้วก็พูดต่อถึงลักษณะของชื่อเสียงใน gift culture.. ก็นับว่าแปลไม่ค่อยยาก ยกเว้นศัพท์จิตวิทยาบางคำ
  • ยังไม่ได้ commit เพราะ LTN โดนเจาะ (ESR บอกว่า พวกนี้ไม่มีเกียรติพอจะถูกเรียกว่า hacker นะ เลยไม่อยากเรียกว่าถูกแฮ็ก)

เล่น:

  • สำรวจ Debian popularity-contest ที่ตัวเองลงไว้นานแล้ว ดูว่าได้โหวต package อะไรไปมั่ง popcon มันจะรายงานทั้งรายการ package ที่ install และที่เพิ่งใช้ด้วย ทำให้คะแนน package มีการลดหลั่นตามการใช้งานจริง โอ้ว.. สุดยอด.. ลองสั่ง /usr/sbin/popularity-contest ดูผลลัพธ์.. ปรากฏว่ามีแต่ RECENT-CTIME (หมายถึงเพิ่ง upgrade) กับ OLD (คือไม่ได้ใช้นานแล้ว) ไม่มี VOTE ฮ่วย.. อ่าน FAQ ดูพบว่าเป็นเพราะสั่ง mount แบบ noatime ทำให้ popcon ไม่มีข้อมูลเรื่องประวัติการใช้ package เอิ๊ก.. สรุปว่า ถ้าได้โหวต คงโหวตไปแต่ installed packages
  • ดูสรุปผลโหวต popcon ทั้งหมดได้ที่ popcon site ทายซิ ว่าแพกเกจไหนฮิตสุด.. ถ้าทายว่า bash ล่ะก็ ผิดนะจ๊ะ ☺

อ่าน:

  • Reduce compile time with distcc ไว้ลองเล่นดูตอนคอมไพล์ gnome
  • A Very Muscular Baby Offers Hope Against Diseases superman มาเกิดแล้ว เด็กผ่าเหล่าที่เยอรมัน ยีน myostatin ที่ยับยั้งการสร้างกล้ามเนื้อของเด็กไม่ทำงาน เลยเกิดมามีกล้ามเนื้อแน่นแต่เกิด (ข่าวจาก /.)

23 มิถุนายน 2547

Locked in Translation

วันนี้แปล Homesteading ต่ออีกสองตอน คือ “Locke and Land Title” และ “Hacker Milieu as Gift Culture” เป็นตอนที่แปลยากมากทั้งสองตอน เพราะใช้ทั้งศัพท์กฎหมาย มานุษยวิทยา เศรษฐศาสตร์ แถมมีชื่อชนเผ่าแปลกๆ ด้วย (เช่น !Kung San แห่งทะเลทราย Kalahari หรือจะเป็นชาว Kwakiutl กับงานเทศกาล Potlatch—มี รูปประกอบ) ต้องเปิดศัพท์บัญญัติยืนยัน แล้วก็ Wikipedia, Google ด้วย

คิดคร่าวๆ ถ้าแปลด้วย speed ขนาดนี้สม่ำเสมอทุกวัน น่าจะใช้เวลาสองอาทิตย์ แต่ถ้าติดงานหรืออู้ก็อีกเรื่อง :-P

ข่าว:

  • GNOME 2.6.2 รวมพลเตรียมออกแล้ว
  • ใครบางคนมาเรียกแขกจาก LTN webboard ทั้งสาม ให้ไปร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับ การตั้งสหกรณ์ อันที่จริงเคยเห็นกระทู้นี้แล้วจาก blog คุณหน่อย และอันที่จริง ตอนที่ย้ายมาอยู่บ้านใหม่ๆ ก็พยายามคิดหารูปแบบธุรกิจแบบต่างๆ สหกรณ์ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่คิดไว้ แต่ไม่มีใครช่วยคิดต่อ ประกอบกับ งานส่วนที่สนใจ มันเป็นงานระดับโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มเป้าหมายกว้างเกินไปจนทำธุรกิจลำบาก ก็เลยใช้วิธีทำงานเลี้ยงตัวเองไปพลาง พัฒนาไปพลาง รอให้พ้นขีดจำกัดเรื่องนี้ไปก่อน ค่อยกลับมาคิดใหม่ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังเริ่มกลับมาคิดใหม่อีกครั้ง (follow up ไปแล้ว)

22 มิถุนายน 2547

ESR Articles

สองวันนี้ งานหลักที่ทำคือ เริ่มโครงการแปลบทความ ESR

  • เมื่อวานนี้ import DocBook file ของบทความชุด The Cathedral and the Bazaar เข้า TLWG CVS โดยอยู่ในโมดูล docs/esr-articles
  • โพสต์เชิญชวนเพื่อนๆ มาช่วยกันแปล
  • หลังจาก import แล้ว ก็เริ่มแปล Homesteading the Noosphere เมื่อวานแปล Abstract, An Introductory Contradiction, The Varieties of Hacker Ideology ส่วนวันนี้แปลต่ออีกสองหัวข้อ คือ “Promiscuous Theory, Puritan Practice” และ “Ownership and Open Source” อืมม์.. แปลบทความที่เต็มไปด้วยความคิดและทฤษฏีอย่างนี้ ไม่ง่ายเลย กับศัพท์แสงที่ใช้ (ตอนอ่านไม่ต้องคิดคำแปล มันคล่องปรื๋อกว่ากันเยอะ)
  • คุณพูลลาภกับคุณอ๊อท ช่วยกันสร้าง Planet TLWG ขึ้นมาแล้ว ต้องขอบคุณทั้งสองคนมากๆ ผองเพื่อน TLWG ที่มี blog ช่วยกันแสดงความจำนง feed หน่อยนะครับ จะได้ดูคึกคัก แนวคิดของ Planet ไม่มีอะไรมาก นอกจากช่วยให้ตามอ่าน blog สะดวกขึ้น และช่วยให้รู้ว่า ทุกคนยังไม่ตาย เอิ๊กๆ ☺

20 มิถุนายน 2547

The Magic Cauldron

อ่าน The Magic Cauldron จบแล้ว ความรู้สึกขณะอ่านบางตอนคือ ขัดกับความรู้สึก และเมื่ออ่านจบ ก็ถึงได้เข้าใจอีกว่า เหตุที่ขัดความรู้สึกก็เพราะ แนวคิดของ ESR นั้น ตั้งอยู่บนเงื่อนไขของความพร้อมด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งบ้านเรายังไปไม่ถึงขั้นนั้น เรียกได้ว่า ไม่ง่ายเท่าไหร่ ที่จะเกาะกระแสโอเพนซอร์สเพื่อทำธุรกิจในไทย

บทความเริ่มจากแก้ความเข้าใจเรื่องโครงสร้างราคาซอฟต์แวร์ บอกว่าซอฟต์แวร์กว่า 95% เป็นซอฟต์แวร์ที่เขียนเพื่อใช้ในองค์กร ที่เหลืออีก 5% เขียนเพื่อวางขาย แต่บังเอิญ 5% นี้ มีการทำตลาด จึงเป็นที่รู้จักมากกว่าอีก 95% ของภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ใต้ทะเล ก็เป็นการตีประเด็นของคนที่คิดจะเขียน FOSS ขาย (บังเอิญเป็นประเด็นของผมด้วย) แล้วก็ว่าต่อไปว่า ต้นทุนของซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ อยู่ที่ช่วง maintenance ซึ่งทำให้ proprietary vendor ใช้วิธีออกรุ่นใหม่ ยกเลิกบริการรุ่นเก่าไปเรื่อยๆ เพราะการจ่ายเงินสิ้นสุดลงตั้งแต่ซื้อรุ่นเก่าไปแล้ว ซึ่งทำให้ผู้ใช้ถูกทอดทิ้ง และต้องไล่ตามซื้อซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ๆ อยู่ตลอด ดังนั้น โครงสร้างราคาซอฟต์แวร์ที่สมเหตุสมผล ควรลดราคาขายลง แล้วมาเน้นที่การขายบริการในช่วง maintenance ซึ่งเท่ากับว่า ผู้ใช้เองก็ต้องยอมรับการคิดราคาแบบใหม่ด้วย

ตรงนี้ หากมองในมุมมองของนักพัฒนา ก็เท่ากับว่า เงื่อนไขคือ ควรมีธุรกิจอะไรบางอย่าง ที่จำเป็นต้องใช้ซอฟต์แวร์ แล้วให้โอเพนซอร์สช่วยลดต้นทุนธุรกิจให้อีกที ส่วนถ้าคิดจะเขียนขาย ก็ต้องปรับโครงสร้างราคา ให้มาเน้นที่การ maintenance หรือ support แทน ตรงนี้พอมีทางเป็นไปได้สำหรับบ้านเรา? เพราะทุกวันนี้ ราคาซอฟต์แวร์ก็ไม่ค่อยมีความหมายอยู่แล้ว

มีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ คือการพูดถึง “โศกนาฏกรรมของส่วนรวม” พูดถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้ของส่วนรวมว่า ถ้ามีทุ่งหญ้าส่วนกลาง แล้วให้ทุกคนมีอิสระที่จะจูงวัวมากินหญ้า อะไรจะเกิดกับทุ่งหญ้า? ถ้าวิเคราะห์ด้วย game theory ก็น่าจะเป็นว่า ทุกคนมุ่งใช้ประโยชน์จากทุ่งหญ้าอย่างเต็มที่ อาจเกิดการกักตุนพื้นที่ไว้ขายต่อ ฯลฯ ในที่สุด แม้หญ้าจะมีมากมาย แต่ก็จะโตไม่ทันความต้องการ แล้วสมบัติส่วนรวมก็เละตุ้มเป๊ะในที่สุด

แต่ ESR วิเคราะห์ว่า ชุมชนโอเพนซอร์สกลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเมื่อวิเคราะห์ด้วย game theory แล้ว เมื่อ hacker แก้โปรแกรมเพื่อสนองความต้องการของตัวเองแล้ว จะมีแนวโน้มที่จะพยายามให้ patch ของตนได้รวมในส่วนกลาง เพราะจะประหยัดค่าใช้จ่ายของตัวเองในการดูแลโปรแกรมเมื่อรุ่นใหม่ๆ ออกมา เท่ากับเป็นการผลักภาระการดูแล patch ไปให้ส่วนกลาง และทำให้ตนให้บริการลูกค้าได้สะดวกขึ้น ประกอบกับเกมแห่งชื่อเสียง (reputation game) ในวัฒนธรรมการให้ (gift culture) ยังทำให้ hacker ช่วยกันพัฒนาซอฟต์แวร์ส่วนกลางอยู่เรื่อยๆ (แต่ในทางปฏิบัติอาจเป็นเรื่องอุดมการณ์มากกว่า?) ซึ่งผลที่ตามมาคือ ทุ่งหญ้าส่วนกลางมีการงอกเงยขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีคนกอบโกย (free rider) แต่ก็ไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม

ตรงนี้แหละ ที่ผมคิดว่าอาจจะอยู่บนข้อสมมุติของความพร้อมของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งเมืองไทยเรายังไปไม่ถึงขั้นนั้น บ้านเรา มีคนทำ patch ก็จริง แต่อาจจะไม่เยอะจนทันต่อความต้องการที่เกิดจาก free rider ได้ นอกจากนี้ เกมแห่งชื่อเสียงอาจถูกรบกวนจากท่าทีที่กร่างของภาครัฐ ที่มีความจำเป็นต้องอ้างความสำเร็จในภาพรวม หรืออ้างความเป็นตัวแทนของประชาคม เนื่องจากมีแรงกดดันจากความคาดหวังของสังคม ทั้งความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของสังคม ยังทำให้สัดส่วนของประชากรนักพัฒนาไปปูดตรงชั้นของ distribution แทนซอฟต์แวร์ส่วนกลางอีกด้วย

ตรงนี้ จึงกลายเป็นโจทย์ ว่าหากจะให้นักพัฒนา FOSS อยู่รอด ก็ต้องทำให้เป็นธุรกิจให้ได้ แต่จะเกิดธุรกิจได้ ก็ต้องให้กลไกโอเพนซอร์สทำงานเต็มที่เสียก่อน (ไม่งั้นก็มีแต่ free rider) ซึ่งหมายความว่า ต้องแก้ความเข้าใจของสังคมต่อภาพรวมทั้งหมด ว่าควรเน้นที่ไหนบ้าง ต้องให้เกมแห่งชื่อเสียงทำงาน โดยลดความกดดันต่อภาครัฐลง แล้วลุกขึ้นทำอะไรด้วยตัวเองให้เป็นรูปธรรมบ้าง และที่สำคัญคือ ต้องมีการเชื่อมโยงกับต้นน้ำมากยิ่งขึ้น ก่อนที่หญ้าจะหมดจากทุ่ง

ต่อจากนั้น บทความก็ได้พูดถึงโมเดลธุรกิจโอเพนซอร์สแบบต่างๆ ที่ก็เคยผ่านตามาแล้วในเว็บโอเพนซอร์ส รวมไปถึงเกณฑ์การพิจารณาว่าเมื่อไรควรเปิด เมื่อไรควรปิดซอร์ส และการใช้โอเพนซอร์สเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจอีกด้วย ซึ่งก็น่าสนใจดี ใครสนใจก็ลองอ่านดูได้

ต่อจากเรื่องนี้ ก็ยังมี Revenge of the Hackers ต่ออีกเรื่อง แต่ถึงจุดนี้ ชักอยากแปลบทความสองเรื่องนี้ (Homesteading the Noosphere และ The Magic Cauldron) ก่อน แต่ไม่รู้จะมีเวลาพอไหม

19 มิถุนายน 2547

อีกด้านของการกลับบ้าน

เหรียญย่อมมีสองด้าน หลังจากที่ได้บันทึกเกี่ยวกับแง่มุมด้านบวกของการกลับมาบ้าน ก็รู้สึกว่า ควรจะเขียนเกี่ยวกับอีกด้านให้ครบถ้วน

การกลับมาอยู่บ้าน นอกจากจะเป็นการทำตามความตั้งใจเดิม ก็ยังเป็นการกลับมาสู่สภาพแวดล้อมแบบเดิมอีกด้วย กล่าวคือ ก่อนเข้าไปเรียนกรุงเทพฯ ผู้ใหญ่เคยมองผมเป็นเด็กยังไง วันนี้ก็ยังคงมองอย่างนั้น การกลับมาอยู่บ้าน บางครั้งจึงเหมือนการกลับมาเริ่มต้นต่อสู้เพื่อเติบโตใหม่อีกครั้ง ในมุมมองของท่านเหล่านั้น

ที่เห็นได้ชัดที่สุดน่าจะเป็นแม่ เขาว่ากันว่า ไม่ว่าลูกจะโตเท่าไหร่ แม่ก็ยังเห็นลูกเป็นเด็กเสมอ เห็นจะจริง แม่จะคอยมาถามไถ่เรื่องการงาน มาคอยกำกับว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ และคอยทุกข์กังวลถ้าเห็นผมไม่ได้นั่งทำงาน แต่มานั่งอ่านหนังสือ ฯลฯ น้องๆ ของผม เคยพยายามกลับมาทำงานที่บ้านเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ทนอยู่ไม่ได้ ต้องกลับออกไป เพราะขาดความเป็นส่วนตัว ผมเองก็กำลังหาจุดประนีประนอมอยู่เหมือนกัน

ผมพยายามไม่พูดถึงงานในส่วน FOSS กับแม่ เพราะพื้นฐานของแม่เป็นนักธุรกิจเต็มตัว ไม่ยอมประนีประนอมกับการทำงานที่ขาดทุน แต่ผมจะพูดถึงแต่งานที่รับจ้างมาเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเรื่องการประนีประนอมระหว่างแนวคิด FOSS กับธุรกิจนั้น ผมต้องค้นหาด้วยตัวเองเป็นการภายใน

ปัญหานี้ขยายไปถึงญาติๆ ด้วย เพราะเครือญาติของผมล้วนแต่เป็นนักการค้าโดยสายเลือด และยังคงมองผมเป็นเด็กตามที่แม่มอง เพราะแม่ไปเผาผมไว้เยอะเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเรื่องงานที่ผมทำโดยไม่มีค่าจ้าง (ญาติบางคน พอได้ยินแค่คีย์เวิร์ดว่า “ลินุกซ์” จากแม่ ก็บอกแม่ทันทีว่าเป็นงานไม่มีรายได้ ซึ่งสำหรับพวกเขา ถือเป็นความล้มเหลวอย่างใหญ่หลวง) ก็ตามประสาผู้ใหญ่นินทาเด็กน่ะ ซึ่งผมก็ไม่ถือสาหรอก ขอแต่ให้แยกออกจากกันเด็ดขาดกับงานได้เป็นใช้ได้ ดังนั้น งานรับจ้างที่ผมรับ จึงพยายามหลีกเลี่ยงการรับงานจากธุรกิจของเครือญาติ (แต่บางทีก็เลี่ยงไม่ได้)

ก็เป็นเหรียญอีกด้าน ที่คอยเร่งให้ผมต้องคิดหาทางออกให้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งก็หมายความว่า ต้องค้นหาจุดร่วมระหว่าง FOSS กับธุรกิจให้ได้โดยเร็ว หรือถ้ารู้ว่าเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องเร่งทำ FOSS ส่วนที่เหลือให้มากขึ้น กับเวลาที่เหลืออยู่น้อยเต็มที ก่อนจะต้องละทิ้งไปทำอย่างอื่น

อ่าน The Magic Cauldron ใกล้จบละ เดี๋ยวต้องใช้เวลาย่อยอีกหน่อย

17 มิถุนายน 2547

Self Portrait

วันนี้อู้อ่าน The Magic Cauldron โดยเปลี่ยนบรรยากาศมาทดสอบความอุตสาหะกับ inkscape โดยเอารูปถ่ายตัวเองจากกล้อง digital (ขอบคุณอ๊อทมา ณ ที่นี้ ถ่ายไว้นานแล้วแหละ) มา trace แล้วลงสีเอา เป็นครั้งแรกของการเล่น inkscape และเป็นครั้งแรกของการทำ vector graphics ที่ไม่ใช่ diagram ของผมด้วย

ทำไปก็ค่อยๆ เรียนรู้เครื่องมือต่างๆ ทีละอัน แล้วก็ค่อยๆ จับทางได้ ว่าต้อง trace เส้นยังไงบ้าง เรียนรู้การเอา path มา operate กัน การใช้ alpha channel อืมม์.. สนุกดีแฮะ นั่งทำสลับกับลุกไปทำธุระปะปัง หนึ่งวัน ได้ออกมาหนึ่งรูป เหอๆ (พอไปวัดไปวาได้น่ะ) คิดว่ารูปต่อไปน่าจะใช้เวลาน้อยกว่านี้ แต่เอาไว้ก่อน กลับไปทำงานก่อน

self-portrait

16 มิถุนายน 2547

ข่าวคราว

  • Federico Mena-Quintero เขียนเอกสารเกี่ยวกับ file name encodings ใน glib พร้อมเสนอแนะวิธีแสดงชื่อไฟล์ใน nautilus อืมม์.. อาจจะแก้ปัญหาที่เคยมีคนโพสต์ใน LTN เกี่ยวกับการ mount samba ไปยัง file system เก่า
  • The Case for Gconf บทความที่ OSNews อธิบายที่มาที่ไปของ Gconf เขียนได้กระชับ ให้แนวคิดครบถ้วนดี (แต่ไม่ได้พูดถึง command line interface แฮะ สุดยอดแห่งระบบ config เลยนะนั่น) ผมเคยฝอยไว้เหมือนกัน ที่ KKU Open Source (แต่ก็ไม่ได้พูดถึง command line เหมือนกันแฮะ แค่เกริ่นๆ)
  • ข่าว /. รายงานผลการทดสอบว่า Java เร็วกว่า C++ (โดยเฉลี่ย) อ๋า.. จริงหรือนี่..

Homesteading the Noosphere

บทความเรื่อง Troy ได้ลงที่เว็บ ปกิณกะภาพยนตร์ แล้ว ☺

สองวันที่ผ่านมา กลับไปรื้อบทความของ ESR ในชุด The Cathedral and the Bazaar มาอ่าน เดิมเคยอ่านแต่ The Cathedral and the Bazaar สมัยเข้าวงการ ว่าจะอ่านเรื่องอื่นต่อ แต่ก็ไม่มีเวลา จนหลายปีล่วงเลย คิดว่าช่วงนี้ต้องการค้นหาแนวคิดโอเพนซอร์สอย่างจริงจัง เพื่อเอามาใช้งานจริงในมิติอื่น วันจันทร์กับอังคารอ่าน Homesteading the Noosphere จบ พบว่าเป็นบทความที่น่าเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย สำหรับแวดวงโอเพนซอร์สไทยเวลานี้ ที่ได้สูญเสียบรรยากาศการทำงานแบบโอเพนซอร์สไป หลังจากความแตกแยกที่เกิดขึ้นเพราะการถกเถียงเรื่อง license และวิธีการทำงาน บางที เราอาจจะรื้อฟื้นบทความเหล่านี้มาอ่านกันใหม่ดีไหม?

Homesteading the Noosphere (ใครเคยอ่านแล้วก็ข้ามย่อหน้านี้ไปได้นะ) เป็นการบรรยายวัฒนธรรม hacker ในทางปฏิบัติ ที่บางครั้งดูจะขัดกับเจตนารมณ์ของ license แต่เป็นความขัดกันที่ทุกคนยอมรับและเต็มใจ เพื่อประโยชน์ที่คุ้มค่ากว่าในบั้นปลาย เริ่มจากการแยกความแตกต่างระหว่าง “เสรีภาพ” ที่ให้ใน license จนดูราวกับว่า ใครก็มีอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ กับ “ความเป็นเจ้าของ” ในตัวซอฟต์แวร์ ที่ให้อภิสิทธิ์แก่เจ้าของโครงการ ที่จะยอมหรือไม่ยอมให้เกิดอะไรขึ้นในโครงการ และทุกคนก็เต็มใจเชื่อฟัง จนเกิด “ข้อห้าม” ที่ไม่มีใครจดจารเป็นลายลักษณ์อักษร (ยกเว้นบทความนี้ :-P) แต่ก็ยอมรับโดยทั่วกัน โดยอาศัยการตัดสินของสังคมนั่นเอง คำว่า Noösphere ซึ่งหมายถึง เขตแดนของความคิด ถูกเอามาใช้แทนการปักปันเขตแดนของโครงการ และบรรทัดฐานของการเป็นเจ้าของโครงการและการสืบทอด โดยเปรียบเทียบกับการครอบครองที่ดิน ในตอนท้าย ยังได้กล่าวถึงชนิดของความขัดแย้งที่จะเกิดและไม่เกิด กับประชาคมโอเพนซอร์สที่เข้มแข็ง รวมไปถึงวิธีต่างๆ ที่ใช้ในการยุติข้อขัดแย้งอีกด้วย

ถึงแม้เรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้จากการเข้าร่วมโครงการ แต่ก็นับว่าน่าแนะนำให้คนที่กำลังคิดจะเข้าร่วมโครงการโอเพนซอร์สได้อ่าน (หลังจากผ่านจุดยอมรับแนวคิดกับ The Cathedral and the Bazaar มาแล้ว) เพื่อจะได้ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์

โครงการต่อไปของผม คืออ่าน The Magic Cauldron ครับผม เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์โอเพนซอร์ส ดูดลงปาล์มไว้แล้ว ไว้อ่านจบกลับมาเขียนอีกที

15 มิถุนายน 2547

ข่าวคราว GNOME

ตามไปเก็บข่าวคราวของ GNOME เสียหน่อย

  • GNOME-look.org เปิดตัวแล้ว
  • GNOME 2.7.2 เตรียมออกแล้ว คราวนี้มีการแยกส่วน platform ออกมาต่างหากจาก desktop
  • ทางด้าน desktop developer, Robert Love เสนอ gnome-volume-manager ให้รวมเข้าใน GNOME 2.8 เพื่อทำหน้าที่ mount อุปกรณ์ถอดเสียบต่างๆ โดยอัตโนมัติ โดยขี่บน HAL และ D-BUS อีกที หน้าที่ของ g-v-m นี้ จะคล้ายกับ magicdev แต่อาศัย HAL เป็นตัวกลางในการติดต่อกับฮาร์ดแวร์ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน (ตามที่บอกใน thread ข้างต้น) HAL ทำงานกับ kernel 2.6 เท่านั้น ดังนั้น ถ้าใครใช้ kernel 2.4 อยู่ ก็คงต้องใช้ magicdev และถ้าในอนาคต HAL สนับสนุน kernel อื่น เช่น FreeBSD ด้วย gvm ก็จะใช้ได้ทันที ทั้งนี้ gvm ยังอยู่ในขั้น proposal เท่านั้น ยังไม่มีการรับรองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ GNOME 2.8 อย่างเป็นทางการ (ยังไงก็ต้องรอ HAL ก่อน)

    ข้อมูลเพิ่มเติม:

  • Davyd Madeley กำลังทำให้ gnome-netstatus applet แสดงสถานะ wireless ด้วย patch กำลังรอ check-in

13 มิถุนายน 2547

ออกกำลัง (มั่ง)

วันนี้เดิมชวนแม่ไปดูหนังด้วยกัน แต่แล้ว แม่ก็มีธุระไปต่างจังหวัดอีก เลยต้องเลื่อนออกไปก่อน วันนี้เลยอยู่บ้านดูแลบ้านอีกหนึ่งวัน นั่งทำฟอนต์ต่อ กลับมา fine tune DBThaiText อีกครั้ง พร้อมทั้งแก้ ligature ใน Norasi ที่ผิดอยู่

พักนี้รู้สึกว่าร่างกายอ่อนแอ เหนื่อยง่าย เวียนหัวบ่อย ว่าจะออกกำลังกายหลายวันแล้ว แต่ก็ผัดผ่อนไปเรื่อย (มีบางช่วงออกไปเดินเล่นไกลๆ บ้าง แต่ก็ทำได้ไม่เท่าไรก็หยุด) จนได้อ่าน blog ของ kitty เมื่ออาทิตย์ก่อน เลยเกิดแรงบันดาลใจเริ่มโครงการออกกำลังอีกครั้ง เมื่อวานเลยได้โอกาสซื้อลูกบาสมาเล่น (จะตีแบดก็ไม่มีคนตีด้วย) ก็เลี้ยงเล่นที่ลานหลังบ้านก่อน ไว้ให้ร่างกายอยู่ตัวแล้วค่อยออกไปหาสนามเล่นข้างนอก (จะได้ชู้ตแป้นด้วย) ปรากฏว่า เลี้ยงอ้อมไปอ้อมมาได้ซักนาทีกว่าๆ ก็หอบแฮ่กๆ แล้ว ไว้ต้องค่อยๆ เพิ่มเวลา

12 มิถุนายน 2547

ความเป็นไปของเมือง

วันนี้ fine tune ฟอนต์ Kinnari และ Garuda เกี่ยวกับการวางตำแหน่งวรรณยุกต์ ดังที่ได้ทำกับ Norasi ไปแล้ว โดยมีหยุดพักช่วงบ่ายนิดหน่อย ออกไปช็อปปิ้งกับแม่ที่บิ๊กซี (กล่าวคือ ไปช่วยถือของ)

เห็นมีข่าวลือหนาหู ว่าเซนทรัลเริ่มวางแผนสร้างสาขาที่ขอนแก่นแล้ว โดยจะสร้างในบริเวณบิ๊กซี วันนี้เพิ่งได้ไป ก็ไม่รู้หรอก ว่าจุดที่สร้างคือตรงไหน แต่เห็นความเปลี่ยนแปลงคือ ลานด้านหน้าและที่จอดรถ เตียนโล่ง ไร้ซึ่งชายคาบังแดด อืมม์.. ถ้าเซนทรัลมาจริง คราวนี้ ห้างและร้านค้าท้องถิ่นคงเจอศึกหนัก ความจริง ศึกนี้มันเกิดมาเป็นทอดๆ ตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อนโน้น ห้างแฟรี่เปิดดีพาร์ทเมนต์สโตร์ ขายของลดราคา แถมมีแอร์เย็นฉ่ำ เลือกของได้ตามใจชอบ ปรากฏว่า ร้านโชว์ห่วยของแม่ และร้านอื่นๆ ทั่วไป เสียลูกค้าไปมาก ทำให้ต้องงัดกลยุทธ์การสั่งของเพื่อให้ได้ราคาถูก เพื่อให้สู้ราคาได้ แล้วก็พยายามรักษาลูกค้าเดิมที่มาจากต่างอำเภอไว้ให้มากที่สุด

ต่อมา มีแมคโคร โลตัส และบิ๊กซี มาเปิด ชาวบ้านชาวเมืองแห่กันไปซื้อของราคาถูก แม้ต้องขับรถออกไปนอกเมืองก็ถือว่าคุ้ม ถ้าซื้อเป็นล็อตใหญ่ เพราะของบางอย่าง ได้ราคาถูกกว่ายี่ปั๊วซะอีก เถ้าแก่ร้านค้าปลีกทั้งหลายเลยมีบัตรสมาชิกแมคโครกันถ้วนหน้า แม่บ้านถือถุงบิ๊กซีกันเกลื่อนเมือง คราวนี้ ห้างแฟรี่เองเป็นฝ่ายโดนแย่งลูกค้า แต่อาศัยข้อได้เปรียบเรื่องทำเลที่อยู่ใจกลางเมือง และอยู่ใกล้โรงเรียนหลายแห่ง ก็เลยทำให้อยู่รอดมาได้ ส่วนร้านโชว์ห่วย ตอนแรกก็ชอบใจที่มีแหล่งสั่งซื้อสินค้าต้นทุนต่ำ และยินดีที่เห็นความเจริญเข้ามาในเมืองตัวเอง แต่ความจริงก็คือ ลูกค้าเขาก็มีสิทธิ์ไปซื้อเหมาโหลเองได้ ทำให้มีผลต่อกิจการของตัวเองเหมือนกัน

อันที่จริง การเข้ามาของธุรกิจจากส่วนกลาง น่าจะเป็นเรื่องดีที่ทำให้ความสะดวกต่างๆ มาถึงเมือง แต่จะว่าไปก็น่าเห็นใจธุรกิจท้องถิ่น อุตส่าห์ช่วยกันกรุยทาง ปูพื้นฐานเมืองขอนแก่นจนกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจ สุดท้ายก็กลายเป็นเป้าหมายของธุรกิจจากส่วนกลาง ตอนนี้เท่าที่มองๆ ไป ก็เห็นมีท่าทีกันหลายอย่าง บางคนก็อนุรักษ์นิยม พยายามรักษากิจการเดิมของตัวเองให้อยู่รอด และต่อต้านธุรกิจจากส่วนกลาง บางคนก็ปรับตัว เช่น เข้าไปถือหุ้นด้วยเสียเลย ส่วนที่เหลือก็หันไปทำธุรกิจอย่างอื่น เรียกว่า หลายปีที่ไม่ค่อยได้กลับบ้าน ขอนแก่นเปลี่ยนแปลงไปมาก ร้านทอง ร้านโทรศัพท์มือถือ โผล่กันพรึ่บพรั่บ มีช่วงหนึ่งที่อินเทอร์เน็ตบูม ร้านเน็ตก็เกลื่อนกลาดเหมือนกัน (แต่แล้วก็ทยอยตาย เพราะตัดราคากันมากเกินไป)

บางวัน ที่ผมได้เดิน/นั่งรถสำรวจเมือง จะเห็นร้านเก่าๆ หลายร้านที่เคยรู้จัก มีอันปิดกิจการไป โดยที่ชื่อร้านก็ยังติดหราอยู่ ร้านพวกนี้ จำนวนมากเป็นร้านตัดเสื้อ แล้วก็มีบ้างที่เป็นร้านเครื่องเขียน หรือร้านขายของชำ ร้านพวกนี้ส่วนมากเป็นประเภทไม้กำลังผลัดใบ เมื่อรุ่นลูกสามารถเรียนสูงๆ และไปทำงานที่กรุงเทพฯ ส่งเงินมาให้พ่อแม่ ส่วนพ่อแม่เอง ก็ทำงานหนักเหมือนเดิมไม่ไหว ร้านที่มีอยู่ ก็เลยกลายสภาพเป็นที่อยู่อาศัย รักษากรรมสิทธิ์ในที่ดินไว้ รอลูกกลับมาใช้ประโยชน์

ผมเอง เคยตั้งปณิธานไว้ตอนที่เอนทรานซ์ติด ว่าจบแล้วตั้งตัวได้ จะกลับมาทำงานที่บ้าน (เน่าซะไม่มี) วันนี้ ได้กลับมาบ้านสมใจ แต่เรื่องตั้งตัวนั้น ยังยากอยู่ บ้านที่พ่อแม่รักษาไว้นั้น ยังใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้มากกว่าการเป็นที่พักอาศัย และเป็นที่ทำงานส่วนตัว มีญาติพี่น้องที่เป็นนักธุรกิจมาถามเหมือนกัน ว่าผมทำอะไรอยู่ แล้วก็เทศน์เสียยกใหญ่ ว่าในโลกทุนนิยมอย่างนี้ ยังคิดจะทำอะไรฟรีๆ แบบลินุกซ์อีก แล้วจะเอาอะไรเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ ผมก็ไม่มีอะไรจะเถียง.. เพราะผมเองก็เฝ้ารอวันที่จะทำสิ่งที่มุ่งหวังให้บรรลุ ก่อนที่จะเริ่มทำอะไรอย่างอื่นต่อไปเหมือนกัน.. อาจจะเรียนต่อ หรือทำธุรกิจอะไรสักอย่าง ไว้ค่อยๆ คิด..

11 มิถุนายน 2547

Font Design

เขียน blog รวบสองวันเลยละกัน งานทั้งสองวันยังคงเป็นการเพิ่ม OpenType table ในฟอนต์ ฟช ต่อ เมื่อวานทำ Kinnari ส่วนวันนี้เป็น Norasi

พอลงมือทำ Norasi ก็พบความแตกต่างของ design ของสระบนที่ผสมกับพินทุอิ ซึ่งทำให้วรรณยุกต์ไม่ได้วางไว้ตรงกับแนวชานหลังของพยัญชนะ ดังตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่าง Norasi (ซ้าย) กับ Kinnari (ขวา):

Norasi-Kinnari design

ซึ่งจะเห็นว่า Kinnari วางวรรณยุกต์ตรงกับแนวชานหลัง การวางตำแหน่ง attachment point ของสระบนจึงกำหนดเอาที่แนวฟันหนูของสระอีเป็นเกณฑ์ทั้งด้านบนด้านล่าง แต่พอมาเจอ Norasi เกิดความแตกต่างระหว่าง attachment point ด้านล่าง (ที่เชื่อมกับพยัญชนะ) กับด้านบน (ที่เชื่อมกับวรรณยุกต์) ของสระบน สรุปว่า กำหนดให้มันต่างกันก็จบ

..แต่พอมันต่างกัน ก็เลยทำให้ต้องเริ่ม fine tune เรื่อง attachment point ทันที จากที่เดิมคิดว่าจะลุยเพิ่ม GPOS/GSUB ให้หมดก่อน แล้วค่อยกลับมา fine tune อีกรอบ ก็เริ่มที่ Norasi นี้เลยละกัน

ใน font design ตาม spec ของ ฟช นั้น กำหนดให้วรรณยุกต์วางตรงแนวกึ่งกลางชานหลัง ซึ่งทำให้ตำแหน่งวรรณยุกต์บนสระอึ สระอือ ต้องอ้างอิงตามตำแหน่งของสระอี ดังรูป

right-justified tone mark position

แต่ถ้าไปดูหนังสือที่เรียงพิมพ์ด้วยตัวตะกั่ว จะเห็นว่าวรรณยุกต์บนสระอึ จะวางในแนวกึ่งกลางนิคหิต และบนสระอือ จะวางในแนวกึ่งกลางระหว่างฟันหนูทั้งสอง พอมาเป็นฟอนต์คอมพิวเตอร์ เครื่องมือการวางวรรณยุกต์ค่อนข้างจำกัด ก็เลยตรึงไว้ที่ตำแหน่งตามสระอี (ความจริงถ้าจะใช้ kerning ช่วยก็พอได้ แต่ kerning จะมีผลกับความกว้างของข้อความด้วย) แต่ในเมื่อ OpenType ให้อิสระในการวางตำแหน่ง ทำไมไม่กำหนด attachment point ให้แสดงวรรณยุกต์ตรงกึ่งกลางฟันหนูและนิคหิตล่ะ?

right-justified tone mark position

ก็เลยจัดการตามนี้ และ commit เข้า CVS สำหรับ Norasi ไว้วันหลังมานั่ง fine tune ฟอนต์อื่นอีกที

10 มิถุนายน 2547

blog เมื่อวาน

เมื่อวาน blogger.com เจ๊ง ไม่สามารถ post blog ได้ ก็เลยคัดลอกที่เขียนไว้เมื่อวานมาโพสต์:

วันนี้ตอนให้อาหารปลา เห็นนอนแอ้งแม้งอยู่ที่ก้นอ่างตัวหนึ่ง พักนี้มีปลาอ้วนหลายตัว เคยมีตัวหนึ่งอ้วนจนแทบจะว่ายน้ำไม่ไหว เกล็ดแทบปริ ต่อมาก็ตาย เอาขึ้นมากดท้องดูก็แฟบลงเหมือนปลาทั่วไป เรียกว่าเป็นโรคบวมหรืออะไรสักอย่าง? แต่ตัวที่ตายวันนี้แค่อ้วนธรรมดา ยังไม่ถึงกับเป็นราชินิีช้างเหมือนตัวนั้น

งานวันนี้

  • ทำ OpenType ต่อ โดยเริ่ม ฟช ตัวแรกที่ Garuda ครบทุก style และ commit เข้า CVS

ข่าววันนี้

  • วันก่อนเห็น jhbuild เพิ่ม Glom เข้ามาใน gnome28 module เลยเพิ่งได้เข้าไปดู ปรากฏว่าเป็นเครื่องมือ design database ไม่เลวแฮะ รอเธอ stable ก่อน
  • art.gnome.org กลับมาแล้วนิดนึง เดี๋ยวคงมีส่วนอื่นๆ ตามมา

08 มิถุนายน 2547

วีนัสขี้อาย

วันนี้ ถือว่าชดเชยเสาร์-อาทิตย์อีกวัน พักสมองด้วยการนั่งเรียบเรียงบทความเรื่อง Troy ต่อ ฝนตกจั้กๆ ทำให้ชักกังวลว่าจะได้ดู Venus Transit ไหมหนอ จนสิบโมงเศษๆ ฝนหยุด เลยไปเอากล้องดูดาวที่เคยประกอบไว้ ตั้งแต่สมัยดูดาวหางฮัลเลย์มาปัดฝุ่นใหม่ กะว่าจะฉายใส่ฉากดูเอา (เพิ่งมาฉุกคิดทีหลัง ว่ามันฉายลงฉากได้จริงหรือ ในเมื่อภาพที่เราส่องปกติมันเป็นภาพเสมือน) แต่หาเลนส์ไม่เจอ เลยไม่ได้ประกอบ (นี่แหละน้า.. ไม่ได้เตรียมแต่เนิ่นๆ) ก็เลยเกิดคิดอยากลองทำกล้องรูเข็มดู ถึงจะรู้ว่ามันใช้สังเกตเงาเล็กๆ อย่างดาวศุกร์ไม่ได้ แต่พอลองทำดู ก็ปรากฏว่าติดกรวยลดแสงในกล้อง ทำให้แสงไม่พอ อุ๊บ๊ะ! แม้แต่กล้องรูเข็มสั่วๆ ก็ยังทำไม่ได้หรือนี่ ไม่ได้การละ ออกไปดู มข ดีกว่า

โทรถาม อ.ต่าย เรื่องตึกหลอด อ.ต่ายอุตส่าห์โทรเช็กให้ ปรากฏว่าเขาตั้งกล้องจริงๆ แต่พอกำลังจะออกไป เปิดทีวีดูช่อง 11 ก่อน ปรากฏว่า เขาบอกว่าจะเริ่มเข้าประมาณ 12.13 น. อ้าว.. จำเวลาผิดเป็นเที่ยงครึ่ง ไปไม่ทันซะแล้ว เลยนั่งดูทีวีแทน แหะๆ เกรงใจ อ.ต่ายจัง

ดาวศุกร์มาตามนัด ค่อยๆ โผล่เข้ามาทีละนิดทางมุมบนซ้ายของภาพในกล้อง แต่ไม่รู้ว่าเรียกว่าเฉียงทางเหนือหรือใต้ เพราะไม่รู้ว่าภาพมันกลับหัวหรือเปล่า แต่ถ้าคิดเอาว่า จุด transit ครั้งนี้เกิดที่ราหูของดาวศุกร์ ก็น่าจะเข้าทางเหนือแล้วเฉียงออกด้านใต้ แล้วก็คิดต่อว่า ตอนนี้ใกล้ครีษมายัน ความเอียงของแกนโลกทำให้ดวงอาทิตย์เฉียงขึ้นเหนือของไทย คนเล็งกล้องก็ต้องเล็งขึ้นเหนือ เห็นด้านตะวันออกอยู่ด้านขวา ด้านเหนืออยู่ด้านล่างของภาพ ภาพที่เห็นตรงๆ ก็น่าจะเห็นดาวศุกร์เข้าทางล่างขวา แต่นี่เห็นเข้าบนซ้าย แสดงว่าภาพกลับหัวอยู่

หลังจากนั้นก็กินข้าวเที่ยง กะว่าไว้รอดูอีกทีตอนบ่ายแก่ๆ กินเสร็จก็มานั่งแก้บทความต่อ ด้านนอกแดดก็มาสลับกับเมฆครึ้ม ฝนตกอีกครั้ง กว่าจะออกมาได้ก็สี่โมงกว่าๆ นั่งรถเมล์ไป มข. (ที่นี่เขาเรียกรถสองแถวว่ารถเมล์กัน ตอนเด็กๆ ผมยังเรียกว่าสองแถวอยู่เลย เพราะเมื่อก่อนเคยมีรถเมล์แบบรถเมล์จริงๆ ด้วย) ไปเดินหาตึกหลอด เด็กๆ เลิกเรียนกันแล้ว กำลังเชียร์กันอยู่เลย พวกไม่ใช่ปีหนึ่งก็นั่งจับกลุ่มตามโต๊ะ ผมก็เลยออกจะแปลกหน้า ตอนเดินขึ้นไปดาดฟ้าเด็กก็มองแปลกๆ ปรากฏว่าบนดาดฟ้า ไม่มีวี่แววของนักสังเกตการณ์ ท้องฟ้าส่วนใหญ่ยังมีแต่เมฆหนาทึบ มีแสงลอดมาทางฝั่งตะวันตกเล็กน้อย คาดคะเนแล้ว คงอดดูตอนออกแหงๆ เลยกลับบ้านมาเปิดช่อง 11 ดูอีกที ทางกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ดูเหมือนกันครับท่านผู้ชม สรุปว่า คราวนี้พลาด.. เอาน่ะ อีกแปดปีแก้มือใหม่ ฮ่าๆ

แต่คิดดูอีกที คราวหน้าก็เกิดที่ node เดิม มันก็ต้องเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับครั้งนี้ คือเป็นหน้าฝนเหมือนกันนี่แหละ มันก็ต้องลุ้นเรื่องเมฆฝนเหมือนกันนี่หว่า.. เฮ่อ..

บทความเสร็จละ ส่งให้ webmaster ละ เดี๋ยวคงได้เห็น

07 มิถุนายน 2547

พักหายใจ

เมื่อวานไม่ได้บันทึก แต่ก็เป็นวันอาทิตย์ที่ยุ่งเหยิงพอสมควร ปรากฏว่าต้องแก้งานเพิ่มอีกให้เสร็จ ภายในเมื่อคืนนี้ ในขณะที่ต้องให้เวลาวันหยุดกับครอบครัวและญาติสนิทด้วย เมล์มาถึงตอนเย็น กว่าจะได้เริ่มทำ ก็สามทุ่ม ตาลีตาเหลือกปั่นจนถึงตีหนึ่ง หาวิธีใส่ title ให้กับ endnote ใน OO.o ไม่ได้อีกแล้ว (ต้องขอบคุณ kitty ที่อุตส่าห์ช่วยหาให้อีกแรง) ช่างมันฉันไม่แคร์ เมล์ไฟล์ส่งให้แล้วเข้านอน.. จะตีกลับอีกหรือเปล่าเดี๋ยวก็รู้.. ที่แน่ๆ คือ ยังเหลือ final draft อีกครั้ง

กลับมาที่ Pango OT อีกครั้ง

  • เนื่องจากทดสอบมาแล้วระดับหนึ่ง แม้จะไม่มีใคร review/test patch ให้ แต่ก็อาศัยสิทธิ์ความเป็น maintainer ของ Pango Thai module จัดการ commit Pango Thai OT patch ทั้งใน HEAD และ pango-1-4 branch (ที่ผ่านมา ทำและ test ใน pango-1-4) → resolve GNOME Bug #141541 และ update blog สรุป GNOME Bug เป็นอันว่า bug 6 ตัวที่รออยู่ resolve ไปแล้ว 3

เขียนเอกสารจนจะอ้วกมาเป็น OO.o อยู่แล้ว ขอพักซักหน่อย นั่งเขียนบทความเรื่อง Troy เล่นๆ ดีก่า.. ชดเชยเสาร์-อาทิตย์ ☺

05 มิถุนายน 2547

thaifonts-scalable

เมื่อคืนนอนไม่ค่อยหลับ เลยลุกมาเปิดเครื่องแต่เช้า แต่แล้วก็มึนหัวตุบๆ แม้จะล้างหน้าล้างตาก็ไม่ช่วย เลยนอนพักอีกนิด ไม่หลับหรอก แต่ก็ถือว่าได้พัก ลุกจากที่นอนอีกทีก็สายโด่ง กินข้าวเช้าเกือบสิบโมง เสร็จแล้วก็มานั่งแก้ฟอนต์ DBThaiText ต่อจากเมื่อคืน

  • เมื่อคืนแก้ DBThaiText Normal ไปแล้ว โดยเพิ่ม GPOS, GSUB และ commit เข้า CVS ไปเรียบร้อย
  • วันนี้แก้ Bold ต่อ โดยกำหนด anchor class ก่อน จากนั้นก็วัดระยะกำหนดตำแหน่ง anchor ต่างๆ แล้วก็ลงมือ plot ส่วน GSUB นั้น copy มาจาก Normal ได้เลย แต่บาง case มันได้ rule ซ้ำๆ มาหลายชุด เลยต้องนั่งลบด้วย → เสร็จแล้ว commit เข้า CVS
  • เสร็จแล้วแก้ Oblique และ BoldOblique ต่อ โดยกำหนด anchor class แล้วเอา Normal มา skew เอา ตบท้ายด้วยการ copy GSUB ตามเดิม → commit เข้า CVS อีก

เสร็จแล้วเช็กเมล.. อืมม์.. มีแววได้แก้งานอีกรอบ แต่ยังไม่แน่ ว่าแล้วก็เช็กข่าวเสียหน่อย

  • kitty โพล่งใน #tlwg เมื่อคืนว่า GNOME 2.7.1 Released ลองเช็กรายการดูจะไม่เห็น GTK+ กับ Pango ซึ่งพอเช็กข่าวอีกที ก็มีข่าว GTK+ 2.4.2 และ GLib 2.4.2 ออกตามมาพอดี ส่วน Pango นั้น เห็นเพิ่งแตก branch ไปเมื่ออาทิตย์ก่อน ก็ยังไม่คาดหวังว่าจะมี release ใหม่.. อย่าเพิ่งออกเลย เจ้าประคู้ณ.. ขอ resolve bug ก่อน
  • Dave Camp โพสต์ Road Map สำหรับ GNOME 2.8+ ที่แน่ๆ คือรวม Evolution ใน official GNOME แล้วก็ไปพัฒนาพวก integration ให้มากขึ้น ทำให้ใช้เน็ตเวิร์กและอินเทอร์เน็ตได้มีความสุขขึ้น ฯลฯ
  • Linux Journal มีบทความ Music Education with Linux Sound Tools อยากแคะแกะเกาลินุกซ์นอกเหนือจาก programming มั่งเหมือนกัน ไว้ต้องอ่านดู

04 มิถุนายน 2547

OTF Returns

ส่งงานไปแล้ว รอตรวจเช็ก อ้า.. โล่งจัง เหมือนยกเขาออกจากอก ว่าแล้วก็กลับมาดู Pango OT ต่อ พร้อมทั้ง GNOME bug อื่นๆ ที่ file ไว้ด้วย

  • เนื่องจากหาทางออกให้กับเรื่อง 'ccmp' ได้เคลียร์แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องอ่าน 'calt' อีกต่อไป → ทำ patch ใหม่ เรียบเรียงซอร์สอีกนิด → follow up GNOME Bug #141541 อีกครั้ง
  • GNOME Bug #141728 เกี่ยวกับการเลื่อนเคอร์เซอร์ใน GtkEntry นั้น หนึ่งเดือนผ่านมา ก็ยัง UNCONFIRMED อยู่ → post บอกเพื่อนฝูง เผื่อมีใครเคยร่วม GNOME bugsquad จะได้ช่วยยืนยันให้ จะได้เร็วขึ้นหน่อย
  • GNOME Bug #119891 เกี่ยวกับการลบอักขระด้วย backspace คิดว่าความเห็นของเราที่ให้ไป มันหนักไปหน่อย ก็เลยอธิบายเพิ่มว่า สำหรับภาษาไทยนั้น จะ normalize ก่อนลบหรือเปล่า ก็ไม่ต่างกัน เพราะ IM ไทยจะ normalize เสมออยู่แล้ว (ตาม วทท)

กลับมาที่เรื่อง OT table ใน thaifonts-scalable อีกครั้ง เมื่อคิดถึงจำนวนฟอนต์ที่จะต้องทำ ก็หน้ามืด ถ้าจะต้องเปิด fontforge แก้ GSUB rule ทีละฟอนต์จนครบ อ่วมแน่ๆ แถมยังเสี่ยงทำไม่ครบด้วย รวมทั้งเวลาจะแก้อะไรเพิ่มเติม ก็จะต้องเวียนซ้ำหมดอีก เลยคิดถึงอีกทางเลือก คือใช้ fonttools/ttx merge อัตโนมัติ

แล้วก็กลับมาลองแก้ DBThaiText ใน CVS ตั้งแต่ต้นอีกที อ้าว.. ไปเจอคำสั่ง “Copy Feature(s) to Font...” โฮ่ๆ ไม่ต้องใช้กระบวนท่า ttx แล้วน่ะสิ ☺

02 มิถุนายน 2547

แต้จิ๋ว

บังเอิญวันก่อนคุยกับคุณวีร์เรื่องภาษาจีนแต้จิ๋วใน #tlwg เมื่อคืนก่อนนอนเลยแวะค้นนิดหน่อย โดยอาศัยตัวอักษรจีนในหนังสือเป็นเครื่องนำทาง ได้ความว่าดังนี้:

แต้จิ๋ว (潮州) ออกเสียงในสำเนียงแต้จิ๋วว่า เตี่ยจิว (Teochew) และจีนกลางว่า เฉาโจว (Chaozhou) เป็นชื่อเมือง ทางตะวันออก ของมณฑล กวางตุ้ง (廣東) [แต้จิ๋ว: กวงตัง; จีนกลาง: กวางตง (Guangdong); อังกฤษ: Canton] คำว่า แต้จิ๋ว แปลตามตัวอักษรว่า เมืองน้ำขึ้น-น้ำลง (Tide Prefecture) อาจจะพอเทียบเคียงกับ ชลบุรี ได้กระมัง :-P

อีกเมืองหนึ่งที่น่าสนใจคือ ซัวเถา (汕頭) [แต้จิ๋ว: ซัวเท้า (Swatow); จีนกลาง: ซ่านโถว (Shantou)] ซึ่งเป็นเมืองเกิดของคนจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยส่วนใหญ่ ซัวเถาเป็นเมืองเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้ง อยู่ใกล้กับแต้จิ๋ว ประชากรมีอาชีพประมงเป็นหลัก (คำว่า ซัว (汕) ใน ซัวเถา เป็นชื่ออุปกรณ์จับปลาชนิดหนึ่ง ส่วน เท้า (頭) แปลว่า หัว) เดิมเป็นเมืองเมืองหนึ่งเหมือนแต้จิ๋ว แต่มีระยะหนึ่งเคยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแต้จิ๋ว แต่ปัจจุบันก็กลับเป็นเมืองเทียบเท่าแต้จิ๋วเหมือนเดิม

แต้จิ๋ว ในอีกความหมายหนึ่ง เป็นชื่อสำเนียง (dialect) ของภาษาจีน จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับ ฮกเกี้ยน เรียกรวมว่า Min (閩) [แต้จิ๋ว: มั้ง]

จาก แผนที่ภาษา ของจีน เทียบกับ แผนที่มณฑลกวางตุ้ง จะเห็นว่า ในกวางตุ้งเองมีภาษาพูดหลายสำเนียง ได้แก่ Cantonese (粤) (กวางตุ้ง), Hakka (客家) [แต้จิ๋ว: แคะแก; จีนกลาง: เคอะเจีย; ไทย:จีนแคะ] และ Min โดยกลุ่มของ Min นั้น มีส่วนหนึ่งอยู่ทางตอนใต้ที่ใกล้กับไหหลำ และอีกส่วนคือทางตะวันออกที่เชื่อมกับมณฑล ฟุเจี้ยน (福建) หรือฮกเกี้ยน ซึ่งบริเวณนี้แล คือถิ่นของแต้จิ๋ว และซัวเถา

hacker emblem