Theppitak's blog

My personal blog.

02 มิถุนายน 2547

แต้จิ๋ว

บังเอิญวันก่อนคุยกับคุณวีร์เรื่องภาษาจีนแต้จิ๋วใน #tlwg เมื่อคืนก่อนนอนเลยแวะค้นนิดหน่อย โดยอาศัยตัวอักษรจีนในหนังสือเป็นเครื่องนำทาง ได้ความว่าดังนี้:

แต้จิ๋ว (潮州) ออกเสียงในสำเนียงแต้จิ๋วว่า เตี่ยจิว (Teochew) และจีนกลางว่า เฉาโจว (Chaozhou) เป็นชื่อเมือง ทางตะวันออก ของมณฑล กวางตุ้ง (廣東) [แต้จิ๋ว: กวงตัง; จีนกลาง: กวางตง (Guangdong); อังกฤษ: Canton] คำว่า แต้จิ๋ว แปลตามตัวอักษรว่า เมืองน้ำขึ้น-น้ำลง (Tide Prefecture) อาจจะพอเทียบเคียงกับ ชลบุรี ได้กระมัง :-P

อีกเมืองหนึ่งที่น่าสนใจคือ ซัวเถา (汕頭) [แต้จิ๋ว: ซัวเท้า (Swatow); จีนกลาง: ซ่านโถว (Shantou)] ซึ่งเป็นเมืองเกิดของคนจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยส่วนใหญ่ ซัวเถาเป็นเมืองเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้ง อยู่ใกล้กับแต้จิ๋ว ประชากรมีอาชีพประมงเป็นหลัก (คำว่า ซัว (汕) ใน ซัวเถา เป็นชื่ออุปกรณ์จับปลาชนิดหนึ่ง ส่วน เท้า (頭) แปลว่า หัว) เดิมเป็นเมืองเมืองหนึ่งเหมือนแต้จิ๋ว แต่มีระยะหนึ่งเคยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแต้จิ๋ว แต่ปัจจุบันก็กลับเป็นเมืองเทียบเท่าแต้จิ๋วเหมือนเดิม

แต้จิ๋ว ในอีกความหมายหนึ่ง เป็นชื่อสำเนียง (dialect) ของภาษาจีน จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับ ฮกเกี้ยน เรียกรวมว่า Min (閩) [แต้จิ๋ว: มั้ง]

จาก แผนที่ภาษา ของจีน เทียบกับ แผนที่มณฑลกวางตุ้ง จะเห็นว่า ในกวางตุ้งเองมีภาษาพูดหลายสำเนียง ได้แก่ Cantonese (粤) (กวางตุ้ง), Hakka (客家) [แต้จิ๋ว: แคะแก; จีนกลาง: เคอะเจีย; ไทย:จีนแคะ] และ Min โดยกลุ่มของ Min นั้น มีส่วนหนึ่งอยู่ทางตอนใต้ที่ใกล้กับไหหลำ และอีกส่วนคือทางตะวันออกที่เชื่อมกับมณฑล ฟุเจี้ยน (福建) หรือฮกเกี้ยน ซึ่งบริเวณนี้แล คือถิ่นของแต้จิ๋ว และซัวเถา

1 ความเห็น:

  • 2 มิถุนายน 2547 เวลา 18:43 , Blogger bact' แถลง…

    ในแผนที่ จะเห็น HAKKA อยู่

    แถวนี้เป็นถิ่นกำเนิดของ 'จีนแคะ' ในเมืองไทยครับ
    (อันเดียวกะก๋วยเตี๋ยวแคะนั่นแหละ)

    และรู้สึกเป็นถิ่นที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นอิสลามด้วย

    (ใครเคยอ่าน ฉินมี่หมัดเหล็ก อะไรนี่ น่าจะรู้ -- ผมไม่ได้อ่าน :P)

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem