The Magic Cauldron
อ่าน The Magic Cauldron จบแล้ว ความรู้สึกขณะอ่านบางตอนคือ ขัดกับความรู้สึก และเมื่ออ่านจบ ก็ถึงได้เข้าใจอีกว่า เหตุที่ขัดความรู้สึกก็เพราะ แนวคิดของ ESR นั้น ตั้งอยู่บนเงื่อนไขของความพร้อมด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งบ้านเรายังไปไม่ถึงขั้นนั้น เรียกได้ว่า ไม่ง่ายเท่าไหร่ ที่จะเกาะกระแสโอเพนซอร์สเพื่อทำธุรกิจในไทย
บทความเริ่มจากแก้ความเข้าใจเรื่องโครงสร้างราคาซอฟต์แวร์ บอกว่าซอฟต์แวร์กว่า 95% เป็นซอฟต์แวร์ที่เขียนเพื่อใช้ในองค์กร ที่เหลืออีก 5% เขียนเพื่อวางขาย แต่บังเอิญ 5% นี้ มีการทำตลาด จึงเป็นที่รู้จักมากกว่าอีก 95% ของภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ใต้ทะเล ก็เป็นการตีประเด็นของคนที่คิดจะเขียน FOSS ขาย (บังเอิญเป็นประเด็นของผมด้วย) แล้วก็ว่าต่อไปว่า ต้นทุนของซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ อยู่ที่ช่วง maintenance ซึ่งทำให้ proprietary vendor ใช้วิธีออกรุ่นใหม่ ยกเลิกบริการรุ่นเก่าไปเรื่อยๆ เพราะการจ่ายเงินสิ้นสุดลงตั้งแต่ซื้อรุ่นเก่าไปแล้ว ซึ่งทำให้ผู้ใช้ถูกทอดทิ้ง และต้องไล่ตามซื้อซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ๆ อยู่ตลอด ดังนั้น โครงสร้างราคาซอฟต์แวร์ที่สมเหตุสมผล ควรลดราคาขายลง แล้วมาเน้นที่การขายบริการในช่วง maintenance ซึ่งเท่ากับว่า ผู้ใช้เองก็ต้องยอมรับการคิดราคาแบบใหม่ด้วย
ตรงนี้ หากมองในมุมมองของนักพัฒนา ก็เท่ากับว่า เงื่อนไขคือ ควรมีธุรกิจอะไรบางอย่าง ที่จำเป็นต้องใช้ซอฟต์แวร์ แล้วให้โอเพนซอร์สช่วยลดต้นทุนธุรกิจให้อีกที ส่วนถ้าคิดจะเขียนขาย ก็ต้องปรับโครงสร้างราคา ให้มาเน้นที่การ maintenance หรือ support แทน ตรงนี้พอมีทางเป็นไปได้สำหรับบ้านเรา? เพราะทุกวันนี้ ราคาซอฟต์แวร์ก็ไม่ค่อยมีความหมายอยู่แล้ว
มีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ คือการพูดถึง “โศกนาฏกรรมของส่วนรวม” พูดถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้ของส่วนรวมว่า ถ้ามีทุ่งหญ้าส่วนกลาง แล้วให้ทุกคนมีอิสระที่จะจูงวัวมากินหญ้า อะไรจะเกิดกับทุ่งหญ้า? ถ้าวิเคราะห์ด้วย game theory ก็น่าจะเป็นว่า ทุกคนมุ่งใช้ประโยชน์จากทุ่งหญ้าอย่างเต็มที่ อาจเกิดการกักตุนพื้นที่ไว้ขายต่อ ฯลฯ ในที่สุด แม้หญ้าจะมีมากมาย แต่ก็จะโตไม่ทันความต้องการ แล้วสมบัติส่วนรวมก็เละตุ้มเป๊ะในที่สุด
แต่ ESR วิเคราะห์ว่า ชุมชนโอเพนซอร์สกลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเมื่อวิเคราะห์ด้วย game theory แล้ว เมื่อ hacker แก้โปรแกรมเพื่อสนองความต้องการของตัวเองแล้ว จะมีแนวโน้มที่จะพยายามให้ patch ของตนได้รวมในส่วนกลาง เพราะจะประหยัดค่าใช้จ่ายของตัวเองในการดูแลโปรแกรมเมื่อรุ่นใหม่ๆ ออกมา เท่ากับเป็นการผลักภาระการดูแล patch ไปให้ส่วนกลาง และทำให้ตนให้บริการลูกค้าได้สะดวกขึ้น ประกอบกับเกมแห่งชื่อเสียง (reputation game) ในวัฒนธรรมการให้ (gift culture) ยังทำให้ hacker ช่วยกันพัฒนาซอฟต์แวร์ส่วนกลางอยู่เรื่อยๆ (แต่ในทางปฏิบัติอาจเป็นเรื่องอุดมการณ์มากกว่า?) ซึ่งผลที่ตามมาคือ ทุ่งหญ้าส่วนกลางมีการงอกเงยขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีคนกอบโกย (free rider) แต่ก็ไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม
ตรงนี้แหละ ที่ผมคิดว่าอาจจะอยู่บนข้อสมมุติของความพร้อมของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งเมืองไทยเรายังไปไม่ถึงขั้นนั้น บ้านเรา มีคนทำ patch ก็จริง แต่อาจจะไม่เยอะจนทันต่อความต้องการที่เกิดจาก free rider ได้ นอกจากนี้ เกมแห่งชื่อเสียงอาจถูกรบกวนจากท่าทีที่กร่างของภาครัฐ ที่มีความจำเป็นต้องอ้างความสำเร็จในภาพรวม หรืออ้างความเป็นตัวแทนของประชาคม เนื่องจากมีแรงกดดันจากความคาดหวังของสังคม ทั้งความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของสังคม ยังทำให้สัดส่วนของประชากรนักพัฒนาไปปูดตรงชั้นของ distribution แทนซอฟต์แวร์ส่วนกลางอีกด้วย
ตรงนี้ จึงกลายเป็นโจทย์ ว่าหากจะให้นักพัฒนา FOSS อยู่รอด ก็ต้องทำให้เป็นธุรกิจให้ได้ แต่จะเกิดธุรกิจได้ ก็ต้องให้กลไกโอเพนซอร์สทำงานเต็มที่เสียก่อน (ไม่งั้นก็มีแต่ free rider) ซึ่งหมายความว่า ต้องแก้ความเข้าใจของสังคมต่อภาพรวมทั้งหมด ว่าควรเน้นที่ไหนบ้าง ต้องให้เกมแห่งชื่อเสียงทำงาน โดยลดความกดดันต่อภาครัฐลง แล้วลุกขึ้นทำอะไรด้วยตัวเองให้เป็นรูปธรรมบ้าง และที่สำคัญคือ ต้องมีการเชื่อมโยงกับต้นน้ำมากยิ่งขึ้น ก่อนที่หญ้าจะหมดจากทุ่ง
ต่อจากนั้น บทความก็ได้พูดถึงโมเดลธุรกิจโอเพนซอร์สแบบต่างๆ ที่ก็เคยผ่านตามาแล้วในเว็บโอเพนซอร์ส รวมไปถึงเกณฑ์การพิจารณาว่าเมื่อไรควรเปิด เมื่อไรควรปิดซอร์ส และการใช้โอเพนซอร์สเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจอีกด้วย ซึ่งก็น่าสนใจดี ใครสนใจก็ลองอ่านดูได้
ต่อจากเรื่องนี้ ก็ยังมี Revenge of the Hackers ต่ออีกเรื่อง แต่ถึงจุดนี้ ชักอยากแปลบทความสองเรื่องนี้ (Homesteading the Noosphere และ The Magic Cauldron) ก่อน แต่ไม่รู้จะมีเวลาพอไหม
2 ความเห็น:
ณ 21 มิถุนายน 2547 เวลา 13:26 , veer แถลง…
เจ๋ง เห็นภาพอะไรชัดเจนขึ้นอีกมาก
ณ 22 มิถุนายน 2547 เวลา 04:25 , NOI แถลง…
แปลเลยครับ สนับสนุน .. (จาก a free rider แหะๆ))
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก