ควันหลง ก เอ๋ย ก ไก่
มีความเห็นเพิ่มเติมจาก blog ก เอ๋ย ก ไก่ ที่ถ้าเขียนเป็นความเห็นต่อท้ายก็ชักจะยาวเกินไป เลยขอเขียนเป็น blog ใหม่ละกันครับ
ผมชอบความมีระเบียบของ alphabet บาลี-สันสกฤต (แต่ไม่รู้ไวยากรณ์อะไรมาก) เพราะดูมีหลักการในการเรียงลำดับอักษรกว่าภาษาอื่น ๆ และเมื่อได้รู้จักแล้ว ทำให้เข้าใจอักษรไทยได้ง่าย เหมือนได้ขึ้นมาดู bird-eye view หลังจากที่เรียนแบบ sequential access, random access มา
นอกจากนี้ ยังช่วยให้เปรียบเทียบกับภาษาเพื่อนบ้านที่มาจากรากเดียวกันได้ง่ายด้วย
หลังจากที่ได้รู้จักระบบการเขียนของภาษาต่าง ๆ แบบคร่าว ๆ แล้ว ขอยืนยันว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่ง่ายมากแล้วครับ ใครที่คิดว่าภาษาไทยยากและซับซ้อน คุณจะเปลี่ยนความคิดทันทีที่ได้รู้จักภาษาเขมร ภาษาไทยเราเขียนพยัญชนะในบรรทัดเดียว ที่อยู่บน-ล่างก็มีแต่สระ วรรณยุกต์ และเครื่องหมายประกอบเท่านั้น แต่ภาษาเขมรเขาเขียนพยัญชนะใต้บรรทัดด้วยครับ โดยมีการลดรูปลงมา เรียกว่า "เชิง" เวลาอ่านจึงต้องแยกให้ดีว่าต้องออกเสียงพยัญชนะไหน ภาษาล้านนาก็มีลักษณะคล้ายกัน "เชิง" ที่ว่านี้ เข้ามามีอิทธิพลกับตัวเขียนไทยในสมัยหลัง และเหลือร่องรอยอยู่ในอักษรสองตัว คือ ฐ ฐาน และ ญ หญิง ในปัจจุบัน
ลายสือไทยที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้น ถือเป็นนวัตกรรมของภูมิภาคนี้ในขณะนั้นได้เลย และได้รับความนิยมกระจายไปถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย อักษรไทน้อยของลาวก็ได้รับอิทธิพลจากลายสือไทยเหมือนกัน เพราะเขียนง่ายกว่าอักษรธรรมที่เขาเคยใช้ จนตอนนี้ อักษรธรรมคงเหลืออยู่แต่ในคัมภีร์ทางศาสนาเท่านั้น
นวัตกรรมของพ่อขุนรามฯ ส่งผลมาถึงปัจจุบัน ทำให้ภาษาไทย (รวมทั้งลาวที่ประยุกต์ใช้ลายสือไทย) กลายเป็นภาษาที่ทำในคอมพิวเตอร์ได้ง่ายที่สุดในบรรดาภาษาตระกูล Indic (เขาเรียกรวมกับภาษาอารบิกที่เขียนจากขวามาซ้าย และมีการเปลี่ยนรูปอักขระตามตำแหน่งที่อยู่ในพยางค์ รวมเรียกว่า "Complex Text Layout" (CTL))
แต่การที่ภาษาไทยที่ง่าย ถูกจัดกลุ่มให้อยู่ใน Complex Text Layout ทำให้เราถูกเหมารวมว่าต้องจัดการซับซ้อนเหมือนกับภาษาต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย เช่น ต้อง encode สระหลังอักษรนำเสมอ เช่น คำว่า "โดย" ก็ต้อง encode เป็น "ดโย" คำว่า "เขา" ก็ต้อง encode เป็น "ข{เา}" โดย "{เา}" เป็นอักขระใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อแทนสระเอา สระผสมอื่น ๆ เช่น สระเอือ สระเอีย ฯลฯ ก็ต้องกำหนดอักขระใหม่ให้ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีการใช้ virama ซึ่งได้แก่ตัวพินทุในภาษาบาลี-สันสกฤต ในการ mark cluster ต่าง ๆ มีเครื่องหมายเปลี่ยนรูปพยัญชนะ ฯลฯ
เรื่องพวกนี้ คนไทยเข้าใจได้ยาก เพราะภาษาเราไม่มีคอนเซ็ปต์เรื่อง conjunct หรือการเปลี่ยนรูปอักขระเมื่อมาผสมกัน ลายสือไทยของพ่อขุนรามฯ ได้แก้ปัญหาความซับซ้อนต่าง ๆ เหล่านี้ไปตั้งแต่ 700 กว่าปีมาแล้ว ภาษาไทยพร้อมสำหรับ computerization โดยไม่ต้องรอ OpenType technology มาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว
นอกจากนี้ พ่อขุนรามฯ ยังได้ทรงออกแบบภาษาไทยไว้ให้เขียนเว้นช่องไฟระหว่างคำด้วย (สังเกตจากศิลาจารึก ช่องไฟนี้แคบกว่าช่องไฟระหว่างประโยค) เรียกได้ว่า ถ้าสมัยนั้นมีคอมพิวเตอร์ ภาษาไทยน่าจะเป็นภาษาแรกในภูมิภาคนี้ที่ implement เสร็จก่อนใครได้เลยทีเดียว โดยแค่ทำฟอนต์ก็ใช้ลายสือไทยใน desktop ได้แล้ว ไม่ต้องไป hack pango ให้วุ่นวาย ช่องไฟระหว่างบรรทัดก็แคบกว่าปัจจุบันด้วย เพราะลายสือไทยเขียนสระทุกตัวในบรรทัดหมด มีเพียงวรรณยุกต์เท่านั้นที่เขียนด้านบน
ความซับซ้อนต่าง ๆ ของภาษาไทยที่เพิ่มมาในยุคหลัง เป็นผลมาจากอิทธิพลของภาษาเขมรที่เป็นภาษาครูภาษาหนึ่งของเรา พยัญชนะที่เคยเขียนได้ใน stroke เดียว ก็เริ่มมีหลาย stroke ในบางตัว เช่น ฐ ญ เพราะความนิยมเขียนเชิงของพยัญชนะ การย้ายสระไปเขียนบนและล่างบรรทัด การเขียนติดกันไม่เว้นช่องไฟ แต่โชคดีที่เรารับมาแค่นั้น ความง่ายของลายสือไทยที่ยังอยู่ ยังส่งผลให้ภาษาไทยสามารถใช้ได้ในคอมพิวเตอร์ก่อนประเทศเพื่อนบ้าน โดยเริ่มใช้ได้มาตั้งแต่ยุคของ DOS โดยไม่ต้องรอเทคโนโลยี complex text layout
หลังจากเข้าใจอะไรมากขึ้น ผมเปลี่ยนมา บอก ชาวต่างชาติ ว่าภาษาไทยง่ายมาก ๆ ครับ ความเข้าใจผิดของเขาจากการโอดครวญของคนไทย จะทำให้ภาษาไทยต้องไปพบกับ solution ที่ซับซ้อนเกินความจำเป็น คนไทยเองก็เช่นกัน ขอให้ภูมิใจเถอะครับ ว่าบรรพบุรุษของเรา ได้สร้างระบบการเขียนที่ง่ายที่สุดระบบหนึ่งสำหรับภาษาในตระกูลเดียวกันไว้ให้เราใช้
ป้ายกำกับ: language