Theppitak's blog

My personal blog.

21 เมษายน 2550

Font License, LaTeX

ก่อนจะแปล GNOME ต่อ มีเรื่องฟอนต์ให้สะสางก่อน กล่าวคือ thaifonts-scalable นั้น ไม่ได้ออกรุ่นใหม่มานานแล้ว ทั้งที่ระหว่างนั้นก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพอสมควร ทั้งนี้เพราะติดปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนของ license ของฟอนต์

ฟอนต์ในไดเรกทอรี "nf" นั้น มาจากโครงการฟอนต์แห่งชาติ ที่เนคเทคเคยจัดให้มีขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องฟอนต์ของเมืองไทย อย่างเช่น Dear Book และ Unity Progress และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยบางแห่ง มาร่วมกันร่าง คำแนะนำในการสร้างฟอนต์ไทย พร้อมกับสร้างฟอนต์ตัวอย่างไว้ให้เป็นสาธารณสมบัติ (public domain) ทั้งหมด 3 ฟอนต์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานชื่อฟอนต์ชุดที่ 1, 2 และ 3 ว่า กินรี, ครุฑ และ นรสีห์ ตามลำดับ และในขณะนั้น โครงการก็ประกาศเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมการใช้ฟอนต์ทั้งสาม เป็นฟอนต์มาตรฐานในเอกสารต่างๆ โดยกำจัดข้อจำกัดเรื่อง license ออกไป

แต่หลังจากนั้น โครงการก็ยุบหายไป ไม่มีการดูแลต่อ แต่ฟอนต์ทั้งหลายก็ต้องการการปรับปรุง ตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น หรือตามความต้องการของซอฟต์แวร์ต่างๆ กลุ่มทำงานลินุกซ์ไทย (TLWG) จึงเห็นว่าควรพัฒนาฟอนต์ดังกล่าวต่อ เริ่มโดยคุณพูลลาภ เสนอให้สร้าง project ด้วย PfaEdit (ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น FontForge) จากฟอนต์ที่เผยแพร่กันอยู่ในหมู่ผู้ใช้ลินุกซ์ เพื่อจะได้แก้ไขกันได้สะดวก จากนั้น ก็มีคุณชนพ เข้ามาร่วมพัฒนาฟอนต์อีกคน โดยได้ช่วยปรับปรุงฟอนต์ตามหลัก typography มากมาย ทั้งคุณพูลลาภเองก็ได้สร้างฟอนต์ใหม่ขึ้นมาเสริมส่วนที่ขาดอีกด้วย

ทีนี้ ปัญหาที่พบก็คือ ข้อมูลในฟอนต์แห่งชาติที่พัฒนากันอยู่นั้น มันขัดกับเจตนารมณ์ที่โครงการฟอนต์แห่งชาติประกาศไว้ กล่าวคือ ข้อมูล copyright มีการระบุเจ้าของตามปกติ โดยไม่ได้ระบุ license เป็นอย่างอื่น ซึ่งตามกฎหมายลิขสิทธิ์ก็หมายความว่า ฟอนต์ดังกล่าว ได้รับความคุ้มครอง ห้ามผู้ใดทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ก็เท่ากับว่า เรากำลังละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของฟอนต์เหล่านั้นอยู่ ถ้าเป็นการเผยแพร่ภายในประเทศ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร ในเมื่อทุกคนรู้เจตนาของการสร้างฟอนต์ ก็น่าจะไม่มีการฟ้องร้องอะไร แต่จะมีปัญหาเมื่อพยายามจะส่งฟอนต์เข้า Linux distro สากล ซึ่งเขาไม่ได้มารับรู้อะไรด้วย ว่ามีโครงการฟอนต์แห่งชาติ หลักฐานที่เขาดู ก็คือข้อมูลที่ระบุในฟอนต์เท่านั้น ซึ่งถ้าเราต้องการให้ลินุกซ์ใช้ภาษาไทยได้แต่ต้น โดยไม่ต้องลงฟอนต์เพิ่ม ก็ต้องแก้ปัญหานี้ โดยต้องไปขออนุญาตกับเจ้าของฟอนต์ แต่คำถามต่อไปก็คือ "ใครคือเจ้าของฟอนต์?"

เมื่อติดต่อไปที่เนคเทค เนคเทคก็ย่อมเกรงใจผู้สร้างฟอนต์ ซึ่งเป็นเช่นนั้นจริงๆ ในเมื่อตัวโครงการไม่มีอยู่แล้ว ก็จำเป็นต้องติดต่อไปที่ผู้สร้างฟอนต์ แต่กลับได้รับคำตอบกลับมาว่า เขาได้ยกฟอนต์ให้กับโครงการฟอนต์แห่งชาติแล้ว จะเอาไปทำอะไรก็เชิญ ซึ่งทั้งหมดนี้ มาจากคำบอกเล่าของคนที่เนคเทค และการพูดคุยกับผู้สร้างฟอนต์ทั้งหมด ก็เป็นการคุยผ่านโทรศัพท์ด้วย ไม่มีหลักฐานอะไรที่จะยืนยันได้เลย และหลังจากนั้น เสียงจากเนคเทคก็เงียบหายไป..

ถึงตอนนี้ จำเป็นต้องตัดสินใจแล้ว เพราะฟอนต์มีปัญหาบางอย่างที่แก้ไขแล้ว แต่ยังไม่ได้ปล่อยออกมาทดแทนตัวเก่าเสียที ก็คงมีแต่ตัดสินใจกันตามมีตามเกิด

ฟอนต์นรสีห์นั้น คุณชนพได้เคยติดต่อ ดร.วิรัช ไว้แล้ว และได้รับอนุญาตให้ใช้ GPL ได้ ส่วนฟอนต์ครุฑนั้น ระบุไว้ใน Copyright ว่า "Generated by NECTEC for Public Domain" ก็น่าจะหมดปัญหาไปอีกหนึ่ง ยังคงขาดข้อมูลเรื่องผู้ออกแบบ glyph เท่านั้น รวมทั้ง glyph ตัวโรมันด้วย ว่าเอามาจากฟอนต์อื่นหรือเปล่า ส่วนฟอนต์กินรี ระบุไว้ชัดเจนเลยว่า "Kinnari by Db Type : Fontographer 3.5" และไม่มีข้อมูล license เลย ตัวนี้ ถ้าติดต่อเจ้าของไม่ได้จริงๆ น่าจะมีปัญหาในการเผยแพร่

วันนี้เลยไล่ตรวจสอบความเรียบร้อยของข้อมูล license ของฟอนต์อย่างเดียว เพื่อเตรียมออกรุ่นใหม่ 9 มิ.ย. นี้ โดยพร้อมจะตัดฟอนต์ที่มีปัญหา เช่น กินรี ออกทุกเมื่อ และได้ update ฟอนต์ไปยัง thailatex ด้วย

พูดถึง LaTeX วันนี้ไปเจอบทความน่าสนใจที่ OSNews.com:

LaTeX isn't for everyone but it could be for you อ่านๆ ไป ถึงเพิ่งรู้ ว่ามีคน เกลียด WYSIWYG ขนาดนี้ โหะๆ ยังไม่ได้อ่าน แต่คิดว่าคงถูกใจผม :-) พร้อมกันนี้ ก็มีลิงก์ไปยังเอกสารสอนใช้ LaTeX ที่น่าสนใจ:

bookmark ไว้ก่อน ไว้มาอ่าน :-)

หมายเหตุ: วันที่ blog: 7 มิ.ย. 2548 (ถูกดันขึ้นมาเพราะพยายาม tag blog เก่า)

ป้ายกำกับ:

2 ความเห็น:

  • 9 มิถุนายน 2548 เวลา 09:28 , Blogger phisite แถลง…

    ฟอนต์กินรี ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด น่าจะมาจากฟอนต์ DB Narai ของเดียร์บุ๊คครับ เท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้น บ. เดียร์บุ๊ค ได้ร้างไปแล้ว แต่ได้มีการตั้งบริษัทใหม่ชื่อ บ. ดีบิค ขึ้นแทน ตามรายละเอียดใน URL นี้ครับ http://www.d-bic.com/old/we.htm น่าจะตามรอยเรื่องความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และสัญญาอนุญาตของฟอนต์กินรีได้จากบริษัทดังกล่าวครับ

     
  • 10 มิถุนายน 2548 เวลา 12:08 , Blogger Thep แถลง…

    ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ ไว้เดี๋ยวพยายามติดต่ออีกที

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem