Theppitak's blog

My personal blog.

28 เมษายน 2550

ก เอ๋ย ก ไก่

เก็บกวาด Garuda เสร็จละ ช่วงนี้ทำฟอนต์เยอะ ๆ ได้ไล่ ก-ฮ เป็นสิบรอบเลย เลยทำให้นึกอยาก blog เรื่องตัวอักษรไทย

ถึงเรื่อง ก เอ๋ย ก ไก่ จะเป็นเรื่องของเด็กอนุบาล แต่ก็พบบ่อย ๆ ว่าผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ยังถามกันอยู่ ว่าท่อง ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ได้หรือเปล่า ผมเองก็ถูกถาม

แหงละ คลุกคลีกับภาษาไทยซะขนาดนี้ ท่องไม่ได้ก็บ้าละ แต่ทุกคนคงเห็นได้ไม่ยาก ว่า ก เอ๋ย ก ไก่ ที่ท่องเป็นกลอนสี่กันนั้น มันไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนักในการใช้งานในชีวิตจริง เช่น เวลาเปิดพจนานุกรมหรือเรียงลำดับคำตามตัวอักษร เราคงไม่พยายามท่องกลอนเพื่อจะบอกว่า บ ใบไม้ กับ ด เด็ก อะไรมาก่อน

ทุกคนที่ผ่านชั้นมัธยมมาแล้ว จะรู้จักพยัญชนะบาลี-สันสกฤตที่แบ่งวรรคตามฐานที่เกิดของเสียงไว้เป็นอย่างดี:

วรรค กะ (คอ)
วรรค จะ (เพดาน)
วรรค ฏะ (ปุ่มเหงือก)
วรรค ตะ (ฟัน)
วรรค ปะ (ริมฝีปาก)

เศษวรรค ย ร ล ว (ศ ษ) ส ห ฬ ํ

บาลีไม่มี ศ ษ มีแต่ในสันสกฤต

เวลาท่อง ใส่สระอะเข้าไป (กะ ขะ คะ ฆะ งะ ฯลฯ) เป็นจังหวะเพลินดีนักแล

นี่เป็นต้นกำเนิดอักษรไทยที่เรารับมาใช้ผ่านทางมอญ-เขมร โดยเพิ่มพยัญชนะเข้าไปในบางตำแหน่ง เพื่อแทนเสียงในภาษาไทย และมีการต่อเติมเข้าไปตามยุคสมัย จนปัจจุบันกลายเป็น:

วรรค กะ (คอ) ข (ฃ) ค (ฅ)
วรรค จะ (เพดาน) ช (ซ)
วรรค ฏะ (ปุ่มเหงือก) (ฎ) ฏ
วรรค ตะ (ฟัน) (ด) ต
วรรค ปะ (ปาก) (บ) ป ผ (ฝ) พ (ฟ)

เศษวรรค ย ร ล ว ศ ษ ส ห ฬ (อ ฮ)

นี่คือวิธีไล่ ก-ฮ แบบสองมิติที่ผมใช้ ทำให้เทียบ/เรียงลำดับพยัญชนะได้รวดเร็ว แต่ประโยชน์ของการรู้จักพยัญชนะวรรคยังไม่จบแค่นี้ ยังมีเรื่องไตรยางศ์ (อักษร ๓ หมู่) ที่เกี่ยวข้องอีก

การแบ่งวรรคในแถวนอนของบาลี-สันสกฤต เป็นการแบ่งตามฐานที่เกิดของเสียง แต่ในแต่ละแถว ยังแบ่งย่อยในแนวตั้งเป็น ๕ คอลัมน์ ตามวิธีออกเสียง (โฆษะ-อโฆษะ, ธนิต-สิถิล-นาสิก) ดังนี้:

อโฆษะ โฆษะ
สิถิล ธนิต สิถิล ธนิต นาสิก
วรรค กะ (คอ)
วรรค จะ (เพดาน)
วรรค ฏะ (ปุ่มเหงือก)
วรรค ตะ (ฟัน)
วรรค ปะ (ปาก)

เศษวรรค ย ร ล ว (ศ ษ) ส ห ฬ ํ

อย่าเพิ่งงงกับศัพท์ โฆษะในที่นี้ไม่ใช่โรงแรมชื่อดังในขอนแก่น แต่แปลว่าเสียงก้อง อโฆษะ ก็ตรงกันข้าม คือไม่ก้อง พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ตามแบบฉบับไทยที่มีเสียงวรรณยุกต์ (แต่ไม่ใช่ของบาลี-สันสกฤตเดิม) คือ โฆษะเสียงจะสูง อโฆษะเสียงจะต่ำ สังเกตง่าย ๆ ว่าตอนท่อง กะ ขะ คะ ฆะ งะ สองตัวแรกจะเป็นเสียงต่ำ สามตัวหลังเป็นเสียงสูง เป็นอย่างนี้ทุกวรรค

ส่วน สิถิล แปลว่าเบา ธนิต ตรงกันข้าม คือหนัก เสียงสิถิลจะกระทบแหล่งกำเนิดเสียงเบา เสียงธนิตจะกระทบแรง เทียบง่าย ๆ ระหว่าง ก กับ ข เสียง ก เป็นสิถิล จะเกิดการเสียดสีของลมในคอเบากว่า ข และคำสุดท้ายคือ นาสิก หมายถึงเสียงออกจมูก ลองบีบจมูกแล้วพยายามออกเสียงพยัญชนะเหล่านี้ดู จะเกิดลมดัน อาจมีบางคนแย้งว่าเสียง ญ ออกได้โดยไม่มีลมดัน นั่นเป็นเพราะการเพี้ยนเสียงของภาษาไทยกลาง ถ้าพยายามออกเสียงแบบดั้งเดิม คือแบบคนภาคเหนือ-อีสาน จะมีลมดัน

สังเกตว่าเสียงสิถิลของคอลัมน์ที่สาม ก็ได้หายไปในภาษาไทยกลางด้วยเช่นกัน โดยกลายเป็นเสียงธนิต ทำให้ ค และ ฆ ออกเสียงเหมือนกัน รวมทั้ง ช และ ฌ, ฑ ฒ ท และ ธ, พ และ ภ ด้วย ภาษาเหนือจะยังคงเสียงสิถิลนี้ไว้ โดยออกเสียง ค เหมือน ก, ช เหมือน จ, ท เหมือน ต, พ เหมือน ป เช่น เชียงราย ออกเป็น เจียงฮาย, งามแท้ ออกเป็น งามแต๊, เพิ่น ออกเป็น เปิ้น ฯลฯ ดังนั้น การผันพยัญชนะวรรคตามแบบคนภาคเหนือ (กะ ขะ ก๊ะ ฆะ งะ) น่าจะใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด

ร่องรอยที่ยังเหลืออยู่ของเสียงสิถิลของคอลัมน์สามในภาษาไทยกลาง คงเป็นตัว ฑ นางมณโฑ ที่ยังมีบางคำออกเสียงเป็น ด เช่น บัณฑิต มณฑป แต่อันนี้สันนิษฐานเอา ไม่ยืนยันครับ

สังเกตว่า วรรค ฏะ กับ วรรค ตะ ในภาษาไทยก็กลืนเป็นเสียงเดียวกันไปด้วย ตรงนี้คงเป็นเหมือนกันทุกภาค

การกลืนเสียงต่าง ๆ เหล่านี้แหละ ที่ทำให้เรามีพยัญชนะที่ออกเสียงเหมือนกันหลายตัว แต่ของเดิมจริง ๆ ต่างกันหมด

เกริ่นมาเสียยาว มาถึงเรื่องไตรยางศ์ที่โปรยไว้เสียที ภาษาต่าง ๆ ที่ใช้บาลี-สันสกฤตเป็นแม่แบบ ต่างปรับ feature การออกเสียงของคอลัมน์ต่าง ๆ นี้ไปคนละแบบ ผมเคยเขียนถึงของภาษาเขมรไว้ใน blog เก่า ว่าเขาใช้วิธีเปลี่ยนเสียงสระ เช่น ผันวรรคกะเป็น กอ คอ โก โค โง ซึ่งจะเห็นว่า สองตัวแรกเป็นอโฆษะ ใช้สระหนึ่ง สามตัวหลังซึ่งเป็นโฆษะ ใช้อีกสระหนึ่ง และเมื่อพยัญชนะโฆษะและอโฆษะไปสะกดสระเดียวกัน ก็จะออกเสียงเป็นคนละสระ เป็นต้น แต่ภาษาไทยของเราไม่ผันสระ แต่ผันวรรณยุกต์ เช่น ที่เราผัน กะ ขะ คะ ฆะ งะ จะเห็นว่า เสียงอโฆษะในสองตัวแรก เราใช้เสียงเอก ส่วนเสียงโฆษะสามตัวท้าย เราใช้เสียงตรี

และนี่คือที่มาของอักษรสามหมู่:

กลาง สูง ต่ำ
ต่ำคู่ ต่ำเดี่ยว
วรรค กะ (คอ) ข (ฃ) ค (ฅ)
วรรค จะ (เพดาน) ช (ซ)
วรรค ฏะ (ปุ่มเหงือก) (ฎ) ฏ
วรรค ตะ (ฟัน) (ด) ต
วรรค ปะ (ปาก) (บ) ป ผ (ฝ) พ (ฟ)

ลองเช็กกับ "ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง" และ "ไข่ฉันถากผีฝากสากให้" หรืออะไรก็แล้วแต่ที่คุณเคยท่องได้ ส่วนเศษวรรค ก็จำเพิ่มเอา มี อ เป็นอักษรกลางตัวเดียว และเสียง ส ห (ศ ษ ส ห) เป็นอักษรสูง นอกนั้นเป็นอักษรต่ำทั้งหมด

สังเกตว่า เนื่องจากภาษาไทยกลางได้ตัดเสียงสิถิลของคอลัมน์สามออกไปแล้ว ทำให้ออกเสียงธนิตเหมือนคอลัมน์สี่ แล้วก็เลยไปคู่กับเสียงอโฆษะในคอลัมน์สองที่เป็นอักษรสูง อักษรในคอลัมน์สามและสี่นี้ จึงได้ชื่อว่า อักษรต่ำคู่ เพราะมีเสียงสูงที่คู่กัน ส่วนคอลัมน์ห้าที่เป็นนาสิกและอักษรต่ำในเศษวรรคทั้งหมดยกเว้น ฮ นั้น ไม่มีเสียงสูงมาคู่ จึงต้องใช้ ห นำถ้าจะผันอย่างอักษรสูง และมี อ นำ ย เพื่อผันอย่างอักษรกลางด้วย จึงเรียกว่าเป็นอักษรต่ำเดี่ยว

เนื่องจากอักษรต่ำเป็นเสียงโฆษะทั้งหมด เมื่อผันวรรณยุกต์จึงมีเสียงขึ้นสูงกว่าปกติไปขั้นหนึ่ง เช่น คา ค่า ค้า เป็นเสียง สามัญ โท ตรี ตามลำดับ ส่วนอักษรกลางและสูงเป็นเสียงอโฆษะเหมือนกัน การผันจึงใกล้เคียงกัน ยกเว้นรูปสามัญคำเป็น อักษรสูงจะใช้เสียงจัตวา เช่น ขา และที่พิเศษคือ ให้อักษรกลางใช้รูปวรรณยุกต์ได้ครบทุกรูป และออกเสียงเหมือนรูป เช่น กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า

ที่ว่ามานั่นคือคำเป็น แต่พอเป็นคำตาย ก็จะซับซ้อนหน่อย โดยเฉพาะอักษรต่ำที่เสียงพื้นเป็นโฆษะ รายละเอียดก็ตามที่เรียนมาในวิชาภาษาไทยนะครับ ถ้าสาธยายต่อจะยืดยาวไป

ผมเคยไปเห็นอักษรไทดำ เขามีอักษรแค่สองหมู่ คือต่ำกับสูง เวลาท่องพยัญชนะก็จะเป็น ก่อ ก๊อ ข่อ ค้อ ... นั่นอาจจะเป็นผลจากการจัดระเบียบภาษาใหม่ของไทดำในเวียดนาม แต่จะสังเกตได้ว่า ถ้าภาษาไทยเราไม่ได้กลืนเสียงสิถิลในคอลัมน์สามไป พยัญชนะคอลัมน์นี้ก็จะมีเสียงคู่กับอักษรกลางในคอลัมน์หนึ่ง แล้วก็มีคอลัมน์สองและสี่อีกคู่หนึ่ง แล้วสร้างพยัญชนะคอลัมน์ใหม่จากคอลัมน์ห้า โดยเชื่อมรวมกับ ห (เหมือนใน ໜ ໝ ของลาว) ได้เป็นอีกคู่หนึ่ง ก็จะสร้างอักษรสองหมู่แบบไทดำได้เหมือนกัน

นอกจากนี้ แม่สะกดก็ยังสามารถจำแนกได้ตามฐานเกิดของพยัญชนะ โดยวรรค กะ หยุดเสียงที่คอ วรรค ปะ หยุดเสียงที่ริมฝีปาก แต่ภาษาไทยไม่แยกเสียงหยุดของวรรค จะ, วรรค ฏะ, และวรรค ตะ แต่รวบเป็นหยุดที่ปุ่มเหงือกทั้งหมด

แม่สะกดคำตาย แม่สะกดคำเป็น
วรรค กะ (คอ) ข (ฃ) ค (ฅ)
วรรค จะ (เพดาน) ช (ซ)
วรรค ฏะ (ปุ่มเหงือก) (ฎ) ฏ
วรรค ตะ (ฟัน) (ด) ต
วรรค ปะ (ปาก) (บ) ป ผ (ฝ) พ (ฟ)
แม่กก แม่กง
แม่กด แม่กน
แม่กบ แม่กม

สังเกตว่าแม่สะกดของพยัญชนะนาสิกจะเป็นคำเป็นทั้งหมด เพราะเราสามารถปล่อยเสียงทางจมูกต่อไปได้หลังจากที่เสียงในปากหยุดแล้ว ถ้าลองอุดจมูกไม่ให้ลมออกแล้วออกเสียงแม่สะกดเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นคำตายทันที

ส่วนพยัญชนะในเศษวรรคนั้น น่าจะมีเพียง ศ ษ ส ที่เพิ่มเข้าในแม่กด และ ร ล ฬ ที่เพิ่มเข้าในแม่กนเท่านั้น ส่วนที่เหลือไม่ควรนับว่ามีการหยุดเสียงในปาก คือคล้ายเป็นแม่ ก กา กล่าวคือ ย สะกด เป็นการกล้ำสระอีต่อท้ายพยางค์ และ ว สะกด เป็นการกล้ำสระอูต่อท้ายพยางค์ แม้ตำราภาษาไทยจะเรียกเป็นแม่เกย แม่เกอว ก็ตาม และที่เหลือคือ ห อ ฮ ไม่นับเป็นตัวสะกดในภาษาไทย

Edit (2021-03-11): แก้ไขฐานที่เกิดของวรรค ฏะ และวรรค ตะ ที่สลับที่กันอยู่

Edit (2021-03-11): เพิ่มเติมเรื่องแม่สะกด

ป้ายกำกับ:

5 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem