ช่วงที่ผ่านมา GNOME ที่คอมไพล์ใช้เองจาก CVS เริ่มป่วย เพราะ update แล้วก็คอมไพล์มาหลายรุ่น เคลียร์รุ่นเก่าไปบ้างแต่ก็ไม่หมด เลยตัดสินใจ backup ของเก่าแล้วเริ่ม build ใหม่แต่ต้น ระหว่างนี้ที่ต้องรอคอมไพล์ เลยถือโอกาสเคลียร์หนังสือไปด้วย ไหนๆ ก็ไม่ได้อ่านหนังสือนานแล้ว ก็พวกที่ได้มาจากงานหนังสือครั้งก่อนๆ น่ะแหละ
อารมณ์ประวัติศาสตร์ครับ ช่วงนี้ เริ่มจากเรื่อง จีนพิชิตโลก ที่ว่าด้วยทฤษฎี คนจีนพบอเมริกา ที่เคยฮือฮากันในงานหนังสือปีที่แล้ว (แต่เล่มที่อ่านนี่ เพิ่งออกใหม่) โดยเรียบเรียงมาจากหนังสือ 1421 - The year China discovered the world บวกกับข้อมูลประกอบอีกเพียบ
ทฤษฎีนี้ตั้งโดย Gavin Menzies อดีตกัปตันเรือดำน้ำแห่งราชนาวีอังกฤษ ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตจากหลักฐานหลายอย่าง ที่แสดงว่ามีแผนที่โลกที่มีทวีปอเมริกา ถูกเขียนขึ้นก่อนการพบอเมริกาของโคลัมบัส ซึ่งจากการคะเนอายุของแผนที่แล้ว ยุโรปยังไม่มีเทคโนโลยีการเดินเรือระยะไกลในขณะนั้น และชาติเดียวที่มีศักยภาพเพียงพอในยุคนั้น ทั้งด้านเทคโนโลยี กำลังทรัพย์ และกำลังคน ก็คือจีน!
ยุคที่ว่านั้น อยู่ในช่วงราชวงศ์หมิง ในสมัยจักรพรรดิ หมิงเฉิงจู่ หรือ จูตี้ ซึ่งได้โค่นจักรพรรดิองค์ก่อน คือ จูหยุ่นเหวิน รัชทายาทของ จูหยวนจาง ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิง ที่ขับไล่มองโกลไปจากแผ่นดินจีน ที่ต้องโค่นจูหยุ่นเหวิน เพราะเป็นการป้องกันตัว เนื่องจากจูหยุ่นเหวินมีนโยบายลดกำลังทหารภูธร และรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง โดยทยอยประหารอ๋องต่างๆ จนถึงตาจูตี้ ซึ่งเป็นขุนพลที่มีผลงานยอดเยี่ยมในแผ่นดินของจูหยวนจาง จูตี้จึงชิงโค่นบัลลังก์และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิเอง
จูตี้มีความทะเยอทะยานที่จะเป็นจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่าจิ๋นซีฮ่องเต้ จึงมีเมกะโปรเจกต์ต่างๆ มากมาย ตั้งแต่บูรณะกำแพงเมืองจีน ย้ายนครหลวงจากนานกิงไปปักกิ่ง สร้างพระราชวังต้องห้ามจื่อจิ้นเฉิงหรือกู้กง รวมทั้งการสร้างกองเรือที่ยิ่งใหญ่ เพื่อแผ่อำนาจทางทะเลไปยังนานาประเทศ
แม่ทัพเรือใหญ่ของกองเรือนี้ก็คือ เจิ้งเหอ ชื่อเดิม หม่าเหอ คนไทยรู้จักในชื่อ ซำปอกง ได้นำกองเรือของจีนออกเดินทางไปทำสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ หลายครั้ง ที่มีการบันทึกไว้ ได้ออกเรือไปทางมหาสมุทรอินเดีย ไปถึงเปอร์เซีย และฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา แต่มีการเดินเรือครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายในปลายรัชสมัย ที่หารายละเอียดในบันทึกไม่ค่อยพบ และครั้งนี้แหละ ที่ Menzies สันนิษฐานว่า น่าจะเดินทางรอบโลก แต่ขาดการบันทึก เนื่องจากจักรพรรดิองค์ถัดมาเปลี่ยนนโยบายมาดูแลทุกข์สุขของประชาราษฎร์ หลังจากที่ประเทศจีนต้องเสียหายจากเมกะโปรเจกต์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่ถูกเกณฑ์แรงงาน หรือป่าไม้ที่ถูกตัดโค่นอย่างมโหฬาร เพื่อเอาไม้มาต่อเรือ และยังได้สั่งทำลายเอกสารต่างๆ ทิ้งอีกด้วย เนื่องจากเกิดฟ้าผ่าพระราชวังต้องห้าม ทำให้เข้าใจว่าสวรรค์พิโรธ
หนังสือจาระไนต่อไป เปรียบเทียบเทคโนโลยีการเดินเรือของยุโรป นำโดยโปรตุเกสและสเปน โดยโปรตุเกสเริ่มเดินเรือเลียบชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกาในช่วง ค.ศ. 1419 และเริ่มเดินทางได้ไกลขึ้นๆ จน Vasco da Gama สามารถไปถึงอินเดียได้ในปี 1498 ในขณะที่สเปน เริ่มทีหลัง แต่มุ่งเดินทางไปทางตะวันตก ตามข้อเสนอของโคลัมบัส โดยออกมาแวะที่หมู่เกาะคานารี แล้วมุ่งไปทางตะวันตก จนถึงหมู่เกาะอินเดียตะวันออกในปี 1492 ตั้งแต่การออกเรือครั้งแรก
ในขณะที่การเดินเรือของยุโรป เป็นการเดินเรือเลียบชายฝั่ง แต่จีนเดินเรือโดยอาศัยพิกัดภูมิศาสตร์ ทำให้กำหนดตำแหน่งและเส้นทางได้แม่นยำกว่า แถมยังสามารถทำได้ตั้งแต่ยุโรปยังไม่เริ่มพัฒนาด้วยซ้ำ
จีนไม่ได้มีแต่ปราชญ์ทางสังคมศาสตร์อย่างขงจื๊อ เหลาจื๊อ หรือนักพิชัยสงครามอย่างซุนวู แต่ที่เราไม่ค่อยรู้ คือจีนเคยเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลก!
ที่เคยอ่านมาจากเล่มอื่น เขายกตัวอย่างเรื่อง สี่ประดิษฐ์ ของจีน ที่มีผลต่อวิทยาการของโลก คือ เข็มทิศ ดินปืน กระดาษ และการพิมพ์ ทั้งหมดนี้ มีกำเนิดในประเทศจีน นอกจากนี้ จีนยังมีความรู้เรื่องดาราศาสตร์อย่างก้าวหน้า มีการบันทึกสุริยคราสและจันทรคราสอย่างละเอียดมาตั้งแต่ 800 ปีก่อนคริสตกาล จนสามารถคำนวณการเกิดได้ มีระบบปฏิทินที่ละเอียด นับให้ 1 ปีมี 365.25 วันตั้งแต่สมัยจั้นกว๋อ (500 ปีก่อนคริสตกาล) มีเครื่องวัดตำแหน่งดาวที่เรียกว่า หุนเทียนอี๋ ใช้ตั้งแต่ 400 ปีก่อนคริสตกาล มีแผนที่ดาวสมัยราชวงศ์ฮั่นที่มีกลุ่มดาวถึง 118 กลุ่ม มีการเทียบเคียงแผนที่ดาวกับตำแหน่งภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเดินเรือ
พูดถึงเทคโนโลยีการต่อเรือ ในสมัยนั้นเรือของจีนเป็นเรือสำเภา ขับเคลื่อนด้วยพลังลม แต่ก็มีการสร้างเรือกลที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังกองทัพคนในภายหลัง มีเทคนิคการเดินเรือโต้ลมด้วยการเคลื่อนที่แบบซิกแซ็ก มีการออกแบบท้องเรือเป็นห้องๆ เพื่อป้องกันเรือจมเมื่อท้องเรือรั่ว มีแกนไม้ใต้ท้องเรือลดการโคลงของเรือ มีหางเสือ เรียกได้ว่าครบครัน และดีไซน์หลายอย่าง ยังใช้อยู่จนทุกวันนี้
คณิตศาสตร์ของจีนสมัยนั้น ก็นับว่าก้าวหน้ากว่ายุโรปมาก และเพียงพอสำหรับใช้คำนวณสร้างแผนที่จากการเดินเรือสำรวจอย่างแม่นยำ จีนรู้จักคำนวณสามเหลี่ยมมุมฉากตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น จู่ชงจือ (ค.ศ. 429-500) นักคณิตศาสตร์สมัยราชวงศ์เหนือใต้ คำนวณค่า pi ได้ละเอียดถึงทศนิยม 7 ตำแหน่ง (355/113) นอกจากนี้ นักคณิตศาสตร์จีนยังสามารถคำนวณพื้นที่ผิวและปริมาตรของรูปทรงต่างๆ ได้ราว 850 ปีก่อนที่เจิ้งเหอจะออกเดินทาง สามารถแก้สมการพหุนามด้วยแผนภูมิที่ปัจจุบันเรียกว่า สามเหลี่ยมปาสคาล ตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1000-1060 (Blaise Pascal พบสามเหลี่ยมนี้ในปี 1654) มีความรู้เรื่องสมการวงกลม วงรี พาราโบลา ก่อนที่จะคิดในยุโรป 344 ปี มีคณิตศาสตร์เกี่ยวกับลำดับและอนุกรม มีพิกัดทรงกลม มีการคำนวณเมทริกซ์ก่อนยุโรปทั้งนั้น
เรื่องเทคโนโลยีของจีนนี้ เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานยืนยัน แต่ที่เป็นทฤษฎีที่เขาเสนอก็คือ กองเรือของจีนน่าจะเคยเดินทางรอบโลกมาแล้ว ในการเดินทางครั้งสุดท้ายที่ขาดหลักฐานบันทึก แต่มีเหตุผลสนับสนุนถึงความเป็นไปได้มากมาย และมีหลักฐานที่อาจช่วยยืนยันทฤษฎีนี้ได้ เกี่ยวกับแผนที่โลกทั้งที่พบในยุโรปและของจีนเอง และการพบคนพื้นเมืองเชื้อสายจีนและของใช้จากจีนในซากเมืองเก่าในแถบอเมริกากลาง
เส้นทางที่เขาคาดคะเนจากหลักฐานและความเป็นไปได้ ก็คือการไปต่อจากชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกา อ้อมแหลมกูดโฮปไปฝั่งตะวันตกตามกระแสน้ำเย็น ตั้งต้นที่เกาะคานารี ตรงไปแถวคิวบา แล้วแยกกองเรือเป็นสองกอง กองหนึ่งสำรวจอเมริกาเหนือ อ้อมขั้วโลกเหนือ อีกกองหนึ่งลงใต้ ผ่านช่องแคบแมกเจลแลนปลายแปลมฮอร์น แล้วสำรวจฝั่งตะวันตก ก่อนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกกลับจีน จนได้แผนที่โบราณฉบับนี้มา:
รูปนี้ เป็นหลักฐานล่าสุด ที่หนังสือบอกว่า ยังรอพิสูจน์หลักฐานอยู่
แต่ผมว่า คนที่พบอเมริกาพวกแรก น่าจะเป็นอินเดียนแดง! :P