Theppitak's blog

My personal blog.

27 พฤศจิกายน 2549

TLUG Resurrection

รายงาน TLUG เมื่อวันเสาร์ (25 พ.ย.) ที่ผ่านมา ที่ตึกวิศวฯ คอมพ์ ม.เกษตร ครับ วันนั้นต้องบอกว่าผมอยู่ในสภาพที่โทรมมากๆ เพราะอาการภูมิแพ้ที่เป็นมาตั้งแต่วันจันทร์ยังไม่หายดี ผื่นที่ขึ้นที่หน้าหายไปแล้ว เหลือแต่รอยแดงจางๆ แต่แผลที่มือกับที่ขาซึ่งขึ้นทีหลัง ยังสุกอยู่ จนมีคนแซวว่าถึงกับกรีดข้อมือตัวเองเลยรึ เหอๆ นี่ถ้าเจอกันก่อนหน้านี้ จะไม่ว่าผมสักหน้าประชดเลยรึ ;-P

ก่อนไป ยังพยายามทำงานอีกสองอย่าง คือแปล The Cathedral and the Bazaar (ถึง section 11 แล้ว) กับ build deb สำหรับ xulrunner-libthai 1.8.0.8 ซึ่งงานหลังนี่เสร็จเอาตีหนึ่งของวันที่ 25 นั่นแหละ แล้วก็นัดกับนิวตรอนออกรถมากรุงเทพฯ ตอนตีห้า ใครเห็นผมตาแดงๆ ก็โปรดเข้าใจเถอะ ว่ามาจากสาเหตุนี้แหละ

เข้าเรื่อง TLUG เริ่มจากลำดับการพูด Mk บอกผมว่า พี่เทพพูดปิดท้ายละกันนะ ผมก็พิจารณาสังขารตัวเองแล้ว ก็ดีเหมือนกัน เผื่อจะแอบงีบก่อน เอิ๊กๆ ไม่ใช่ แต่คิดว่าถ้าให้ผมพูดคนแรกหลังอาหารเที่ยง เกรงจะกลายเป็นเพลงปี่พระอภัยไปซะเปล่าๆ พูดปิดท้ายก็ดีเหมือนกัน จะได้ยกเรื่องจดหมายมาเปิดประเด็น discuss ช่วงท้ายด้วยเลย (โดยลืมคิดถึงเรื่องเวลาว่าจะไม่พอ แต่โชคดีที่เราสามารถใช้สถานที่ต่อได้)

พอจับประเด็นของผู้พูดได้ดังนี้:

  1. อ.สุพัตร์ ฟ้ารุ่งสาง เป็น surprise ของงานครับ ท่านเอา OLPC ในแบบฉบับที่ทำเองมา demo ให้ดู โดยใช้ Slackware ใช้ซอฟต์แวร์รุ่นเก่า window manager คล้าย motif ใช้ Netscape เป็นเว็บเบราว์เซอร์, mplayer ฯลฯ บูตและรันจาก thumb drive ดูเหมือนประเด็นที่จะเสนอก็คือ ยังมีฮาร์ดแวร์แบบอื่น นอกเหนือจาก OLPC ของ MIT ที่ทำงานได้คล้ายๆ กัน (โดยไม่นับเรื่องการปั่นไฟและระบบ mesh network)
  2. คุณอัครวุฒิ ตำราเรียง จาก Mambohub เน้นเรื่องการมีส่วนร่วมในชุมชน ทั้งจากผู้พัฒนา ผู้ประกอบการ และชุมชน และที่เน้นอยู่ประปราย คือการ donate ให้กับนักพัฒนา ซึ่งเป็นมุมมองที่ครบถ้วนดีครับ สำหรับลักษณะที่จำเป็นของชุมชนโอเพนซอร์ส ปิดท้ายด้วยประเด็นน่าสนใจ เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการ "สนับสนุน" และการ "จ้างทำ" ว่า agenda จะเป็นของใคร ระหว่างนักพัฒนาและผู้จ้าง เรื่องนี้ก็สำคัญเหมือนกันครับ การ "สนับสนุน" ในลักษณะนี้ ค่อนข้างเกิดยากในระบบปัจจุบัน แต่ก็ควรจะเกิด เพื่อความต่อเนื่องของ agenda ส่วนตัวของนักพัฒนาเอง ที่อยู่ใกล้และรู้ปัญหาระยะยาวมากกว่า
  3. คุณปฏิพัทธ์ สุสำเภา (keng) คนนี้เคยเจอในเน็ตพอสมควรแล้ว แต่เพิ่งได้เจอตัวจริงนี่แหละ มาเสนอมุมมองของผู้ใช้ที่ cross platform 3 OS จึงเน้นการเปลี่ยนมาใช้ FOSS ที่ cross platform เป็นหลัก เช่น OO.o, Firefox, 7zip, vlc, gimp, inkscape ทำให้สามารถย้ายงานไปมาได้อย่างสะดวก และที่สำคัญ คือการเคารพเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา นับเป็นประเด็นที่ใกล้กับโลกแห่งความเป็นจริงของผู้ใช้มากครับ (ปล. ขอใช้สิทธิ์พาดพิง: ผมไม่ได้เชียร์แฟรงเกนสไตน์อย่าง iceweasel เท่า epiphany นะครับ แต่ถึงอย่างไร ก็ยังเชียร์ iceweasel มากกว่าหมาจิ้งจอกที่คอยหลอกหนูน้อยหมวกแดง เหอๆ)
  4. bact' มาในแนวเปิดโลกทัศน์ ว่าปัจจุบันโลกแบนลงแล้ว (จากหนังสือ The World is Flat) การแบ่ง layer ต่างๆ ของคนน้อยลง ผู้บริโภคกลายเป็นผู้ผลิตเองมากขึ้น ซึ่งมาเหมาะเจาะพอดีกับโอเพนซอร์ส ที่ผู้ใช้เริ่มมีส่วนร่วมในการพัฒนามากขึ้น คล้ายๆ กับว่า โอเพนซอร์สคือเทรนด์ของโลกยุคใหม่ ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นแรงขับดันจากภายในของสังคมให้โอเพนซอร์สเติบโต แทนที่จะเป็นการสั่งการจากบนลงล่าง ประเด็นเรื่องปัจจัยภายในนี่ ปิ๊งมากครับ
  5. พี่โดม ยังคงแรงฮาไม่มีตก เนื้อหาที่นำเสนอก็คือ ไม่ต้องไปดิ้นรนมาก ที่จะเปลี่ยนความคิดของผู้อื่น ความพยายามโน้มน้าวด้วยเหตุผลต่างๆ ประสบความสำเร็จจริงๆ น้อยมาก บางครั้งเกิดแรงต้านด้วย จึงวางท่าที "อยากใช้ก็ใช้ ไม่อยากใช้ก็ไม่ต้องใช้" ดีที่สุด แล้วมามุ่งปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ ให้รู้จักตำนานเขาฮั้วซัว (อันนี้ผมตั้งเอง) อันน่าตื่นเต้นของยุครุ่งอรุณของโอเพนซอร์สในเมืองไทย ที่มียอดฝีมือมากมายมาร่วมมือกันทำงานอย่างสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นคนอย่างคุณตฤณ, พี่สัมพันธ์, id, อ.พฤษภ์ (ขอเพิ่ม พี่ฮุ้ย, คุณพูลลาภ, อ๊อท, เด่นสิน, donga, sf-alpha, รวมทั้งพี่โดมเองด้วย หรือพูดสั้นๆ ก็คือ เครือข่ายที่มาจาก software.thai.net และยุคแรกๆ ของ linux.thai.net นั่นเอง) โดยแกเสนอให้พา "idol" เหล่านี้ road show (เอาจริงเหรอพี่ จะเหมือนโชว์งานวัดไปมะ? แต่งเป็นหนังสือดีกว่ามั้ย?)
  6. คุณสมิทธิ์ สาลิฟา จากไทยรัฐ ต้องขออภัยจริงๆ ที่ผมยังคุยติดพันอยู่หลังห้องต่อจากช่วงเบรก จึงไม่ได้ฟังในช่วงแรกๆ แต่ก็พอจับใจความได้ว่าเป็นการเล่าถึงสภาพการใช้ซอฟต์แวร์ในไทยรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแมค (ซึ่งไม่ได้ผิดจากที่ผมเคยได้ยินเกี่ยวกับวงการสิ่งพิมพ์มาแล้ว) ส่วนเนื้อหาอื่นๆ ต้องของดรายงาน เพราะไม่ได้ฟังจริงๆ
  7. คุณกานต์ ยืนยง ผู้บุกเบิกลินุกซ์เชิงพาณิชย์ในประเทศไทย คือไกวัลลินุกซ์ ได้มาเสนอวิทยานิพนธ์ของคุณกานต์เอง เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์กับโอเพนซอร์ส เนื้อหาหนักไปทางวิชาการมากครับ พอจำได้อยู่สองสามเรื่อง คือการแยกชนิดของทรัพยากรโดยใช้สองแกน คือการแบ่งแยกการเข้าถึง กับการหมดไปจากการบริโภค เรื่อง near zero cost ของซอฟต์แวร์ แล้วก็เรื่อง critical mass ของการเติบโตของตลาด ซึ่งการเติบโตทั่วไปจะเป็น sigmoid curve ซึ่งจะต้องการ critical mass ในการบูมช่วงกลาง ที่เหลือ คงต้องอ่านจาก สไลด์ ครับ
  8. คุณวิษณุ เอื้อชูเกียรติ ท่านนี้ผมรู้สึกว่าคุ้นหน้ามากๆ น่าจะเคยเจอกันในงานก่อนๆ มาแล้ว และพอพูดถึงเรื่องการ contribute เรื่องผังแป้นพิมพ์ปัตตะโชติ ผมก็ถึงบางอ้อทันที เพราะเคยคุยกันที่เว็บ GrandLinux พร้อมกับ MrChoke แล้วก็ submit patch เข้า XFree86 ร่วมกันสามชื่อ ประเด็นสำคัญของคุณวิษณุ คือเรื่องการชักชวนผู้ใช้หน้าใหม่เข้ามา เพื่อให้ชุมชนเกิดการขยายตัว แทนที่จะเจอกันแต่หน้าเดิมๆ โดยอ้างอิงถึงเรื่อง critical mass ที่คุณกานต์พูดถึง
  9. คุณณรงค์ฤทธิ์ ผู้ทำวารสารลินุกซ์ยุคแรกๆ ก็ได้เปิดประเด็นเกี่ยวกับการทำสื่อ ว่าจะทำได้ต้องมีผู้อ่าน จึงต้องการการเติบโตของชุมชนเสียก่อน ก่อนที่จะมีสื่อได้ แต่ถ้าผมคิดเพิ่มเติมก็คือ ผู้ใช้หน้าใหม่ ก็จะถามหาหนังสือหรือสื่อที่จะช่วยให้ข้อมูลช่วยเหลือเหมือนกัน ตรงนี้จึงคล้ายเงื่อนไขไก่กับไข่อีกครั้งในแง่มุมหนึ่ง แต่ก็สามารถ bootstrap ได้โดยใช้ช่องทางอื่นช่วย เช่น ชุมชนออนไลน์ หรือการจัดกิจกรรมต่างๆ แต่สื่อสิ่งพิมพ์ น่าจะช่วยได้ในช่วงสร้าง critical mass
  10. ผมเอง เนื่องจากเป็นการพูดสด เลยไม่มีสคริปต์ แต่เรื่องที่นึกไว้ในหัวตอนพูดก็คือ การย้อนกลับไปศึกษาปรัชญาโอเพนซอร์สในรายละเอียดกันอีกครั้ง และเผยแพร่แนวคิดนี้ออกไป ขณะเดียวกัน ก็นำมาวิเคราะห์ว่า ทำไมจึงไม่เกิดเงื่อนไขอย่างนั้นในเมืองไทย โดยแยกเป็นประเด็นชุมชนนักพัฒนา และชุมชนผู้ใช้ (ซึ่งอันที่จริงควรจะลู่เข้าหากันในที่สุด) สำหรับชุมชนนักพัฒนา ก็ต้องวิเคราะห์เงื่อนไขกันแบบเข้มข้นหน่อย ว่าเราขาดอะไรไป ส่วนชุมชนผู้ใช้ ผมคิดว่าแนวทางเจาะจงกลุ่มจะสามารถช่วยผู้ใช้ได้ทั่วถึงกว่า
  11. ช่วง open discussion:
    • คุณวิษณุเปิดประเด็นเรื่องการดึงผู้ใช้ใหม่ๆ เข้ามา แล้วก็มีหลายคนอภิปรายอย่างกว้างขวาง เช่น การใช้โอเพนซอร์สบน OS อื่นก่อน ก่อนที่จะมาใช้ลินุกซ์ การค่อยๆ ใช้ในองค์กรทีละส่วน เช่น การใช้ version control, bugzilla ในบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์
    • คุณไพฑูรย์ (แกรนด์ลินุกซ์) เปิดประเด็นเรื่องข้อเสนอต่อภาครัฐ โดยตัวแทนภาครัฐคือคุณมะระจาก SIPA และกริชจาก NECTEC ได้มาเล่าให้ฟัง ว่าภาครัฐมีทุนสนับสนุน แต่ไม่สามารถตั้งความหวังเรื่องการริเริ่มมากนัก การริเริ่มจากชุมชนเองจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ช่วยให้ defend งบประมาณสนับสนุนได้เป็นอย่างดี จากนั้น ได้มีความเห็นที่น่าสนใจจากสมาชิกหลายๆ คน เช่น การสอนในหลักสูตร การสนับสนุนการแปลหนังสือ ซึ่งตรงนี้ คุณวิษณุมีความเห็นที่น่าสนใจ โดยยกตัวอย่างการสร้างพจนานุกรมศัพท์ดาราศาสตร์ ซึ่งริเริ่มโดยกลุ่มนักดาราศาสตร์ รวมตัวกันทำงานโดยขอทุนสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ จนในที่สุดได้เข้าสู่กระบวนการของราชบัณฑิตยสถาน ประเด็นคือ ชุมชนโอเพนซอร์สควรทำตัวให้เป็นที่พึ่งได้จริง คุณวีร์ มีความเห็นที่น่าสนใจ คือถึงเราจะไม่เรียกร้องการสนับสนุนจากภาครัฐ อย่างน้อยก็ควรขอความยุติธรรม เช่น การใช้มาตรฐานเปิดในเอกสารและเว็บไซต์ราชการ
    • คุณ deans4j เปิดประเด็นเรื่องความอยู่รอดของธุรกิจซอฟต์แวร์เดิม เมื่อมีซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเข้ามา พี่โดม ยกตัวอย่างที่ประสบกับตัวเอง คือการทำ SIP server ซึ่งเดิมของแกมีความสามารถสูงกว่า asterisk แต่เมื่อ asterisk ได้พัฒนาจนเก่งมากขึ้น จนพี่โดมเห็นว่าเริ่มจะสู้ไม่ไหว จึงรีบหาช่องทางอยู่รอด โดยหาจุดที่ยังขาดใน asterisk คือภาษาไทย แล้วบอกกับลูกค้าว่า asterisk จะดีกว่าของแกเอง ถ้ามีความสามารถเรื่องภาษาไทย และขอค่าจ้างเพิ่มความสามารถดังกล่าวเข้าใน asterisk โดยสามารถนำไปขายเป็นบริการให้กับลูกค้ารายอื่นๆ ได้อีก ก็กลายเป็นความอยู่รอดรูปแบบหนึ่ง แล้วก็ได้ยกตัวอย่างกรณีผมต่อหน้า เกี่ยวกับการเปิดหมวก แต่ผิดไปนิดหนึ่งตรงที่ผมไม่ได้อาศัยการเปิดหมวกเพื่อการอยู่รอด แต่เป็นการเปิดประตูรับการสนับสนุน โดยที่ยังต้องทำงานอย่างอื่นสนับสนุนตัวเองอยู่ การมีเงินหย่อนลงหมวก เพียงแต่ช่วยให้ผมสามารถทุ่มเทเวลาให้กับงาน FOSS ได้เต็มที่มากขึ้นเท่านั้น แต่ก็ต้องขอขอบคุณพี่โดมที่ได้เวียนหมวก (กระป๋อง) ให้ทุกคนช่วยหย่อนให้ผม และขอขอบคุณทุกคนที่ได้หย่อนสตางค์ให้รางวัลผม วันนั้น ผมไม่ได้นับว่าจำนวนเงินเป็นเท่าไร แต่รู้สึกว่าอิ่มใจมากกว่า ที่ได้รับกำลังใจจากทุกๆ คน
    • จากนั้น คุณลิ่ว ได้เสนอการตั้งเว็บกลางที่เป็น portal สำหรับโอเพนซอร์ส โดยดึงเอาเนื้อหามาจากแหล่งต่างๆ ซึ่งขั้นแรก เว็บต่างๆ ควรใส่ license เช่น creative common ให้ชัดเจน เพื่อให้สะดวกต่อการรวบรวม
  12. Mk ปิดท้ายด้วยการบอกว่า ทั้งหมดนี้คือ bazaar ที่เกิดขึ้น และหวังว่าจะมีกิจกรรมอื่นๆ จากชุมชนต่อไป

เย็นนั้น ก็ไปกินข้าวเย็นที่หน้าประตู 1 ก่อนกลับบ้าน ก็ได้คุยกันต่อนิดหน่อย สัพเพเหระ

จบข่าว ถ้าตกหล่นหรือจำอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ

2 ความเห็น:

  • 27 พฤศจิกายน 2549 เวลา 20:28 , Blogger NOI แถลง…

    ขอบคุณมากครับ ช่วยให้คนที่ไม่ได้ไปอย่างผมพอได้ทันสถานการณ์กับเขาบ้าง :)

     
  • 27 พฤศจิกายน 2549 เวลา 20:56 , Blogger CrazyHOrse แถลง…

    อยากจะฝากสักเรื่องหนึ่ง

    มีนโยบายรัฐที่สนับสนุนการทำวิจัยอยู่แล้ว โดยสามารถบันทึกค่าใช้จ่ายในทางบัญชีได้เป็น 2 เท่าของที่จ่ายจริงสำหรับทำวิจัย หรือบริจาคเพื่องานวิจัยในบัญชีที่รัฐรับรอง

    เป็นไปได้หรือไม่ที่จะผลักดันให้เกิดมูลนิธิสนับสนุน opensource โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการบรรจุมูลนิธินี้เข้าไปในบัญชีที่สามารถใช้หักภาษีได้

    ในขณะที่ผู้บริจาคสามารถเลือกบริจาคให้โครงการที่ตนเองต้องการช่วยเหลือได้ และให้มูลนิธินี้มีหน้าที่ส่งผ่านเงินไปให้โดยอาจจะหักค่าดำเนินการเล็กน้อย หรือหากรัฐจะสนับสนุนในส่วนค่าดำเนินการ(ซึ่งน่าจะน้อยมาก) ก็เป็นเรื่องดี จะได้สามารถส่งเงินไปยังผู้พัฒนา opensource ได้เต็มที่โดยไม่ต้องหักค่าใช้จ่าย

    มูลนิธินี้นอกจากมีหน้าที่ส่งผ่านเงินทุนแล้ว ยังต้องคอยจดการพวกเหลือบที่จะมาแฝง อาศัยช่องทางนี้ในการหลบเลี่ยงภาษีด้วยครับ

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem