Theppitak's blog

My personal blog.

28 พฤศจิกายน 2549

pango-libthai is dying soon

"XXX must die" ชักเป็นประโยคที่ชอบแฮะ แทนที่จะพูดถึงการ "เข้าต้นน้ำ" ยืดยาว โค้ดอีกแพกเกจหนึ่ง ที่กำลังจะตายในไม่ช้า ก็คือ pango-libthai หลังจากที่ Behdad Esfahbod รับ patch Thai language engine เข้า Pango เรียบร้อย (GNOME Bug #371388) ตอนนี้โค้ดอยู่ใน HEAD ต้องรอ stable release หน้าถึงจะมี ถึงตอนนั้น pango-libthai ก็อาจจะปิดตัวลงไปได้ ยังคงเหลือแต่โค้ดส่วน renderer ที่เป็น modular โดยมีการ share โค้ดกับ gtk-im-libthai อาจจะเสนอในอนาคต แต่ก็ถือว่าไม่จำเป็นสำหรับผู้ใช้อีกต่อไปแล้ว

อีกทางหนึ่ง ถ้า Matthias รับ patch ตามที่ Behdad อาสา commit ใน GNOME Bug #81031 ด้วย gtk-im-libthai ก็เตรียมตัวกลับบ้านเก่าไปอีกหนึ่งตัว (คงเหลือแต่ modular code สำหรับเสนอในอนาคต ทำนองเดียวกับ pango-libthai)

Behdad เวิร์กมากๆ เลย เดี๋ยว โหวต ให้เป็นประธานบอร์ด GNOME Foundation ซะหรอก ;-) (แต่ Jeff Waugh กับ Vincent Untz ก็แอคทีฟมากเหมือนกัน)

Update (2006-11-30): gtk-im-libthai ก็ชะตาขาดแล้วเหมือนกัน GNOME Bug #81031 ที่เปิดมายาวนานถึง 4 ปีครึ่ง ถูกปิดลงแล้วเมื่อเช้านี้ :D

27 พฤศจิกายน 2549

TLUG Resurrection

รายงาน TLUG เมื่อวันเสาร์ (25 พ.ย.) ที่ผ่านมา ที่ตึกวิศวฯ คอมพ์ ม.เกษตร ครับ วันนั้นต้องบอกว่าผมอยู่ในสภาพที่โทรมมากๆ เพราะอาการภูมิแพ้ที่เป็นมาตั้งแต่วันจันทร์ยังไม่หายดี ผื่นที่ขึ้นที่หน้าหายไปแล้ว เหลือแต่รอยแดงจางๆ แต่แผลที่มือกับที่ขาซึ่งขึ้นทีหลัง ยังสุกอยู่ จนมีคนแซวว่าถึงกับกรีดข้อมือตัวเองเลยรึ เหอๆ นี่ถ้าเจอกันก่อนหน้านี้ จะไม่ว่าผมสักหน้าประชดเลยรึ ;-P

ก่อนไป ยังพยายามทำงานอีกสองอย่าง คือแปล The Cathedral and the Bazaar (ถึง section 11 แล้ว) กับ build deb สำหรับ xulrunner-libthai 1.8.0.8 ซึ่งงานหลังนี่เสร็จเอาตีหนึ่งของวันที่ 25 นั่นแหละ แล้วก็นัดกับนิวตรอนออกรถมากรุงเทพฯ ตอนตีห้า ใครเห็นผมตาแดงๆ ก็โปรดเข้าใจเถอะ ว่ามาจากสาเหตุนี้แหละ

เข้าเรื่อง TLUG เริ่มจากลำดับการพูด Mk บอกผมว่า พี่เทพพูดปิดท้ายละกันนะ ผมก็พิจารณาสังขารตัวเองแล้ว ก็ดีเหมือนกัน เผื่อจะแอบงีบก่อน เอิ๊กๆ ไม่ใช่ แต่คิดว่าถ้าให้ผมพูดคนแรกหลังอาหารเที่ยง เกรงจะกลายเป็นเพลงปี่พระอภัยไปซะเปล่าๆ พูดปิดท้ายก็ดีเหมือนกัน จะได้ยกเรื่องจดหมายมาเปิดประเด็น discuss ช่วงท้ายด้วยเลย (โดยลืมคิดถึงเรื่องเวลาว่าจะไม่พอ แต่โชคดีที่เราสามารถใช้สถานที่ต่อได้)

พอจับประเด็นของผู้พูดได้ดังนี้:

  1. อ.สุพัตร์ ฟ้ารุ่งสาง เป็น surprise ของงานครับ ท่านเอา OLPC ในแบบฉบับที่ทำเองมา demo ให้ดู โดยใช้ Slackware ใช้ซอฟต์แวร์รุ่นเก่า window manager คล้าย motif ใช้ Netscape เป็นเว็บเบราว์เซอร์, mplayer ฯลฯ บูตและรันจาก thumb drive ดูเหมือนประเด็นที่จะเสนอก็คือ ยังมีฮาร์ดแวร์แบบอื่น นอกเหนือจาก OLPC ของ MIT ที่ทำงานได้คล้ายๆ กัน (โดยไม่นับเรื่องการปั่นไฟและระบบ mesh network)
  2. คุณอัครวุฒิ ตำราเรียง จาก Mambohub เน้นเรื่องการมีส่วนร่วมในชุมชน ทั้งจากผู้พัฒนา ผู้ประกอบการ และชุมชน และที่เน้นอยู่ประปราย คือการ donate ให้กับนักพัฒนา ซึ่งเป็นมุมมองที่ครบถ้วนดีครับ สำหรับลักษณะที่จำเป็นของชุมชนโอเพนซอร์ส ปิดท้ายด้วยประเด็นน่าสนใจ เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการ "สนับสนุน" และการ "จ้างทำ" ว่า agenda จะเป็นของใคร ระหว่างนักพัฒนาและผู้จ้าง เรื่องนี้ก็สำคัญเหมือนกันครับ การ "สนับสนุน" ในลักษณะนี้ ค่อนข้างเกิดยากในระบบปัจจุบัน แต่ก็ควรจะเกิด เพื่อความต่อเนื่องของ agenda ส่วนตัวของนักพัฒนาเอง ที่อยู่ใกล้และรู้ปัญหาระยะยาวมากกว่า
  3. คุณปฏิพัทธ์ สุสำเภา (keng) คนนี้เคยเจอในเน็ตพอสมควรแล้ว แต่เพิ่งได้เจอตัวจริงนี่แหละ มาเสนอมุมมองของผู้ใช้ที่ cross platform 3 OS จึงเน้นการเปลี่ยนมาใช้ FOSS ที่ cross platform เป็นหลัก เช่น OO.o, Firefox, 7zip, vlc, gimp, inkscape ทำให้สามารถย้ายงานไปมาได้อย่างสะดวก และที่สำคัญ คือการเคารพเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา นับเป็นประเด็นที่ใกล้กับโลกแห่งความเป็นจริงของผู้ใช้มากครับ (ปล. ขอใช้สิทธิ์พาดพิง: ผมไม่ได้เชียร์แฟรงเกนสไตน์อย่าง iceweasel เท่า epiphany นะครับ แต่ถึงอย่างไร ก็ยังเชียร์ iceweasel มากกว่าหมาจิ้งจอกที่คอยหลอกหนูน้อยหมวกแดง เหอๆ)
  4. bact' มาในแนวเปิดโลกทัศน์ ว่าปัจจุบันโลกแบนลงแล้ว (จากหนังสือ The World is Flat) การแบ่ง layer ต่างๆ ของคนน้อยลง ผู้บริโภคกลายเป็นผู้ผลิตเองมากขึ้น ซึ่งมาเหมาะเจาะพอดีกับโอเพนซอร์ส ที่ผู้ใช้เริ่มมีส่วนร่วมในการพัฒนามากขึ้น คล้ายๆ กับว่า โอเพนซอร์สคือเทรนด์ของโลกยุคใหม่ ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นแรงขับดันจากภายในของสังคมให้โอเพนซอร์สเติบโต แทนที่จะเป็นการสั่งการจากบนลงล่าง ประเด็นเรื่องปัจจัยภายในนี่ ปิ๊งมากครับ
  5. พี่โดม ยังคงแรงฮาไม่มีตก เนื้อหาที่นำเสนอก็คือ ไม่ต้องไปดิ้นรนมาก ที่จะเปลี่ยนความคิดของผู้อื่น ความพยายามโน้มน้าวด้วยเหตุผลต่างๆ ประสบความสำเร็จจริงๆ น้อยมาก บางครั้งเกิดแรงต้านด้วย จึงวางท่าที "อยากใช้ก็ใช้ ไม่อยากใช้ก็ไม่ต้องใช้" ดีที่สุด แล้วมามุ่งปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ ให้รู้จักตำนานเขาฮั้วซัว (อันนี้ผมตั้งเอง) อันน่าตื่นเต้นของยุครุ่งอรุณของโอเพนซอร์สในเมืองไทย ที่มียอดฝีมือมากมายมาร่วมมือกันทำงานอย่างสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นคนอย่างคุณตฤณ, พี่สัมพันธ์, id, อ.พฤษภ์ (ขอเพิ่ม พี่ฮุ้ย, คุณพูลลาภ, อ๊อท, เด่นสิน, donga, sf-alpha, รวมทั้งพี่โดมเองด้วย หรือพูดสั้นๆ ก็คือ เครือข่ายที่มาจาก software.thai.net และยุคแรกๆ ของ linux.thai.net นั่นเอง) โดยแกเสนอให้พา "idol" เหล่านี้ road show (เอาจริงเหรอพี่ จะเหมือนโชว์งานวัดไปมะ? แต่งเป็นหนังสือดีกว่ามั้ย?)
  6. คุณสมิทธิ์ สาลิฟา จากไทยรัฐ ต้องขออภัยจริงๆ ที่ผมยังคุยติดพันอยู่หลังห้องต่อจากช่วงเบรก จึงไม่ได้ฟังในช่วงแรกๆ แต่ก็พอจับใจความได้ว่าเป็นการเล่าถึงสภาพการใช้ซอฟต์แวร์ในไทยรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแมค (ซึ่งไม่ได้ผิดจากที่ผมเคยได้ยินเกี่ยวกับวงการสิ่งพิมพ์มาแล้ว) ส่วนเนื้อหาอื่นๆ ต้องของดรายงาน เพราะไม่ได้ฟังจริงๆ
  7. คุณกานต์ ยืนยง ผู้บุกเบิกลินุกซ์เชิงพาณิชย์ในประเทศไทย คือไกวัลลินุกซ์ ได้มาเสนอวิทยานิพนธ์ของคุณกานต์เอง เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์กับโอเพนซอร์ส เนื้อหาหนักไปทางวิชาการมากครับ พอจำได้อยู่สองสามเรื่อง คือการแยกชนิดของทรัพยากรโดยใช้สองแกน คือการแบ่งแยกการเข้าถึง กับการหมดไปจากการบริโภค เรื่อง near zero cost ของซอฟต์แวร์ แล้วก็เรื่อง critical mass ของการเติบโตของตลาด ซึ่งการเติบโตทั่วไปจะเป็น sigmoid curve ซึ่งจะต้องการ critical mass ในการบูมช่วงกลาง ที่เหลือ คงต้องอ่านจาก สไลด์ ครับ
  8. คุณวิษณุ เอื้อชูเกียรติ ท่านนี้ผมรู้สึกว่าคุ้นหน้ามากๆ น่าจะเคยเจอกันในงานก่อนๆ มาแล้ว และพอพูดถึงเรื่องการ contribute เรื่องผังแป้นพิมพ์ปัตตะโชติ ผมก็ถึงบางอ้อทันที เพราะเคยคุยกันที่เว็บ GrandLinux พร้อมกับ MrChoke แล้วก็ submit patch เข้า XFree86 ร่วมกันสามชื่อ ประเด็นสำคัญของคุณวิษณุ คือเรื่องการชักชวนผู้ใช้หน้าใหม่เข้ามา เพื่อให้ชุมชนเกิดการขยายตัว แทนที่จะเจอกันแต่หน้าเดิมๆ โดยอ้างอิงถึงเรื่อง critical mass ที่คุณกานต์พูดถึง
  9. คุณณรงค์ฤทธิ์ ผู้ทำวารสารลินุกซ์ยุคแรกๆ ก็ได้เปิดประเด็นเกี่ยวกับการทำสื่อ ว่าจะทำได้ต้องมีผู้อ่าน จึงต้องการการเติบโตของชุมชนเสียก่อน ก่อนที่จะมีสื่อได้ แต่ถ้าผมคิดเพิ่มเติมก็คือ ผู้ใช้หน้าใหม่ ก็จะถามหาหนังสือหรือสื่อที่จะช่วยให้ข้อมูลช่วยเหลือเหมือนกัน ตรงนี้จึงคล้ายเงื่อนไขไก่กับไข่อีกครั้งในแง่มุมหนึ่ง แต่ก็สามารถ bootstrap ได้โดยใช้ช่องทางอื่นช่วย เช่น ชุมชนออนไลน์ หรือการจัดกิจกรรมต่างๆ แต่สื่อสิ่งพิมพ์ น่าจะช่วยได้ในช่วงสร้าง critical mass
  10. ผมเอง เนื่องจากเป็นการพูดสด เลยไม่มีสคริปต์ แต่เรื่องที่นึกไว้ในหัวตอนพูดก็คือ การย้อนกลับไปศึกษาปรัชญาโอเพนซอร์สในรายละเอียดกันอีกครั้ง และเผยแพร่แนวคิดนี้ออกไป ขณะเดียวกัน ก็นำมาวิเคราะห์ว่า ทำไมจึงไม่เกิดเงื่อนไขอย่างนั้นในเมืองไทย โดยแยกเป็นประเด็นชุมชนนักพัฒนา และชุมชนผู้ใช้ (ซึ่งอันที่จริงควรจะลู่เข้าหากันในที่สุด) สำหรับชุมชนนักพัฒนา ก็ต้องวิเคราะห์เงื่อนไขกันแบบเข้มข้นหน่อย ว่าเราขาดอะไรไป ส่วนชุมชนผู้ใช้ ผมคิดว่าแนวทางเจาะจงกลุ่มจะสามารถช่วยผู้ใช้ได้ทั่วถึงกว่า
  11. ช่วง open discussion:
    • คุณวิษณุเปิดประเด็นเรื่องการดึงผู้ใช้ใหม่ๆ เข้ามา แล้วก็มีหลายคนอภิปรายอย่างกว้างขวาง เช่น การใช้โอเพนซอร์สบน OS อื่นก่อน ก่อนที่จะมาใช้ลินุกซ์ การค่อยๆ ใช้ในองค์กรทีละส่วน เช่น การใช้ version control, bugzilla ในบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์
    • คุณไพฑูรย์ (แกรนด์ลินุกซ์) เปิดประเด็นเรื่องข้อเสนอต่อภาครัฐ โดยตัวแทนภาครัฐคือคุณมะระจาก SIPA และกริชจาก NECTEC ได้มาเล่าให้ฟัง ว่าภาครัฐมีทุนสนับสนุน แต่ไม่สามารถตั้งความหวังเรื่องการริเริ่มมากนัก การริเริ่มจากชุมชนเองจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ช่วยให้ defend งบประมาณสนับสนุนได้เป็นอย่างดี จากนั้น ได้มีความเห็นที่น่าสนใจจากสมาชิกหลายๆ คน เช่น การสอนในหลักสูตร การสนับสนุนการแปลหนังสือ ซึ่งตรงนี้ คุณวิษณุมีความเห็นที่น่าสนใจ โดยยกตัวอย่างการสร้างพจนานุกรมศัพท์ดาราศาสตร์ ซึ่งริเริ่มโดยกลุ่มนักดาราศาสตร์ รวมตัวกันทำงานโดยขอทุนสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ จนในที่สุดได้เข้าสู่กระบวนการของราชบัณฑิตยสถาน ประเด็นคือ ชุมชนโอเพนซอร์สควรทำตัวให้เป็นที่พึ่งได้จริง คุณวีร์ มีความเห็นที่น่าสนใจ คือถึงเราจะไม่เรียกร้องการสนับสนุนจากภาครัฐ อย่างน้อยก็ควรขอความยุติธรรม เช่น การใช้มาตรฐานเปิดในเอกสารและเว็บไซต์ราชการ
    • คุณ deans4j เปิดประเด็นเรื่องความอยู่รอดของธุรกิจซอฟต์แวร์เดิม เมื่อมีซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเข้ามา พี่โดม ยกตัวอย่างที่ประสบกับตัวเอง คือการทำ SIP server ซึ่งเดิมของแกมีความสามารถสูงกว่า asterisk แต่เมื่อ asterisk ได้พัฒนาจนเก่งมากขึ้น จนพี่โดมเห็นว่าเริ่มจะสู้ไม่ไหว จึงรีบหาช่องทางอยู่รอด โดยหาจุดที่ยังขาดใน asterisk คือภาษาไทย แล้วบอกกับลูกค้าว่า asterisk จะดีกว่าของแกเอง ถ้ามีความสามารถเรื่องภาษาไทย และขอค่าจ้างเพิ่มความสามารถดังกล่าวเข้าใน asterisk โดยสามารถนำไปขายเป็นบริการให้กับลูกค้ารายอื่นๆ ได้อีก ก็กลายเป็นความอยู่รอดรูปแบบหนึ่ง แล้วก็ได้ยกตัวอย่างกรณีผมต่อหน้า เกี่ยวกับการเปิดหมวก แต่ผิดไปนิดหนึ่งตรงที่ผมไม่ได้อาศัยการเปิดหมวกเพื่อการอยู่รอด แต่เป็นการเปิดประตูรับการสนับสนุน โดยที่ยังต้องทำงานอย่างอื่นสนับสนุนตัวเองอยู่ การมีเงินหย่อนลงหมวก เพียงแต่ช่วยให้ผมสามารถทุ่มเทเวลาให้กับงาน FOSS ได้เต็มที่มากขึ้นเท่านั้น แต่ก็ต้องขอขอบคุณพี่โดมที่ได้เวียนหมวก (กระป๋อง) ให้ทุกคนช่วยหย่อนให้ผม และขอขอบคุณทุกคนที่ได้หย่อนสตางค์ให้รางวัลผม วันนั้น ผมไม่ได้นับว่าจำนวนเงินเป็นเท่าไร แต่รู้สึกว่าอิ่มใจมากกว่า ที่ได้รับกำลังใจจากทุกๆ คน
    • จากนั้น คุณลิ่ว ได้เสนอการตั้งเว็บกลางที่เป็น portal สำหรับโอเพนซอร์ส โดยดึงเอาเนื้อหามาจากแหล่งต่างๆ ซึ่งขั้นแรก เว็บต่างๆ ควรใส่ license เช่น creative common ให้ชัดเจน เพื่อให้สะดวกต่อการรวบรวม
  12. Mk ปิดท้ายด้วยการบอกว่า ทั้งหมดนี้คือ bazaar ที่เกิดขึ้น และหวังว่าจะมีกิจกรรมอื่นๆ จากชุมชนต่อไป

เย็นนั้น ก็ไปกินข้าวเย็นที่หน้าประตู 1 ก่อนกลับบ้าน ก็ได้คุยกันต่อนิดหน่อย สัพเพเหระ

จบข่าว ถ้าตกหล่นหรือจำอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ

xulrunner-libthai 1.8.0.8

กลับจาก TLUG ถึงบ้านเมื่อวานนี้ ก่อนจะ blog รายงาน ขอขายยาก่อน เป็นเรื่องที่ทำไว้ตั้งแต่วันก่อนไป TLUG คือ build xulrunner-libthai สำหรับรุ่น 1.8.0.8 ที่ update มาตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. พอ iceweasel มาแล้ว ก็เลยคิดว่าได้ฤกษ์ build พร้อมกัน (โดย Prach บอกไว้ใน debianclub ว่าจะขอ build iceweasel)

งานนี้ xulrunner กระหายฮาร์ดดิสก์มากกว่าครั้งก่อนอีก คราวที่แล้ว (1.8.0.7) เคลียร์ไป 1.7 GB ยังปริ่มๆ แต่ 1.8.0.8 นี่ ไม่พอ ต้องเคลียร์เพิ่มอีกสองรอบ ลบไฟล์ทิ้งไปอีกจนได้ 2.1 GB ถึงจะพอ (โดยไม่ได้รัน lintian) อีกทั้งตอน build นี่ อ่าน-เขียนดิสก์หนักหน่วงมาก ไม่สามารถทำอย่างอื่นได้เลย ต้องออฟไลน์โปรแกรมแช็ตทุกประเภท ไม่ให้ชาวบ้านหาว่าเราไม่ยอมพูดด้วย :P สงสัยต้องหาเครื่องใหม่จริงๆ ซะทีละ

upload ขึ้น LTN APT เรียบร้อยแล้วครับ วิธีติดตั้งก็โดยเพิ่มใน /etc/apt/sources.list:

deb http://linux.thai.net/apt ./

แล้วก็:

# aptitude update
# aptitude upgrade
# aptitude install xulrunner-libthai

อธิบายนิดหนึ่งเกี่ยวกับ deb ชุดนี้ (รวมทั้งรุ่นก่อนด้วย) คือผม patch ให้ build mozlibthai component แยกออกมาต่างหาก แล้วก็ build debian แพกเกจโดยแยก mozlibthai ออกมาอยู่ใน xulrunner-libthai เพื่อที่ผู้ใช้ภาษาอื่นจะได้ไม่ต้องโหลด libthai ให้เปลือง resource ดังนั้น ถ้าคุณต้องการการตัดคำด้วย libthai ก็จะต้องติดตั้ง xulrunner-libthai เพิ่มด้วย (ซึ่งคำสั่งข้างบนนี้ ควรจะเพียงพอสำหรับผู้ใช้ epiphany อยู่แล้ว) แต่ถ้าไม่มี xulrunner-libthai โดยแค่ upgrade libxul0d เท่านั้น ก็จะมีการ fallback ไปที่ rule-based routine ที่พี่สัมพันธ์เคยทำไว้

เรื่อง fallback นี่ ต้องเน้นให้ชัดๆ เพื่อป้องกันความสับสน บางคนที่ไม่ได้ติดตั้ง xulrunner-libthai อาจจะเห็นว่ามีการตัดคำเกิดขึ้นโดยตัดเอาคำยาวๆ ไปขึ้นบรรทัดใหม่ แล้วก็รายงานบั๊กมาที่ผม ขอบอกเพื่อความชัดเจนไว้ก่อน ว่านั่นคือ rule-based fallback นะครับ ยังไม่ได้ใช้ libthai เลย ถ้าเจออาการแบบนี้ ลองเช็กดูก่อนนะครับ ว่าได้ติดตั้ง xulrunner-libthai หรือยัง

อีกเรื่องหนึ่งคือ deb ชุดนี้ build สำหรับ debian sid นะครับ (มะรืนคงเข้า etch) อาจจะติดตั้งกับ ubuntu ไม่ได้

ปล. เซิร์ฟเวอร์ debianclub ตายอยู่ คาดว่าเป็นปัญหาฮาร์ดแวร์ เลยไม่สามารถประกาศที่นั่นได้ ไว้ อ.กิตติ์ กลับจากทำธุระมาดูอาการเซิร์ฟเวอร์ให้ แล้วค่อยโพสต์ที่นั่นอีกที

22 พฤศจิกายน 2549

Thanks to MICT

ขอขอบคุณ ท่าน รมว. กระทรวง ICT ที่ได้ รับฟัง ความเห็นของพวกเรา และยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ว่าเป็นความไม่เข้าใจของท่านเอง และไม่มีเจตนาจะขัดขวางการทำงานของโอเพนซอร์ส ความชัดเจนที่เกิดขึ้นดังกล่าว ก็น่าจะถือว่าเราได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเขียนจดหมายเปิดผนึกแล้ว เรื่องที่เหลือ ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องช่วยกันผลักดันต่อไป ทั้งการสร้างความเข้าใจต่อสังคม ชี้ให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาและใช้งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส และที่สำคัญที่สุด คือการสร้างชุมชนที่แข็งแกร่ง พึ่งพาตนเองตามที่เราพร่ำบอกทุกคนอย่างเป็นรูปธรรม

ความตระหนักของภาครัฐ พร้อมท่าทีสนับสนุน ถือเป็นของแถมที่ดี แต่ก็หมายความว่า ถ้ารัฐผลักดันตามที่พูดจริง ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายชุมชน ที่จะต้องเสริมแรงช่วยภาครัฐด้วย หากจำสภาพตอนที่ผู้คนหนี BSA ทะลักเข้ามาใน LTN และ ThaiLinuxCafe เมื่อหลายปีก่อนจนเว็บแทบแตกได้ นั่นแหละ จะเป็นสภาวะที่เราต้องเตรียมการรองรับให้ได้ และ "กึ๋น" ของชุมชนโอเพนซอร์สจะถูกท้าทายอีกครั้ง คำถามที่เราควรถามตัวเองก็คือ เราพร้อมหรือยัง?

ใจจริงแล้ว อยากให้ดอกไม้ จงบานช้าช้า แต่ว่ายั่งยืน แต่ก็อย่าถึงกับเหี่ยวเฉาไปก่อนก็แล้วกัน :-)

ปล. ถ้าทุกอย่างเป็นความเข้าใจผิดของท่าน รมว. จริง และท่านกลับมาสนับสนุนอย่างจริงใจจริงๆ สื่อที่น่าจะรับผิดชอบแก้ข่าวต่อชาวต่างประเทศมากที่สุด น่าจะเป็น Bangkok Post กับ /.

19 พฤศจิกายน 2549

Brushing Cathedral-Bazaar Translations

ไหนๆ สังคมกำลังตื่นตัวเรื่องโอเพนซอร์ส เนื้อหาใน จดหมายเปิดผนึก อาจทำให้เกิดความสนใจเรื่องปรัชญาโอเพนซอร์สบ้าง ซึ่งทำให้ผมนึกถึงบทความคลาสสิกในชุด The Cathedral and the Bazaar ที่เป็นเอกสารที่ "ต้องอ่าน" สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าถึงโอเพนซอร์สอย่างแท้จริง

บทความชุดนี้ แบ่งเป็นห้าตอน โดยตอนที่เป็นพระเอกของเรื่อง ก็คือ ตอนชื่อเดียวกับชุด เคยมี ฉบับแปลไทย โดย Mk เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมเองก็เคยแปลตอนถัดมา คือ Homesteading the Noosphere (ร่างฉบับแปล) เมื่อ 2 ปีก่อน โดยแปลลงในไฟล์ DocBook XML เพื่อแปลงเป็น HTML เอาอีกที

หากคุณเห็นว่า โครงการแปลนี้ จะมีประโยชน์ต่อการเผยแพร่แนวคิดโอเพนซอร์ส และสนใจมีส่วนร่วม ผมได้ import source ไว้ใน LTN CVS:

$ cvs -d :pserver:anonymous@linux.thai.net:/home/cvs   co docs/esr-articles

ตอนนี้ จะมีคำแปลสำหรับตอน Homesteading ครบทั้งหมด และ 2 หัวข้อแรกของตอน Cathedral-Bazaar (จะทยอย merge และแก้ของ Mk ต่อให้ครบ) พร้อม Makefile สำหรับสร้างเป็น HTML ตอนนี้ ทิ้งไว้ทั้งข้อความต้นฉบับภาษาอังกฤษ และข้อความแปล เพื่อความสะดวกในการตรวจทาน ไว้ลบออกทีหลัง

หากคุณพบที่ผิดที่ควรแก้ไขของตอน Homesteading กรุณาแจ้งผมได้ที่นี่ ส่วนตอน Cathedral-Bazaar นั้น ขอล็อคไว้ก่อน จนกว่าจะ merge เสร็จครับ

Update: ลืมแปะลิงก์สำหรับการตรวจทานโดยไม่ต้อง check out:

ตอน Cathedral-Bazaar ปรากฏว่าหลัง section 2 คำแปลชักต้องปรับเยอะ อาจใช้เวลา merge นาน ตอนนี้ถึง section 4 ละ

18 พฤศจิกายน 2549

About the Open Letter

จดหมายเปิดผนึกถึง รมว. ICT ที่ร่างขึ้นหลังจากที่หลายคนเห็นด้วยกับความคิดของคุณ dean4j ใน บล็อกนั้น โดยใช้เค้าโครงจาก บล็อกนี้ ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากชาวโอเพนซอร์ส ในทางหนึ่งก็ปลื้มใจ ที่มีผู้แสดงตัวสนับสนุนมากมาย แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็กดดันกับความรับผิดชอบต่อเจตนาของเสียงสนับสนุน

หวังเหลือเกิน ว่าผู้ที่ลงชื่อ จะเข้าใจเจตนาตรงกัน ว่าเราไม่ได้รวมกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐสนับสนุนโอเพนซอร์ส แต่เป็นการร่วมกันอธิบายสิ่งที่ถูกต้องต่อสาธารณชน แก้ความเข้าใจผิดที่เกิดจากคำพูดของท่าน รมว. รวมทั้งร่วมกันแสดงจุดยืน ว่าไม่ว่าท่าทีของรัฐจะเป็นอย่างไร เราก็จะยังคงทำงานต่อไป เพื่อประโยชน์ที่เราเล็งเห็น

ทำไมผมจึงไม่มุ่งเรียกร้องให้ท่าน รมว. เปลี่ยนมาสนับสนุน? เพราะถ้าทำอย่างนั้น ก็จะกลับเข้าสู่วงจร "ซอฟต์แวร์หลวง" ตามเดิม ทุกคนเฝ้าแต่จะเรียกร้องให้รัฐทำ โดยที่ตัวเองไม่ทำอะไร ซึ่งนั่นไม่ใช่ธรรมชาติของ FOSS เลย ความจริงแล้ว ตามที่เคยเขียนใน บล็อกก่อน ว่าวงการ FOSS ไทย กำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ที่ผู้ใช้เลิกรอคอยการแทรกแซงจากรัฐ และเริ่มพึ่งตนเองกันมากขึ้น ซึ่งจะปูทางไปสู่ความมั่นคงของชุมชนมากขึ้น การที่มีประเด็นเกิดขึ้นในสังคมแบบนี้ เราคงไม่คิดกลับไปตั้งความหวังกับรัฐอีก แต่น่าจะถือโอกาสร่วมกันแสดงความมีตัวตนของเรา ถือโอกาสอธิบายสังคม และถ้าเป็นไปได้ ก็ถือโอกาสที่มารวมตัวกัน ระดมสมองกันต่อ ว่าเราจะขยับขยายกันต่อไปอย่างไร ทำอย่างไรระบบจึงจะอยู่รอด และหากรัฐต้องการสนับสนุน จะสนับสนุนอะไรได้บ้าง กล่าวคือ ต่อไปนี้ ชุมชนผู้ใช้ควรเป็นแกนหลัก รัฐเป็นฝ่ายเสริม ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐเป็นแกนอย่างในอดีตอีกต่อไป

16 พฤศจิกายน 2549

MICT Vision

กำลังว่าจะเขียนต่อ เรื่องหนังสือที่อ่าน แต่เช้านี้เห็นข่าว วิสัยทัศน์ รมว. ICT คนใหม่ แล้วละเหี่ยใจ อีกครั้งหนึ่งที่ได้ยินคำพูดแบบนี้จากผู้ไม่รู้จักโอเพนซอร์ส

จาก Bangkok Post:

"With open source, there is no intellectual property. Anyone can use it and all your ideas become public domain. If nobody can make money from it, there will be no development and open source software quickly become outdated," He (Minister) said.

เป็นเท็จทุกประโยค ใครว่า open source ไม่มีทรัพย์สินทางปัญญา ใครว่าทุกอย่างกลายเป็น public domain ใครว่าไม่มีใครทำรายได้จาก open source ได้ ใครว่า FOSS ไม่มีการพัฒนา

open source มีลิขสิทธิ์นะครับ แต่สัญญาอนุญาตอนุญาตให้ทำอะไรได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ไม่มีอะไรเป็น public domain ไม่งั้น Debian กับ Firefox® จะตีกันหัวร้างข้างแตกทำไม? ทำไม thailatex จะเปลี่ยน license ต้องขออนุญาตเนคเทค?

ส่วนเรื่องการทำรายได้ คงต้องไปถามบริษัทที่ทำ firewall box ออกขายนะครับ ว่าเขาใช้โอเพนซอร์สหรือเปล่า Red Hat อยู่รอดปากเหยี่ยวปากกาของ Microsoft มาได้ยังไง อาจจะมองว่าในเมืองไทยยังมีโอกาสทำรายได้น้อยกว่า ก็เป็นเพราะขาดการสนับสนุนให้เป็นที่รู้จักมากกว่า คือท่านไม่ช่วยก็ไม่ว่าอะไรนะครับ พวกเราปากกัดตีนถีบกันเองได้ แต่อย่ามากระทืบซ้ำ

เรื่องอัตราการพัฒนาของโอเพนซอร์ส ดูการเติบโตของเดสก์ท็อปลินุกซ์สิ เมื่อก่อนลงยาก ใช้ยาก ขาดโน่นขาดนี่ขนาดไหน ตอนนี้พร้อมขึ้นกว่าเดิมเยอะภายในเวลาแค่ 5-6 ปี ทำไม Netscape ถึงตัดสินใจสู้กับ Microsoft ด้วยการเปิดซอร์สเว็บเบราว์เซอร์?

Apart from Linux, he claimed that most open source software is often abandoned and not developed, and leads to a lot of low-quality software with lots of bugs.

แพกเกจในเดเบียนเกือบ 20 แผ่นซีดี มีการอัปเดตตลอดเวลา ผม apt-get ทุกวัน มีของใหม่ทุกวัน CVS ของ GNOME ก็มีโค้ดใหม่ทุกวัน apache, squid, drupal ฯลฯ ขยันออกรุ่นใหม่อยู่ตลอด ผมไม่เห็นว่าจะ low quality ตรงไหน Web server ทั้งหลายที่ใช้โอเพนซอร์ส ก็เห็นเปิดบริการกันมาได้ตั้งนาน โอ้ย.. ยกตัวอย่างไม่ถูกครับ เดี๋ยวจะยาว

"As a programmer, If I can write a good code, why should I give it away? Thailand could do good source code without open source," he said.

โอเพนซอร์สไม่ได้ทำงานกันแบบข้ามาคนเดียวนะครับ ทุกคนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ส่วนใหญ่จะ take มากกว่า give ด้วยซ้ำ แต่ give คนละนิด หยดน้ำก็รวมกันเป็นทะเลได้ครับ ท่านคงรู้จัก complex system อยู่กระมัง อีกอย่าง good code ที่ท่านว่า พอเปิดปุ๊บมีคนช่วยแก้เพิ่ม จะไม่จ๋อยเหรอครับที่รีบกระหยิ่มว่า code มัน good

สรุปว่า ขอให้ท่านศึกษาแล้วอธิบายให้ละเอียดกว่านี้ดีกว่านะครับ ว่า Free Software ไม่ดียังไง, Copyleft ต่างจาก proprietary หรือ public domain ยังไง, ทำไม สิ่งที่เกิดกับลินุกซ์ จะเกิดซ้ำกับโครงการอื่นไม่ได้

ไม่ได้โกรธที่ท่านไม่สนับสนุนนะครับ เพราะผมไม่เคยคาดหวังอยู่แล้ว นักการเมืองจะพูดยังไง ชีวิตผมก็ยังเหมือนเดิม แต่เซ็งที่ได้ยินคำพูดที่มีคำตอบใน FAQ อยู่แล้ว ขึ้นหน้าหนังสือพิมพ์ซะกรอบใหญ่โต

14 พฤศจิกายน 2549

Reading: Chinese Discovered America

ช่วงที่ผ่านมา GNOME ที่คอมไพล์ใช้เองจาก CVS เริ่มป่วย เพราะ update แล้วก็คอมไพล์มาหลายรุ่น เคลียร์รุ่นเก่าไปบ้างแต่ก็ไม่หมด เลยตัดสินใจ backup ของเก่าแล้วเริ่ม build ใหม่แต่ต้น ระหว่างนี้ที่ต้องรอคอมไพล์ เลยถือโอกาสเคลียร์หนังสือไปด้วย ไหนๆ ก็ไม่ได้อ่านหนังสือนานแล้ว ก็พวกที่ได้มาจากงานหนังสือครั้งก่อนๆ น่ะแหละ

อารมณ์ประวัติศาสตร์ครับ ช่วงนี้ เริ่มจากเรื่อง จีนพิชิตโลก ที่ว่าด้วยทฤษฎี คนจีนพบอเมริกา ที่เคยฮือฮากันในงานหนังสือปีที่แล้ว (แต่เล่มที่อ่านนี่ เพิ่งออกใหม่) โดยเรียบเรียงมาจากหนังสือ 1421 - The year China discovered the world บวกกับข้อมูลประกอบอีกเพียบ

ทฤษฎีนี้ตั้งโดย Gavin Menzies อดีตกัปตันเรือดำน้ำแห่งราชนาวีอังกฤษ ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตจากหลักฐานหลายอย่าง ที่แสดงว่ามีแผนที่โลกที่มีทวีปอเมริกา ถูกเขียนขึ้นก่อนการพบอเมริกาของโคลัมบัส ซึ่งจากการคะเนอายุของแผนที่แล้ว ยุโรปยังไม่มีเทคโนโลยีการเดินเรือระยะไกลในขณะนั้น และชาติเดียวที่มีศักยภาพเพียงพอในยุคนั้น ทั้งด้านเทคโนโลยี กำลังทรัพย์ และกำลังคน ก็คือจีน!

ยุคที่ว่านั้น อยู่ในช่วงราชวงศ์หมิง ในสมัยจักรพรรดิ หมิงเฉิงจู่ หรือ จูตี้ ซึ่งได้โค่นจักรพรรดิองค์ก่อน คือ จูหยุ่นเหวิน รัชทายาทของ จูหยวนจาง ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิง ที่ขับไล่มองโกลไปจากแผ่นดินจีน ที่ต้องโค่นจูหยุ่นเหวิน เพราะเป็นการป้องกันตัว เนื่องจากจูหยุ่นเหวินมีนโยบายลดกำลังทหารภูธร และรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง โดยทยอยประหารอ๋องต่างๆ จนถึงตาจูตี้ ซึ่งเป็นขุนพลที่มีผลงานยอดเยี่ยมในแผ่นดินของจูหยวนจาง จูตี้จึงชิงโค่นบัลลังก์และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิเอง

จูตี้มีความทะเยอทะยานที่จะเป็นจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่าจิ๋นซีฮ่องเต้ จึงมีเมกะโปรเจกต์ต่างๆ มากมาย ตั้งแต่บูรณะกำแพงเมืองจีน ย้ายนครหลวงจากนานกิงไปปักกิ่ง สร้างพระราชวังต้องห้ามจื่อจิ้นเฉิงหรือกู้กง รวมทั้งการสร้างกองเรือที่ยิ่งใหญ่ เพื่อแผ่อำนาจทางทะเลไปยังนานาประเทศ

แม่ทัพเรือใหญ่ของกองเรือนี้ก็คือ เจิ้งเหอ ชื่อเดิม หม่าเหอ คนไทยรู้จักในชื่อ ซำปอกง ได้นำกองเรือของจีนออกเดินทางไปทำสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ หลายครั้ง ที่มีการบันทึกไว้ ได้ออกเรือไปทางมหาสมุทรอินเดีย ไปถึงเปอร์เซีย และฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา แต่มีการเดินเรือครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายในปลายรัชสมัย ที่หารายละเอียดในบันทึกไม่ค่อยพบ และครั้งนี้แหละ ที่ Menzies สันนิษฐานว่า น่าจะเดินทางรอบโลก แต่ขาดการบันทึก เนื่องจากจักรพรรดิองค์ถัดมาเปลี่ยนนโยบายมาดูแลทุกข์สุขของประชาราษฎร์ หลังจากที่ประเทศจีนต้องเสียหายจากเมกะโปรเจกต์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่ถูกเกณฑ์แรงงาน หรือป่าไม้ที่ถูกตัดโค่นอย่างมโหฬาร เพื่อเอาไม้มาต่อเรือ และยังได้สั่งทำลายเอกสารต่างๆ ทิ้งอีกด้วย เนื่องจากเกิดฟ้าผ่าพระราชวังต้องห้าม ทำให้เข้าใจว่าสวรรค์พิโรธ

หนังสือจาระไนต่อไป เปรียบเทียบเทคโนโลยีการเดินเรือของยุโรป นำโดยโปรตุเกสและสเปน โดยโปรตุเกสเริ่มเดินเรือเลียบชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกาในช่วง ค.ศ. 1419 และเริ่มเดินทางได้ไกลขึ้นๆ จน Vasco da Gama สามารถไปถึงอินเดียได้ในปี 1498 ในขณะที่สเปน เริ่มทีหลัง แต่มุ่งเดินทางไปทางตะวันตก ตามข้อเสนอของโคลัมบัส โดยออกมาแวะที่หมู่เกาะคานารี แล้วมุ่งไปทางตะวันตก จนถึงหมู่เกาะอินเดียตะวันออกในปี 1492 ตั้งแต่การออกเรือครั้งแรก

ในขณะที่การเดินเรือของยุโรป เป็นการเดินเรือเลียบชายฝั่ง แต่จีนเดินเรือโดยอาศัยพิกัดภูมิศาสตร์ ทำให้กำหนดตำแหน่งและเส้นทางได้แม่นยำกว่า แถมยังสามารถทำได้ตั้งแต่ยุโรปยังไม่เริ่มพัฒนาด้วยซ้ำ

จีนไม่ได้มีแต่ปราชญ์ทางสังคมศาสตร์อย่างขงจื๊อ เหลาจื๊อ หรือนักพิชัยสงครามอย่างซุนวู แต่ที่เราไม่ค่อยรู้ คือจีนเคยเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลก!

ที่เคยอ่านมาจากเล่มอื่น เขายกตัวอย่างเรื่อง สี่ประดิษฐ์ ของจีน ที่มีผลต่อวิทยาการของโลก คือ เข็มทิศ ดินปืน กระดาษ และการพิมพ์ ทั้งหมดนี้ มีกำเนิดในประเทศจีน นอกจากนี้ จีนยังมีความรู้เรื่องดาราศาสตร์อย่างก้าวหน้า มีการบันทึกสุริยคราสและจันทรคราสอย่างละเอียดมาตั้งแต่ 800 ปีก่อนคริสตกาล จนสามารถคำนวณการเกิดได้ มีระบบปฏิทินที่ละเอียด นับให้ 1 ปีมี 365.25 วันตั้งแต่สมัยจั้นกว๋อ (500 ปีก่อนคริสตกาล) มีเครื่องวัดตำแหน่งดาวที่เรียกว่า หุนเทียนอี๋ ใช้ตั้งแต่ 400 ปีก่อนคริสตกาล มีแผนที่ดาวสมัยราชวงศ์ฮั่นที่มีกลุ่มดาวถึง 118 กลุ่ม มีการเทียบเคียงแผนที่ดาวกับตำแหน่งภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเดินเรือ

พูดถึงเทคโนโลยีการต่อเรือ ในสมัยนั้นเรือของจีนเป็นเรือสำเภา ขับเคลื่อนด้วยพลังลม แต่ก็มีการสร้างเรือกลที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังกองทัพคนในภายหลัง มีเทคนิคการเดินเรือโต้ลมด้วยการเคลื่อนที่แบบซิกแซ็ก มีการออกแบบท้องเรือเป็นห้องๆ เพื่อป้องกันเรือจมเมื่อท้องเรือรั่ว มีแกนไม้ใต้ท้องเรือลดการโคลงของเรือ มีหางเสือ เรียกได้ว่าครบครัน และดีไซน์หลายอย่าง ยังใช้อยู่จนทุกวันนี้

คณิตศาสตร์ของจีนสมัยนั้น ก็นับว่าก้าวหน้ากว่ายุโรปมาก และเพียงพอสำหรับใช้คำนวณสร้างแผนที่จากการเดินเรือสำรวจอย่างแม่นยำ จีนรู้จักคำนวณสามเหลี่ยมมุมฉากตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น จู่ชงจือ (ค.ศ. 429-500) นักคณิตศาสตร์สมัยราชวงศ์เหนือใต้ คำนวณค่า pi ได้ละเอียดถึงทศนิยม 7 ตำแหน่ง (355/113) นอกจากนี้ นักคณิตศาสตร์จีนยังสามารถคำนวณพื้นที่ผิวและปริมาตรของรูปทรงต่างๆ ได้ราว 850 ปีก่อนที่เจิ้งเหอจะออกเดินทาง สามารถแก้สมการพหุนามด้วยแผนภูมิที่ปัจจุบันเรียกว่า สามเหลี่ยมปาสคาล ตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1000-1060 (Blaise Pascal พบสามเหลี่ยมนี้ในปี 1654) มีความรู้เรื่องสมการวงกลม วงรี พาราโบลา ก่อนที่จะคิดในยุโรป 344 ปี มีคณิตศาสตร์เกี่ยวกับลำดับและอนุกรม มีพิกัดทรงกลม มีการคำนวณเมทริกซ์ก่อนยุโรปทั้งนั้น

เรื่องเทคโนโลยีของจีนนี้ เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานยืนยัน แต่ที่เป็นทฤษฎีที่เขาเสนอก็คือ กองเรือของจีนน่าจะเคยเดินทางรอบโลกมาแล้ว ในการเดินทางครั้งสุดท้ายที่ขาดหลักฐานบันทึก แต่มีเหตุผลสนับสนุนถึงความเป็นไปได้มากมาย และมีหลักฐานที่อาจช่วยยืนยันทฤษฎีนี้ได้ เกี่ยวกับแผนที่โลกทั้งที่พบในยุโรปและของจีนเอง และการพบคนพื้นเมืองเชื้อสายจีนและของใช้จากจีนในซากเมืองเก่าในแถบอเมริกากลาง

เส้นทางที่เขาคาดคะเนจากหลักฐานและความเป็นไปได้ ก็คือการไปต่อจากชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกา อ้อมแหลมกูดโฮปไปฝั่งตะวันตกตามกระแสน้ำเย็น ตั้งต้นที่เกาะคานารี ตรงไปแถวคิวบา แล้วแยกกองเรือเป็นสองกอง กองหนึ่งสำรวจอเมริกาเหนือ อ้อมขั้วโลกเหนือ อีกกองหนึ่งลงใต้ ผ่านช่องแคบแมกเจลแลนปลายแปลมฮอร์น แล้วสำรวจฝั่งตะวันตก ก่อนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกกลับจีน จนได้แผนที่โบราณฉบับนี้มา:

Chinese World Map

รูปนี้ เป็นหลักฐานล่าสุด ที่หนังสือบอกว่า ยังรอพิสูจน์หลักฐานอยู่

แต่ผมว่า คนที่พบอเมริกาพวกแรก น่าจะเป็นอินเดียนแดง! :P

10 พฤศจิกายน 2549

Debian Club

คิดไว้นานแล้ว รวมทั้งเปรยกับหลายคนที่รู้จัก ว่าอยากมีชุมชนที่รวมสำหรับผู้ใช้ debian ในเมืองไทยบ้าง และอันที่จริง ก็ฝันถึง GNOME user group ด้วย แต่เอาระดับ distro นี่แหละก่อน มันใกล้ตัวผู้ใช้ที่สุด ซึ่งต้องนับว่า ubuntuclub เป็นชุมชนแรกที่เจาะจง distro สากลในเมืองไทย

ผมคิดว่า การมีชุมชนของ distro สากล น่าจะเป็นก้าวที่สำคัญของวงการ FOSS เมืองไทย หลังจากที่มีแต่กระแส distro ท้องถิ่นอย่างเดียวมานาน การที่ผู้ใช้เริ่มมองไปที่การใช้ distro สากลโดยตรง แทนการฝากความหวังทุกอย่างไว้กับ distro ท้องถิ่นและแนวคิด OS แห่งชาติ น่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสที่คนไทยทั่วไปจะได้มีการเชื่อมโยงกับโครงการสากลด้วยตนเองมากขึ้น แทนที่จะมองว่ามันเป็นสวัสดิการที่ภาครัฐต้องจัดเตรียมให้ ก็เริ่มทำอะไร "ด้วยตนเอง" อย่างที่ควรจะเป็นมากขึ้น โดยในขั้นแรก อาจจะช่วยกันคลำหาทางกันเอง แต่ในระยะยาว เชื่อว่าจะมีการเชื่อมต่อกับชุมชนสากลในที่สุด เป็นการมีส่วนร่วมของคนไทยกับชาวโลกในที่สุด

ผมชื่นชมกับการตั้งชุมชนต่างๆ นอก LTN ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น Thai Linux Cafe, Blognone หรือ Firefox Thai (ถ้าไม่นับชุมชนของ distro อย่าง OpenTLE) ทั้งหมดนี้เป็นการบ่งชี้ถึงฐานผู้ใช้ที่กำลังขยายตัว จน LTN ไม่สามารถรองรับได้ และผู้ใช้เริ่มแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ

และแล้วก็มาถึงวันที่มี Debian Club ไล่หลัง ubuntuclub ซึ่งหวังว่าจะได้รับความสนใจจากผู้ใช้ Debian ที่จะมาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กัน ที่นี่ คุณสามารถแสดงความเป็นคนเดเบียนได้เต็มที่ โดยไม่ต้องกลัวสงครามศาสนา เพราะเรามีเป้าหมายเดียวกัน คือการใช้งาน Debian ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ขอขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมจนเกิดเว็บนี้ได้ ตั้งแต่ นิวตรอน ที่สนับสนุน domain name และโลโก้ของชมรม, อ. กิตติ์ ที่สนับสนุนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ รวมทั้งอีกหลายคนที่เสนอจะเตรียมเครื่องและเนื้อที่เซิร์ฟเวอร์ให้ ทำให้ผมรู้สึกอบอุ่นในน้ำใจไมตรีของชาวลินุกซ์ที่มีต่อกันเสมอมา

ตอนนี้ Club F เอ้ย.. club นี้ ก็เป็นของชาว Debian ไทยล่ะนะ จะรอดหรือจะดับ คงต้องติดตามกันต่อไป.. :-)

09 พฤศจิกายน 2549

thailatex now free

จากที่เคยเขียนไปเมื่อเดือนที่แล้ว ว่า มีการพบว่า thailatex ไม่ DFSG-free (Debian Bug #394283) ปรากฏว่า ได้รับอนุญาตจากเนคเทค เจ้าของลิขสิทธิ์ ให้เปลี่ยน license เป็น LaTeX Project Public License (LPPL) แล้ว เมื่อวานจึงได้ release thailatex 0.4.0 ด้วย license ใหม่นี้ และ build debian package เรียบร้อยแล้ว และ Frank Küster ได้ช่วย sponsor upload ให้โดยทันที โดยก่อนหน้านี้ Frank ได้ช่วยเจรจากับ release team ให้ผ่อนปรนการพิจารณาตัดออกจาก etch ไปก่อนแล้ว เพราะทางเราก็มีความคืบหน้า

ขอขอบคุณ ดร. พันธ์ศักดิ์ ผอ. เนคเทค ที่ได้กรุณาอนุญาตให้เปลี่ยน license, ดร. สุรพันธ์ ผู้สร้างโครงการเริ่มแรก ที่ได้ให้ความสนับสนุน และขอขอบคุณพี่ๆ น้องๆ ที่เนคเทค ที่ได้ช่วยดำเนินการเรื่องนี้จนเสร็จสิ้นทันเวลา รวมทั้งขอบคุณ Frank ที่ช่วยดำเนินการทางฝั่ง Debian ให้

thailatex รุ่นนี้ ผมตัดสินใจ release upstream version ด้วยเลขรุ่น 0.4.0 แทนที่จะเป็น 0.3.8 ด้วยเหตุผลสองประการ คือเรื่องการเปลี่ยน license และการเปลี่ยนวิธี build Babel language class จากเดิมที่แก้ thai.ldf กันตรงๆ มาเป็นการ extract ออกจาก thai.dtx พร้อมกับสร้างเอกสารประกอบด้วยจาก source เดียว (ตามที่เคย blog ไว้)

07 พฤศจิกายน 2549

Epiphany Guide for Firefox® Users (3)

มาพูดถึงข้อแตกต่างอีกประการหนึ่ง ที่ไม่ได้เอา Firefox® เป็นตัวตั้งบ้าง คือเป้าหมายที่แท้จริงของ Epiphany ที่ต้องการผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของ GNOME โดยถ้าดูใน About box หรือเมนูเดสก์ท็อป จะเห็นว่า Epiphany เรียกตัวเองว่า GNOME Web Browser ไม่ใช่ Epiphany และ Epiphany ก็ได้ทำตามแนวทางนั้น โดยทำงานเข้าชุดกับโปรแกรม GNOME อื่นๆ ได้แนบสนิทกว่าเบราว์เซอร์ที่เป้าหมายหลักคือข้ามแพล็ตฟอร์มอย่าง Firefox®

เริ่มจากเรื่องพื้นๆ ที่ผ่านมาแล้ว เช่น การเชื่อมโยงกับโปรแกรมอ่านข่าวของ GNOME ใน Feed Subscribing extension ก็ยังมีเรื่องการตั้ง look-and-feel ตามธีมของ GNOME, การ view source โดยใช้ gedit ที่มีอยู่แล้ว, การ view PDF ด้วย evince, การจัดการ mailto: ด้วย evolution ฯลฯ

เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ การเชื่อมรวมกับ deskbar applet ซึ่งเป็นแอพเพล็ตสารพัดประโยชน์ เข้าถึงง่ายเพราะอยู่บนพาเนล และมีปุ่มลัดให้เรียกอย่างเร็วด้วย Alt-F3 สามารถใช้เรียกคำสั่งแบบ command-line ใช้ค้นหาแฟ้ม แล้วยังใช้ค้นหาเว็บ โดยเชื่อมรวมกับ Epiphany ได้อีกด้วย

ถ้าจำ smart bookmark ที่กล่าวถึงใน ตอนแรก ได้ เมื่อคุณใช้ deskbar applet คุณก็จะสามารถเรียกค้นเว็บด้วย smart bookmark ในนั้นได้ทันที! รวมถึงการค้นหา bookmark ธรรมดาด้วย!

Smart Bookmarks in Deskbar

สำหรับ deskbar สามารถสร้าง shortcut ได้ โดยเพิ่มทางลัดในการค้น เช่น กำหนดให้ "g keyword" แทนการค้นด้วย Google หรืออื่นๆ โดยถ้า shortcut ยาวแค่อักษรเดียว ก็สามารถใช้ Alt-shortcut หลังป้อนคำค้น กระโดดไปได้เลย

Web Search Shortcuts in Deskbar

อย่างเว็บกุ๊กไก่ที่เพิ่มไว้ในตอนแรก สมมุติว่าผมกำหนดให้ใช้ ก ไก่ เป็นทางลัด ก็จะเรียกค้นจาก deskbar ได้ง่ายๆ โดยกด Alt-F3 แล้วป้อนคำสั่งค้น

Search Gookgai quickly from Deskbar

ขอบคุณข้อมูลจาก blog ของ Raphaël Slinckx

นอกจากนี้ ยังมี การเชื่อมรวมกับ Zeroconf ซึ่งผมยังไม่เคยลองอีกด้วย โดยจาก blog ดังกล่าว Ross Burton เล่าให้ฟังว่า ถ้าใครเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ด้วย zeroconf ไปยังเครื่องที่เปิด service ไว้ให้ใช้แล้ว จะปรากฏ service ดังกล่าวใน bookmark ของ Epiphany ให้เรียกใช้ได้โดยอัตโนมัติ

เกี่ยวกับภาษาไทย ดูเหมือนเรื่องปุ่มลัดเรียกเมนูด้วยแป้นพิมพ์ภาษาไทยจะยังใช้การไม่ได้ใน Firefox® (เช่น ตอนที่คุณบังเอิญสลับแป้นพิมพ์เป็นภาษาไทยอยู่ แล้วพยายามกด Alt-F เพื่อเลือกเมนู File) แต่เนื่องจาก Epiphany ใช้โครงสร้างพื้นฐานของ GTK+ ซึ่งจะพยายาม map keyboard ข้ามผังสำหรับปุ่มลัดให้ด้วย จะไม่มีปัญหานี้โดยอัตโนมัติ (ต้องพยายามแก้ที่ Firefox® กันต่อไป)

ประเด็นต่างๆ โดยทั่วไป เคยมีคนเขียนไว้แล้ว ตั้งแต่ GNOME 2.14 ว่า Why you should try Epiphany as your default browser with GNOME 2.14 ซึ่งมีประเด็นเรื่อง error page ที่ให้เปิดหาจาก google cache, web archive แทนได้เมื่อหาเพจไม่พบ ซึ่งผมไม่ได้เขียนถึง

อีกเว็บหนึ่ง เขียนถึง Epiphany โดยเน้นที่การจัดการ bookmark แบบ tag แทนแบบ hierarchy รวมทั้งการค้น bookmark ใน URL bar ซึ่งทำให้การใช้ bookmark เป็นไปโดยสะดวก

คงจะจบ blog ชุดนี้แค่นี้นะครับ จนกว่าจะนึกอะไรได้เพิ่ม หวังว่าคงพอทำให้เห็น ว่านอกจากเหตุผลเรื่องปัญหาเครื่องหมายการค้าของ Firefox® แล้ว ผมใช้ Epiphany เพราะอะไร

04 พฤศจิกายน 2549

Epiphany Guide for Firefox® Users (2)

มาที่อีกคำถามหนึ่งที่พบบ่อยจากผู้ใช้ Firefox® คือเรื่อง extension ว่าจะใช้ Firefox® extension กับ Epiphany ได้หรือเปล่า น่าเสียดายที่คำตอบคือ ไม่ได้ เพราะระบบ extension ของเบราว์เซอร์ทั้งสองต่างกัน เอกสารทางเทคนิค เกี่ยวกับการเขียน Epiphany Extension บอกว่า extension ของ Epiphany อยู่ในระดับที่ลึกกว่าที่ Firefox® ทำ และเขียนด้วย C หรือ Python ไม่ใช่ JavaScript จึงทำให้เบราว์เซอร์ทั้งสองแลกเปลี่ยน extension กันไม่ได้

อาจจะถือว่าเป็นจุดอ่อนของ Epiphany ก็ได้ ในแง่ความรู้สึกที่ขาดหายของผู้ใช้ Firefox® เมื่อ extension โปรดที่เคยใช้หายไป แต่ Epiphany-extensions ที่เป็น official extension ของ Epiphany ก็พอมีอะไรมาชดเชยให้ได้บ้าง เมื่อติดตั้งแพกเกจ epiphany-extensions แล้ว จะมีเมนู "เครื่องมือ" เพิ่มเข้ามาใน Epiphany ซึ่งเมื่อเลือกแล้ว จะเปิดกล่องโต้ตอบให้เลือกเปิดใช้ extension

Epiphany Extension Manager

extension เหล่านี้ หลายตัว contribute มาจาก Galeon เบราว์เซอร์ที่เป็นต้นตอของ Epiphany โดยผู้สร้าง Galeon เองได้ fork Epiphany ออกมา เพื่อสร้างเบราว์เซอร์แบบ minimalist, HIG-compliant สำหรับ GNOME ซึ่งหลังจากที่ Epiphany ได้รับความนิยมและการสนับสนุนในชุมชน GNOME มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ Galeon เริ่มเงียบเหงา และผู้ที่ดูแล Galeon จึงได้ ประกาศ รวมฟีเจอร์ของ Galeon เข้าใน Epiphany ในรูปของ extension ต่างๆ เมื่อปลายปีที่แล้ว

ผมคงไม่ไล่ Epiphany extension ทั้งหลาย เพราะผมเองก็ยังใช้ไม่หมด แต่ที่คิดว่าน่าสนใจก็เช่น:

  • Tab Groups (จัดกลุ่มแท็บ) จัดกลุ่มแท็บที่เกี่ยวข้องกันไว้ใกล้กัน แบบที่เคยทำใน Galeon และ Epiphany รุ่นเก่า แทนที่จะไปเปิดแท็บที่ข้างท้ายเสมอ ตรงนี้เข้ากับพฤติกรรมการอ่านเว็บของผม ที่มักจะอ่านเนื้อหาโดยคลิกลิงก์ที่เจอเปิดไว้รอในแท็บอื่น พออ่านหน้าแรกจบ ค่อยไปตามอ่านเว็บที่เปิดไว้ในแท็บนั้น ซึ่งมันจะเปิดรอไว้ใกล้ๆ กัน
  • Tab States (สถานะแท็บ) แสดงสถานะของแท็บที่มีเนื้อหาใหม่ที่ยังไม่อ่าน เมื่อใช้ร่วมกับ Tab Groups แล้ว ช่วยได้มากในการแยกเนื้อหาที่รออ่าน
  • AdBlock ช่วยบล็อคโฆษณาไม่ให้มาโผล่บนเว็บ (แบนด์วิดท์และซีพียูเป็นของมีค่า) โดยใช้ Perl regular expression ซึ่งการบล็อคค่อนข้างจะโหด โดยจะแสดงตัว A สีแดงที่มุมล่างซ้าย บอกว่ามีโฆษณาโดนบล็อคอยู่ แต่ถ้าจะเปิดอ่าน ก็ไม่ยอมอีกแน่ะ (กะจะใช้บล็อค flash โดยให้เปิดอ่านแบบ optional ก็อด) แต่ power user ก็สามารถปรับแต่ง pattern เองได้ โดยกำหนด Perl regular expression ไว้ใน ~/.gnome2/epiphany/extensions/data/adblock/(blacklist|whitelist) โดยดูตัวอย่างได้จาก /usr/share/epiphany-extensions/adblock-patterns

    Epiphany AdBlock Extension

  • News Feed Subscription (การบอกรับข่าวป้อน) เว็บไหนที่ประกาศ feed ไว้ จะปรากฏไอคอนรูปลิงก์ที่มุมล่างซ้าย เมื่อคลิกจะเปิดกล่องโต้ตอบให้บอกรับ feed ที่ต้องการ โดยจะเชื่อมโยงกับโปรแกรมอ่านข่าวของ GNOME (เช่น straw หรือ liferea)

    Epiphany News Feed Subscription Extension

  • Page Properties (ข้อมูลหน้าเว็บ) เปิดใช้แล้วจะมีเมนู "มุมมอง > ข้อมูลเว็บ" ให้เปิดดูข้อมูลภายในของหน้าเว็บ มี media อะไรบ้าง มีลิงก์อะไรบ้าง ฯลฯ เหมาะสำหรับใช้มองหา embeded video clip ในเว็บอย่างเร็ว โดยไม่ต้อง view source อะไรทำนองนั้น

แต่ถ้า official extension ยังไม่จุใจ ยังมี Third Party Extensions อีก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องทำใจหน่อยนึง ว่า Epiphany ยังไม่มีการทำการตลาดแบบ Firefox® อาจจะยังไม่มีคนเขียน extension ให้อย่างมโหฬาร แต่ผมว่า เท่าที่มีเนี่ย ก็เพียงพอกับความต้องการของผมเองแล้ว แต่ผมก็พวก minimalist ล่ะนะ มุมมองอาจจะไม่เหมือนนักเลง extension ทั้งหลาย :-)

02 พฤศจิกายน 2549

Epiphany Guide for Firefox® Users (1)

blog นี้ขอเล่าบางส่วนของเหตุผลที่ใช้ Epiphany ก่อนอื่น ต้องออกตัวก่อนว่า ผมไม่ได้คิดว่า Epiphany ดีเลิศสมบูรณ์ แต่ที่เล่าก็เผื่อว่า คนที่เคยผละจาก Epiphany ไป อาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ก่อนจะตัดสินด้วยภาพเก่าๆ ที่เคยมีต่อเบราว์เซอร์ตัวนี้

ขอเลือกเอาสิ่งที่ผู้ใช้ Firefox® น่าจะถามหามากที่สุด คือ search toolbar แต่ก่อนอื่น หน้าตา default ของ Epiphany มันค่อนข้างเทอะทะ ปรับแต่ง toolbar กันก่อนได้ ตามรสนิยมการใช้งานนะครับ โดยใช้เมนูคลิกขวาเคลื่อนย้ายหรือลบรายการที่ไม่ต้องการได้ หรือใช้กล่องโต้ตอบ "แก้ไขแถบเครื่องมือ" เพื่อเลือกเพิ่มรายการได้

Epiphany toolbar adjustment

ทีนี้ มาที่เรื่อง search toolbar ที่ว่า ไม่ต้องไปหาที่ไหนหรอกครับ มันอยู่ที่ location bar นั่นแหละ ลองป้อนคำค้นอะไรลงไป จะเห็นว่ามี drop-down menu แสดงรายการคล้ายเหมือนในเบราว์เซอร์อื่น แต่ Epiphany จะใช้ช่องนี้ค้นหา bookmark ตาม title ด้วย (นอกจาก URL) เช่น ในที่นี้ มี bookmark ไปยังเว็บ "How to Think Like a Computer Scientist" มันก็หาเจอด้วย นอกเหนือจากการหา URL ใน history ตามปกติ และใต้รายการเหล่านี้ลงไป จะเห็นรายการในแถบสีเทา ชี้ไปหา search engine ต่างๆ ซึ่งโดยปกติ จะมีแต่รายการสุดท้าย คือ "ค้นหาเว็บ" หรือ "Search the Web" ก็เลื่อนเมนูลงไปเลย (ใช้ปุ่มลูกศรชี้ขึ้นทีเดียวถึง) ก็จะป้อนคำค้นของเราไปยัง Google ทันที

Epiphany URL search

ถ้าคุณอยากเพิ่ม search engine โปรดของคุณงั้นเหรอ ไม่ต้องไปควานหาจากเว็บ plug-in ว่ามีใครใจบุญทำไว้ให้หรือยัง แต่คุณทำได้เองเลย! โดยเพียงเพิ่ม bookmark ชนิดพิเศษที่เรียกว่า "smart bookmark" เท่านั้น

สมมุติว่าผมไปเจอ search engine ตัวหนึ่ง คือ กุ๊กไก่ ดอทคอม โดยมีหน้าผลการค้นดังนี้:

Epiphany displaying Googkai search engine

ผมอยากเพิ่มใน search engine menu ของ Epiphany ก็สั่งเพิ่ม bookmark จากเมนูตามปกติ ซึ่งจะขึ้นกล่องโต้ตอบ โดยแสดง URL ยาวๆ ของเว็บตามปกติ:

Epiphany adding smart bookmark step 1

ก็มองหาคำค้นของเรา แทนด้วย "%s" เสีย และอาจลองตัด parameter ที่ไม่จำเป็นออกก็ได้ แล้วแต่อารมณ์แฮ็กของคุณ ไม่มีอารมณ์แฮ็กก็ไม่ต้องทำอะไร:

Epiphany adding smart bookmark step 2

เพื่อความเป็นระเบียบ คุณอาจจะใส่ tag ของ bookmark เป็น "Quick Search" ก็ได้ แต่ไม่จำเป็นสำหรับการใช้งาน

จากนั้น ลอง search ดู โดยป้อนคำค้นแล้วดูที่ drop-down menu จะมีรายการ search engine ที่เพิ่งเพิ่มมาแล้ว เลื่อนแถบเมนูลงไปเลือก:

Epiphany testing smart bookmark

แล้วดูผล:

Epiphany smart bookmark search result

คงตอบคำถามผู้ใช้ Firefox® ได้นะครับ ว่าเปลี่ยนมา Epiphany แล้ว search toolbar หายไปไหน และอาจจะลองพิจารณาดู ว่าแบบไหนดีกว่ากัน สำหรับผม ผมว่ามันยืดหยุ่นดีนะ ไม่กินที่บน toolbar ด้วย ทำให้ช่อง URL แสดง URL ได้เต็มที่กว่า ลดการ scroll ถ้าจะอ่าน URL ของเว็บที่กำลังดู แถมเวลาจะค้นก็ง่าย สำหรับคนถนัดใช้แป้นพิมพ์ แค่กด Ctrl-L แล้วป้อนคำค้น เลื่อนลูกศรขึ้น Enter จบ

hacker emblem