Thai Fonts Siampradesh (non-free)
ผ่านไปอีกเดือนครึ่ง หลังจาก blog เรื่อง DIP-SIPA Fonts License ทุกอย่างยังเงียบสนิท ก็ยังไม่ถือว่านาน แต่ผมเกรงว่ามันจะเนิ่นช้าไปเรื่อย ๆ ก็เลยตัดสินใจ update deb ของฟอนต์ที่เปลี่ยนชื่อ โดยย้ายเข้าใน section non-free ไว้ ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของ license ไว้ก่อน เพื่อสามารถผลักดันเข้า Debian ได้ทุกเมื่อ (คิดว่าคงเป็นหลัง Lenny) ถ้าเงื่อนไข license มีการเปลี่ยนแปลงค่อยมาว่ากันอีกที
ตอนนี้ ยังไม่ ITP แต่เผยแพร่ใน LTN APT และ Debianclub repository ไปพลางก่อน คุณสามารถ apt-get จากแหล่งดังกล่าวได้เลย ภายใต้ชื่อ "ttf-thai-siampradesh
"
ฟอนต์มีการเปลี่ยนชื่อก่อนดัดแปลง ตามเงื่อนไขของ license โดยไม่ใช้ชื่อ DIP/SIPA เลย เพื่อเลี่ยงการถูกตีความว่าใช้ชื่อในการโฆษณา ส่วนฟอนต์แต่ละตัวในชุด มีการเปลี่ยนชื่อไว้นานแล้วหลังจากหารือกับเพื่อนฝูงบางคน ขอบันทึกการเปลี่ยนชื่อไว้ที่นี่ (ดูรูปร่างฟอนต์ประกอบได้ที่ ฟ๐นต์.คอม):
- TH Krub (ครับ) --> ทศกัณฐ์ (Thotsakan)
-
ตัวอักษรดูคล้ายตัวเขียนธรรมชาติมากกว่าตัวพิมพ์ที่บรรจง และมีจุดหักแนวฉากที่โค้งมนหลายจุด ชวนให้นึกถึงคางและรูปหน้าของโขนทศกัณฐ์
- TH Niramit AS (นิรมิต) --> รามา (Rama)
-
ความประดิดประดอยของลายเส้น คงไม่มีใครเหมาะไปกว่าตัวพระของรามเกียรติ์ผู้เป็นอวตารของพระนารายณ์
- TH Kodchasan (คชสาร) --> สินสมุทร (Sinsamut)
-
ตัวละครที่เป็นเด็ก จำต้องยืมจากเรื่องพระอภัยมณี ซึ่งมีเด็กเด่น ๆ อยู่
ลายมือสำหรับเด็กมีสองฟอนต์ คือคชสารและ ด.ญ. มะลิ ป. 6 โดยคชสารนี้ดูเป็นระเบียบกว่า เลยยกให้สินสมุทรผู้พี่ รวมทั้งพละกำลังที่ผลักหินปิดปากถ้ำได้ ก็ทำให้สินสมุทรมาแทนคชสารได้อย่างเหมาะเจาะ
- TH Sarabun PSK (สารบรรณ) --> ลักษมัณ (Laksaman)
-
ฟอนต์ที่ดูเรียบ ๆ ไม่มีจุดเด่น แต่เป็นระเบียบเรียบร้อย ใช้ใน text body ได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะกับพระรองที่แม้บทจะไม่เด่นเท่าพระราม แต่ก็เป็นกำลังสำคัญของกองทัพอย่างพระลักษมณ์ แต่ใช้เสียงอ่านที่กระเดียดไปทางสันสกฤตเล็กน้อย เพื่อให้ระบุตัวตนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
- TH K2D July8 (8 กรกฎา) --> สีดา (Sida)
-
ความโค้งมนเป็นวงรีของอักษร บวกกับเส้นตวัดปลายหางที่ชดช้อย แทนด้วยวงหน้าและชฎาของนางสีดาได้
- TH Mali Grade 6 (ด.ญ. มะลิ ป. 6) --> สุดสาคร (Sutsakhorn)
-
ได้อธิบายไปแล้วในฟอนต์คชสาร สุดสาครน่าจะเป็นตัวละครเด็กที่เด่นที่สุดแล้วในวรรณคดีไทย
- TH Chakra Petch (จักรเพชร) --> รามสูร (Ramasun)
-
ความจริง รูปทรงแปดเหลี่ยมกับเส้นตรง ชวนให้นึกถึงลายวงจรแผ่นปรินท์มากที่สุด แต่วรรณคดีไทยไม่มีแผ่นปรินท์ เลยเปลี่ยนมามองรูปแปดเหลี่ยมเป็นเหลี่ยมของเพชร (ตามชื่อเดิมของฟอนต์) แล้วโยงไปถึงแก้วในมือของนางเมขลา ที่รามสูรเห็นแล้วต้องไล่ตาม
ไม่ใช้ชื่อ "เมขลา" เพราะฟอนต์มีลักษณะแข็ง ไม่เหมาะกับสตรีเพศ แต่น่าจะเข้ากับรามสูร อสูรผู้ตามล่าแก้วมณีมากกว่า
- TH Bai Jamjuree CP (ใบจามจุรี) --> ละเวง (Laweng)
-
ฟอนต์มีลักษณะเรียบง่ายแต่แฝงความโมเดิร์นนิดหน่อย เลยขอยืมชื่อนางฝรั่งลังกาจากเรื่องพระอภัยมณีมาใช้
- TH KoHo (กอ-ฮอ) --> อภัยมณี (Aphaimanee)
-
หัวตัวอักษรเหมือนตัวโน้ตดนตรี บวกกับบุคลิกฟอนต์ที่ดูลำลอง หัวอักษรดูเหมือนเต้นไปเต้นมาในข้อความ เลยให้ชื่อนักดนตรีเอกแห่งวรรณคดีไทยแก่ฟอนต์นี้ไป
- TH Fah Kwang (ฟ้ากว้าง) --> หนุมาน (Hanuman)
-
ฟอนต์ตัวใหญ่ หัวโต ดูอหังการ ความจริงจะให้ชื่อยักษ์สักตนก็ได้ แต่หัวอักษรที่โตทำให้ฟอนต์มีอารมณ์ทะเล้นหน่อย ๆ ทั้งกำแหงหนุมาน ก็สามารถแปลงกายให้ใหญ่โตจนอมพลับพลาหรือทอดกายเป็นสะพานให้กองทัพข้ามไปได้ ฟอนต์นี้ก็เลยได้ชื่อขุนกระบี่ไป
เรื่องชื่อ ได้ทำตาม license แล้ว แต่ตัว license หวังว่าจะแก้ให้หลุดจาก non-free ได้สักวัน :-)
Update (22:27): แก้การแบ่งวรรคตอนที่เพี้ยนเพราะการตัดแปะจากเมล
ป้ายกำกับ: typography