Theppitak's blog

My personal blog.

30 กรกฎาคม 2553

ThaiFonts-Scalable 0.4.14

ออก thaifonts-scalable 0.4.14 ไปแล้ววันนี้ หลังจากที่ตกค้างอยู่ใน SVN มาเป็นเวลา 1 ปีเต็ม

การเปลี่ยนแปลงที่สะสมมาก็มี 3 เรื่องหลัก

เรื่องแรกคือ การคัดลอก glyph ของ TlwgTypo ที่ได้ ปรับความหนาด้วยมือไว้ตั้งแต่รุ่นที่แล้ว เข้ามาใน TlwgTypist โดยได้นำมาใช้ใน ThaiLaTeX 0.4.4 ไปก่อนหน้านี้แล้ว รุ่นนี้ก็นำมาแทนที่บนเดสก์ท็อปทั่วไปด้วย

เรื่องที่สอง คือแก้กฎ fontconfig ที่ทำ fallback ให้กับเว็บไทยที่ใช้ฟอนต์ Tahoma และ MS Sans Serif ให้มาใช้ Waree และ Loma ตามลำดับบน GNU/Linux ในกรณีที่ไม่มีฟอนต์ดังกล่าวติดตั้งไว้ แต่กฎดังกล่าวได้ไปมีผลกับเว็บภาษาอังกฤษด้วย ดังที่มีผู้รายงานมาใน LP #434054 สำหรับ Tahoma และ LP #539008 สำหรับ MS Sans Serif โดยในบั๊กแรกได้แก้ไขไปใน Debian/Ubuntu ด้วยการตัดกฎออก แต่สำหรับบั๊กหลังได้พบวิธีที่ไม่ต้องตัดกฎออก เพียงแค่ตรวจสอบภาษาว่าเป็นภาษาไทยหรือไม่ก่อนใช้กฎ ก็เลยใช้วิธีเดียวกันกับทั้งสองบั๊ก

เรื่องที่สาม เป็นการอาศัยช่วงเวลาว่างสั้น ๆ ของผมมาปรับฟอนต์ Garuda ซึ่งพอได้สำรวจ glyph ดูก็พบความไม่สม่ำเสมอของเส้นโค้งต่าง ๆ ราวกับไม่ใช่ดีไซน์เดียวกัน โดยเฉพาะตัวหนา ซึ่งจะเห็นได้ชัดสำหรับอักขระพิเศษของละติน:

ก่อนปรับ: Garuda ละตินตัวหนา ก่อนปรับ

หลังปรับ: Garuda ละตินตัวหนา หลังปรับ

ซึ่งความหนาของเส้นจะกลมกลืนมากขึ้น ตรงนี้มีคำอธิบายว่า เมื่อเริ่มแก้ไขฟอนต์แรก ๆ นั้น ฟอนต์ในชุด ฟช เป็นชุดที่ผมไม่กล้าแตะต้องเท่าไร เนื่องจากเป็นแบบอักษรที่ละเอียดอ่อน ด้วยความรู้ในขณะนั้นจึงไม่กล้าแตะต้องเพราะกลัวทำแบบของเขาเสีย จึงเน้นไปทำในชุด tlwg แทนเสียมากกว่า ตอนนี้เริ่มคิดว่ามีประสบการณ์มากพอแล้วจึงกลับมาดูชุด ฟช มากขึ้น ครั้งนี้จึงลุยปรับเส้นต่าง ๆ ให้สม่ำเสมอกันทั้งฟอนต์ ก็ใช้เวลาไปหลายอาทิตย์เหมือนกัน ฟอนต์สวยปรับยากหน่อยครับ

ผลจากการปรับ ทำให้ฟอนต์ในรูปแบบ OTF (ซึ่งใช้เส้นโค้งแบบ Type 1 ซึ่งเป็น cubic) ดูดีขึ้น:

ก่อนปรับ:
Garuda ตัวหนา OTF ก่อนปรับ

หลังปรับ:
Garuda ตัวหนา OTF หลังปรับ

ส่วน TTF นั้น ไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก:

ก่อนปรับ:
Garuda ตัวหนา OTF ก่อนปรับ

หลังปรับ:
Garuda ตัวหนา OTF หลังปรับ

แต่ก็ขอให้สังเกตที่เครื่องหมายพิเศษ เช่น * [ ] { } เส้นจะดูกลมกลืนกับตัวอักษรอื่นมากขึ้น

อัปโหลดเข้า Debian sid แล้วครับ ส่วน Ubuntu Maverick นั้น เดี๋ยวต้อง request sync จาก Debian อีกที เนื่องจากเลยกำหนด DebianImportantFreeze มาแล้ว

ป้ายกำกับ: ,

25 กรกฎาคม 2553

Some Remarks on Thai Orthography

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับอักขรวิธีภาษาไทยมานาน ว่าทำไมไม่เป็นอีกแบบหนึ่ง วันนี้นึกอยากรวบรวมประเด็นเอาไว้ ที่พอจะนึกได้ตอนนี้ก็มี 3 เรื่องคือ

ตัดเชิง ญ ฐ

อักษรไทยเกือบทั้งหมดสามารถเขียนได้ในจรดเดียว จะมียกเว้นอยู่บ้างก็คือ ญ ฐ ศ ษ ส แต่สามตัวหลัง คือ ศ ษ ส นั้น เวลาเขียนยังพอหวัดให้เป็นจรดเดียวได้ แต่ ญ ฐ นั้นหวัดยาก ยังไงก็ต้องจรดปากกา 2 ครั้ง แถมยังลักลั่นเวลามีสระล่างต้องคอยตัดเชิงด้วย เช่นในคำว่า กตัญญู ทิฏฐุชุกรรม ซึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ เคยเสนอให้ตัดเชิงของพยัญชนะทั้งสองออกเสีย

ผมเคย blog เกี่ยวกับคำอธิบายของจิตร ไว้ ซึ่งจิตรได้วิเคราะห์ที่มาของการใส่เชิง ญ หลังสมัยพ่อขุนรามคำแหง เมื่อคนไทยกลับไปรับอิทธิพลอักษรขอมอีกครั้ง เพราะอักษรขอมนั้น เส้นตวัดล่างของ ญ มีความสำคัญมาก ถ้า ญ (ញ) ไม่มีเส้นตวัดล่าง จะสับสนกับพยัญชนะอื่น (คือกลายเป็น ពា = พา) ทำนองเดียวกับหาง ศ ษ และ ส ของไทยที่ถ้าหายก็ความหมายเปลี่ยน คนไทยสมัยก่อนที่เขียนอักษรขอมจนเคยจึงติดมาใช้กับอักษรไทยไปด้วย ทั้งที่ ญ ไม่มีเชิงของไทยนั้นไม่ได้ซ้ำกับอักษรอื่นเลย

ส่วน ฐ ซึ่งเป็นการเขียนรูปเต็ม ឋ กับรูปเชิง ្ឋ ของขอมซ้อนกันเป็น ฐฐ นั้น เนื่องจากไม่พบเอกสารที่จิตรเขียนไว้ จึงไม่ทราบที่มาที่ไป แต่น่าจะใช้หลักคิดทำนองเดียวกันได้

ด้วยเหตุผลเรื่องที่มาที่ไปของรูปร่างอักษร เรื่องความลักลั่นของการตัดเชิง ประกอบกับในปัจจุบันเรามีแนวปฏิบัติในการเขียนภาษาบาลี-สันสกฤตโดยจะเขียน ญ ฐ แบบไม่มีเชิงอยู่แล้ว ทำไมไม่ประยุกต์ใช้กับภาษาไทยทั่วไปบ้าง?

ประพินทุกำกับอักษรนำและอักษรควบกล้ำ

เราพบตัวอย่างความกำกวมมามากแล้วที่เล่นกับเรื่องอักษรนำและตัวควบกล้ำ เช่น

  • เพลา อ่านว่า "เพฺลา" หรือ "เพ-ลา"?
  • เคลิบเคลิ้ม ที่กลายเป็นมุขให้มาเล่นกันเป็น "เค-ลิบ-เค-ลิ้ม" (มุขตลกไม่ใช่ไม่ดี แค่ยกตัวอย่างสิ่งที่พบเจอเกี่ยวกับเรื่องนี้เท่านั้น)
  • พระพรหมา ที่เวลาเจอในหนังสือ แอบอ่านในใจเป็น "พระ-พร-หมา" ทุกที
  • ชื่อตัวละครจีนอย่าง "เตียวเหง" ในเรื่องไซ่ฮั่น ควรจะอ่านว่า "เตียวเง๋" หรือ "เตียวเฮ๋ง" ดี? (ขออภัยครูภาษาไทยที่ใช้ไม้จัตวากับอักษรต่ำในที่นี้ แต่จำต้องใช้เพื่อความสะดวกในการบรรยายเสียงอ่าน)

ตัวอย่างบางอันข้างต้นเรารู้คำอ่านได้จากรูปคำหรือบริบท แต่อย่างชื่อ "เตียวเหง" นี่ ไม่มีข้อมูลจะให้เดาจริง ๆ

เรื่องอักษรนำและควบกล้ำนี้ ภาษาประเทศเพื่อนบ้านเราเขามีวิธีเขียนที่ไม่กำกวม เช่น อักษรเขมรและอักษรธรรมล้านนาจะเขียนตัวควบกล้ำและพยัญชนะซ้อนเป็นรูปย่อไว้ใต้อักษรนำ เช่น เพลา ที่แปลว่าหน้าตัก ภาษาเขมรเขียนเป็น ភ្លៅ โดยตัว ភ คือ ภ และตัว ្ល คือ ล รูปย่อ แต่ถ้าจะเขียน เพลา ที่แปลว่าเวลา ก็จะเขียนเป็น ពេលា (คำเขมรจริง ๆ ของคำว่าเวลาคือ ពេល = เพล) อักษรลาวมีอักษร ໝ สำหรับ หน (ห นำ น), ໜ สำหรับ หม (ห นำ ม) และใช้การเขียนตัวเฟื้องใต้ ห ในกรณีของ ຫຽ (หย), ຫຼ (หล)

วิธีเขียนเหล่านี้มีมาแต่โบราณ ซึ่งอักษรไทยได้ตัดทิ้งไปเมื่อประยุกต์การเขียนพยัญชนะทั้งหมดบนเส้นบรรทัด โดยในสมัยก่อนนั้น อักษรไทยจะไม่ใช้เขียนภาษาบาลี-สันสกฤตกัน เพราะไม่สามารถเขียนรูปพยัญชนะซ้อนในภาษาบาลี-สันสกฤตได้ จึงต้องใช้อักษรขอมบ้าง อักษรธรรมตระกูลมอญบ้างเมื่อจะเขียนภาษาบาลี-สันสกฤต ในทำนองเดียวกับการสลับเขียนภาษาอังกฤษด้วยตัวโรมันในปัจจุบัน จนกระทั่งมีประดิษฐกรรมการใช้พินทุประเพื่อเชื่อมพยัญชนะซ้อน เช่น ธมฺมํ จึงเริ่มเขียนภาษาบาลี-สันสกฤตด้วยอักษรไทยได้

จึงเกิดคำถามอีกแหละ ว่าควรประยุกต์การใช้พินทุกับอักษรนำและอักษรควบกล้ำในภาษาไทยทั่วไป แทนที่จะใช้เฉพาะเวลาเขียนบาลี-สันสกฤตหรือเขียนเสียงอ่านในพจนานุกรมดีหรือไม่? เช่น จะได้เขียน เพฺลารถ เพลาเย็น เคฺลิบเคฺลิ้ม พฺระพฺรหฺมา เตียวเหฺง (ในกรณีที่อ่านว่า "เตียวเง๋") เตียวเหง (ในกรณีที่อ่านว่า "เตียวเฮ๋ง") เสฺน่ห์ เสนา เสฺนาะ เป็นอาทิ ทำให้สามารถอ่านได้โดยไม่กำกวม

เขียน "เอย" เป็น "เอิย"

เวลาเรียนภาษาไทยตอนประถม เชื่อว่าทุกคนต้องเคยสะดุดกับรูปสระเออที่สะกดด้วยแม่เกย ทำไมแม่อื่น ๆ เขียนแบบมีสระอิ เช่น เบิก, เกิด, เติบ, เพิง, เกิน, เดิม (อาจจะมีบ้างบางคำที่เขียนในรูปพิเศษ คือ เทอญ เทอม ซึ่งเป็นข้อยกเว้น) แต่ทำไมแม่เกยจึงเขียนโดยไม่มีสระอิ เช่น เกย, เขย, เฉยเมย, เงย, เชย, เตย, เนย, เย้ย, เลย ซึ่งเวลาเจอครั้งแรกก่อนครูสอน เราคงอ่านเป็นสระเอมากกว่าจะเป็นสระเออ จนกระทั่งคุ้นชินแล้วนั่นแหละถึงจะอ่านเป็นสระเออ

ข้อนี้เพิ่งจะมาสังเกตจริง ๆ จัง ๆ ก็ตอนอ่านภาษาลาว หลายคนรู้จัก ເບຍລາວ เป็นอย่างดี เขาไม่ได้อ่านว่า เขยลาว แต่อ่านว่า เบียลาว (เบียร์ลาว) เพราะภาษาลาวยังรักษารูปเดิมของสระเอีย คือในภาษาไทยโบราณจะเขียนสระเอียแบบมีตัวสะกดด้วย ย ตัวเดียว เช่น ขยน อ่านว่า "เขียน" ลาวเขียนเป็น ຂຽນ ตัว ย ของลาวจึงยังคงหน้าที่ของสระเอียไว้เหมือนโบราณ และสระเออแม่เกยของลาวจะเขียนเหมือนแม่อื่น ๆ เช่น เคย จะเขียนเป็น ເຄີຍ ซึ่งคนไทยมักจะไปอ่านเป็นสระเอียสลับกัน

เมื่อไปตรวจสอบอักษรเขมร ก็เขียนในทำนองเดียวกับภาษาลาว เช่น រៀន ถอดเป็นอักษรไทยคือ เรยน = เรียน ; កើយ ถอดเป็นอักษรไทยคือ เกีย = เกย ซึ่งถ้าคิดดูดี ๆ แล้ว น่าจะเป็นภาษาไทยปัจจุบันนั่นแหละที่อุตริอ่าน-เขียนเพี้ยนไปเอง

ก็เลยตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ครับ ว่าทำไมเราจึงไม่เขียนสระเออลดรูปให้เหมือนกันหมดทุกแม่ เช่น เขียนเป็น เกิย, เขิย, เฉิยเมิย, เงิย, เชิย, เติย, เนิย, เยิ้ย, เลิย แล้วจะทำให้เราสามารถเขียนเสียงสระเอที่ใช้แม่เกยสะกดจริง ๆ ได้ด้วย ไม่ต้องเลี่ยงไปเขียนเป็น เมย์ หรือ เลย์ ฯลฯ

ป้ายกำกับ:

15 กรกฎาคม 2553

Khon Kaen Council 2/2553

เมื่อวานนี้ (14 ก.ค.) ได้ไปร่วมประชุมสภาเมืองครั้งที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2553 ที่ทางเทศบาลนครขอนแก่นจัดขึ้น เขาจัดกันประจำแหละครับ และประชาชนชาวขอนแก่นก็เข้าร่วมได้ ผมเข้าร่วมครั้งสุดท้ายก็เมื่อ 2 ปีก่อน ดังบันทึกไว้ (ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2)

ประชุมครั้งนี้ มีวาระหารือ 4 วาระ และแจ้งเพื่อทราบ 1 วาระ รวมเป็น 5 วาระ

วาระที่ 1: ย้ายอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของไทย คือผู้มีคุณูปการต่อขอนแก่นเป็นอย่างมาก เป็นนายกฯ คนแรกที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง โดยได้ริเริ่มร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และได้วางยุทธศาสตร์ให้จังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดนำร่อง ด้วยสภาพที่ตั้งที่เหมาะสม จนทำให้ขอนแก่นกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญแห่งใหญ่ในภาคอีสานในทุกวันนี้

ชาวขอนแก่นได้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงท่านไว้ที่สวนรัชดานุสรณ์ แต่ปัจจุบันสภาพพื้นที่ได้เปลี่ยนไป สิ่งปลูกสร้างโดยรอบเริ่มบดบังภูมิทัศน์ของอนุสาวรีย์ ทั้งบริเวณอนุสาวรีย์ก็เป็นที่ต่ำน้ำท่วมขังบ่อย สภาพจึงทรุดโทรมลง ค่ายศรีพัชรินทร์ซึ่งเคยส่งพลทหารมาบำรุงรักษาบ่อย ๆ จึงมีแนวคิดที่จะย้ายอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ไปที่ใกล้จวนผู้ว่าฯ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ช่วยออกแบบอนุสาวรีย์ใหม่ให้ แต่จากบันทึกประชุมสภาเมืองครั้งที่แล้ว (2 พ.ย. 2552) มีความเห็นจากที่ประชุมว่าควรพิจารณาทางเลือกอื่นหลาย ๆ ที่ พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ ด้วย

ประชุมครั้งนี้ ก็เลยมีการเสนอสถานที่เข้ามาใหม่เป็นทางเลือกทั้งหมด 4 แห่ง คือ

  1. หน้าสวนสุขภาพบึงทุ่งสร้าง
  2. บริเวณพื้นที่ว่างลึกเข้าไปในบึงทุ่งสร้างด้านตรงข้ามสวนอาหาร
  3. ในสวนสุขภาพประตูเมือง
  4. บึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เกณฑ์การพิจารณาที่คณะทำงานใช้ในการประเมินความเหมาะสมของสถานที่:

  1. การสัญจรไปมาและการเข้าถึง
  2. มุมมองและการนำสายตา
  3. ความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์
  4. การขยายตัวเพื่อจัดกิจกรรมในอนาคต
  5. สภาพแวดล้อมทางกายภาพ
  6. ความพร้อมของสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ

บางส่วนจากการอภิปราย:

  • หน้าสวนสุขภาพบึงทุ่งสร้างเหมาะสมในแง่ของความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ เพราะจวนผู้ว่าฯ ที่อยู่ตรงนั้นเป็นที่พำนักของจอมพลสฤษดิ์ขณะมาราชการที่ขอนแก่น และเป็นสถานที่ที่ใช้ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ถนนเส้นที่ตัดเข้าไปหน้าจวนจึงได้ชื่อว่า "ถนนจอมพลพัฒนา" ภูมิทัศน์ก็เหมาะสม สามารถใช้ถนนจอมพลเป็นเส้นนำสายตาได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสามารถพัฒนาจวนผู้ว่าฯ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับจอมพลสฤษดิ์ได้ด้วย แต่อาจมีปัญหาเรื่องความคับแคบของสถานที่ และอาจต้องรื้อประตูสวนสุขภาพฯ เพื่อใช้สถานที่บางส่วนสำหรับตั้งอนุสาวรีย์
  • บริเวณที่ว่างลึกเข้าไปในแถบบึงทุ่งสร้าง ยังคงไม่ห่างจากจวนมากนัก และพื้นที่กว้างขวางสามารถปลูกสร้างได้ทันที แต่ข้อเสียคือจะอยู่ในมุมอับ มองเห็นได้ยากจากภายนอก
  • สวนสุขภาพประตูเมือง มีความเหมาะสมเรื่องความเด่น เพราะอยู่ริมถนนมิตรภาพและอยู่ใกล้ประตูเมือง ผู้สัญจรไปมาสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย และยังมี landmark ที่อยู่ใกล้สำหรับผู้มาเยือน คือเซ็นทรัลพลาซา และศาลหลักเมือง แต่อาจจะอ่อนด้อยเรื่องความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์
  • บึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยขอนแก่นก่อตั้งเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ด้วยดำริของจอมพลสฤษดิ์ จึงถือว่าท่านเป็นผู้สถาปนามหาวิทยาลัย ในด้านทำเลที่ตั้ง บึงสีฐานก็อยู่ริมถนนมะลิวัลย์ที่เป็นทางเข้าเมืองจากด้านชัยภูมิ-ชุมแพ ความเป็นบึงจะทำให้อนุสาวรีย์โดดเด่นอยู่กลางบึง และเปิดทางให้กับการตกแต่งทางน้ำ

หลังจากอภิปรายแล้วก็มีการนับคะแนนเสียง ปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่เทให้กับบริเวณหน้าสวนสุขภาพบึงทุ่งสร้างอย่างท่วมท้น (122 เสียง) โดยบึงสีฐานตามมาห่าง ๆ เป็นอันดับสอง (59 เสียง) ถัดมาเป็นสวนประตูเมือง (23 เสียง) และพื้นที่ว่างด้านในบึงทุ่งสร้าง (1 เสียง)

ดูเหมือนไม่มีใครคัดค้านการย้ายอนุสาวรีย์ เพราะสถานที่ปัจจุบันคงไม่เหมาะจริง ๆ

วาระที่ 2: การศึกษาพื้นที่เฉพาะ บริเวณคลังน้ำมัน

ขอนแก่นมีคลังน้ำมันสามแห่งใกล้ ๆ กัน คือของ เชฟรอน, เชลล์ และ ปตท. ซึ่งที่ตั้งจะอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ และเดิมจะอยู่ห่างจากชุมชน แต่ปัจจุบันเมืองขอนแก่นมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนชุมชนเริ่มรุกล้ำเข้าไปโอบล้อมคลังน้ำมันมากขึ้น จนเกิดความวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะเมื่อมีการก่อวินาศกรรม เทศบาลฯ จึงได้ศึกษาผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง พร้อมประเมินว่าถ้าพื้นที่นี้ไม่ได้เป็นคลังน้ำมัน จะใช้ทำอะไรได้บ้าง

เทศบาลฯ ชี้แจงว่า หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง คือสำนักงานพลังงานจังหวัด และสำนักความปลอดภัยธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน มีการตรวจสอบความปลอดภัยและระบบรักษาความปลอดภัยของคลังอยู่เป็นประจำ ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์ก็จะไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้

ตัวแทนจากบริษัทน้ำมันทั้งสาม ได้ชี้แจงว่าถังที่บรรจุน้ำมันนั้น มีระบบป้องกันที่แน่นหนา จะไม่มีการบรรจุน้ำมันจนเต็มถัง และมีการซ้อมแผนฉุกเฉินกันอยู่เป็นประจำ จึงขอให้ประชาชนวางใจ อย่าวิตกกังวลจนเกินไป

ความเห็นภาคประชาชนส่วนใหญ่อยากให้ย้ายคลังน้ำมัน แต่อาจจะไม่ต้องย้ายทันที แค่ให้เริ่มสร้างในสถานที่ใหม่แล้วค่อย ๆ ปลดระวางในสถานที่เก่า อย่างน้อย ๆ ตอนนี้ก็ไม่สามารถขยายพื้นที่ในที่เดิมได้อีกแล้ว มีข้อเสนอให้จัดเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับคลังน้ำมันด้วย โดยห้ามตั้งบ้านเรือนในรัศมีที่กำหนดรอบเขตดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดซ้ำอีก

มีความเห็นจากผู้ประกอบธุรกิจปั๊มน้ำมัน เห็นว่าการย้ายคลังน้ำมันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการขนส่งน้ำมันจะใช้รถไฟเป็นหลัก คลิงน้ำมันจำเป็นต้องมีท่อส่งน้ำมันจากสถานีรถไฟ ดังนั้นจึงต้องอยู่ใกล้สถานีรถไฟ ซึ่งจะมีผลต่อการหาสถานที่ใหม่ และทำให้ไม่สามารถย้ายได้บ่อย ๆ หรือในระยะสั้น

นายกเทศมนตรีสรุปว่าจะไม่มีมาตรการใด ๆ สำหรับวาระนี้ จะมีเพียงหนังสือแจ้งเพื่อทราบเกี่ยวกับความเห็นของสภาเมืองส่งถึงบริษัทน้ำมันทั้งสามเท่านั้น ที่เหลืออยู่ที่ดุลยพินิจของบริษัทว่าจะดำเนินการอย่างไร

วาระที่ 3: สร้างทางข้ามต่างระดับ (fly over) ที่ถนนหลังศูนย์ราชการ

เมืองขอนแก่นเริ่มเติบโตข้ามถนนมิตรภาพไปทางฝั่งตะวันตกมากขึ้น ทำให้มีการจราจรข้ามถนนมิตรภาพไปมาหนาแน่นขึ้น แต่ทางออกมีไม่กี่จุดเท่านั้น จึงเกิดสภาพจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วนมากขึ้นเรื่อย ๆ ถนนหลังศูนย์ราชการก็เป็นช่องทางหนึ่งที่น่าจะช่วยระบายรถออกได้ แต่สภาพปัจจุบันเกิดคอขวดตรงทางข้ามทางรถไฟ อีกทั้งรถที่จะเลี้ยวขวาออกถนนมิตรภาพจะต้องเลี้ยวซ้าย วิ่งตัดช่องถนนเข้าช่องขวาเพื่อกลับรถที่แยกสามเหลี่ยม ทำให้รถต้องมาคับคั่งที่แยกสามเหลี่ยมอยู่ดี และจากระยะทางที่เพิ่มขึ้น รถทั้งหลายจึงมีแนวโน้มจะมาออกที่แยกสามเหลี่ยมโดยตรงมากกว่า

จึงเกิดแนวคิดจาก สท. ท่านหนึ่งว่า ถ้าสามารถทำให้รถเลี้ยวขวาจากถนนหลังศูนย์ราชการออกมิตรภาพได้โดยตรง จะทำให้เกิดช่องทางระบายรถออกจากเมืองเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งช่อง โดยไม่กลับมาเบียดกันที่แยกสามเหลี่ยมอีก จึงเสนอให้สร้างทางข้ามต่างระดับเลี้ยวขวาตรงแยกนี้ พร้อมทั้งขยายช่องทางตรงจุดที่ข้ามทางรถไฟจากสองช่องเป็นสี่ช่อง (ซึ่งจำเป็นต้องทำอยู่แล้วถ้าจะสร้างทางข้าม)

มีข้อสังเกตจากภาคประชาชนว่าทำไมไม่ทำช่องเลี้ยวขวาจากถนนมิตรภาพเข้าถนนหลังศูนย์ฯ ด้วย โดยอาจจะทำทางต่างระดับยกถนนมิตรภาพแทน แล้วทำไฟจราจรให้รถจากถนนรองเลี้ยวลอดใต้ทางข้ามเอา ซึ่งจะทำให้มีการเชื่อมโยงกับถนนหมอชาญอุทิศทางฝั่ง มข. ด้วย มีคำตอบจาก สท. ว่าจุดประสงค์คือต้องการระบายรถออกจากเมืองในชั่วโมงเร่งด่วนเท่านั้น และการทำทางยกระดับมิตรภาพไม่สามารถทำได้ เพราะอยู่ใกล้ปากอุโมงค์ลอดแยกสามเหลี่ยมเกินไป

มีอีกความเห็นหนึ่งว่าอยากให้ประเมินทางเลือกอื่นเปรียบเทียบด้วย เช่น การสร้างเกือกม้ากลับรถ และเป็นไปได้ไหมที่จะทำช่องทางให้รถมอเตอร์ไซค์ต่างหากด้วย สท. ไม่ตอบประเด็นแรก เพราะคิดว่าเป็นเรื่องกลับรถไม่ใช่เลี้ยวขวา แต่ประเด็นหลังขอกลับไปศึกษาเพิ่มเติม

วาระที่ 4: ตัดถนนเชื่อมถนนผังเมือง ข6 และ ข7

สท. อีกท่านหนึ่งได้เสนอแนวคิดตัดถนนเชื่อมถนนผังเมือง ข6 และ ข7 ซึ่งอยู่คนละฟากถนนมิตรภาพ ถนน ข6 คือถนนราษฎร์คนึงซึ่งมาสุดที่สามแยกบ้านดอน ถนน ข7 คือถนนด้านฝั่งตะวันออกของมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้านหน้าศูนย์ประชุมกาญจนาภิเษก เมื่อกฎหมายผังเมืองเดิมหมดอายุลง จึงมีการเสนอให้ปรับผังเมืองข้อหนึ่งคือตัดถนนจากสามแยกบ้านดอนข้ามทางรถไฟไปทะลุออกถนนมิตรภาพ และเชื่อมไปยังฝั่งตรงข้ามเข้าสู่มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ทางเชื่อมนี้ นอกจากจะเพิ่มทางเลือกในการสัญจรแล้ว ยังสามารถดักน้ำจำนวนมหาศาลจากมอดินแดงในหน้าฝนไม่ให้เข้ามาท่วมในเมือง โดยสามารถฝังท่อขนาดใหญ่ใต้ถนนเพื่อระบายน้ำออกสู่บึงทุ่งสร้างอย่างรวดเร็วได้

ความเห็นจากที่ประชุมคือ ยังไม่มีการสำรวจว่าแนวถนนนี้จะตัดผ่านบ้านเรือนใครบ้าง การเวนคืนอาจจะไม่ง่าย และชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบก็ได้มาร่วมประชุมและเสนอทางเลือกอื่นด้วย เรื่องนี้นายกเทศมนตรีรับว่าจะต้องทำประชาพิจารณ์กับประชาชนในพื้นที่ก่อน

วาระที่ 5: เปิดตัวโครงการ "ความดีที่ขอนแก่น"

โครงการ "ความดีที่ขอนแก่น" เทศบาลนครขอนแก่นเชิญชวนให้ประชาชนเขียนเรื่องราวของคนรอบข้างที่ทำความดีประมาณ 4-5 บรรทัดหรือมากกว่าเพื่อผลิตสื่อเผยแพร่ ส่งไปที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กองวิชาการและแผนงาน เทศบาลนครขอนแก่น ถ.ประชาสำราญ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000 วงเล็บมุมซองว่า "ความดีที่ขอนแก่น" หรือส่งอีเมลไปที่ jay_kkmuni at hotmal dot com

ป้ายกำกับ:

11 กรกฎาคม 2553

Software Freedom

ขอเขียนถึงเสียหน่อยน่ะ เกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพในซอฟต์แวร์ หลังจากเจอประเด็นสะสมมาเรื่อย ๆ

ผมเคยเขียนไปหลายครั้งว่าผมพยายามรักษาสมดุลระหว่างแนวทางของซอฟต์แวร์เสรี (free software) และโอเพนซอร์ส (open source software) โดยถือว่าซอฟต์แวร์เสรีคือหลักการ และโอเพนซอร์สคือแนวทางปฏิบัติ แต่ในชุมชนในไทยปัจจุบันเราจะเริ่มเห็นการแบ่งแยกสองสิ่งนี้ออกเป็นคนละสำนักขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นที่ว่า ถ้าเข้าไปในวงโอเพนซอร์สแล้วพูดถึงเสรีภาพซอฟต์แวร์จะกลายเป็นคนสุดโต่งไปเลย

แต่เราต้องไม่ลืมว่า ซอฟต์แวร์เสรีนั้นคือหลักการพื้นฐานที่ทำให้เราสร้างกฎเกณฑ์ของการแบ่งปันซอฟต์แวร์ภายใต้กรอบของกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ ทบทวนสักเล็กน้อยสำหรับคนที่มาใหม่ หลักการของซอฟต์แวร์เสรีนั้นคือเสรีภาพ 3 ประการ และมีการเพิ่มเสรีภาพข้อที่ 0 เข้าไปในภายหลังกลายเป็นเสรีภาพ 4 ประการ คือ

  1. เสรีภาพในการใช้ซอฟต์แวร์
  2. เสรีภาพในการศึกษาการทำงานและแก้ไขซอฟต์แวร์ให้ทำงานตามต้องการ
  3. เสรีภาพในการแจกจ่ายซอฟต์แวร์ต่อ
  4. เสรีภาพในการเผยแพร่ซอฟต์แวร์ที่แก้ไขแล้ว

เสรีภาพ ในที่นี้หมายความว่าสามารถทำได้อย่างอิสระโดยทันทีที่ได้รับซอฟต์แวร์มา โดยไม่ผูกพันเงื่อนไขใด ๆ ยกเว้นเงื่อนไขที่จะทำลายเสรีภาพเหล่านี้ของผู้อื่น และด้วยเสรีภาพเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สสามารถสร้างวัฒนธรรมแบ่งปันและร่วมกันพัฒนาจนเติบโตมาถึงทุกวันนี้ได้

เมื่อเราละทิ้งเสรีภาพเหล่านี้ แล้วยอมรับเงื่อนไขของซอฟต์แวร์ซอร์สปิดมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเราได้เจออะไรบ้าง?

  • Postcardware เต็มบ้านเต็มเมือง คือซอฟต์แวร์ที่เขียนสัญญาอนุญาตที่ให้เสรีภาพครบทุกประการ แต่ต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนลงมือแก้ไข ซึ่งเงื่อนไขตรง "แต่" นี้เอง ที่ทำให้ซอฟต์แวร์นั้นกลายเป็นซอฟต์แวร์ปิดโดยปริยาย เพราะไม่ต่างอะไรกับการต้องขออนุญาตก่อนทำ (ในทางปฏิบัติ ถ้าไม่มีหนังสือตอบกลับว่าได้รับแจ้งแล้ว คุณก็ไม่มีหลักฐานไปยืนยันการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรของคุณในกรณีที่เกิดการฟ้องร้อง การจะตอบกลับหรือไม่จึงมีผลเสมือนการอนุญาตหรือไม่นั่นเอง) หรือรูปแบบที่พยายามควบคุมการแจกจ่ายทางอื่นด้วยการให้ลงทะเบียนก่อนดาวน์โหลดก็เข้าข่ายขัดขวางการแจกจ่ายอย่างเสรีและลดแรงจูงในในการพัฒนาต่อยอดแบบโอเพนซอร์สเช่นกัน
  • แนวทางการต่อสู้ที่เพียงแค่ใช้ FOSS เป็นเครื่องมือต่อรองราคากับซอฟต์แวร์ปิดเท่านั้น เราไม่ได้ใส่ใจเรื่องเสรีภาพอะไรเลย แค่สนใจเรื่องราคาอย่างเดียว ได้ของถูกมาใช้ก็จบ หรือใช้แค่เป็นยันต์กันผีเวลาที่มีการตรวจจับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เราไม่เคยมองในระยะยาวเลยว่าเราจะได้ประโยชน์จากมาตรฐานเปิด ความอิสระ สามารถกำหนดทิศทางของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านการทำงานกับซอร์สโค้ดที่เปิดและกับโครงการสากล
  • ร่างแผนแม่บท ICT ที่เน้น การจดสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ พร้อม ๆ กับการส่งเสริมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส โดยบางท่านถึงกับส่งเสริมให้ใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในการสร้างซอฟต์แวร์ไปจดสิทธิบัตรกลับไปขายเมืองนอกเลยทีเดียว ซึ่งสิทธิบัตรซอฟต์แวร์เป็นสิ่งที่ขัดขวางโอเพนซอร์สโดยตรง เพราะการแจกจ่ายซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแบบตามเก็บค่าสิทธิบัตรกับผู้ใช้นั้น เป็นการขัดขวางการแจกจ่ายอย่างเสรีตามหลักซอฟต์แวร์เสรี และส่งผลกระทบถึงกระบวนการใด ๆ ที่โอเพนซอร์สจะใช้ในการสร้างความเติบโตของซอฟต์แวร์ ดังนั้น ไม่ว่าจะโดยมุมมองของซอฟต์แวร์เสรีหรือโอเพนซอร์ส สิทธิบัตรซอฟต์แวร์ก็เป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ทั้งนั้น การมองข้ามข้อนี้แล้วเปิดรับแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์จะกลายเป็นการสะดุดขาตัวเอง

เกี่ยวกับเรื่องสิทธิบัตรซอฟต์แวร์นี้ แม้จะมองในมุมมองของซอฟต์แวร์ปิด การส่งเสริมก็ยังถือว่าเสี่ยงสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เพราะการยอมรับสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ จะกลายเป็นการคุ้มครองสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ต่าง ๆ จำนวนมหาศาลที่บริษัทยักษ์ใหญ่ได้จดเอาไว้ และเราได้เห็นว่าเขาใช้ถล่มกันเละแค่ไหน เพราะสิทธิบัตรจะคุ้มครอง วิธีการ ไม่ใช่คุ้มครองแค่ตัวโค้ดโปรแกรม ทำให้เขียนโปรแกรมเลี่ยงได้ยาก บริษัทในอเมริกาจึงสะสมสิทธิบัตรไว้เป็นคลังแสงจำนวนมาก ในขณะที่ประเทศเรายังเตาะแตะ การเปิดรับสิทธิบัตรซอฟต์แวร์จะมีแต่เสียเปรียบ ซึ่งเรื่องนี้แม้สหภาพยุโรปเองก็กำลังต่อต้านไม่ให้มีการคุ้มครองสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ เพราะถือเป็นการผูกขาดการแข่งขันเกินไป (เช่น ffii.org, nosoftwarepatent.com, stopsoftwarepatent.eu)

เสรีภาพซอฟต์แวร์จึงเป็นเรื่องสำคัญครับ ยังไงก็ไม่ควรทิ้ง ไม่ว่าคุณจะพยายามประนีประนอมกับธุรกิจแค่ไหนก็ตาม ถ้าคุณไม่ประมาณต้นทุนในใจแล้ว คุณจะเสียเปรียบในการต่อรองโดยไม่รู้ตัว ถ้าคุณไม่มีหลักเกณฑ์พิจารณาไว้ในใจแล้ว คุณก็จะตกหลุมพรางทางความคิดโดยไม่รู้ตัว แล้วโลกของ FOSS ที่อุตส่าห์สร้างกันมาก็จะค่อย ๆ ถูกซอฟต์แวร์แบบปิดกลืนกินไปในที่สุด

เพิ่มประเด็นเล็ก ๆ สักเรื่อง มีคนบ่นกับผมว่า แค่ซอฟต์แวร์ไม่อนุญาตให้แก้ไขได้ Debian ก็นับเป็น non-free แล้วหรือ? เข้มงวดไปหรือเปล่า? ผมคิดว่าเขาลืมความหมายของคำว่า free ไปอีกเหมือนกันในเรื่องนี้ ถ้าบอกว่ามันยังให้ใช้ได้ฟรีอยู่นะ นั่นก็คือคุณกำลังพูดถึงราคา ไม่ใช่เสรีภาพแล้วล่ะ อย่าลืมว่าซอฟต์แวร์ที่ Debian หรือดิสโทรใด ๆ สามารถแจกจ่ายได้จะต้องเป็น freeware เป็นอย่างต่ำอยู่แล้ว อะไรที่ไม่ให้ใช้หรือไม่ให้แจกจ่ายได้ฟรีก็ไม่มีสิทธิ์แจกจ่ายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ซอฟต์แวร์ที่อยู่ใน Debian คือซอฟต์แวร์ที่สามารถแจกจ่ายได้ทั้งหมด แต่จะมีการคัดแยกว่า ถ้าให้เสรีภาพอย่างอื่นครบนอกจากการแจกจ่าย ก็ให้เข้าไปอยู่ใน main ได้ ถ้าให้แจกจ่ายได้อย่างเดียว ห้ามทำอย่างอื่น หรือให้ทำได้แต่ไม่ครบตามเกณฑ์ซอฟต์แวร์เสรี ก็เข้าไปอยู่ใน non-free ถ้าเข้าใจตามนี้ ก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรแปลกประหลาด

ป้ายกำกับ:

hacker emblem