Khon Kaen Council
เมื่อวานแว้บไปสังเกตการณ์การประชุมสภาเมืองขอนแก่นในฐานะประชาชนทั่วไป โชคดีที่นี่ไม่ใช่ barcamp ผมเลยนั่งสังเกตการณ์รูปแบบการประชุมเงียบ ๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องพูดในการเข้าครั้งแรก
เพิ่งรู้ว่านี่เพิ่งเป็นการประชุมสภาเมืองครั้งที่ 2 เท่านั้น เพราะผมได้ยินทางเทศบาลนครขอนแก่นอ้างถึงสภาเมืองบ่อยมาก จนนึกว่ามีการประชุมมาแล้วหลายครั้ง แต่เอาเถอะ เข้าเรื่องเลยดีกว่า
ประเด็นการประชุมครั้งนี้มี 4 เรื่อง คือเรื่องปัญหาน้ำท่วม ปัญหาปลาตายที่บึงแก่นนคร พรบ. ผังเมืองรวม และผลการศึกษาเรื่องการสร้างระบบขนส่งมวลชนในขอนแก่น
ปัญหาน้ำท่วม
เทศบาลได้อธิบายอย่างละเอียดถึงทางเดินของน้ำในระบบระบายน้ำของขอนแก่น และสิ่งที่เทศบาลได้ทำไปเพื่อรับมือกับปัญหาน้ำที่หลากมาในช่วงนี้
สภาพภูมิศาสตร์ของตัวเมืองขอนแก่น เป็นที่สูงทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ (บริเวณ มข.) และลาดลงต่ำทางฝั่งตะวันออก โดยมีทางน้ำเชื่อมต่อไปสู่แม่น้ำธรรมชาติอยู่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ คือจากบึงทุ่งสร้างผ่านห้วยพระคือไปลงลำน้ำพอง นอกจากนี้ก็มีแหล่งน้ำธรรมชาติ 3 แห่ง คือบึงหนองโคตรทางตะวันตกเฉียงใต้ บึงแก่นนครทางตะวันออกเฉียงใต้ และบึงทุ่งสร้างทางตะวันออกเฉียงเหนือ
ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น
ด้วยสภาพอย่างนี้ น้ำทั้งหมดในเมืองจึงระบายออกทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือทางเดียว โดยอาศัยบึงทุ่งสร้างเป็นแหล่งพัก โดยในส่วนอื่นของเมือง ก็จะมีระบบทางระบายน้ำที่นำน้ำมารวม โดยอาศัยบึงแก่นนครช่วยเป็นแก้มลิงเล็กน้อย ซึ่งเท่าที่จับใจความได้คือ
- ทางตะวันตกเฉียงเหนือ (มข.) น้ำจะมารวมกันที่อาคารชลศาสตร์ แล้วไหลลอดใต้ถนนมิตรภาพไปทางตะวันออก ไปรวมกับน้ำของโซนตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านท่อใต้ถนนหลังศูนย์ราชการ ถนนจอมพล ไปสู่บึงทุ่งสร้าง
- อีกทางหนึ่ง น้ำจากใน มข. ทางฝั่งใต้ จะมารวมกันที่บึงหนองเอียด แล้วลอดใต้ถนนมะลิวัลย์ไปรวมกับน้ำในโซนตะวันตกเฉียงใต้
- น้ำในโซนตะวันตกเฉียงใต้ ไม่ได้อาศัยบึงหนองโคตรซึ่งอยู่ทางตะวันตกช่วยได้นัก แต่น้ำจะไหลผ่านคลองระบายมารวมกันบริเวณหลัง รพ. ขอนแก่นราม แล้วลอดใต้ถนนมิตรภาพ แต่ฝั่งตรงข้ามเป็นที่เอกชน (สถานที่สร้างเซ็นทรัล) จึงต้องหักหลบมาลอดใต้ถนนศรีจันทร์ตรงแยกประตูเมือง ซึ่งเทศบาลได้ขุดถนนวางท่อสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่รองรับไว้แล้วตั้งแต่หน้าแล้ง น้ำในส่วนนี้จะไปลงคลองร่องเหมือง ซึ่งเป็นทางน้ำหลักของตัวเมืองในโซนตะวันออกเฉียงใต้
- ตัวเมืองเก่าในเขตบึงแก่นนครซึ่งอยู่ไกลออกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ จะมีทางระบายน้ำลงสู่บึง โดยปัจจุบันมีระบบแยกน้ำดีน้ำเสีย (เข้าใจว่าน้ำดีหมายถึงน้ำฝนจากถนน น้ำเสียคือน้ำจากบ้านเรือน) และระบายเฉพาะน้ำดีลงบึง ส่วนน้ำเสีย เข้าใจว่าใช้ระบบเดียวกับในตัวเมือง คือไปลงคลองร่องเหมือง
- ส่วนอื่น ๆ ของเมืองในโซนตะวันออกเฉียงใต้ จะระบายน้ำลงทางคลองร่องเหมือง เพื่อนำน้ำไปสู่บึงทุ่งสร้าง โดยคลองร่องเหมือง มีทางน้ำเชื่อมสู่บึงแก่นนครด้วย ซึ่งจะสามารถใช้เป็นทางทดน้ำไปพักที่บึงแก่นนครบางส่วนในกรณีที่น้ำมาก (ซึ่งน้ำฝนช่วยเจือจางน้ำเสีย ทำให้น้ำที่ลงบึงไม่สกปรกมาก) และใช้ถ่ายน้ำออกจากบึงรอไว้ก่อนฝนมา เพื่อให้มีที่ว่างรองรับน้ำ รวมทั้งหลังฝนหยุดเพื่อปรับระดับน้ำสู่ระดับปกติ
คลองร่องเหมืองนี้ เป็นทางน้ำโบราณ รวมทั้งทางน้ำที่เชื่อมกับบึงแก่นนครก็เช่นกัน ปัจจุบันเทศบาลได้ปรับคลองนี้ตลอดสาย โดยขุดวางท่อน้ำแล้วสร้างถนนคอนกรีตทับ โดยได้ใช้ท่อสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพื่อการใช้พื้นที่หน้าตัดอย่างเต็มที่
น้ำจากในเมืองที่ไปรวมที่บึงทุ่งสร้าง จะมีสถานีบำบัดน้ำเสียก่อนระบายออกนอกตัวเมืองต่อไป
ปัญหาน้ำท่วมพบว่ามีหลายสาเหตุ สาเหตุหลักคือน้ำฝนมากผิดปกติ แต่ก็มีปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการระบายน้ำ:
- ทางน้ำตื้นเขิน ซึ่งเทศบาลได้เตรียมรับมืออยู่ตลอด ด้วยการขุดลอกบ่อย ๆ อยู่แล้ว
- ขยะอุดตันท่อ แก้ไขด้วยการเปิดฝาตะแกรงเก็บขยะ และสร้างวินัยการทิ้งขยะของคนเมือง แต่อีกสาเหตุหนึ่งคือ น้ำแรงทำให้ถังขยะลอยและล้ม
- การถมที่ของเอกชน ทำให้ทางน้ำเปลี่ยน จุดที่ไม่เคยท่วมก็เริ่มท่วม และเทศบาลก็ต้องจัดการทางน้ำใหม่ตามทางน้ำที่เปลี่ยนไป เรื่องนี้ยังควบคุมด้วยเทศบัญญัติไม่ได้ เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจตามกฎหมาย
- ทางระบายน้ำลงสู่แม่น้ำมีคอคอดในบางจุด โชคดีที่จุดนั้นฝั่งหนึ่งเป็นที่ราชการ สามารถประสานงานขอขุดขยายคลองได้
- ชุมชนทางท้ายน้ำไม่ยอมให้เปิดประตูระบายน้ำ เพราะไม่ต้องการให้ท่วมชุมชนตัวเอง อาจต้องจัดการทางน้ำให้ระบายลงแม่น้ำได้เร็วขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบชุมชนท้ายน้ำ
- บางจุดต้องการความร่วมมือจากเทศบาลข้างเคียง เช่น บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งยังมีที่ว่างรองรับน้ำได้อยู่ไกลออกไปทางตะวันตก หรือแม้แต่ใช้บึงหนองโคตร แต่อยู่นอกเขตรับผิดชอบของเทศบาลนครขอนแก่น ต้องเจรจากับเทศบาลตำบลบ้านเป็ด หรือจะเป็นการทะลวงทางระบายน้ำทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งต้องประสานงานกับเทศบาลตำบลพระลับ
ความเห็นบางส่วนที่มีผู้เสนอแนะ:
- เกี่ยวกับการเพิ่มทางระบายน้ำ:
- ดักน้ำตามวงแหวนรอบนอกไม่ให้เข้าตัวเมือง โดยยกเทศบาลนครอุดรธานีเป็นตัวอย่าง เทศบาลตอบว่า ปัญหาคือวงแหวนที่ว่านี้ สำหรับขอนแก่นแล้วเป็นวงที่ใหญ่มาก เพราะอยู่ไกลออกไปนอกเมือง ซึ่งอาจไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก
- เพิ่มช่องทางระบายน้ำไปลงแม่น้ำชีที่กุดกว้าง โดยขอใช้ที่ของการรถไฟ ข้อนี้ผมไม่แน่ใจว่าเทศบาลตอบอย่างไร เนื่องจากเริ่มค่ำแล้ว ต้องตอบแบบรวบรัด
- เพิ่ม flood way ระบายน้ำออกทางท้ายฝายมหาสารคาม
- ใช้บึงหนองโคตรให้เป็นประโยชน์ โดยอาจเพิ่มทางระบายน้ำไปลงแม่น้ำที่แก่งน้ำต้อน
- เกี่ยวกับแก้มลิง:
- ขุดลอกบึงทุ่งสร้างเอาเนินต่าง ๆ ออก เพื่อเพิ่มความจุ โดยถ้างบไม่พอ ก็อาจประหยัดด้วยการให้เอกชนขุดดินไปขายได้
- มข. สละเนื้อที่ทำแก้มลิง เช่น ที่หลังวัดป่าอดุลย์ เพื่อสกัดน้ำบางส่วนที่จะเข้าสู่ตัวเมือง
- ทำแก้มลิงโดยเฉพาะที่บริเวณที่ว่างข้างหมู่บ้านมิตรสัมพันธ์
- อื่น ๆ :
- จ้าง มข. วิจัยระบบควบคุมน้ำ เหมือนที่วิจัยระบบจราจร
- ทุบถนนเหนือคลองร่องเหมือง ทำเป็นคลองเปิดเหมือนเดิม (เสียงจากคนข้างคลองที่เดือดร้อน)
ยาวแล้ว นี่เพิ่งเรื่องเดียวเองเหรอเนี่ย.. เป็นการประชุมที่มาราธอนจริง ๆ
ป้ายกำกับ: local
1 ความเห็น:
ณ 1 ตุลาคม 2551 เวลา 17:40 , Atthakorn Chanthong แถลง…
อยู่บ้านผมเคยเกิดปัญหาน้ำท่วมเหมือนกัน ทางเทศบาลได้ใช้วิธีทำบ่พักน้ำใต้ถนน ตลอดสายหลักห่างกันจุดละ 10 เมตรได้ วิธีนี้ก็ช่วยได้มากเหมือนกัน ปีนี้ยังไม่ได้กลับบ้าน แต่ก็ไม่ได้ข่าวน้ำท่วม
แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)
<< กลับหน้าแรก