Free Culture
bact' คิดได้น่าสนใจ เกี่ยวกับวัฒนธรรมเสรี (free culture) โดยต่อเนื่องกับ blog เรื่อง Postcardware ของผม
ประเด็นของ bact' นั้นโดนใจ แต่ผมค่อนข้างจะมองในแง่ปฏิบัติ ก็เลยไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้นในบางเรื่อง
เรื่องการกำหนดให้ขออนุญาต ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องการต้องการทำหลายมาตรฐานโดยตรง แต่เห็นว่าเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เสียมาก โดยอยู่บนพื้นฐานของความคุ้นเคยกับระบบที่เป็น proprietary และอีกส่วนหนึ่งก็มาจากระบบประเมินผลของหน่วยงาน
- ความคิดแบบ proprietary ซึ่งในระบบนั้น เจ้าของผลงานสงวนสิทธิ์ทุกอย่างในการใช้งาน ดัดแปลง และเผยแพร่ พอจะเข้าร่วมวัฒนธรรมเสรี และอยากจะปล่อยผลงานของตัวเองบ้าง ก็ยังไม่แน่ใจนักว่าตนจะสูญเสียอะไรไปบ้าง ก็เลยเป็นที่มาของอาการกั๊กต่าง ๆ เช่น ให้ขออนุญาต ให้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร ห้ามใช้ในงานเชิงพาณิชย์ ห้ามโน่นห้ามนี่ เรื่องนี้แม้แต่หน่วยงานของรัฐก็ยังคิด ซึ่งทำให้ผมประหลาดใจพอสมควร
- ระบบประเมินผลของหน่วยงาน ต้องการจะทราบว่า งบประมาณที่ได้ลงไปนั้น คุ้มค่าแค่ไหน มีใครนำไปใช้กี่มากน้อย ระเบียบวิธีต่าง ๆ ที่ต้องการ ตัวเลข จึงมาบังคับให้ผู้ปฏิบัติงานต้องหาวิธีนับที่ง่าย เช่น การลงทะเบียน การนับจำนวนการดาวน์โหลด การให้แจ้งหรือขออนุญาต รวมทั้งควบคุมวิธีเผยแพร่ เพื่อให้นับตัวเลขได้ครบถ้วนยิ่งขึ้น
ผมพบว่าสองเรื่องนี้เป็นปัญหาในทางปฏิบัติที่พบบ่อย นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลบางแบบอาจจะคาบเกี่ยวกับแนวคิดทั้งสองแบบ เช่น การมีวาระซ่อนเร้นในการใช้ซอฟต์แวร์เสรีสร้างเครือข่ายสมาชิกอะไรบางอย่าง แต่วิธีการนั้นได้ไปจำกัดสิทธิ์การ redistribute เสีย ก็เลยกลายเป็นการใช้ประโยชน์จากกระแสซอฟต์แวร์เสรีและโอเพนซอร์สในทางที่ผิดไป
ลองมาดูทีละข้อ
ความคิดแบบ proprietary นั้น ตามความคิดของผมแล้ว ควรจะค่อย ๆ จางลงไปเองเมื่อบุคคลมีประสบการณ์มากขึ้นกับวัฒนธรรมเสรี ผู้ที่ได้เข้าร่วมในระดับลึก น่าจะรู้สึกทึ่งในปริมาณของซอฟต์แวร์เสรีที่คนทั้งโลกได้แบ่งปันกันจนกองพะเนินเทินทึกขนาดนี้ คุณจะพบว่า โค้ดที่คุณได้ปล่อยออกไปนั้น มันไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรนักเลย เป็นแค่น้ำหยดหนึ่งในทะเลเท่านั้น (แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่ยิ่งใหญ่แล้วจะไม่ให้ สิ่งที่คุณให้นั้น มีความสำคัญสำหรับผู้ใช้ของคุณเสมอ) สิ่งที่คุณ รับ นั้น มหาศาลกว่าสิ่งที่คุณ ให้ มากนัก เมื่อได้เห็นว่าชาวบ้านได้ร่วมแรงกันสร้างบ้านแปลงเมืองให้อยู่อาศัยกันมาขนาดนี้ คนที่มีสำนึกดีย่อมไม่รู้สึกเสียดายที่จะช่วยอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ตอบแทน ความรู้สึกว่าได้สูญเสียอะไรไป จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นกับคนที่ได้เข้าร่วมในระดับลึก
"ข้าพเจ้าได้เสรีภาพที่จะใช้ ดัดแปลง เผยแพร่ซอฟต์แวร์โดยไม่ต้องขออนุญาตมามากมาย ข้าพเจ้าก็ไม่เสียดายที่จะตอบแทนเช่นกันด้วยสิ่งที่ข้าพเจ้ามี"
ในทางกลับกัน หลักของ action-reaction ก็ยังใช้ได้ วัฒนธรรมเสรีเป็นวัฒนธรรมของการแบ่งปัน ยิ่งคุณให้ออกไปมากเท่าไร คุณก็ยิ่งมีโอกาสได้รับ contribution มากเท่านั้นด้วย ใครจะอยากไปช่วยรายงานบั๊กหรือส่งแพตช์ปรับปรุงให้กับซอฟต์แวร์ที่มีแนวโน้มจะกั๊กไว้หาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์เล่า?
ถึงตรงนี้ ผมอยากสรุปว่า
ความคิดแบบ proprietary ละลายได้ด้วยวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม
ปัจจัยที่ดูจะแก้ยาก คือเรื่องระบบประเมินผลของหน่วยงาน เป็นสิ่งที่เคยสร้างความเหนื่อยหน่ายต่อระบบให้กับผมมาแล้วเหมือนกัน แต่ผมอยากให้มองแนวคิดการประเมินโดยมาบังคับด้วย license นี้ ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่อธิบายได้ดีด้วย หลักความไม่แน่นอนของไฮเซนแบร์ก คือยิ่งคุณพยายามจะวัดให้เที่ยงตรงมากเท่าไร คุณก็ยิ่งรบกวนระบบมากเท่านั้น ถ้าคุณไม่พยายามวัดให้ครบถ้วนด้วยการควบคุมการเผยแพร่ ตัวเลขที่แท้จริงที่คุณวัดไม่ได้นั้น ย่อมมากกว่าที่คุณวัดได้ด้วยการควบคุมแน่ ๆ คนที่ยอมแจ้ง ยอมลงทะเบียน เขาก็จะยังมาดาวน์โหลดไปใช้ ไปต่อยอดอยู่วันยังค่ำ แต่คนที่ไม่อยากแจ้ง ไม่อยากลงทะเบียนล่ะ? คุณได้สูญเสียคนกลุ่มใหญ่นี้ไปเพราะวิธีวัดของคุณเอง แถมยังสูญเสียคนที่จะช่วยเผยแพร่ปรับปรุงผลงานของคุณอีกหลายทอดเพราะการรวมศูนย์อีกด้วย
ประเด็นเรื่องการประเมินผลนี้ ดูจะแก้ยาก.. เพราะการเปลี่ยนระบบการคิดขององค์กรทั้งองค์กร ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะถ้าองค์กรนั้น ๆ ยังมีงานทั้งแบบ proprietary และแบบเสรีปะปนกัน การแก้ปัญหาย่อมหลีกเลี่ยงการมีหลายมาตรฐานไม่ได้ แต่อย่างน้อย ๆ ผมก็อยากให้คำนึงถึงหลักความไม่แน่นอนไว้เสมอในการวัด ต้องหาวิธีวัดที่จะกระทบกับระบบให้น้อยที่สุด หรือมิฉะนั้น ก็ต้องยอมผ่อนคลายการวัดลง หรือปล่อยให้หน่วยงานอื่นที่ทำเรื่องการวัดโดยเฉพาะทำแทน
พอจะสรุปแบบนี้ได้ไหม?
แนวคิดการวัดผล ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบ
กลับมาที่ประเด็นของ bact' ซึ่งค่อนข้างจะเสนอการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบถอนรากถอนโคน ประเด็นของผมมีส่วนคาบเกี่ยวกับเขาบ้างพอสมควร แต่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการขยายขอบเขตไปถึงกับวิจารณ์ระบบโดยรวม ผมคิดว่ากลุ่มวัฒนธรรมเสรีของไทยยังไม่ได้มีอำนาจต่อรองมากพอสำหรับสิ่งที่ระบบจะต้องจ่ายเพื่อเปลี่ยนแปลง การวิจารณ์โดยผูกโยงกับวัฒนธรรมซอฟต์แวร์เสรี อาจทำให้ซอฟต์แวร์เสรีกลายเป็นสิ่งที่เทียบเท่ากับพวกหัวรุนแรงไป และจะทำให้ผู้คนบางส่วนต่อต้านโดยไม่จำเป็น ฉะนั้น ผมจึงยังจำกัดขอบเขตความเห็นของผมอยู่เฉพาะในแวดวงซอฟต์แวร์เท่านั้น
ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่อง "ความเท่าเทียม" ที่ bact' พูดถึงในตอนท้าย ถ้าใครได้อ่านบทความ Homesteading the Noosphere (ฉบับแปล: ลงหลักปัญญาภูมิ) ก็จะพบข้อสังเกตที่น่าสนใจบางอย่าง คือในขณะที่วัฒนธรรมเสรีพูดถึง "ความเท่าเทียม" ระหว่างฝ่ายต่าง ๆ นั้น ก็ปรากฏว่ากลับมีการจัดระเบียบกันเองด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน เอาเข้าจริงแล้ว วัฒนธรรมที่เสรีที่ดูเหมือนจะไร้ขอบเขตกลับมีเขตแดนที่เกิดแบบเป็นไปเอง เป็นความไม่เท่าเทียมที่เกิดจากความเท่าเทียม ในทางกลับกัน วัฒนธรรมของวงการซอฟต์แวร์ไทยยังไปไม่ถึงไหน ในยุคสงครามทะเล-ปลาดาวนั้น ถึงกับมีฝรั่งให้ความเห็นว่า "Forking is a norm in Thai culture." เป็นเพราะเรายังสลัดความคิดแบบ proprietary ออกไปไม่หมด ยิ่งเมื่อการ fork กลายเป็นเรื่องปกติ (เสรีแบบไทย ๆ) ก็เลยอาจจะส่งผลถึง license ที่คนคิดคอยจะลดเสรีภาพผู้ใช้ลงไปด้วย เพราะความระแวง
ในสังคมที่ mature นั้น ความเท่าเทียมได้สร้างความไม่เท่าเทียมที่สมเหตุสมผลตามหน้าที่ความรับผิดชอบ แต่สังคมที่ไม่ mature จะเรียกร้องความเท่าเทียมจนได้ความไม่เท่าเทียมแบบบังคับกลับมา
เอาเป็นว่า เรามาเริ่มสร้างความเท่าเทียมแบบ mature จากการสลัดความคิดแบบ proprietary ขณะเข้าร่วมวัฒนธรรมเสรีกันดีกว่า โดยไม่ลืมว่า เสรีภาพกับความรับผิดชอบเป็นของคู่กัน
ป้ายกำกับ: FOSS