Thai and Lao script history
ช่วงนี้ก่อนนอนจะทยอยอ่านหนังสือ ความเป็นมาของชนชาติลาว เขียนโดย บุนมี เทบสีเมือง นักวิชาการ สปป. ลาว แปลเป็นไทยโดย ไผท ภูธา เป็นมุมมองประวัติศาสตร์ของลาวที่น่าสนใจ
ประวัติศาสตร์ลาวตามแบบฉบับนั้น เขานับเนื่องมาตั้งแต่อ้ายลาว มาน่านเจ้า ก่อนจะถูกคนเชื้อสายจีน (เข้าใจว่าหมายถึงชนชาติไป๋) ยึดอำนาจ ตั้งเป็นอาณาจักรต้าหลี่ ทำให้คนลาว (ซึ่งเป็นชนชาติเดียวกับที่ไทยเรียกว่าไท หรือ ไทย) ทางใต้โดยรอบประกาศตัวเป็นอิสระ เกิดเป็นอาณาจักรต่าง ๆ
หนังสือเล่มนี้เสนอทฤษฎีว่าชนชาติไทย-ลาวมีแหล่งกำเนิดที่เทือกเขาภูเลยในเขตประเทศลาวปัจจุบัน แล้วจึงมีการเคลื่อนย้ายออกไปทุกทิศทาง ทั้งลงมาลุ่มเจ้าพระยาตลอดจนแหลมมลายู และขึ้นเหนือไปทางจีนตอนใต้ ไปก่อตั้งนครลุง ปา เงี้ยว จนถึงอาณาจักรอ้ายลาว น่านเจ้า แล้วพวกที่ขึ้นเหนือจึงถอยร่นลงใต้มาอีกภายหลัง โดยในระหว่างนั้นที่บริเวณประเทศลาวปัจจุบันมีการตั้งอาณาจักรโคตรบูรหรือที่จีนเรียกว่า ฟูเลียว ร่วมสมัยกัน ซึ่งถ้าว่าตามทฤษฎีนี้ คนไทย-ลาวถือเป็นชนชาติที่เก่าแก่กว่าขอมและมอญซึ่งเพิ่งอพยพมาจากอินเดียในช่วงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
แนวคิดเช่นนี้เป็นพื้นฐานของทฤษฎีว่าอักษรลาวเกิดขึ้นที่ลาวก่อน ไม่ใช่รับมาจากสุโขทัย โดยได้อ้างหลักฐาน ศิลาจารึกวัดวิชุน หลวงพระบาง ซึ่งระบุศักราช จ.ศ. ๕๓๒ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๑๗๑๓ ก่อนศิลาจารึกพ่อขุนรามถึง ๑๑๓ ปี และยังมีหลักฐานศิลาจารึกที่ระเบียงคต พระธาตุหลวงนครเวียงจันทน์ ที่กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบว่าอาจจะสร้างใน จ.ศ. ๓๔๑ (พ.ศ. ๑๕๒๒) ซึ่งถ้าถูกต้องก็จะมีอายุถึงกว่า ๑ พันปี!
จารึกวัดวิชุน
เรื่องนี้ทำให้กลับไปคิดต่อ หลังจากที่ผมเคยเขียนถึง ทฤษฎีต้นกำเนิดอักษรไทย ที่ว่าอักษรไทยไม่ได้เพิ่งประดิษฐ์ขึ้นโดยพ่อขุนรามคำแหง แต่ควรจะมีใช้ก่อนหน้านั้นนานแล้ว โดยในหนังสือของ อ. สุจิตต์ วงษ์เทศ นั้นระบุว่ามีอักษรไทยใช้ในรัฐอโยธยา-ละโว้มาตั้งแต่ พ.ศ. ๑๗๗๘ เป็นอย่างช้า จากหลักฐานกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ (ตอนท้าย) และโองการแช่งน้ำ
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดประเด็นมาก่อนหน้านี้โดย จิตร ภูมิศักดิ์ ในบทความ อักษรไทยก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง
ที่ได้รวบรวมไว้ใน ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย ว่ามีจารึกในอุโมงค์วัดศรีชุมเป็นอย่างน้อยที่น่าจะสลักอักษรไทยไว้ก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยอักขรวิธีเป็นแบบเดียวกับสมัยพญาลิไทย คือมีการเขียนสระไว้ข้างบน-ข้างล่างพยัญชนะ โดยพ่อขุนรามคำแหงอาจจะพยายามปฏิรูปการเขียนให้สระเข้ามาอยู่ในบรรทัด แล้วปรากฏว่าไม่ฮิต พอสิ้นท่านแล้วจึงกลับไปใช้อักขรวิธีแบบเดิม (คล้าย ๆ กับที่ในหลวง ร.๔ เคยทรงประดิษฐ์ อักษรอริยกะ
, ในหลวง ร.๖ เคยทรงเสนอ อักขรวิธีแบบใหม่
หรือจะเป็นตัวสะกดสมัยจอมพล ป. ก็ตาม ล้วนไม่เป็นที่นิยมทั้งสิ้น)
เมื่อเปรียบเทียบตัวเขียนในจารึกวัดศรีชุมกับจารึกวันวิชุนแล้ว ดูคล้ายกันมาก ถ้าเชื่อตามจิตรแล้วตัดลายสือไทยพ่อขุนรามฯ ที่เป็นสิ่งชั่วคราวออก ประวัติศาสตร์อักษรไทย-ลาวก็จะดูคลี่คลายลงมากในเรื่องลำดับปีและวิวัฒนาการ
อย่างไรก็ดี ข้อโต้แย้งเรื่องอายุของจารึกวัดวิชุน ก็ยังเป็นคำถามที่ต้องตอบ ไม่ว่าจะเป็นข้อสังเกตเรื่องการใช้จุลศักราช ซึ่งท่านบุนมีตอบไว้เพียงว่า ไม่ใช่มหาศักราชแน่นอน เพราะอิทธิพลขอมยังแผ่มาไม่ถึง แต่ก็ไม่ได้เคลียร์ว่าทำไมต้องเป็นจุลศักราชตามพม่า ส่วนเรื่องการใช้ไม้หันอากาศนั้น ถ้าวินิจฉัยตามจิตรก็จะตอบได้ว่า จารึกวัดศรีชุมที่เก่ากว่าจารึกพ่อขุนรามฯ ก็มีไม้หันอากาศใช้แล้ว การใช้ตัวสะกดสองตัวซ้อนกัน เช่น อัน = อนน เป็นเพียงประดิษฐกรรมของพ่อขุนรามฯ เพื่อให้เขียนได้ในบรรทัดเท่านั้น
หากจะสรุปประเด็นที่ยังเปิดอยู่เกี่ยวกับจารึกวัดวิชุน ก็คงแยกเป็นสองเรื่องหลัก:
- อายุที่แท้จริงของจารึกวัดวิชุนเอง ยังต้องอธิบายให้แน่นหนายิ่งขึ้น ปีที่กล่าวถึงในจารึก เป็น จ.ศ. จริงหรือ? และถ้าจริง จำเป็นไหมว่าต้องเป็นปีที่จารึก ไม่ใช่การเขียนบันทึกเรื่องเก่า?
- ถึงแม้จารึกวัดวิชุนจะเก่ากว่าจารึกพ่อขุนรามฯ ก็ยังไม่ใช่ข้อสรุปว่าอักษรลาวเกิดก่อนอยู่ดี เพราะอักษรไทยก็มีใช้มาก่อนสมัยพ่อขุนรามฯ นานแล้วเหมือนกัน
ประเด็นข้างเคียงที่อาจต้องตรวจสอบต่อ คืออักษรอื่น ๆ ในภาษาตระกูลไท-ลาว เช่น อักษรถั่วงอกของไทมาว, อักษรไทอาหม, อักษรไทดำ ซึ่งมีอักขรวิธีคล้ายอักษรไทย-ลาวนั้น ได้รับอิทธิพลจากไหน ใครเกิดก่อนใคร