Theppitak's blog

My personal blog.

12 กุมภาพันธ์ 2555

Thai and Lao script history

ช่วงนี้ก่อนนอนจะทยอยอ่านหนังสือ ความเป็นมาของชนชาติลาว เขียนโดย บุนมี เทบสีเมือง นักวิชาการ สปป. ลาว แปลเป็นไทยโดย ไผท ภูธา เป็นมุมมองประวัติศาสตร์ของลาวที่น่าสนใจ

ประวัติศาสตร์ลาวตามแบบฉบับนั้น เขานับเนื่องมาตั้งแต่อ้ายลาว มาน่านเจ้า ก่อนจะถูกคนเชื้อสายจีน (เข้าใจว่าหมายถึงชนชาติไป๋) ยึดอำนาจ ตั้งเป็นอาณาจักรต้าหลี่ ทำให้คนลาว (ซึ่งเป็นชนชาติเดียวกับที่ไทยเรียกว่าไท หรือ ไทย) ทางใต้โดยรอบประกาศตัวเป็นอิสระ เกิดเป็นอาณาจักรต่าง ๆ

หนังสือเล่มนี้เสนอทฤษฎีว่าชนชาติไทย-ลาวมีแหล่งกำเนิดที่เทือกเขาภูเลยในเขตประเทศลาวปัจจุบัน แล้วจึงมีการเคลื่อนย้ายออกไปทุกทิศทาง ทั้งลงมาลุ่มเจ้าพระยาตลอดจนแหลมมลายู และขึ้นเหนือไปทางจีนตอนใต้ ไปก่อตั้งนครลุง ปา เงี้ยว จนถึงอาณาจักรอ้ายลาว น่านเจ้า แล้วพวกที่ขึ้นเหนือจึงถอยร่นลงใต้มาอีกภายหลัง โดยในระหว่างนั้นที่บริเวณประเทศลาวปัจจุบันมีการตั้งอาณาจักรโคตรบูรหรือที่จีนเรียกว่า ฟูเลียว ร่วมสมัยกัน ซึ่งถ้าว่าตามทฤษฎีนี้ คนไทย-ลาวถือเป็นชนชาติที่เก่าแก่กว่าขอมและมอญซึ่งเพิ่งอพยพมาจากอินเดียในช่วงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

แนวคิดเช่นนี้เป็นพื้นฐานของทฤษฎีว่าอักษรลาวเกิดขึ้นที่ลาวก่อน ไม่ใช่รับมาจากสุโขทัย โดยได้อ้างหลักฐาน ศิลาจารึกวัดวิชุน หลวงพระบาง ซึ่งระบุศักราช จ.ศ. ๕๓๒ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๑๗๑๓ ก่อนศิลาจารึกพ่อขุนรามถึง ๑๑๓ ปี และยังมีหลักฐานศิลาจารึกที่ระเบียงคต พระธาตุหลวงนครเวียงจันทน์ ที่กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบว่าอาจจะสร้างใน จ.ศ. ๓๔๑ (พ.ศ. ๑๕๒๒) ซึ่งถ้าถูกต้องก็จะมีอายุถึงกว่า ๑ พันปี!


จารึกวัดวิชุน

เรื่องนี้ทำให้กลับไปคิดต่อ หลังจากที่ผมเคยเขียนถึง ทฤษฎีต้นกำเนิดอักษรไทย ที่ว่าอักษรไทยไม่ได้เพิ่งประดิษฐ์ขึ้นโดยพ่อขุนรามคำแหง แต่ควรจะมีใช้ก่อนหน้านั้นนานแล้ว โดยในหนังสือของ อ. สุจิตต์ วงษ์เทศ นั้นระบุว่ามีอักษรไทยใช้ในรัฐอโยธยา-ละโว้มาตั้งแต่ พ.ศ. ๑๗๗๘ เป็นอย่างช้า จากหลักฐานกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ (ตอนท้าย) และโองการแช่งน้ำ

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดประเด็นมาก่อนหน้านี้โดย จิตร ภูมิศักดิ์ ในบทความ อักษรไทยก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง ที่ได้รวบรวมไว้ใน ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย ว่ามีจารึกในอุโมงค์วัดศรีชุมเป็นอย่างน้อยที่น่าจะสลักอักษรไทยไว้ก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยอักขรวิธีเป็นแบบเดียวกับสมัยพญาลิไทย คือมีการเขียนสระไว้ข้างบน-ข้างล่างพยัญชนะ โดยพ่อขุนรามคำแหงอาจจะพยายามปฏิรูปการเขียนให้สระเข้ามาอยู่ในบรรทัด แล้วปรากฏว่าไม่ฮิต พอสิ้นท่านแล้วจึงกลับไปใช้อักขรวิธีแบบเดิม (คล้าย ๆ กับที่ในหลวง ร.๔ เคยทรงประดิษฐ์ อักษรอริยกะ, ในหลวง ร.๖ เคยทรงเสนอ อักขรวิธีแบบใหม่ หรือจะเป็นตัวสะกดสมัยจอมพล ป. ก็ตาม ล้วนไม่เป็นที่นิยมทั้งสิ้น)

เมื่อเปรียบเทียบตัวเขียนในจารึกวัดศรีชุมกับจารึกวันวิชุนแล้ว ดูคล้ายกันมาก ถ้าเชื่อตามจิตรแล้วตัดลายสือไทยพ่อขุนรามฯ ที่เป็นสิ่งชั่วคราวออก ประวัติศาสตร์อักษรไทย-ลาวก็จะดูคลี่คลายลงมากในเรื่องลำดับปีและวิวัฒนาการ

อย่างไรก็ดี ข้อโต้แย้งเรื่องอายุของจารึกวัดวิชุน ก็ยังเป็นคำถามที่ต้องตอบ ไม่ว่าจะเป็นข้อสังเกตเรื่องการใช้จุลศักราช ซึ่งท่านบุนมีตอบไว้เพียงว่า ไม่ใช่มหาศักราชแน่นอน เพราะอิทธิพลขอมยังแผ่มาไม่ถึง แต่ก็ไม่ได้เคลียร์ว่าทำไมต้องเป็นจุลศักราชตามพม่า ส่วนเรื่องการใช้ไม้หันอากาศนั้น ถ้าวินิจฉัยตามจิตรก็จะตอบได้ว่า จารึกวัดศรีชุมที่เก่ากว่าจารึกพ่อขุนรามฯ ก็มีไม้หันอากาศใช้แล้ว การใช้ตัวสะกดสองตัวซ้อนกัน เช่น อัน = อนน เป็นเพียงประดิษฐกรรมของพ่อขุนรามฯ เพื่อให้เขียนได้ในบรรทัดเท่านั้น

หากจะสรุปประเด็นที่ยังเปิดอยู่เกี่ยวกับจารึกวัดวิชุน ก็คงแยกเป็นสองเรื่องหลัก:

  1. อายุที่แท้จริงของจารึกวัดวิชุนเอง ยังต้องอธิบายให้แน่นหนายิ่งขึ้น ปีที่กล่าวถึงในจารึก เป็น จ.ศ. จริงหรือ? และถ้าจริง จำเป็นไหมว่าต้องเป็นปีที่จารึก ไม่ใช่การเขียนบันทึกเรื่องเก่า?
  2. ถึงแม้จารึกวัดวิชุนจะเก่ากว่าจารึกพ่อขุนรามฯ ก็ยังไม่ใช่ข้อสรุปว่าอักษรลาวเกิดก่อนอยู่ดี เพราะอักษรไทยก็มีใช้มาก่อนสมัยพ่อขุนรามฯ นานแล้วเหมือนกัน

ประเด็นข้างเคียงที่อาจต้องตรวจสอบต่อ คืออักษรอื่น ๆ ในภาษาตระกูลไท-ลาว เช่น อักษรถั่วงอกของไทมาว, อักษรไทอาหม, อักษรไทดำ ซึ่งมีอักขรวิธีคล้ายอักษรไทย-ลาวนั้น ได้รับอิทธิพลจากไหน ใครเกิดก่อนใคร

ป้ายกำกับ: ,

0 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem