Elongation of Some Thai Words
วันนี้ไปเจอกระทู้เก่าใน Pantip ที่มี backlink มายัง blog เก่าเรื่อง ก เอ๋ย ก ไก่ หัวข้อกระทู้คือ เสียงสั้น-เสียงยาวในคำไทยบางคำ
คำถามของกระทู้น่าสนใจ ถามว่าทำไมคำบางคำถึงออกเสียงยาวทั้ง ๆ ที่สะกดด้วยสระเสียงสั้น เช่น น้ำ ไม้ เก้า ร้องไห้ ได้ ใต้ เจ้า เช้า เท้า เปล่า คำตอบของแต่ละท่านน่าสนใจ ให้สาระ แต่สำหรับตัวประเด็นของกระทู้เองก็ไม่มีข้อสรุปเรื่องหลักการ โดยยกให้เป็นเรื่องของ "ความนิยม" ไป
ผมเองก็ไม่คิดว่าจะหาหลักการได้ แต่เห็นเป็นประเด็นน่าสนใจ น่าเอามาคิดต่อ
ผมขอเสริมด้วยกรณีกลับกัน คือคำบางคำออกเสียงเป็นเสียงสั้น ทั้ง ๆ ที่สะกดด้วยสระเสียงยาว เช่น เต้น (คำนี้มีพูดถึงในกระทู้เหมือนกัน แต่ไม่ได้ยกให้เป็นประเด็น) เข่น เค้น เซ่น เร้น เผ่น เฟ้น เว้น เส้น เก่ง เข่ง เขย่ง เบ่ง เป่ง เปล่ง เพ้ง เม้ง เร่ง แจ่ม แช่ม แข่ง แข้ง แต่ง แท่ง แน่ง แบ่ง แปร่ง แพ่ง แล่ง แหว่ง แห่ง ย่อม ข้อง คล่อง จ้อง พร่อง ย่อง น่อง ท่อง ค่อน (ปลา)ช่อน ซ่อน ว่อน ร่อน จ่อม(จม) ซ่อม แจ๋ว เจ๊ง เจ๊ก เล่น เล่ม ก้อง กล้อง ก๊อก ป๊อก เด้ง เม้ม เข้ม
แต่กรณีนี้ พออธิบายได้ เพราะรูปสระทั้งหมดที่ยกมา เป็นรูปที่สามารถใช้ไม้ไต่คู้ลดเสียงให้สั้นลงได้ จึงเป็นการละไม้ไต่คู้ไว้ในฐานที่เข้าใจ หรือให้วรรณยุกต์ทำหน้าที่ลดเสียงเหมือนไม้ไต่คู้ โดยผู้ออกเสียงต้องแยกแยะเอาเอง ว่าคำไหนมีการลดเสียง เพราะรูปที่คล้ายกันก็ไม่ได้ลดเสียงเสมอไป เช่น เก้ง เป้ง ป้อน ย้อน ย้อม ย้อน แกล้ง แย้ง แจ้ง แท้ง แย่ง แล้ง แว้ง แสร้ง แห้ง คล้อง ท้อง ก่อน ก้อน ค้อน ช้อน ซ้อน ต้อน ป้อน ร้อน ซ้อม ห้อม ล้อม แก้ม แง้ม แย้ม แป้ง แต้ม (ลูก)อ๊อด
มีครั้งหนึ่งที่ผมเจอข้อสังเกตเข้าอย่างจัง ตอนที่ไปสั่ง "บะหมี่แห้ง" ที่ร้านอาหารในกรุงเทพฯ โดยออกเสียง "แห้ง" เป็นเสียงสั้นตามความเคยชิน แล้วก็ถูกคนในโต๊ะที่ไปด้วยกันถามว่า เป็นคนต่างจังหวัดเหรอ เพราะสำเนียงกรุงเทพฯ จะออกเสียง "แห้ง" เป็นเสียงยาว
ตรงนี้แหละคือช่องว่างระหว่างคนท้องถิ่นต่าง ๆ จะออกเสียงสระในกรณีกำกวมแบบนี้แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็จะกลับไปสู่กรณีของกระทู้ข้างต้น
ตามสำเนียงถิ่นอีสานแล้ว ในกรณีของกระทู้นั้น มีคำว่า "น้ำ" คำเดียวที่ออกเสียงสระยาว นอกนั้นเป็นเสียงสั้นหมด คือ ไม้ เก้า (ร้อง)ไห้ ได้ ใต้ เจ้า เช้า เท้า เปล่า เพิ่มอีกสักคำในกรณีเดียวกันคือ "ใช้" ก็ออกเป็นเสียงสั้นเหมือนกัน ส่วนอีกคำที่นึกออกคือ "เกล้า" นั้น ไม่มีในภาษาถิ่นอีสาน ถ้าจะออกเสียงก็คงออกเสียงตามสำเนียงกรุงเทพฯ ในฐานะคำไทยกลางมากกว่า
แล้วทำไมคำเหล่านี้ถึงออกเสียงสระยาวในสำเนียงกรุงเทพฯ โดยหาหลักการรองรับไม่ได้? และอันที่จริง เสียงเหล่านี้สามารถเขียนด้วยสระเสียงยาวได้ทั้งนั้น เช่น ม้าย ก้าว ห้าย ด้าย ต้าย จ้าว ช้าว ท้าว ปล่าว ช้าย กล้าว แล้วทำไมจึงยังเขียนด้วยสระเสียงสั้นเหมือนเดิมแต่ออกเสียงให้ยาวขึ้น? ทั้งนี้ บางคำรูปเขียนเดียวกันออกเสียงสองอย่างก็มี เช่น เช้า ออกเสียงยาว แต่ กระเช้า ออกเสียงสั้น; ร้องไห้ ออกเสียงยาว แต่ คร่ำครวญหวนไห้ ออกเสียงสั้น
ผมไม่ทราบต้นสายปลายเหตุ ได้แต่ตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นปรากฏการณ์เดียวกับการยืดออกของคำว่า "ข้าว" ซึ่งถ้าไปดูจารึกเก่า ๆ จะเขียนว่า "เข้า" เหมือนกับที่สำเนียงเหนือ-อีสานใช้ แต่ต่อมาคงมีการยืดพยางค์ออกเป็นเสียงยาว แล้วก็เปลี่ยนรูปเขียนเป็น "ข้าว" ตามเสียงที่ออก โดยมีรูปเขียนสองอย่างปะปนกันอยู่ระยะหนึ่ง แต่บังเอิญคำว่า "ข้าว" เป็นที่นิยมกว่า จึงเลิกเขียนว่า "เข้า" ไป
กรณีคล้ายกันนี้เกิดกับคำว่า "เจ้า" ด้วย โดยมีการเขียนเป็น "จ้าว" ตามเสียงที่ออก แต่คำว่า "จ้าว" ค่อย ๆ ตกยุคไป เหลือคำว่า "เจ้า" ใช้แทน ปัจจุบัน แม้จะยังมีคำว่า "จ้าว" ใช้งานอยู่บ้าง แต่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ และ ๒๕๔๒ ต่างก็ให้คำจำกัดความว่า "(โบ) น. เจ้า" คือเป็นคำที่เหมือน "เจ้า" ทุกประการ แต่เป็นรูปเขียนแบบโบราณ
อย่างไรก็ดี กรณีเดียวกันสำหรับคำว่า "เท้า" นั้น เมื่อยืดเสียงออกกลับไปพ้องเสียงกับคำว่า "ท้าว" ที่มีอยู่แล้ว โดยต่างความหมายกัน คือ "ท้าว" หมายถึงผู้เป็นใหญ่ ส่วน "เท้า" หมายถึงตีน กรณีนี้จึงมีการรักษารูปคำไว้ทั้งสองคำ คำว่า "เก้า" กับ "ก้าว" หรือ "ได้" กับ "ด้าย" ก็ทำนองเดียวกัน
เหลือเพียงคำว่า "น้ำ" คำเดียว ที่ยืดพยางค์ออกเหมือนกันหมด ก็ยังคงเป็นปริศนาต่อไป
การที่ผมสันนิษฐานโดยอิงจากภาษาเหนือ-อีสานออกไปนั้น ก็พอมีเหตุผลอยู่บ้าง เนื่องจากภาษาในถิ่นทั้งสอง โดยเฉพาะในถิ่นอีสานนั้น มีลักษณะใกล้เคียงกับภาษาไทย-ลาวดั้งเดิมอยู่มาก ในขณะที่ภาษาไทยกลางปัจจุบันจะผ่านการวิวัฒน์มามาก โดยรับอิทธิพลมาจากภาษาต่างประเทศ เช่น เขมร มอญ มลายู บาลี สันสกฤต จึงมีโอกาสเป็นฝ่ายเริ่มเพี้ยนได้มากกว่า แต่จะเพี้ยนด้วยเหตุใดนั้น ผมไม่มีข้อมูลพอจะระบุได้มากกว่านี้
ป้ายกำกับ: language