Theppitak's blog

My personal blog.

31 พฤษภาคม 2552

Elongation of Some Thai Words

วันนี้ไปเจอกระทู้เก่าใน Pantip ที่มี backlink มายัง blog เก่าเรื่อง ก เอ๋ย ก ไก่ หัวข้อกระทู้คือ เสียงสั้น-เสียงยาวในคำไทยบางคำ

คำถามของกระทู้น่าสนใจ ถามว่าทำไมคำบางคำถึงออกเสียงยาวทั้ง ๆ ที่สะกดด้วยสระเสียงสั้น เช่น น้ำ ไม้ เก้า ร้องไห้ ได้ ใต้ เจ้า เช้า เท้า เปล่า คำตอบของแต่ละท่านน่าสนใจ ให้สาระ แต่สำหรับตัวประเด็นของกระทู้เองก็ไม่มีข้อสรุปเรื่องหลักการ โดยยกให้เป็นเรื่องของ "ความนิยม" ไป

ผมเองก็ไม่คิดว่าจะหาหลักการได้ แต่เห็นเป็นประเด็นน่าสนใจ น่าเอามาคิดต่อ

ผมขอเสริมด้วยกรณีกลับกัน คือคำบางคำออกเสียงเป็นเสียงสั้น ทั้ง ๆ ที่สะกดด้วยสระเสียงยาว เช่น เต้น (คำนี้มีพูดถึงในกระทู้เหมือนกัน แต่ไม่ได้ยกให้เป็นประเด็น) เข่น เค้น เซ่น เร้น เผ่น เฟ้น เว้น เส้น เก่ง เข่ง เขย่ง เบ่ง เป่ง เปล่ง เพ้ง เม้ง เร่ง แจ่ม แช่ม แข่ง แข้ง แต่ง แท่ง แน่ง แบ่ง แปร่ง แพ่ง แล่ง แหว่ง แห่ง ย่อม ข้อง คล่อง จ้อง พร่อง ย่อง น่อง ท่อง ค่อน (ปลา)ช่อน ซ่อน ว่อน ร่อน จ่อม(จม) ซ่อม แจ๋ว เจ๊ง เจ๊ก เล่น เล่ม ก้อง กล้อง ก๊อก ป๊อก เด้ง เม้ม เข้ม

แต่กรณีนี้ พออธิบายได้ เพราะรูปสระทั้งหมดที่ยกมา เป็นรูปที่สามารถใช้ไม้ไต่คู้ลดเสียงให้สั้นลงได้ จึงเป็นการละไม้ไต่คู้ไว้ในฐานที่เข้าใจ หรือให้วรรณยุกต์ทำหน้าที่ลดเสียงเหมือนไม้ไต่คู้ โดยผู้ออกเสียงต้องแยกแยะเอาเอง ว่าคำไหนมีการลดเสียง เพราะรูปที่คล้ายกันก็ไม่ได้ลดเสียงเสมอไป เช่น เก้ง เป้ง ป้อน ย้อน ย้อม ย้อน แกล้ง แย้ง แจ้ง แท้ง แย่ง แล้ง แว้ง แสร้ง แห้ง คล้อง ท้อง ก่อน ก้อน ค้อน ช้อน ซ้อน ต้อน ป้อน ร้อน ซ้อม ห้อม ล้อม แก้ม แง้ม แย้ม แป้ง แต้ม (ลูก)อ๊อด

มีครั้งหนึ่งที่ผมเจอข้อสังเกตเข้าอย่างจัง ตอนที่ไปสั่ง "บะหมี่แห้ง" ที่ร้านอาหารในกรุงเทพฯ โดยออกเสียง "แห้ง" เป็นเสียงสั้นตามความเคยชิน แล้วก็ถูกคนในโต๊ะที่ไปด้วยกันถามว่า เป็นคนต่างจังหวัดเหรอ เพราะสำเนียงกรุงเทพฯ จะออกเสียง "แห้ง" เป็นเสียงยาว

ตรงนี้แหละคือช่องว่างระหว่างคนท้องถิ่นต่าง ๆ จะออกเสียงสระในกรณีกำกวมแบบนี้แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็จะกลับไปสู่กรณีของกระทู้ข้างต้น

ตามสำเนียงถิ่นอีสานแล้ว ในกรณีของกระทู้นั้น มีคำว่า "น้ำ" คำเดียวที่ออกเสียงสระยาว นอกนั้นเป็นเสียงสั้นหมด คือ ไม้ เก้า (ร้อง)ไห้ ได้ ใต้ เจ้า เช้า เท้า เปล่า เพิ่มอีกสักคำในกรณีเดียวกันคือ "ใช้" ก็ออกเป็นเสียงสั้นเหมือนกัน ส่วนอีกคำที่นึกออกคือ "เกล้า" นั้น ไม่มีในภาษาถิ่นอีสาน ถ้าจะออกเสียงก็คงออกเสียงตามสำเนียงกรุงเทพฯ ในฐานะคำไทยกลางมากกว่า

แล้วทำไมคำเหล่านี้ถึงออกเสียงสระยาวในสำเนียงกรุงเทพฯ โดยหาหลักการรองรับไม่ได้? และอันที่จริง เสียงเหล่านี้สามารถเขียนด้วยสระเสียงยาวได้ทั้งนั้น เช่น ม้าย ก้าว ห้าย ด้าย ต้าย จ้าว ช้าว ท้าว ปล่าว ช้าย กล้าว แล้วทำไมจึงยังเขียนด้วยสระเสียงสั้นเหมือนเดิมแต่ออกเสียงให้ยาวขึ้น? ทั้งนี้ บางคำรูปเขียนเดียวกันออกเสียงสองอย่างก็มี เช่น เช้า ออกเสียงยาว แต่ กระเช้า ออกเสียงสั้น; ร้องไห้ ออกเสียงยาว แต่ คร่ำครวญหวนไห้ ออกเสียงสั้น

ผมไม่ทราบต้นสายปลายเหตุ ได้แต่ตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นปรากฏการณ์เดียวกับการยืดออกของคำว่า "ข้าว" ซึ่งถ้าไปดูจารึกเก่า ๆ จะเขียนว่า "เข้า" เหมือนกับที่สำเนียงเหนือ-อีสานใช้ แต่ต่อมาคงมีการยืดพยางค์ออกเป็นเสียงยาว แล้วก็เปลี่ยนรูปเขียนเป็น "ข้าว" ตามเสียงที่ออก โดยมีรูปเขียนสองอย่างปะปนกันอยู่ระยะหนึ่ง แต่บังเอิญคำว่า "ข้าว" เป็นที่นิยมกว่า จึงเลิกเขียนว่า "เข้า" ไป

กรณีคล้ายกันนี้เกิดกับคำว่า "เจ้า" ด้วย โดยมีการเขียนเป็น "จ้าว" ตามเสียงที่ออก แต่คำว่า "จ้าว" ค่อย ๆ ตกยุคไป เหลือคำว่า "เจ้า" ใช้แทน ปัจจุบัน แม้จะยังมีคำว่า "จ้าว" ใช้งานอยู่บ้าง แต่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ และ ๒๕๔๒ ต่างก็ให้คำจำกัดความว่า "(โบ) น. เจ้า" คือเป็นคำที่เหมือน "เจ้า" ทุกประการ แต่เป็นรูปเขียนแบบโบราณ

อย่างไรก็ดี กรณีเดียวกันสำหรับคำว่า "เท้า" นั้น เมื่อยืดเสียงออกกลับไปพ้องเสียงกับคำว่า "ท้าว" ที่มีอยู่แล้ว โดยต่างความหมายกัน คือ "ท้าว" หมายถึงผู้เป็นใหญ่ ส่วน "เท้า" หมายถึงตีน กรณีนี้จึงมีการรักษารูปคำไว้ทั้งสองคำ คำว่า "เก้า" กับ "ก้าว" หรือ "ได้" กับ "ด้าย" ก็ทำนองเดียวกัน

เหลือเพียงคำว่า "น้ำ" คำเดียว ที่ยืดพยางค์ออกเหมือนกันหมด ก็ยังคงเป็นปริศนาต่อไป

การที่ผมสันนิษฐานโดยอิงจากภาษาเหนือ-อีสานออกไปนั้น ก็พอมีเหตุผลอยู่บ้าง เนื่องจากภาษาในถิ่นทั้งสอง โดยเฉพาะในถิ่นอีสานนั้น มีลักษณะใกล้เคียงกับภาษาไทย-ลาวดั้งเดิมอยู่มาก ในขณะที่ภาษาไทยกลางปัจจุบันจะผ่านการวิวัฒน์มามาก โดยรับอิทธิพลมาจากภาษาต่างประเทศ เช่น เขมร มอญ มลายู บาลี สันสกฤต จึงมีโอกาสเป็นฝ่ายเริ่มเพี้ยนได้มากกว่า แต่จะเพี้ยนด้วยเหตุใดนั้น ผมไม่มีข้อมูลพอจะระบุได้มากกว่านี้

ป้ายกำกับ:

7 ความเห็น:

  • 1 มิถุนายน 2552 เวลา 08:30 , Blogger udomsakc แถลง…

    ใช่ๆ เพราะสำเนียง เลยทำให้รู้เลยว่ามาจากไหน .. จะปลอมเป็นคนกรุงเต้บ ไม่ได้เลย นิ๊ ( อันนี้จริง แท็กซี่ทัก เจอพวกเดียวกันเองก็มี )

     
  • 1 มิถุนายน 2552 เวลา 09:13 , Blogger Thep แถลง…

    :-) จะปลอมตัวยังไง คนที่หูไวก็จะจับความต่างได้อยู่ดี

    เข้ามาเพิ่มเติมอีกกรณีหนึ่ง คือการออกเสียงสั้นคล้ายมีไม้ไต่คู้โดยไม่ได้มีไม้ไต่คู้กำกับ คือ เพชร เพชฌฆาต สรรเพชญ เพชฉลูกรรม แต่กรณีนี้คงเป็นคนละกรณีกับที่พูดถึงข้างต้นซึ่งเป็นคำไทยแท้ล้วน ๆ เพราะเป็นการเขียนคำที่มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต จะไม่ใช้ไม้ไต่คู้หรือวรรณยุกต์กำกับอยู่แล้ว

     
  • 1 มิถุนายน 2552 เวลา 14:57 , Blogger Beamer User แถลง…

    นี่พูดถึง ครุ ลหุ หรือเปล่า ถ้าจำไม่ผิดจะมีคำยกเว้นอยู่หลายคำเหมือนกัน ต้องท่อง คล้าย ๆ ว่ามี 5 คำ

    ส่วนกฏจำได้แค่ "ลหุ แปลว่าเบา คือคำที่ใช้สระเสียงสั้นกับคำที่ลงท้ายด้วย แม่ กด กบ กก"
    อาจารย์บอกว่า แม่ กด กบ กก เนี่ย เขาเอาไว้ออกข้อสอบ

    ส่วน "ครุ มาจากคำว่าครู แปลว่า หนัก บลา บลา" จำไม่ได้เพราะอาจารย์บอกให้จำ แค่ ลหุ พอ ไม่แน่ใจว่าจำถูกหรือเปล่านะ มันนานเป็นยี่สิบปีแล้ว

     
  • 1 มิถุนายน 2552 เวลา 18:42 , Blogger Thep แถลง…

    คิดว่าไม่เกี่ยวกับครุ-ลหุมังครับ แต่ก็ไม่แน่

    โดยหลักการแล้ว ครุ-ลหุ มีประโยชน์สำหรับการแต่งฉันท์ โดยคำลหุจะแทนเสียงสั้นเบา เวลาอ่านสลับกับคำครุอย่างมีรูปแบบจะกลายเป็นจังหวะที่ไพเราะเหมือนมีเครื่องเคาะจังหวะในตัว คำลหุก็เลยจะใช้คำสระเสียงสั้นไม่มีตัวสะกด โดยบางตำราอนุโลมให้ใช้สระอำเป็นลหุได้ด้วย จำได้ว่าตำราสมัยมัธยม ยอมให้สระ อำ ใอ ไอ เอา ทั้งชุดเลย เป็นคำลหุ แต่เวลาอ่านฉันท์จริง ๆ ผมว่าไม่ค่อยพบใครเอาข้อยกเว้นพวกนี้มาใช้กันหรอก เพราะพอมีเสียงสะกดแฝงมา มันทำให้จังหวะไม่รื่นหูเท่าไร

    เรื่องแม่กก กด กบ คงไม่ใช่แล้วล่ะครับ เช็กตำราไหนก็ไม่เจอ คิดว่าคงตั้งใจจะพูดถึง อำ ใอ ไอ เอา มากกว่า

    แต่ขอบคุณมากครับ ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะคำทั้งหลายที่มีปัญหานั้น ล้วนเป็นสระ อำ ใอ ไอ เอา ทั้งนั้น ก็ไม่แน่ ว่าการยืดพยางค์ให้ยาวออก อาจเป็นเจตนาที่จะทำให้คำเหล่านี้เป็นครุในฉันท์อย่างชัดแจ้งก็ได้

    หรืออาจจะไม่เกี่ยวก็ได้ แต่ก็เป็นข้อสังเกตว่า สระเหล่านี้เป็นสระที่มีตัวสะกดแฝงทั้งนั้น สระกลุ่มนี้คงมีคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้คนบางถิ่นออกเสียงยืดยาวออกได้

    คำตอบดูเป็นไปได้หลายแบบ แม้กระทั่งว่า เราอาจคิดมากไปก็ได้ เพราะเราอยู่ในยุคที่ภาษาไทยมีการพัฒนาระบบระเบียบมาพอสมควรแล้ว คนสมัยก่อนอาจจะไม่ได้เคร่งครัดเรื่องเสียงสั้นยาวของสระก็ได้ ดังจะเห็นการเขียนคำว่า เปน แล ในเอกสารเก่า ๆ

     
  • 2 มิถุนายน 2552 เวลา 13:34 , Blogger Beamer User แถลง…

    แม่กด กบ กก ยืนยันว่าใช่ครับ อาจารย์คนที่สอนเป็นนักแต่งกลอนอันดับต้น ๆ ของเมืองไทยในสมัยนั้น รู้สึกว่าจะอันดับสี่ เรื่องนี้ในตำราทั่วไปอาจจะไม่มี แต่มีในข้อสอบ Ent สายศิลป์ มีตำราอยู่เล่มนึงที่เขียนไว้

     
  • 2 มิถุนายน 2552 เวลา 14:27 , Blogger Thep แถลง…

    "มีในข้อสอบ Ent สายศิลป์" และ "มีตำราอยู่เล่มนึงที่เขียนไว้" คงต้องเห็นหลักฐานก่อนล่ะครับ ถึงจะพิจารณาต่อไป

    ผมเองเคยอ่านฉันท์มาพอสมควร ก็ไม่พบว่าจะมีคำในตำแหน่งลหุที่สะกดด้วยแม่ กก กด กบ และถ้าคิดตามหลักการของฉันท์แล้ว ลหุจะใช้ในตำแหน่งครึ่งจังหวะ อย่างน้อยก็ต้องเป็นสระเสียงสั้น และถ้ามีเสียงสะกด การออกเสียงก็จะฝืนธรรมชาติของจังหวะฉันท์นิดหน่อย น่าจะเป็นลักษณะให้โทษสำหรับฉันท์เสียมากกว่า

     
  • 5 มิถุนายน 2552 เวลา 16:21 , Blogger Thep แถลง…

    เพิ่มอีกตัวอย่างหนึ่ง คือคำว่า "ไอ้" ซึ่งในบางครั้งจะใช้ "อ้าย" แทน เป็นอีกร่องรอยหนึ่งของการยืดพยางค์ของภาษาไทยกลาง โดยกรณีนี้ยังคงรูปเขียนไว้ทั้งสองแบบ เพราะเข้าใจว่า คำว่า "อ้าย" ในภาษาไท-ลาวดั้งเดิมที่แปลว่า "พี่ชาย" นั้น ดูจะลบเลือนไปแล้ว

    แต่ถ้าลองไปดูภาษาเก่า จะยังพบตัวอย่างการใช้ เช่น "เจ้าอ้ายพระยา", "เจ้ายี่พระยา" ซึ่งเป็นพระเชษฐาของ "เจ้าสามพระยา" (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา)

    ส่วนภาษาเหนือ-อีสาน ยังคงใช้คำว่า "อ้าย" ในความหมายว่า "พี่ชาย" อยู่ จึงไม่ค่อยมีการใช้ "อ้าย" ในความหมายว่า "ไอ้" เหมือนภาษากลาง

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem