Lao Script History
ผมได้เคยเขียนถึง ข้อมูลประวัติศาสตร์อักษรไทย-ลาว ไว้เมื่อต้นปี กล่าวถึงทฤษฎีของทางลาวที่ว่าอักษรลาวน่าจะเกิดก่อนอักษรไทย โดยอ้างถึงศิลาจารึกวัดวิชุลที่ยังเป็นที่โต้เถียงกันอยู่ถึงอายุของจารึก และผมก็ได้กล่าวถึงทฤษฎีของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่เสนอว่าอักษรไทยน่าจะมีใช้มาก่อนพ่อขุนรามฯ โดยอ้างภาพสลักเรื่องชาดกที่วัดศรีชุม สุโขทัย ตอนนี้ได้เจอหนังสืออีกเล่มหนึ่งของมหาสีลา วีระวงส์ ซึ่งให้ข้อมูลที่น่าสนใจเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องของอักษรลาวในยุคปัจจุบันที่ท่านได้เข้าไปมีส่วนร่วมปฏิวัติด้วย
พูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์ยุคเก่าก่อน.. แต่ก่อนจะเข้าเรื่อง ขอขยายความทฤษฎีของจิตร ภูมิศักดิ์ สักเล็กน้อย ที่ว่าอักษรไทยน่าจะมีใช้มาก่อนสมัยพ่อขุนรามฯ โดยจิตรได้อ้างถึงภาพสลักเรื่องชาดกบนแผ่นหินชนวนที่กรุบนเพดานอุโมงค์ในผนังมณฑปวัดศรีชุม สุโขทัย ซึ่งเป็นภาพลายเส้นแบบลังกาที่เผอิญมีตัวหนังสืออักษรไทยอยู่ด้วย
ภาพสลักที่เพดานอุโมงค์วัดศรีชุม (ภาพจาก วิกิพีเดีย)
ตัวภาพนั้นเก่ากว่าวัด (วัดสร้างราว พ.ศ. ๑๘๓๘ ปลายสมัยพ่อขุนรามฯ แต่ภาพแบบลังกานั้น เก่ากว่า) จึงสันนิษฐานกันว่าเอาของเก่ามากรุเพดานขณะสร้างวัด แต่คำถามอยู่ที่ตัวหนังสือในภาพ ซึ่งมีการใช้สระบนบรรทัดแบบสมัยพญาลิไทย เดิมสันนิษฐานกันว่าเป็นการสลักลงไปในสมัยหลัง แต่จิตรตั้งคำถามว่า ด้วยเนื้อที่อุโมงค์ที่กว้างเพียง ๔๐ ซ.ม. และมืดทึบ จะสลักหนังสืออีท่าไหน? จะจุดไต้ตามไฟอย่างไร? หรือจะงัดออกมาสลักข้างนอกแล้วกรุเข้าไปใหม่ ก็เป็นไปได้ยาก ดังนั้น อายุของจารึกจึงน่าจะเท่ากับอายุของภาพนั่นเอง ซึ่งถ้าเป็นศิลปะแบบลังกา ก็จะต้องเก่ากว่าสมัยพ่อขุนรามฯ ขึ้นไป จึงเป็นที่มาของทฤษฎีว่าอักษรไทยมีมาก่อนสมัยพ่อขุนรามฯ และลายสือไทยแบบพ่อขุนรามฯ เป็นเพียงอักขรวิธีที่มีใช้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ก่อนจะกลับไปใช้แบบเดิมในสมัยพญาลิไทยเป็นอย่างช้า
จิตรยังได้ตั้งข้อสังเกตต่อไปอีกว่า พ่อขุนรามฯ มีการสังโยคตัวอักษรโดยเขียนชิดกัน อาจได้เค้ามาจากอักษรไทยน้อยที่มีการเชื่อม หน (ໜ) หม (ໝ) ซึ่งการสันนิษฐานเช่นนี้ ถือเป็นการชนกับนักประวัติศาสตร์สายหลักของไทยอย่างจัง เพราะเชื่อกันว่าอักษรไทยน้อยของลาวนั้น ได้รับอิทธิพลจากอักษรสุโขทัยสมัยพญาลิไทย และโดยอ้อมอีกทางหนึ่งผ่านอักษรฝักขามของล้านนา
...แต่กลับไปสอดคล้องกับทฤษฎีของฝั่งลาว...
มหาสิลา วีระวงส์ ได้เขียนไว้ในหนังสือ ประวัติหนังสือลาว
แปลเป็นไทยโดย สมหมาย เปรมจิตต์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงประวัติอักษรลาวว่า สันนิษฐานว่าลาว (ซึ่งในขณะนั้นหมายถึงไทยด้วย) น่าจะมีตัวหนังสือใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. ๖๗๐ เป็นอย่างช้า
ก่อน พ.ศ. ๔๐๐ ชนชาติลาว-ไทยได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางเสฉวนและยูนนานปัจจุบัน โดยมีการติดต่อกับอินเดียด้วย ในราว พ.ศ. ๖๑๓ ชาวเมืองงายลาวอันมีขุนหลวงลีเมาเป็นประมุข ได้รับเอาพุทธศาสนามหายานมานับถือ พร้อมด้วยคัมภีร์ภาษาสันสกฤต ชนชาติลาว-ไทยคงได้แบบอย่างตัวหนังสือมาจากอินเดียตั้งแต่คราวนั้น
(อ่านเรื่องราวของอาณาจักรหนองแสได้ใน blog เก่าเรื่อง เมืองแถน)
ในจดหมายเหตุของจีน ได้กล่าวถึงประเพณีชาวลาวเมืองหนองแสในแคว้นยูนนานระหว่าง พ.ศ. ๖๗๐ ไว้ตอนหนึ่งว่า:
เวลาน่านเจ้าอ๋องเสด็จออกว่าราชการ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก เมื่อข้าราชการเข้าไปเฝ้าทูลข้อราชการ ให้เขียนหนังสือบอกแทนพูดด้วยปาก...
ตรงนี้ มหาสิลาสันนิษฐานว่าเป็นตัวหนังสือที่ได้จากอินเดียเมื่อครั้งรับพุทธมหายาน และอาจเป็นอักษรเทวนาครี!
ตรงนี้คงมีช่องให้ตั้งคำถามได้มากมาย เช่น
- น่านเจ้าประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ มารวมกัน หนองแสที่บันทึกจีนพูดถึงนี้หมายรวมถึงชนชาติไทย-ลาวด้วยหรือเปล่า? นักประวัติศาสตร์จีนยังตั้งข้อสงสัยว่าน่านเจ้าไม่ใช่ไทย เพราะมีประเพณีหลายอย่างต่างจากไทย แม้ตำนานชนชาติไทย-ลาวจะยืนยันว่าไทย-ลาวร่วมก่อตั้งน่านเจ้ากับชนเผ่าอื่นในยุคแรก ก่อนจะถูกชนชาติไป๋เข้ายึดครอง ตั้งอาณาจักรต้าหลี่ ขับไล่ชนชาติไทย-ลาวต้องถอยร่นลงมา
- อักษรที่ว่านั้นอาจไม่ใช่อักษรเทวนาครี หรืออักษรจากอินเดียก็เป็นได้ อยู่ใกล้จีนขนาดนั้น จะไม่ได้รับอิทธิพลจากจีนเชียวหรือ?
อย่างไรก็ดี มหาสิลาได้ตั้งข้อสังเกตต่อไป ว่าอักษรลาวมีรูปร่างคล้ายอักษรปัลลวะ โดยในจารึกเก่า (อ้างถึงจารึกสมัยสมเด็จพระไชยเชฏฐาธิราชเป็นต้นมา) มีการใช้คำสันสกฤตด้วยพยัญชนะสันสกฤตในคำต่างๆ จึงยิ่งแน่ใจว่าอักษรลาวได้เค้ามาจากอักษรสันสกฤตแน่นอน ซึ่งในแง่ของการยืนยันว่าอักษรลาวเคยมีอักษรสันสกฤตใช้นั้น ถือว่าเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักเหมาะสม แต่หากจะใช้ยืนยันว่าอักษรลาวมีเค้ามาจากอักษรสันสกฤตโดยตรงนั้น ออกจะผิดไปหน่อย
เท่าที่อ่านดู ผมเข้าใจว่ามหาสิลาอาจสับสนระหว่างอักษรพราหมีของอินเดียเหนือในสมัยพระเจ้าอโศก กับอักษรปัลลวะหรืออักษรคฤนถ์ของอินเดียใต้ เพราะท่านไปเปรียบรูปร่างอักษรปัลลวะซึ่งเป็นที่มาของอักษรธรรมสำหรับเขียนบาลี แล้วก็บอกว่าอักษรลาวมีเค้าจากอักษรสันสกฤตของพระเจ้าอโศก (พระเจ้าอโศกอยู่ในราชวงศ์โมริยะ ไม่ใช่ราชวงศ์ปัลลวะ) ในขณะที่เนื้อหาถัดมา ท่านพูดถึงอักษรคฤนถ์ว่าเป็นต้นเค้าของอักษรธรรม โดยแยกชื่ออักษรปัลลวะกับอักษรคฤนถ์ออกจากกัน
เมื่อเทียบอย่างผิดฝาผิดตัวอย่างนี้ การกล่าวอ้างว่าเป็นหลักฐานที่อักษรลาวมาจากอักษรอินเดียโดยตรงก็คงตกไป โดยเฉพาะถ้าอ้างอักษรปัลลวะแล้ว ยิ่งเข้าทางข้อมูลฝั่งไทย ซึ่งสืบประวัติย้อนไปถึงอักษรปัลลวะได้ คงนับได้เพียงจารึกของจีนเท่านั้น ซึ่งถือว่าหลักฐานยังอ่อน
อย่างไรก็ดี แนวคิดของมหาสิลาก็คงมีอิทธิพลต่อความเชื่อของนักประวัติศาสตร์ลาวในยุคต่อ ๆ มา จนกระทั่งมีการพบจารึกวัดวิชุลเป็นหลักฐาน ซึ่งก็ยังหาข้อยุติไม่ได้
แต่ก็น่าสนใจที่จิตรเองก็คิดแบบเดียวกันด้วย อาจจะเชื่อถือได้ว่าอักษรไทยมีมาก่อนพ่อขุนรามฯ แต่เรื่องที่จิตรสันนิษฐานว่าพ่อขุนรามฯ อาจได้แรงบันดาลใจบางส่วนจากอักษรไทยน้อยของลาวนั้น ก็อาจสันนิษฐานได้ แต่หลักฐานก็ต้องค้นหากันต่อไป
ประวัติอักษรลาวในยุคปัจจุบัน
ส่วนที่น่าสนใจในหนังสือของมหาสิลาอยู่ที่ส่วนหลัง ว่าด้วยประวัติอักษรลาวปัจจุบัน ซึ่งท่านได้เข้าไปมีส่วนร่วมในบางขั้นตอนของการปฏิวัติด้วย
มหาสิลาบอกว่า อักษรลาวเริ่มเสื่อมโทรมลงตั้งแต่ลาวเสียเอกราชให้สยาม เจ้าอนุวงศ์ถูกจับ สำนักต่าง ๆ แยกกันสอนของใครของมัน ไม่มีมาตรฐาน โดยเฉพาะเมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดครอง วัฒนธรรมลาวฝั่งซ้ายกับฝั่งขวาแม่น้ำโขงถูกแยกออกจากกัน ทางฝั่งขวาถูกการศึกษาจากส่วนกลางของสยามบังคับให้เรียนอักษรไทย เลิกใช้อักษรไทยน้อยและอักษรธรรม ส่วนทางฝั่งซ้ายก็ไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้ปกครองอย่างฝรั่งเศส
เดิมนั้นประเทศแถบนี้มีการใช้อักษรสองชุดแยกกันระหว่างเรื่องทางโลกกับทางธรรม กล่าวคือ ที่สยามมีอักษรไทยกับอักษรขอม ที่เขมรมีอักษรเจรียงกับอักษรขอม ที่ลาวมีอักษรลาวกับอักษรธรรม ต่อมาในสยาม กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระสังฆราช ได้ทรงริเริ่มการใช้อักษรไทยเขียนภาษาบาลี และประกาศยกเลิกการใช้อักษรขอม
ลาวอยู่ในสภาพขาดเอกภาพทางอักษรมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๒ สมาคมนักปราชญ์ของฝรั่งเศสจึงได้เริ่มฟื้นฟูพุทธศาสนาในลาว ตั้งโรงเรียนบาลี และตั้ง พุทธบัณฑิตสภาจันทบุรี
เพื่อจัดการการศึกษาในลาว โดยมีญาพ่อมหาแก้วเป็นครู มีเจ้าเพชราชเป็นประธาน ซึ่งญาพ่อมหาแก้วนี้เคยได้ศึกษาธรรมจากสยาม จึงใช้แบบเรียนไทยเป็นต้นแบบ ให้นักเรียนเขียนถ่ายเป็นอักษรธรรมได้วันละ ๔-๕ แถว ซึ่งชักช้าเสียเวลา เมื่อมหาสิลาเข้าไปแทนท่านในปี ๒๔๗๔-๒๔๗๕ จึงได้เสนอต่อเจ้าเพชราชให้จัดพิมพ์แบบเรียนบาลีด้วยอักษรลาวแทนอักษรธรรม โดยต้องปรับปรุงสังคายนาอักษรลาวเสียก่อน โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมา มีเจ้าเพชราชเป็นองค์ประธาน
คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นนี้ (มีมหาสิลาร่วมด้วย) มีมติแยกออกเป็น ๓ มติ คือ
- เลิกใช้อักษรลาว ใช้อักษรโรมันแทน เหมือนที่เวียดนามทำ ส่วนใหญ่มาจากผู้ที่ได้เรียนภาษาฝรั่งเศสมาก
- ใช้จุด (เข้าใจว่าหมายถึงพินทุ) กำกับอักษรลาวเพื่อแทนอักษรบาลี-สันสกฤตที่ขาด
- เพิ่มอักษรที่ขาด เนื่องจากพบหลักฐานในศิลาจารึกว่าเคยมีอักษรบาลี-สันสกฤตใช้
ที่ประชุมเลือกเอามติที่สามนี้ โดยพยายามใช้อักษรที่โบราณเคยใช้ถ้าพบ แต่ถ้าไม่พบก็ดัดแปลงเอาจากอักษรธรรม ผลที่ได้คืออักษรลาวที่มีพยัญชนะทั้งหมด ๓๓ ตัว
ดูตัวอย่างอักษรลาวที่ใช้เขียนบาลี-สันสกฤตได้จาก blog นี้ ที่ภาพสุดท้าย และดูการแจกแจงพยัญชนะวรรคได้ที่ blog นี้ ที่ภาพท้าย blog
อักษรลาวที่ใช้เขียนภาษาบาลี (ภาพจาก saixelamphao.livejournal.com)
แต่อักษรแบบนี้ก็มีใช้อยู่ไม่เกิน ๒๐ ปี ก็ถูกยกเลิก โดยใน พ.ศ. ๒๔๙๑ มีการตั้ง คณะกรรมการอักษรศาสตร์ลาว
ซึ่งได้ออกพระราชโองการเลขที่ ๑๐ บัญญัติว่าพยัญชนะลาวมีเพียง ๒๗ ตัวเท่านั้น โดยเท่ากับพยัญชนะลาวแบบเดิม ๒๖ ตัว บวกตัว ร อีกหนึ่ง และให้เขียนภาษาลาวตามเสียงพูด ไม่ว่าคำนั้น ๆ จะมาจากภาษาใดก็ตาม
ในหน้าคำนำ มหาสิลาบอกว่าก่อนหน้านั้นมีมติแตกออกเป็นสอง คือ:
- เขียนตามเสียงอ่าน ซึ่งมตินี้แยกเป็นสองมติย่อย
- เขียนตามเสียง แต่ยังอนุญาตให้ใช้ตัวสะกดพิเศษในคำบาลี-สันสกฤตได้ ซึ่งเป็นหลักการของราชบัณฑิตสภา
- เขียนตามเสียงแท้ ไม่มีการอนุโลมตัวสะกด และไม่ยอมมีตัว ร (เช่น ราชา เขียน ลาซา) ไม่ยอมมีอักษรนำ (เช่น ปโยด หรือ ปโยชน์ เขียน ปะโหยด) แนวคิดนี้มาจากคณะแนวลาว
ฮักซาด
- เขียนตามรากคำบาลี-สันสกฤต เป็นมติของพวกที่ได้บวชเรียน มีความรู้ทางพุทธศาสนา
ผลของพระราชโองการเลขที่ ๑๐ นี้ ทำให้ในวัดหันไปใช้ตำราไทยแทน เพราะเขียนภาษาบาลีได้ดีกว่า ความรู้ทางภาษาจึงหันเหเข้าหาภาษาไทย รับภาษาไทยมาใช้ปะปนกับภาษาลาว เรื่องนี้ลามไปถึงหนังสืออ่านเล่น นวนิยาย สารคดี หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ก็เป็นหนังสือไทยหมด (บรรยายถึงสภาพการณ์ในปี ๒๕๑๖ ซึ่งปัจจุบันคงต่างไปแล้ว) ส่งผลกระทบต่อภาษาลาวอย่างมาก
ความเห็นของมหาสิลานั้น เห็นว่าควรใช้อักษรลาวเขียนบาลี-สันสกฤตให้ถูกต้อง และไม่จำเป็นต้องใช้อักษรธรรม เพราะ:
- อักษรธรรมหล่อตัวพิมพ์ยาก
- คนทั่วไปอ่านไม่ออก แม้ในฝั่งไทยอีสาน ก็หาคนอ่านอักษรธรรมออกแทบไม่ได้แล้ว
- อักษรลาวก็ใช้บันทึกได้เหมือนกัน
- ประเทศข้างเคียงก็ใช้อักษรเดียวกันหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไทย เขมร พม่า ลังกา
- การใช้อักษรเดียว ทำให้การเข้าถึงความรู้ของคนทัดเทียมกันทั้งทางโลกและทางธรรม
- ชนชาติเดียวกันไม่ควรแบ่งแยกอักษรที่ใช้
ก็เป็นความเห็นที่น่าฟัง และทำให้เข้าใจความเป็นมาของอักษรลาว ก่อนที่จะมาเป็นระบบการเขียนตามเสียงอ่านในปัจจุบัน ถึงแม้การพยายามศึกษาและ implement อักษรธรรมของผมจะสวนทางกับความคิดของท่านก็ตาม :-)