Theppitak's blog

My personal blog.

27 กันยายน 2555

Lao Script History

ผมได้เคยเขียนถึง ข้อมูลประวัติศาสตร์อักษรไทย-ลาว ไว้เมื่อต้นปี กล่าวถึงทฤษฎีของทางลาวที่ว่าอักษรลาวน่าจะเกิดก่อนอักษรไทย โดยอ้างถึงศิลาจารึกวัดวิชุลที่ยังเป็นที่โต้เถียงกันอยู่ถึงอายุของจารึก และผมก็ได้กล่าวถึงทฤษฎีของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่เสนอว่าอักษรไทยน่าจะมีใช้มาก่อนพ่อขุนรามฯ โดยอ้างภาพสลักเรื่องชาดกที่วัดศรีชุม สุโขทัย ตอนนี้ได้เจอหนังสืออีกเล่มหนึ่งของมหาสีลา วีระวงส์ ซึ่งให้ข้อมูลที่น่าสนใจเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องของอักษรลาวในยุคปัจจุบันที่ท่านได้เข้าไปมีส่วนร่วมปฏิวัติด้วย

พูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์ยุคเก่าก่อน.. แต่ก่อนจะเข้าเรื่อง ขอขยายความทฤษฎีของจิตร ภูมิศักดิ์ สักเล็กน้อย ที่ว่าอักษรไทยน่าจะมีใช้มาก่อนสมัยพ่อขุนรามฯ โดยจิตรได้อ้างถึงภาพสลักเรื่องชาดกบนแผ่นหินชนวนที่กรุบนเพดานอุโมงค์ในผนังมณฑปวัดศรีชุม สุโขทัย ซึ่งเป็นภาพลายเส้นแบบลังกาที่เผอิญมีตัวหนังสืออักษรไทยอยู่ด้วย

ภาพสลักที่วัดศรีชุม
ภาพสลักที่เพดานอุโมงค์วัดศรีชุม (ภาพจาก วิกิพีเดีย)

ตัวภาพนั้นเก่ากว่าวัด (วัดสร้างราว พ.ศ. ๑๘๓๘ ปลายสมัยพ่อขุนรามฯ แต่ภาพแบบลังกานั้น เก่ากว่า) จึงสันนิษฐานกันว่าเอาของเก่ามากรุเพดานขณะสร้างวัด แต่คำถามอยู่ที่ตัวหนังสือในภาพ ซึ่งมีการใช้สระบนบรรทัดแบบสมัยพญาลิไทย เดิมสันนิษฐานกันว่าเป็นการสลักลงไปในสมัยหลัง แต่จิตรตั้งคำถามว่า ด้วยเนื้อที่อุโมงค์ที่กว้างเพียง ๔๐ ซ.ม. และมืดทึบ จะสลักหนังสืออีท่าไหน? จะจุดไต้ตามไฟอย่างไร? หรือจะงัดออกมาสลักข้างนอกแล้วกรุเข้าไปใหม่ ก็เป็นไปได้ยาก ดังนั้น อายุของจารึกจึงน่าจะเท่ากับอายุของภาพนั่นเอง ซึ่งถ้าเป็นศิลปะแบบลังกา ก็จะต้องเก่ากว่าสมัยพ่อขุนรามฯ ขึ้นไป จึงเป็นที่มาของทฤษฎีว่าอักษรไทยมีมาก่อนสมัยพ่อขุนรามฯ และลายสือไทยแบบพ่อขุนรามฯ เป็นเพียงอักขรวิธีที่มีใช้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ก่อนจะกลับไปใช้แบบเดิมในสมัยพญาลิไทยเป็นอย่างช้า

จิตรยังได้ตั้งข้อสังเกตต่อไปอีกว่า พ่อขุนรามฯ มีการสังโยคตัวอักษรโดยเขียนชิดกัน อาจได้เค้ามาจากอักษรไทยน้อยที่มีการเชื่อม หน (ໜ) หม (ໝ) ซึ่งการสันนิษฐานเช่นนี้ ถือเป็นการชนกับนักประวัติศาสตร์สายหลักของไทยอย่างจัง เพราะเชื่อกันว่าอักษรไทยน้อยของลาวนั้น ได้รับอิทธิพลจากอักษรสุโขทัยสมัยพญาลิไทย และโดยอ้อมอีกทางหนึ่งผ่านอักษรฝักขามของล้านนา

...แต่กลับไปสอดคล้องกับทฤษฎีของฝั่งลาว...

มหาสิลา วีระวงส์ ได้เขียนไว้ในหนังสือ ประวัติหนังสือลาว แปลเป็นไทยโดย สมหมาย เปรมจิตต์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงประวัติอักษรลาวว่า สันนิษฐานว่าลาว (ซึ่งในขณะนั้นหมายถึงไทยด้วย) น่าจะมีตัวหนังสือใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. ๖๗๐ เป็นอย่างช้า

ก่อน พ.ศ. ๔๐๐ ชนชาติลาว-ไทยได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางเสฉวนและยูนนานปัจจุบัน โดยมีการติดต่อกับอินเดียด้วย ในราว พ.ศ. ๖๑๓ ชาวเมืองงายลาวอันมีขุนหลวงลีเมาเป็นประมุข ได้รับเอาพุทธศาสนามหายานมานับถือ พร้อมด้วยคัมภีร์ภาษาสันสกฤต ชนชาติลาว-ไทยคงได้แบบอย่างตัวหนังสือมาจากอินเดียตั้งแต่คราวนั้น

(อ่านเรื่องราวของอาณาจักรหนองแสได้ใน blog เก่าเรื่อง เมืองแถน)

ในจดหมายเหตุของจีน ได้กล่าวถึงประเพณีชาวลาวเมืองหนองแสในแคว้นยูนนานระหว่าง พ.ศ. ๖๗๐ ไว้ตอนหนึ่งว่า:

เวลาน่านเจ้าอ๋องเสด็จออกว่าราชการ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก เมื่อข้าราชการเข้าไปเฝ้าทูลข้อราชการ ให้เขียนหนังสือบอกแทนพูดด้วยปาก...

ตรงนี้ มหาสิลาสันนิษฐานว่าเป็นตัวหนังสือที่ได้จากอินเดียเมื่อครั้งรับพุทธมหายาน และอาจเป็นอักษรเทวนาครี!

ตรงนี้คงมีช่องให้ตั้งคำถามได้มากมาย เช่น

  • น่านเจ้าประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ มารวมกัน หนองแสที่บันทึกจีนพูดถึงนี้หมายรวมถึงชนชาติไทย-ลาวด้วยหรือเปล่า? นักประวัติศาสตร์จีนยังตั้งข้อสงสัยว่าน่านเจ้าไม่ใช่ไทย เพราะมีประเพณีหลายอย่างต่างจากไทย แม้ตำนานชนชาติไทย-ลาวจะยืนยันว่าไทย-ลาวร่วมก่อตั้งน่านเจ้ากับชนเผ่าอื่นในยุคแรก ก่อนจะถูกชนชาติไป๋เข้ายึดครอง ตั้งอาณาจักรต้าหลี่ ขับไล่ชนชาติไทย-ลาวต้องถอยร่นลงมา
  • อักษรที่ว่านั้นอาจไม่ใช่อักษรเทวนาครี หรืออักษรจากอินเดียก็เป็นได้ อยู่ใกล้จีนขนาดนั้น จะไม่ได้รับอิทธิพลจากจีนเชียวหรือ?

อย่างไรก็ดี มหาสิลาได้ตั้งข้อสังเกตต่อไป ว่าอักษรลาวมีรูปร่างคล้ายอักษรปัลลวะ โดยในจารึกเก่า (อ้างถึงจารึกสมัยสมเด็จพระไชยเชฏฐาธิราชเป็นต้นมา) มีการใช้คำสันสกฤตด้วยพยัญชนะสันสกฤตในคำต่างๆ จึงยิ่งแน่ใจว่าอักษรลาวได้เค้ามาจากอักษรสันสกฤตแน่นอน ซึ่งในแง่ของการยืนยันว่าอักษรลาวเคยมีอักษรสันสกฤตใช้นั้น ถือว่าเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักเหมาะสม แต่หากจะใช้ยืนยันว่าอักษรลาวมีเค้ามาจากอักษรสันสกฤตโดยตรงนั้น ออกจะผิดไปหน่อย

เท่าที่อ่านดู ผมเข้าใจว่ามหาสิลาอาจสับสนระหว่างอักษรพราหมีของอินเดียเหนือในสมัยพระเจ้าอโศก กับอักษรปัลลวะหรืออักษรคฤนถ์ของอินเดียใต้ เพราะท่านไปเปรียบรูปร่างอักษรปัลลวะซึ่งเป็นที่มาของอักษรธรรมสำหรับเขียนบาลี แล้วก็บอกว่าอักษรลาวมีเค้าจากอักษรสันสกฤตของพระเจ้าอโศก (พระเจ้าอโศกอยู่ในราชวงศ์โมริยะ ไม่ใช่ราชวงศ์ปัลลวะ) ในขณะที่เนื้อหาถัดมา ท่านพูดถึงอักษรคฤนถ์ว่าเป็นต้นเค้าของอักษรธรรม โดยแยกชื่ออักษรปัลลวะกับอักษรคฤนถ์ออกจากกัน

เมื่อเทียบอย่างผิดฝาผิดตัวอย่างนี้ การกล่าวอ้างว่าเป็นหลักฐานที่อักษรลาวมาจากอักษรอินเดียโดยตรงก็คงตกไป โดยเฉพาะถ้าอ้างอักษรปัลลวะแล้ว ยิ่งเข้าทางข้อมูลฝั่งไทย ซึ่งสืบประวัติย้อนไปถึงอักษรปัลลวะได้ คงนับได้เพียงจารึกของจีนเท่านั้น ซึ่งถือว่าหลักฐานยังอ่อน

อย่างไรก็ดี แนวคิดของมหาสิลาก็คงมีอิทธิพลต่อความเชื่อของนักประวัติศาสตร์ลาวในยุคต่อ ๆ มา จนกระทั่งมีการพบจารึกวัดวิชุลเป็นหลักฐาน ซึ่งก็ยังหาข้อยุติไม่ได้

แต่ก็น่าสนใจที่จิตรเองก็คิดแบบเดียวกันด้วย อาจจะเชื่อถือได้ว่าอักษรไทยมีมาก่อนพ่อขุนรามฯ แต่เรื่องที่จิตรสันนิษฐานว่าพ่อขุนรามฯ อาจได้แรงบันดาลใจบางส่วนจากอักษรไทยน้อยของลาวนั้น ก็อาจสันนิษฐานได้ แต่หลักฐานก็ต้องค้นหากันต่อไป

ประวัติอักษรลาวในยุคปัจจุบัน

ส่วนที่น่าสนใจในหนังสือของมหาสิลาอยู่ที่ส่วนหลัง ว่าด้วยประวัติอักษรลาวปัจจุบัน ซึ่งท่านได้เข้าไปมีส่วนร่วมในบางขั้นตอนของการปฏิวัติด้วย

มหาสิลาบอกว่า อักษรลาวเริ่มเสื่อมโทรมลงตั้งแต่ลาวเสียเอกราชให้สยาม เจ้าอนุวงศ์ถูกจับ สำนักต่าง ๆ แยกกันสอนของใครของมัน ไม่มีมาตรฐาน โดยเฉพาะเมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดครอง วัฒนธรรมลาวฝั่งซ้ายกับฝั่งขวาแม่น้ำโขงถูกแยกออกจากกัน ทางฝั่งขวาถูกการศึกษาจากส่วนกลางของสยามบังคับให้เรียนอักษรไทย เลิกใช้อักษรไทยน้อยและอักษรธรรม ส่วนทางฝั่งซ้ายก็ไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้ปกครองอย่างฝรั่งเศส

เดิมนั้นประเทศแถบนี้มีการใช้อักษรสองชุดแยกกันระหว่างเรื่องทางโลกกับทางธรรม กล่าวคือ ที่สยามมีอักษรไทยกับอักษรขอม ที่เขมรมีอักษรเจรียงกับอักษรขอม ที่ลาวมีอักษรลาวกับอักษรธรรม ต่อมาในสยาม กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระสังฆราช ได้ทรงริเริ่มการใช้อักษรไทยเขียนภาษาบาลี และประกาศยกเลิกการใช้อักษรขอม

ลาวอยู่ในสภาพขาดเอกภาพทางอักษรมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๒ สมาคมนักปราชญ์ของฝรั่งเศสจึงได้เริ่มฟื้นฟูพุทธศาสนาในลาว ตั้งโรงเรียนบาลี และตั้ง พุทธบัณฑิตสภาจันทบุรี เพื่อจัดการการศึกษาในลาว โดยมีญาพ่อมหาแก้วเป็นครู มีเจ้าเพชราชเป็นประธาน ซึ่งญาพ่อมหาแก้วนี้เคยได้ศึกษาธรรมจากสยาม จึงใช้แบบเรียนไทยเป็นต้นแบบ ให้นักเรียนเขียนถ่ายเป็นอักษรธรรมได้วันละ ๔-๕ แถว ซึ่งชักช้าเสียเวลา เมื่อมหาสิลาเข้าไปแทนท่านในปี ๒๔๗๔-๒๔๗๕ จึงได้เสนอต่อเจ้าเพชราชให้จัดพิมพ์แบบเรียนบาลีด้วยอักษรลาวแทนอักษรธรรม โดยต้องปรับปรุงสังคายนาอักษรลาวเสียก่อน โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมา มีเจ้าเพชราชเป็นองค์ประธาน

คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นนี้ (มีมหาสิลาร่วมด้วย) มีมติแยกออกเป็น ๓ มติ คือ

  1. เลิกใช้อักษรลาว ใช้อักษรโรมันแทน เหมือนที่เวียดนามทำ ส่วนใหญ่มาจากผู้ที่ได้เรียนภาษาฝรั่งเศสมาก
  2. ใช้จุด (เข้าใจว่าหมายถึงพินทุ) กำกับอักษรลาวเพื่อแทนอักษรบาลี-สันสกฤตที่ขาด
  3. เพิ่มอักษรที่ขาด เนื่องจากพบหลักฐานในศิลาจารึกว่าเคยมีอักษรบาลี-สันสกฤตใช้

ที่ประชุมเลือกเอามติที่สามนี้ โดยพยายามใช้อักษรที่โบราณเคยใช้ถ้าพบ แต่ถ้าไม่พบก็ดัดแปลงเอาจากอักษรธรรม ผลที่ได้คืออักษรลาวที่มีพยัญชนะทั้งหมด ๓๓ ตัว

ดูตัวอย่างอักษรลาวที่ใช้เขียนบาลี-สันสกฤตได้จาก blog นี้ ที่ภาพสุดท้าย และดูการแจกแจงพยัญชนะวรรคได้ที่ blog นี้ ที่ภาพท้าย blog

อักษรลาวที่ใช้เขียนภาษาบาลี
อักษรลาวที่ใช้เขียนภาษาบาลี (ภาพจาก saixelamphao.livejournal.com)

แต่อักษรแบบนี้ก็มีใช้อยู่ไม่เกิน ๒๐ ปี ก็ถูกยกเลิก โดยใน พ.ศ. ๒๔๙๑ มีการตั้ง คณะกรรมการอักษรศาสตร์ลาว ซึ่งได้ออกพระราชโองการเลขที่ ๑๐ บัญญัติว่าพยัญชนะลาวมีเพียง ๒๗ ตัวเท่านั้น โดยเท่ากับพยัญชนะลาวแบบเดิม ๒๖ ตัว บวกตัว ร อีกหนึ่ง และให้เขียนภาษาลาวตามเสียงพูด ไม่ว่าคำนั้น ๆ จะมาจากภาษาใดก็ตาม

ในหน้าคำนำ มหาสิลาบอกว่าก่อนหน้านั้นมีมติแตกออกเป็นสอง คือ:

  1. เขียนตามเสียงอ่าน ซึ่งมตินี้แยกเป็นสองมติย่อย
    1. เขียนตามเสียง แต่ยังอนุญาตให้ใช้ตัวสะกดพิเศษในคำบาลี-สันสกฤตได้ ซึ่งเป็นหลักการของราชบัณฑิตสภา
    2. เขียนตามเสียงแท้ ไม่มีการอนุโลมตัวสะกด และไม่ยอมมีตัว ร (เช่น ราชา เขียน ลาซา) ไม่ยอมมีอักษรนำ (เช่น ปโยด หรือ ปโยชน์ เขียน ปะโหยด) แนวคิดนี้มาจากคณะแนวลาว ฮักซาด
  2. เขียนตามรากคำบาลี-สันสกฤต เป็นมติของพวกที่ได้บวชเรียน มีความรู้ทางพุทธศาสนา

ผลของพระราชโองการเลขที่ ๑๐ นี้ ทำให้ในวัดหันไปใช้ตำราไทยแทน เพราะเขียนภาษาบาลีได้ดีกว่า ความรู้ทางภาษาจึงหันเหเข้าหาภาษาไทย รับภาษาไทยมาใช้ปะปนกับภาษาลาว เรื่องนี้ลามไปถึงหนังสืออ่านเล่น นวนิยาย สารคดี หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ก็เป็นหนังสือไทยหมด (บรรยายถึงสภาพการณ์ในปี ๒๕๑๖ ซึ่งปัจจุบันคงต่างไปแล้ว) ส่งผลกระทบต่อภาษาลาวอย่างมาก

ความเห็นของมหาสิลานั้น เห็นว่าควรใช้อักษรลาวเขียนบาลี-สันสกฤตให้ถูกต้อง และไม่จำเป็นต้องใช้อักษรธรรม เพราะ:

  • อักษรธรรมหล่อตัวพิมพ์ยาก
  • คนทั่วไปอ่านไม่ออก แม้ในฝั่งไทยอีสาน ก็หาคนอ่านอักษรธรรมออกแทบไม่ได้แล้ว
  • อักษรลาวก็ใช้บันทึกได้เหมือนกัน
  • ประเทศข้างเคียงก็ใช้อักษรเดียวกันหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไทย เขมร พม่า ลังกา
  • การใช้อักษรเดียว ทำให้การเข้าถึงความรู้ของคนทัดเทียมกันทั้งทางโลกและทางธรรม
  • ชนชาติเดียวกันไม่ควรแบ่งแยกอักษรที่ใช้

ก็เป็นความเห็นที่น่าฟัง และทำให้เข้าใจความเป็นมาของอักษรลาว ก่อนที่จะมาเป็นระบบการเขียนตามเสียงอ่านในปัจจุบัน ถึงแม้การพยายามศึกษาและ implement อักษรธรรมของผมจะสวนทางกับความคิดของท่านก็ตาม :-)

ป้ายกำกับ: , ,

0 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem