Theppitak's blog

My personal blog.

04 กรกฎาคม 2547

เมืองแถน

หยุดวันอาทิตย์ไม่ได้อ่านหนังสือมาหลายอาทิตย์แล้ว (กล่าวคือ ไม่ได้หยุด :P) พอดีวันก่อนได้คุยกับคุณวีร์เรื่องเมืองแถน แต่นึกชื่อหนังสือที่พูดถึงไม่ออก วันนี้เลยลองค้นดู ก็ยังไม่พบเล่มที่ว่าอยู่ดีแหละ แต่ไปเจอพงศาวดารลาวแทน เนื้อหาก็อย่างเดียวกัน โดยเป็นฉบับของมหาสิลา วีระวง นักวิชาการลาว เรียบเรียงโดย ทองสืบ ศุภะมาร์ค ทั้งนี้ ได้เปรียบเทียบกับ ข้อมูลของไทย จากเว็บ หอมรดกไทย พบว่าเนื้อหาคล้ายกันมาก

(ค้นเว็บแล้ว เจอกระทู้ ต้นกำเนิดอาณาจักรล้านช้าง มีแผนที่ประกอบด้วย)

มหาสิลา บอกว่า “เมืองแถน” มีความหมายถึงสองอย่าง อย่างหนึ่งหมายถึงชื่อของอาณาจักรหนองแสเดิม (คืออาณาจักรเพงาย หรือปากอ้าย คนธรรมดาเรียกเมืองแถน) ที่ต่อมาถูกจีนตีแตก แล้วถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองยี่เจ้า” (เมืองสองเจ้า) เพราะมีการแตกเป็นสองส่วน คือพวกที่อยู่นครเพงาย เรียกว่า “อ้ายลาว” ส่วนพวกอยู่ทางใต้ เรียกว่า “งายลาว” ต่อมาเมื่อหลบมาตั้งอิสระที่หนองแสได้ ก็มีกษัตริย์ปกครองสืบมา จนถึงขุนบรมราชาธิราช (พีล่อโก๊ะ) ไม่ไว้ใจภัยคุกคามจากจีน จึงได้มาตั้งเมืองแถนขึ้นที่ทุ่งนาน้อยอ้อยหมู เป็น “เมืองแถน” ในความหมายที่สอง ชื่ออย่างเป็นทางการคือ “เมืองกาหลง”

หนองแส คือหนองน้ำอันกว้างใหญ่ อยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำโขง ในเขตมณฑลยูนนานของจีนในปัจจุบัน ในสมัยโบราณเรียกว่า “หนองแส” หรือ “หนองกระแสแสนย่าน” จีนเรียกว่า “ตาลีฟู”

เมื่อเมืองแถนแรก คือเพงายถูกจีนยึดครองนั้น คนไทส่วนมาก (ในพงศาวดารลาว จะใช้คำว่า “คนลาว” ไม่ใช่ “คนไท”) ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่หนองแสนี้ พอดีแผ่นดินจีนเกิดจลาจลสามก๊ก คนไทจึงมีโอกาสตั้งตัว โดยสร้างเมืองใหญ่ๆ ถึง ๖ เมือง คือ ซีล่ง ม่งเส ล่างกง มุ่งซุย เอี้ยแซ และเท่งเซี้ยง โดยที่ม่งเส (หนองแส) เป็นเมืองใหญ่และเป็นเมืองหลวงของประเทศ ชื่อของอาณาจักรใหม่นี้ จึงชื่อว่า อาณาจักรหนองแส หรือที่ฝ่ายจีนเรียกว่า “น่านเจ้า” แต่ต่อมาก็ถูกขงเบ้งรุกราน จนต้องตกเป็นเมืองขึ้นของจีน ก่อนจะมากู้อิสรภาพได้อีกครั้งใน พ.ศ. ๙๓๘

จากนั้น น่านเจ้าปกครองตนเองมาจนถึง พ.ศ. ๑๑๙๒ จึงมีกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า “สินุโล” ได้รวบรวมการปกครองเมืองทั้งหกเข้าด้วยกัน ทำให้น่านเจ้าเป็นปึกแผ่น และเจริญขึ้นมาก พระเจ้าสินุโลได้ใช้นโยบายเจริญสัมพันธไมตรีกับจีน เพื่อป้องกันการรุกราน ต่อจากนั้นก็มีกษัตริย์ปกครองต่อมาอีก ๔ พระองค์ ก็มาถึงขุนบรมราชาธิราช (พีล่อโก๊ะ) ทรงเห็นว่า จีนมีกำลังทหารเข้มแข็ง แม้จะผูกไมตรีก็ยังไม่น่าไว้ใจ จึงเกณฑ์ไพร่พลลงมาสร้างเมืองใหม่ ที่ทุ่งนาน้อยอ้อยหมู ซึ่งก็คือ “เมืองแถน” แห่งใหม่ เรียกอีกชื่อว่าเมือง “กาหลง” นั่นเอง

ที่ตั้งของเมือง “กาหลง” นี้ มหาสิลาบอกว่า ได้แก่เมืองเชียงรุ้งในปัจจุบัน แต่พงศาวดารไทยของพระบริรักษ์เทพธานีกล่าวว่า เมืองกาหลงนั้นตั้งอยู่ที่ตำบลฝาย อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

ขุนบรม (พีล่อโก๊ะ) ได้ประทับที่เมืองกาหลงอยู่ ๘ ปี โดยในระหว่างนี้ได้ตีหัวเมืองจีนได้หลายเมือง และสั่งให้พวกม่านสีสร้างเมือง “ต้าหอ” แล้วเสด็จขึ้นไปประทับ

ขุนบรมเป็นกษัตริย์นักรบ ได้ขยายอาณาเขตน่านเจ้าไปมาก หลายเมืองมาอ่อนน้อม โดยได้สมัญญาว่า “ยูนนานอ๋อง” นโยบายขยายอาณาเขตอย่างหนึ่งคือ การส่งโอรส ๗ องค์ แยกย้ายไปปกครองเมืองทางใต้และตะวันออกเฉียงใต้ คือ (ตามตำนานขุนบรม)

  • ขุนลอ ครองเมืองชวา (เชียงทอง หลวงพระบาง ล้านช้าง)
  • ผาล้าน ครองเมืองต้าหอ หรือหอแต (สิบสองปันนา)
  • ท้าวจูสง ครองเมืองจูฬนี คือเมืองญวน (หัวพันทั้งห้าทั้งหก)
  • ท้าวคำผง ครองเมืองโยนก คือล้านนา
  • ท้าวอิน ครองเมืองลานเพีย คืออยุธยา
  • ท้าวกม ครองเมืองหล้าคำม่วน (มอญ)
  • ท้าวเจือง ครองเมืองปะกันเชียงขวาง

ต่อมา ขุนบรมก็ย้ายมาประทับที่หนองแสตามเดิม ให้ผาล้านครองเมืองต้าหอแทน เมื่อขุนบรมสวรรคต ขุนลอ (โก๊ะล่อฝง) ก็เสด็จมาหนองแส ปกครองน่านเจ้าต่อ ก่อนจะย้ายมาเมืองกาหลง (เมืองแถน) โดยมอบราชสมบัติให้ อีเมาชีน โอรสท้าวผาล้าน ครองหนองแสต่อ

พอได้ไปอ่านหนังสือ “ชนชาติไทในนิทาน” ของ อ. ศิราพร ณ ถลาง ก็พบ “เมืองแถน” อีกอัน คือ เดียนเบียนฟู โดย “พงศาวดารเมืองแถง” ของไทดำ มีความสัมพันธ์กับ “เมืองแถน” ในพงศาวดารล้านช้างด้วย ในพงศาวดารล้านช้าง มีตำนานขุนบรมบอกว่า แถนจี้น้ำเต้าปุง ปรากฏว่ามีคนออกมาจากน้ำเต้า รุ่นแรกนั้นใช้เหล็กซีเจาะ ซึ่งได้รูเล็ก ผู้คนต้องเบียดเสียดกันออกมา ผิวกายติดเขม่าควันดำทำให้ผิวคล้ำ คือพวกข่า ขมุ รุ่นที่สองใช้สิ่วเจาะ ผิวเลยขาวกว่า เป็นพวกลาว ไทดำ ไทขาว ไทลื้อ จากนั้น แถนส่งขุนบรมมาปกครอง ขุนบรมมีลูก ๗ คน ไปสร้างบ้านแปลงเมือง ดังที่กล่าวมาข้างต้น ตรงนี้ มาตรงกับพงศาวดารเมืองแถง บอกว่าแถนเอาคนและสัตว์ใส่น้ำเต้าปุง เมื่อน้ำเต้าแตกออก มีคนออกมา ๕ พวก คือข่าแจะ ตามด้วยผู้ไทดำ ลาวพุงขาว ฮ่อ และแกว นอกจากนั้น พงศาวดารเมืองแถง ยังอ้างว่า เมืองแถงเป็นถิ่นกำเนิดของชนชาติไท เพราะบ้านน้ำเต้าปุง และนาน้อยอ้อยหนูที่อ้างถึงใน พงศาวดารเมืองแถง และ พงศาวดารล้านช้าง นั้น มีสถานที่จริงที่เมืองแถนในเวียดนามนั่นเอง

2 ความเห็น:

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem