Theppitak's blog

My personal blog.

04 กรกฎาคม 2547

HtN Conclusion

เขียน blog สองวันอีกแล้ว เมื่อวานอู้ไปทำงานอื่นอยู่ ไม่ได้แปล Homesteading [HtN] เลย แต่วันพฤหัสแปลไว้หนึ่งตอน และวันนี้แปลอีกสามตอนรวด เพราะบังเอิญเห็นสองตอนสุดท้ายมันสั้นๆ เป็นอันว่าจบส่วนของเนื้อหาแล้ว ที่เหลือคือ เชิงอรรถท้ายเรื่อง, บรรณานุกรม, กิติกรรมประกาศ คิดว่าใช้เวลาอีกสองสามวันน่าจะเสร็จ

  • “Acculturation Mechanisms and the Link to Academia” ว่าด้วยวิธีการถ่ายทอดวัฒนธรรม แฮ็กเกอร์ไม่ได้สอนกันโต้งๆ แต่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง คนที่มาใหม่ก็จะเฝ้าสังเกตแล้วประพฤติตาม แล้วก็บอกว่า วัฒนธรรมแฮ็กเกอร์นั้น คล้ายกับวงการการศึกษามาก การวิจัย การตีพิมพ์บทความวิชาการ ล้วนแต่เป็นเกมแห่งชื่อเสียง และตั้งสมมุติฐานว่า การที่สองวงการนี้คล้ายกัน น่าจะเป็นเพราะเป็นผลลัพธ์ของกระบวนการวิวัฒนาการ ที่จัดโครงสร้างสังคมจนได้รูปแบบที่เหมาะต่อธรรมชาติของงานมากที่สุด
  • “Gift Outcompetes Exchange” พูดถึงเงื่อนไขที่ gift culture (opensource) มีประสิทธิภาพกว่า exchange culture (proprietary) โดยอธิบายด้วยงานวิจัยที่ว่า การให้รางวัลเป็นการบั่นทอนประสิทธิภาพงานสร้างสรรค์ กล่าวคือ งานยิ่งซับซ้อน ยิ่งไม่ต้องการให้อะไรมารบกวนความคิดสร้างสรรค์ การใช้รางวัลเป็นเหยื่อล่อ เป็นการรบกวนอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดความไม่อิสระทางความคิด งานที่ได้จะไม่ดีเท่ากับที่ทำโดยปราศจากรางวัล ดังนั้น แนวทางการบริหารโปรแกรมเมอร์ก็คือ ทำให้หมดภาระเรื่องการอยู่รอด (เพื่อให้ gift culture ทำงานเต็มที่) แต่ไม่ต้องเพิ่มโบนัส แล้วปล่อยให้มีอิสระเต็มที่ในการเลือกงาน ไม่ต้องเร่งด้วย deadline และทั้งหมดนี้ก็คือแนวทางที่โอเพนซอร์สสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ในอัตราเร็วที่สูง
  • “Conclusion: From Custom to Customary Law” เป็นบทสรุปเนื้อหาที่กล่าวมาทั้งหมด ว่าได้พูดถึงจารีตประเพณีการถือครองโครงการ ซึ่งคล้ายกับทฤษฎีกรรมสิทธิ์ที่ดินของ John Locke ได้พูดถึงลักษณะวัฒนธรรมแฮ็กเกอร์ ว่าเป็นวัฒนธรรมการให้ (gift culture) และได้พูดถึงการวิเคราะห์ความหมายของเรื่องเหล่านี้ ต่อการยุติข้อขัดแย้งในแวดวงแฮ็กเกอร์ จากนั้น ก็ทิ้งท้ายว่า ถ้าจะให้จารีตประเพณีเหล่านี้มีผลมากขึ้น และถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ที่มีขนาดประชากรเพิ่มขึ้นมากได้ดี ก็ควรบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร (ESR บอกว่า กำลังทำ “Malvern Protocol” เป็นร่างบทบัญญัติอยู่)
  • “Questions for Further Research” ถามทิ้งท้ายว่า มีหลายโครงการที่ไม่ได้ใช้ระบบ benevolent dictator ซึ่งส่วนใหญ่จะล้มเหลว แต่ก็ยังมีบางโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เช่น Perl, Apache, KDE คำถามคือ มีอะไรต่างกันระหว่างโครงการที่สำเร็จกับไม่สำเร็จ? ความเข้าใจเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน

เอาลิงก์ของ บทความที่แปลอยู่ มาโพสต์อีกที เผื่อใครจะช่วยตรวจคำแปล บอกอีกทีว่า gen อัตโนมัติจาก DocBook ยังไม่มี tag TIS-620 ดังนั้น อาจต้องเลือก encoding จากเมนู

2 ความเห็น:

  • 5 กรกฎาคม 2547 เวลา 20:17 , Blogger jark แถลง…

    พอดีเห็นว่าพี่ทำงานด้านคอมพ์
    เลยอยากทราบว่าคิดยังไงกับกรณี ภาพโป๊ของตั๊ก ที่เป็นข่าว
    อยู่ช่วงนี้ครับ

    ผมถามเพราะเห็นว่าเกี่ยวกับการ justify การกระทำใดๆบนโลกไซเบอร์
    ซึ่งผมพบว่าบุคคลจากพื้นฐานต่างๆกัน มีความเข้าใจเรื่องนี้ต่างๆกันไปมากจริงๆ
    อันนี้รวมไปถึงการส่งเมล์ forward ที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทคนอื่นด้วย
    เช่นกัน

     
  • 6 กรกฎาคม 2547 เวลา 00:38 , Blogger Thep แถลง…

    ความเห็นผม ผมคิดว่าการเอารูปใครมาโพสต์ให้เสื่อมเสียชื่อเสียง มันไม่ดีนะครับ ไม่ว่าจะในที่สาธารณะหรือจะส่งต่อทางเมล ถ้าเป็นรูปที่เจ้าตัวเขายินยอมแล้ว (เช่น ยอมให้เอาลงนิตยสาร) อันนั้นโอเค (แต่ก็ไปมีปัญหากับเจ้าของนิตยสารอีกที)

    แต่อยากพูดเรื่องการ forward mail แยกต่างหาก ผมคิดว่า forward mail เป็นหนทางที่หมิ่นเหม่ต่อเรื่องลิขสิทธิ์มากๆ อย่างบทความหรือเรื่องสั้นที่ forward โดยลบชื่อเจ้าของต้นตำรับ มันคือการละเมิดลิขสิทธิ์เห็นๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีปัญหาเรื่องขนาดของเมลด้วย บางคนตั้งใจจะรักษาเครดิตทั้งต้นตำรับและคนส่ง ก็เลยไม่ลบชื่อใครทั้งสิ้น ทำอย่างนี้หลายๆ ทอด ก็กลายเป็นเมลที่เนื้อหาส่วนใหญ่เป็น address ของคนที่ส่งต่อๆ กันมา ซึ่งสิ้นเปลืองทั้ง bandwidth และเนื้อที่เก็บ ยิ่งถ้าตกไปอยู่ในมือ spammer ก็กลายเป็นทรัพยากรที่ดีของพวกเขา จะเห็นว่าทั้งสองทางมีเหตุผลของตัวเองทั้งนั้น และมีข้อเสียร้ายแรงด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น ผมจึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับการ forward mail โดยทั่วไปอยู่แล้วครับ

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem