Theppitak's blog

My personal blog.

03 ธันวาคม 2549

Thailand FOSS Retrospects

แปลบทความ ESR ตอน The Cathedral and the Bazaar จบแล้ว รอตรวจทานอีกรอบ (ขอบคุณคุณวิษณุที่ช่วยเกลาสำนวน ช่วยให้อ่านง่ายกว่าเดิมเยอะ)

ทำให้สามารถมานั่งนึกคิดต่อ ตามที่เคยพูดไว้ใน TLUG ว่าน่าจะหันมาสนใจบทความคลาสสิกชุดนี้ แล้ววิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ก่อนจะเริ่มคิดใหม่ ผมเคยเขียนเอาไว้บ้างแล้วตั้งแต่ตอนที่แปล Homesteading:

  • FOSS in Thailand สรุปประเด็นของโอเพนซอร์ส และเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดในบ้านเรา
  • FOSS and Governments เรื่อง FOSS กับท่าทีของรัฐ

สำหรับผู้อ่าน blog ที่ยังไม่เคยอ่านบทความของ ESR และเรื่องเกี่ยวกับซอฟต์แวร์เสรี ขอเท้าความนิดหนึ่ง ผมมองปรัชญา ซอฟต์แวร์เสรี ว่าเป็นหลักการ อุดมการณ์ ที่เป็นรากฐานสำคัญ ผู้มาใหม่สมควรศึกษา ส่วน โอเพนซอร์ส (ซึ่งบทความของ ESR บัญญัติขึ้น) ผมมองว่าเป็นภาคปฏิบัติที่มาช่วยเสริมอุดมการณ์ดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในที่นี้ ผมขอละเรื่องอุดมการณ์ไว้ในฐานที่เข้าใจ เพราะจุดประสงค์คือตั้งข้อสังเกตต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติในบ้านเรา

เงื่อนไขที่สำคัญของเราก็คือ เรา รับ เอาวัฒนธรรมใหม่นี้เข้ามา เราไม่ได้เติบโตมาพร้อมกับการก่อเกิดของแนวคิด การที่จะเข้าใจและใช้ประโยชน์จากแนวคิดได้จริงๆ อาจต้องปรับพื้นก่อน ดังนี้:

  • วัฒนธรรมยูนิกซ์ เรื่องของระบบเปิด การอาศัยโพรโทคอลและมาตรฐานเป็นเครื่องมือทำงานร่วมกัน การแบ่งปันซอร์สโค้ด ต่างๆ เหล่านี้ เคยเกิดมาก่อนในโลกยูนิกซ์จนเป็นธรรมดา และวัฒนธรรมนี้ ก็ได้สร้างอินเทอร์เน็ตขึ้นมาให้โลกใช้ ในประเทศเรา น้อยคนนักที่จะตระหนักในพลังของวัฒนธรรมนี้ เพราะเราไม่ค่อยได้คลุกคลีกับยูนิกซ์ แม้แต่เรื่องอินเทอร์เน็ต คนทั่วไปก็เข้าใจว่าเป็นประดิษฐกรรมของไมโครซอฟท์ แล้วโอเพนซอร์สเป็นผู้มาทีหลัง ทั้งที่ความจริง น่าจะเป็นเหมือนการทวงสิ่งที่ถูกฉกฉวยไปคืนมามากกว่า เรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญ เพราะวัฒนธรรมยูนิกซ์จะเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่ง ที่จะทำให้เราประจักษ์ในสิ่งที่โอเพนซอร์สทำได้มาแล้ว แทนที่จะมองเพียงการแข่งขันบนตลาดเดสก์ท็อป ที่โอเพนซอร์สเป็นผู้มาทีหลังเพียงอย่างเดียว (ซึ่งอันที่จริง ก็ควรมองเช่นกัน ว่าแม้แต่แนวคิดเรื่อง word processor หรือ desktop publishing ทั้งหลาย ก็ยังอ้างอิง TeX ของ Knuth ซึ่งใช้กันบนยูนิกซ์มาก่อนอยู่หลายเรื่อง หรือแม้แต่ XML ก็มาจาก SGML ที่เกิดบนยูนิกซ์เช่นกัน) จนบางคน คิดเลยเถิดไปถึงตลาดเซิร์ฟเวอร์ด้วย เร็วๆ นี้ ผมได้อ่านข่าวกรุงเทพธุรกิจฉบับหนึ่ง บอกว่าโอเพนซอร์สกำลังกินส่วนแบ่งตลาดจากไมโครซอฟท์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเซิร์ฟเวอร์เว็บในอินเทอร์เน็ตขณะนี้ ใช้โอเพนซอร์สถึง 7% อ่านแล้วตาเหลือกเลย จะว่าตกเลขศูนย์อย่างเผอเรอ แต่เนื้อข่าวก่อนหน้าก็ขัดแย้งกับความเป็นจริงไปแล้ว
  • วัฒนธรรมแฮ็กเกอร์ ซึ่งก็เกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมยูนิกซ์อย่างแยกไม่ออก เป็นวัฒนธรรมของคนขี้เล่น ที่ชอบเขียนโน่น ปรับนี่ แล้วแบ่งปันให้กับผู้อื่น โดยหวังเพียงความพึงพอใจส่วนตัว หรือการเป็นที่ยอมรับในหมู่แฮ็กเกอร์ด้วยกัน (แต่เดี๋ยวนี้ แฮ็กเกอร์ ถูกใช้เรียกแต่พวกเจาะทำลายระบบเป็นส่วนใหญ่ เวลาจะใช้คำนี้กับคนทั่วไปจึงต้องระมัดระวัง) ซึ่งวัฒนธรรมนี้มีมาคู่กับยูนิกซ์ และมีในระบบอื่นด้วย ผลงานของวัฒนธรรมนี้ ก็คือซอฟต์แวร์ดีๆ หลายตัว ที่เป็นส่วนประกอบหลักของอินเทอร์เน็ต เช่น apache, sendmail จนกระทั่งคนชื่อ บิลล์ เกตส์ ได้เริ่มเผยแพร่แนวคิดซอฟต์แวร์ปิด จนเป็นที่แพร่หลายในวงกว้าง และปัจจุบัน บริษัทที่เขาตั้งก็ยังคงพยายามเผยแพร่ความคิดนั้นต่อไป ไม่ว่าจะด้วยการโจมตีโอเพนซอร์สด้วยการโน้มน้าวต่างๆ ประเทศของเรา มีคนคุ้นเคยกับวัฒนธรรมอื่นนอกเหนือจากไมโครซอฟท์น้อยมาก การเข้ามาของวัฒนธรรมแฮ็กเกอร์จึงเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็ยังดี ที่คนที่เคยอยู่ในยุครุ่งเรืองของแฮ็กเกอร์เมืองไทย ยังหวนรำลึกถึงโปรแกรมอย่าง CU-Writer, ราชวิถีเวิร์ด ฯลฯ หรือความเข้มข้นของวารสารและตำราคอมพิวเตอร์ยุคนั้น ก่อนที่ไมโครซอฟท์จะเข้ามากลืนกินทุกสิ่งทุกอย่าง เปลี่ยนคนไทยให้กลายเป็นผู้ใช้ที่ขึ้นตรงต่อจักรวรรดิอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ลืมยุครุ่งโรจน์ของตัวเองเสียหมด
  • วัฒนธรรมอินเทอร์เน็ต ลักษณะความเป็นอนาธิปัตย์โดยธรรมชาติของอินเทอร์เน็ต ออกจะเป็นของใหม่สำหรับคนไทย มีทั้งคนที่รับไม่ได้ และคนที่สุดโต่งแบบไร้ความสุภาพไปเลย แต่ไม่ว่าอย่างไร ส่วนที่เกี่ยวข้องกับโอเพนซอร์สก็คือ โอเพนซอร์สเติบโตมาได้ ก็ด้วยความไม่มีลำดับชั้นการบังคับบัญชา โลกจึงแบนเท่าที่จะแบนได้ และสังคมโอเพนซอร์สได้ใช้ธรรมชาติที่ให้อิสระทางความคิดตรงนี้ให้เกิดผลงานได้อย่างสร้างสรรค์ ลักษณะการด่าทอกันในฟอรั่มต่างๆ นั้น เป็นเรื่องที่เกิดในเหตุการณ์พิเศษช่วงเกิด flamewar เท่านั้น ไม่ใช่เกิดจนแทบเป็นปกติอย่างหลายๆ ฟอรั่มในเมืองไทย รวมถึงการคุยข่มทับกันอย่างไร้สัมมาคารวะด้วย ในขณะเดียวกัน นอกอินเทอร์เน็ต การปกครองแบบเป็นลำดับชั้นก็ยังสร้างแรงกดดันต่อคนทำงาน ทั้งที่คนเหล่านี้ ควรมีโลกที่เป็นอิสระทางความคิดที่จะได้ทำงานอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้รูปแบบ bazaar ได้ทำงานอย่างเต็มที่
  • วัฒนธรรมการผลิต การถาโถมเข้ามาของโลกาภิวัตน์ ทำให้คนไทยจำนวนมากมึนชาไปพักใหญ่ สร้างค่านิยมบริโภคให้กับตัวเอง จนอาจจะขาดความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองที่จะเป็นผู้ผลิต หรือถึงมีความมั่นใจในการผลิต ก็ไม่มั่นใจเรื่องการแข่งขัน ค่านิยมบริโภค ทำให้ขาดความกระตือรือร้นที่จะพึ่งตนเอง หรือขาดแนวคิดจากมุมมองของการผลิต เช่น ของใช้ทั่วไปบางอย่างที่ทำเองได้ก็จะชอบซื้อมากกว่า หรือที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ ก็มองไม่เห็นความไม่ยั่งยืนของการลักลอบใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน ไม่พยายามหาทางพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน ส่วนการขาดความเชื่อมั่นในตัวเองของผู้มีศักยภาพในการผลิต ก็ทำให้คนที่มีความสามารถต้องตัดสินใจทางธุรกิจในแนวที่ตัวเองไม่เจ็บตัว เรื่องวัฒนธรรมการผลิตนี้ มีผลต่อเรื่องความเข้าใจในโอเพนซอร์สก็คือ ความตระหนักในเรื่องนี้จะทำให้เห็นประโยชน์ของแนวทางพึ่งตนเอง แล้วหันมาสนใจอย่างจริงจัง

เหล่านั้นคือประเด็นพื้นฐาน ที่คิดว่าอาจเป็นอุปสรรคต่อการยอมรับเชื่อถือ และการทำความเข้าใจกับแนวคิดโอเพนซอร์สของคนทั่วไป ทีนี้ เกิดอะไรขึ้นกับโอเพนซอร์สบ้านเราในช่วงที่ผ่านมา? เท่าที่นึกออกก็คือ:

  • ประเมินศักยภาพของโอเพนซอร์สต่ำ โดยส่วนมากมองว่า โอเพนซอร์สคือการเลียนแบบไล่ตามวินโดวส์ จึงทำให้วินโดวส์กลายเป็นมาตรฐานที่โอเพนซอร์สต้องไปให้ถึง เป็นการลดเกรดซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สลงอย่างมาก
  • ลืมข้อดีของ bazaar กัน ความจริงแล้ว ในช่วงแรกๆ นั้น ใครที่ได้อ่านบทความของ ESR ต่างก็พยายามหาทางเปิดซอร์สของตัวเอง เพื่อเป็นแนวทางแข่งขันทั้งนั้น และมันก็เคยมี bazaar เกิดขึ้นในบ้านเราจริงๆ ผ่านชุมชนอย่าง softwate.thai.net, linux-sis, และ linux.thai.net ยุคแรกๆ แต่หลังจากนั้น ก็ได้มีประเด็นอื่นเข้ามากลบเสียหมด เช่น:
    • การขยายฐานผู้ใช้ของ Linux TLE แบบผิดธรรมชาติ จากการตรวจจับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของ BSA ในขณะที่ชุมชนลินุกซ์ยังไม่พร้อม แนวคิดโอเพนซอร์สยังไม่แพร่หลาย ทำให้ผู้ใช้เข้าใจว่าลินุกซ์เป็นเหมือน freeware ทั่วไป ทั้งยังสามารถกดดันให้ใครทำอะไรได้แบบซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ โดยลืมไปว่าทุกคนเป็นอาสาสมัคร เนคเทคซึ่งเป็นกลุ่มเดียวที่ทำงานแบบมีรายได้จากค่าจ้าง จึงกลายเป็นเป้าของความคาดหวังทุกเรื่อง ภาพของ bazaar ละลายหายไปในพริบตา ถูกแทนที่ด้วยภาพของ corporate กลายๆ สงครามน้ำลายกลายเป็นเรื่องปกติประจำถิ่น
    • กรณีพิพาทปลาดาว-ออฟฟิศทะเล กลายเป็นสงครามระหว่างองค์กร โดยฟอรั่มในอินเทอร์เน็ตกลายเป็นสนามรบไปด้วย บางคนก็เข้าร่วมด้วย บางคนเบื่อหน่าย แตกกระเจิง
    ประเด็นเหล่านี้ ได้มากลบแนวคิด bazaar ไปเสียหมด กรณีทั้งสองข้างต้น อาจจะมองว่าเกิดจากปัจจัยของความไม่พร้อม แต่ทั้งสองเรื่อง ก็มีการแทรกแซงจากอำนาจบริหารแบบเดิมไม่มากก็น้อย ซึ่งขัดกับลักษณะอนาธิปัตย์ของ bazaar แม้ภายหลังเรื่องต่างๆ จะจบลงด้วยดี แต่ก็จบด้วยการสลายตัวของทุกฝ่าย รวมทั้งชุมชนด้วย จนถึงบัดนี้ bazaar ที่แตกกระเจิงไปแล้ว ก็ยังฟื้นตัวได้น้อยมาก แนวคิดปรัชญาต่างๆ ก็พลอยเลือนหายไปกับกาลเวลาด้วย ได้แต่ฝากความหวังไว้กับหน่อต่างๆ ที่ไปงอกงามที่อื่น เช่น blognone หรือ club ต่างๆ หรือแม้กระทั่ง LTN เอง ที่ดูเหมือนส่วนที่ยังคึกคักอยู่จะเป็น planet กับห้องแช็ต #tlwg
  • โมเดลธุรกิจไม่ชัดเจน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ:
    • งานพัฒนาที่สนใจกัน เป็นเรื่อง localization ซึ่งโดยนิยามแล้ว เป็นงานที่ทำธุรกิจได้ยาก แต่ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักและต่อเนื่อง แต่ถ้ามองธุรกิจด้านอื่น ความเป็นไปได้ย่อมมีมากกว่า การพิจารณาเรื่องนี้ จึงต้องแยกประเด็น ระหว่างการช่วยเหลือนักพัฒนา localization กับการทำธุรกิจทั่วไป
    • ตลาดยังไม่โต โดยเฉพาะถ้าไม่ใช่ฝั่งเซิร์ฟเวอร์ การสร้างธุรกิจ จึงควรรุกในส่วนที่พร้อมก่อน เช่นฝั่งเซิร์ฟเวอร์และอุปกรณ์ฝังตัว
    • ความสนใจส่วนตัวของแฮ็กเกอร์เอง ส่วนมากจะชอบทำเอามัน ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ซึ่งผมก็ว่าทำให้ชีวิตมีความสุขดี แต่ถ้าพูดในแง่การสร้าง critical mass ก็อาจจำเป็นต้องมีใครสนใจเปิดตลาดบ้าง (แต่ผมเองไม่ถนัด เหอๆ)
  • เห็นความสำคัญของโอเพนซอร์สน้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งก็มีหลายแบบ:
    • เมื่อเทียบกับตลาดที่เล็กกว่า เช่น กัมพูชา ภูฏาน ลาว เขามีความจำเป็นโดยพื้นฐานมากกว่าไทย เนื่องจากการสนับสนุนภาษาเหล่านั้นในวินโดวส์ยังไม่พร้อม บางประเทศยังอยู่ในขั้นกำหนดมาตรฐานอยู่ โอเพนซอร์สจึงกลายเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากสำหรับเขา
    • เมื่อเทียบกับตลาดที่ใหญ่กว่า เช่น อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ เขาเห็นความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา และมีศักยภาพในการผลิต จึงมองเห็นคุณค่าของโอเพนซอร์สได้ไม่ยาก
    • เมื่อเทียบกับตลาดที่ใกล้เคียงกัน เช่น มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา บังกลาเทศ เหล่านี้ เขาดูเอาจริงเอาจังกว่า ซึ่งหากเป็นยุค bazaar ยุคแรกๆ เราสามารถมั่นใจได้พอสมควร ว่าเราเป็นผู้นำได้โดยไม่ลำบาก แต่ในยุคที่คนสละเรือไปมากแล้ว เราก็ต้องสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

แล้วเราจะสร้างจากไหน? ผมว่า bazaar รุ่นก่อนของเรา เกิดมารอบๆ แนวคิดของ ESR และปรัชญาซอฟต์แวร์เสรี มันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจมากทีเดียว ที่ได้เห็นยอดฝีมือสละเวลามาร่วมกันทำงานอย่างสนุกสนาน ได้เห็นพัฒนาการของส่วนต่างๆ ในอัตราที่สูง ถ้าเราจะมาตั้งต้นกันใหม่กับคนรุ่นใหม่ ก็สมเหตุสมผลไม่ใช่หรือ ที่จะมาเริ่มจากการเผยแผ่แนวคิดปรัชญากันอย่างจริงจังอีกครั้ง?

5 ความเห็น:

  • 3 ธันวาคม 2549 เวลา 15:26 , Blogger bact' แถลง…

    ตกลงก็ไม่ทัน :P
    มัวแต่เล่นอะไรอยู่ก็ไม่รู้
    งั้นขอร่วมทานด้วยละกัน อย่างน้อย

    ----

    พบการใช้ทั้งคำว่า สมมติ และ สมมุติ
    (ทั้งคู่สะกดถูก แต่น่าจะใช้แบบเดียว?)

    คำว่า ดีบั๊ก นี่ ใช้

    ----

    บทนำ
    ``Given enough eyeballs, all bugs are shallow''

    ตอนนี้แปลเป็น
    ``มีลูกตามากพอ บั๊กทุกตัวจะง่ายลงเอง''

    น่าจะทำนองนี้มั๊ยครับ?
    ``ขอให้มีลูกตาเพียงพอ บั๊กทั้งหมดก็เป็นเรื่องง่าย''

    คือตาม บทที่สี่ ตัวบั๊กมันไม่ได้ง่ายลง
    แต่การที่มีลูกตาเยอะ มันทำให้ อย่างน้อยน่าจะมีใครซักคน ที่เห็นว่ามันง่าย

    จริง ๆ คำพูดอาจจะไม่ได้ต่างอะไรมาก
    แต่อยากให้มันส่งสารได้ตามบัญญติข้อ 8 บทสี่น่ะครับ

    "8. ถ้ามีผู้ทดสอบและผู้พัฒนามากพอ ปัญหาแทบทุกอย่างจะมีคนรู้ และต้องมีใครสักคนในนั้นที่แก้ปัญหาได้"

    และย่อหน้าท้าย ๆ ในบทนั้น

    "ดังนั้น ในมุมมองของนักพัฒนา การเพิ่มจำนวนผู้ทดสอบอาจจะไม่ช่วยลดความซับซ้อนของบั๊กยากๆ ลง แต่มันจะช่วยเพิ่มโอกาสที่เครื่องมือของใครสักคนจะตรงกับตัวปัญหา จนทำให้บั๊กดูง่ายสำหรับคนคนนั้น"

    ----

    ตอนสอง

    ย่อหน้าแรก "ปัจจุบันระบบนี้รองรับผู้ใช้สามพันคนด้วยสามสิบคู่สาย"

    อาจจะวงเล็บปีที่เขียน หลังคำว่า ปัจจุบัน

    ....

    เชิญคนอื่น ๆ ร่วมทานด้วยครับ :)
    (ทาน นี่ เป็นคำที่ดีนะ ในบริบทนี้ ดีกว่า ตรวจทาน
    เพราะคำว่า ทาน ทำให้นึกถึงคำว่า eat one's own dog food :P)

     
  • 3 ธันวาคม 2549 เวลา 15:32 , Blogger bact' แถลง…

    คำว่า fetchmail, popclient, Lisp พบการสะกดตัวเล็ก/ใหญ่ต่างกันในที่ต่าง ๆ

    เหมือนในภาษาอังกฤษ คำว่า fetchmail กับ popclient จะใช้ตัวเล็กหมดเป็นหลัก
    เว้นว่าจะอยู่ในชื่อหัวข้อเรื่อง หรือขึ้นต้นประโยค
    ส่วนในภาษาไทย จะใช้ตัวเล็กหมดในเนื้อเรื่อง แต่จะใช้ตัวใหญ่ในหัวข้อเรื่อง

    บท 6 ใช้ LISP
    บทอื่น ๆ ใช้ Lisp

     
  • 3 ธันวาคม 2549 เวลา 16:11 , Blogger Thep แถลง…

    bact', ขอบคุณครับ

    แก้ "สมมติ", "บั๊กทุกตัวจะง่ายลงเอง" ตามที่เสนอแล้วครับ

    แต่ที่เหลือ:

    - วงเล็บปีที่เขียนในคำว่า "ปัจจุบัน" เลือกปีไม่ถูกเหมือนกัน เขามีหลาย revision เหลือเกิน กลัววงเล็บแล้วผิด แต่ถ้าไม่วงเล็บ ผู้อ่านก็น่าจะเข้าใจอยู่แล้ว ว่าหมายถึงขณะเขียน

    - การใช้ตัวพิมพ์เล็ก-พิมพ์ใหญ่ของชื่อ fetchmail, popmail: เราไม่มีคอนเซ็ปต์ของประโยคแบบภาษาอังกฤษ ก็เลยแปลงเป็นตัวเล็กหมด ยกเว้นในหัวข้อเรื่อง

    - LISP/Lisp: ใช้ตามต้นฉบับ มีใช้ LISP อยู่สองที่ คือบทที่ 6 กับบรรณานุกรม ซึ่งแห่งแรกอาจพิจารณาแก้ได้ แต่แห่งหลังเป็นชื่อหนังสือ คงแก้ไม่ได้

     
  • 4 ธันวาคม 2549 เวลา 15:09 , Anonymous ไม่ระบุชื่อ แถลง…

    อ่านบทความแปลเรื่อง The Catherdral and The Bazaar ไปบ้างแล้ว แปลได้น่าอ่านมากครับ ขอชื่นชมในความตั้งใจจริงของทุกๆ ท่านกับความพยายามที่จะเผยแพร่ "วัฒนธรรม open source" ให้กับประชาชนคนไทยทุกๆ คน :-)

     
  • 7 เมษายน 2550 เวลา 19:00 , Blogger Unknown แถลง…

    เพิ่งได้อ่านบทความเรื่อง The Cathedral and the Bazaar ขอเข้ามาชื่นชมความพยายามในการแปลครับ ทั้งคุณ Theppitak และผู้แปลท่านอื่นๆ

    อ่านแล้วก็ให้เกิดแรงบันดาลใจว่า เมืองไทยเราน่าจะเกิด bazaar ขึ้นมาบ้าง

    ตอนนี้ขอเก็บเกี่ยวความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ FOSS ไปก่อนนะครับ

     

แสดงความเห็น (มีการกลั่นกรองสำหรับ blog ที่เก่ากว่า 14 วัน)

<< กลับหน้าแรก

hacker emblem